บรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้สดเพื่อการส่งออก (ตอนที่ 1)
1. บทนำ
พืชผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีความสำคัญต่อการบริโภคของมนุษย์ เนื่องจากพืชผักและผลไม้มีคุณค่าด้านโภชนาการ นอกจากเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยตัวเองแล้ว ผักและผลไม้ยังเป็นอาหารที่มีเยื่อ (Fiber) ช่วยในการขับถ่าย ปริมาณน้ำที่แฝงอยู่ภายในผักและผลไม้หลายชนิดทำให้ผู้บริโภครู้สึกสดชื่นจากความกรอบ หอม หวาน เมื่อรับประทานสด ในโลกนี้มีผักผลไม้หลากหลายประเภท โดยอาจแบ่งตามพฤกษศาสตร์ ตามปริมาณน้ำที่อยู่ในผักผลไม้ ตามองค์ประกอบ ตามแหล่งที่ปลูก ตามประโยชน์ ตามลักษณะที่นำมาประกอบอาหารหรือแปรรูป เป็นต้น ในแง่ของการศึกษาบรรจุภัณฑ์เพื่อปกป้องและรักษาคุณภาพของผักและผลไม้ จะแบ่งประเภทของผักผลไม้ตามอัตราการหายใจ (Respiration Intensity) เพื่อพยายามรักษาคุณภาพของผักและผลไม้เพื่อยืดอายุให้สดพอดี ในขณะที่นำมารับประทาน
ในประเทศไทยมูลค่าโดยรวมของพืชผักผลไม้ที่ปลูกเมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรโดยรวม (Agricultural Commodities) คิดเป็นเปอร์เซ็นประมาณ 20% จัดอยู่ในอันดับ 2 ของผลผลิตทางการเกษตร โดยเป็นรองเพียงแต่ข้าวที่มีสัดส่วนมูลค่าคิดได้ประมาณ 30% ของผลผลิตทางการเกษตรโดยรวม2
แต่ถ้ามองจากการส่งออกสินค้าจำนวนพวกผลไม้มีปริมาณการส่งออกสูงในช่วงปี พ.ศ. 2541 - 2543 มีอัตราเฉลี่ต่อปีเพิ่มสูงถึง 30% และประเมินว่าในปีนี้จะมีมูลค่าการส่งออกของผลไม้สูงถึง 9 พันล้านบาท สำหรับผักผลไม้สดยังมีการส่งออกน้อยกว่า แม้ว่าจะมีผลผลิตโดยรวมในปี พ.ศ.2538 - 2539 เกือบ 5 ล้านบาทต่อปี3 ในกรณีที่ต้องการส่งเสริมการส่งออกของผักสดจำต้องรณรงค์การปลูกผักที่ปลอดสารพิษ พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม รวมทั้งปรับปรุงระบบบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า
2. คำจำกัดความและคุณลักษณะ
ผักผลไม้สดที่ค้าขายกันในเวทีการค้าระหว่างประเทศสามารถแบ่งทั้งผักและผลไม้ออกเป็น 2 ประเภทเหมือนกัน คือ
1) ผักสามารถแบ่งประเภทเป็น
- ผักสดเมืองหนาว (Temperate) เช่น มะเขือเทศ และมันเทศ เป็นต้น
- ผักเมืองร้อน (Tropical & Subtropical) เช่น มันสำปะหลัง และผักบุ้ง เป็นต้น
2) ผลไม้ แบ่งได้เป็น
- ผลไม้เมืองหนาว (Temperate fruit) เช่น แอปเปิ้ล และองุ่น เป็นต้น
- ผลไม้เมืองร้อน (Tropical fruit& Subtropical fruit) ได้แก่ กล้วย สับปะรด และมะม่วง เป็นต้น
ผักและผลไม้ที่จำแนกเป็นประเภทเมืองร้องนี้ไม่สามารถปลูกในประเทศที่หนาวเย็นในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร สืบเนื่องจากระยะทางที่เดินทางไกล ความสำเร็จในการส่งออกนอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว บรรจุภัณฑ์ยังมีบทบาทมากต่อการยืดความสดของผักผลไม้ด้วยการควบคุมบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ให้ปริมาณของออกซิเจนต่ำ นอกจากนี้ความจำเป็นที่ต้องขนส่งภายใต้สภาวะการเก็บที่เย็นจะช่วยลดอัตราการหายใจของสินค้าสดเหล่านี้ ดังแสดงในตาราง 2.1
ตารางที่ 2.1 อัตราการหายใจของผักผลไม้บางประเภทภายใต้สภาวะบรรยากาศและภายใต้สภาวะออกซิเจน 3%
ประเภทของผักและผลไม้ | เปรียบเทียบอัตราการหายใจ ที่ 10 ̊C ในบรรยากาศ | อัตราการหายใจในบรรยากาศ | เกิด CO2 (ml/kg/hr) ในสภาวะ O2 3% | ||||
0 ̊C | 10 ̊C | 20 ̊C | 0 ̊C | 10 ̊C | 20 ̊C | ||
หัวหอม (Onion) | ต่ำ < 10 | 2 | 4 | 5 | 1 | 2 | 2 |
ผักกะหล่ำ (Cabbage) | 2 | 4 | 11 | 1 | 3 | 6 | |
หัวผักกาดหวาน (Beet) | 2 | 6 | 11 | 3 | 4 | 6 | |
ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง (Celery) | 4 | 6 | 19 | 3 | 5 | 12 | |
แตงกวา (Cucumber) | 3 | 7 | 8 | 3 | 4 | 6 | |
มะเขือเทศ (Tomato) | 3 | 8 | 17 | 2 | 3 | 7 | |
พริกตุ้ม / ยักษ์ (Pepper) | ปานกลาง 10 - 20 | 4 | 11 | 20 | 5 | 7 | 9 |
หัวผักกาดแดง (Carrot) | - | 12 | 26 | - | - | - | |
มันฝรั่ง (Potato) | - | 14 | 33 | - | - | - | |
มะม่วง (Mango) | - | 15 | 61 | - | - | - | |
ผักกาดหอม (Lettuce) | 8 | 17 | 42 | 8 | 13 | 25 | |
ดอกกะหล่ำ (Cauliflower) | สูง 40 -60 | 10 | 24 | 71 | 7 | 24 | 34 |
กะหล่ำปลีบรัสเซล (Brussel Sprouts) | 9 | 27 | 51 | 7 | 19 | 40 | |
สตรอเบอร์รี่ (Strawberry) | 8 | 28 | 72 | 6 | 24 | 49 | |
ผลเบอร์รี่ดำ (Blackberry) | 11 | 33 | 88 | 8 | 27 | 71 | |
หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) | 14 | 34 | 72 | 13 | 24 | 42 | |
ผักขม (Spinach) | สูงมาก 40 - 60 | 25 | 43 | 85 | 26 | 46 | 77 |
วอเตอร์เครส (Watercress) | 9 | 43 | 117 | 5 | 38 | 95 | |
ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) | 16 | 48 | 119 | 14 | 32 | 68 | |
ราสเบอร์รี่ (Raspberry) | 12 | 49 | 113 | 11 | 30 | 73 | |
เห็ด (Mushrooms) | สูงพิเศษ > 60 | - | 67 | 191 | - | - | - |
ถั่วในฝัก (Peas in Pod) | 20 | 69 | 144 | 15 | 45 | 90 | |
บรอคโคลี่ (Broccoli) | 39 | 91 | 240 | 33 | 61 | 121 |
3. การขนส่งผักผลไม้สด
เมื่อผู้บริโภคในโลกนี้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นและพยายามแสวงหาอาหารใหม่ๆที่มีรสชาติและคุณประโยชน์มารับประทาน ตัวอย่างเช่น ผลไม้ที่ไม่เคยบริโภคในอดีตและเริ่มได้รับความนิยมในหมู่คนไทย เช่น แก้วมังกร ผลกีวี เป็นต้น ความต้องการของผักผลไม้สดเหล่านี้ส่งผลให้การขนส่งผักผลไม้สดไปยังประเทศที่ห่างไกลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย และไม่แปลกเลยที่ค่าขนส่งมีมูลค่ามากกว่าตัวสินค้าผักผลไม้สด ด้วยเหตุนี้การกำหนดมาตรฐานต่างๆ (Standardization) มีความจำเป็นมากขึ้น เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่งและลดโอกาสที่สินค้าจะเสียหายระหว่างการขนส่ง สำหรับผู้ส่งออกมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจถึงลักษณะและวิธีการขนส่ง รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ขนาดบรรจุ รูปแบบบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ครอบคลุมไปถึงกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์
ขั้นตอนการเดินทางในการจัดส่งสินค้าผักผลไม้สดแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) จัดเตรียมสินค้าบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ ณ ประเทศกำเนิด (Country of Origin)
2) จัดส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ใช้ส่งออก ซึ่งอาจเป็นสถานบินหรือท่าเรือ
3) ทำการขนส่งไปยังประเทศจุดหมายปลายทาง
4) ดำเนินการพิธีทางศุลกากรและขนถ่ายสินค้าออกจากท่า
5) เคลื่อนย้ายสินค้าไปเก็บในคลังสินค้าพร้อมที่จะส่งต่อไปให้ผู้ค้าส่ง
6) จัดส่งสินค้าไปยังผู้ค้าปลีกในประเทศที่พัฒนาแล้ว สินค้าปลีกส่วนใหญ่ 60 - 90% จะเป็นร้านค้าแบบช่วยตัวเอง (Shelf - Service)