บรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้าน ตอนที่1
คำนิยามและประเภทของสุรา
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานสถาน ปี พ.ศ. 2525 พอจำแนกสุราได้ดังต่อไปนี้
เหล้า/สุรา = น้ำเมาที่กลั่นแล้ว
เมรัย = น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น
เบียร์ = น้ำเมาอย่างหนึ่งเป็นชนิดเมรัย
สาโท = น้ำขาวน้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น
อุ= น้ำเมาชนิดหนึ่งใช้ปลายข้าวและแกลบประสมกับแป้ง
กะแช่ = น้ำตาลเมา น้ำเมาหมักแช่เชื้อ แต่ยังมิได้กลั่นเป็นสุรา
ส่วนไวน์นั้นตามพจนานุกรมอังกฤษ ถอดความได้ดังนี้
ไวน์ = เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic Beverage) ที่ผลิตจากการหมักองุ่น (Grapes Fermentation)
รายละเอียดของสุราพื้นบ้านที่ได้รับจากกรมสรรพสามิต ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตของสุราพื้นบ้าน แยกประเภทของสุราเป็น 2 ประเภทไว้ดังนี้
1. สุราแช่ หมายความว่า สุราที่ยังไม่ได้กลั่นและรวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่าสิบห้าดีกรีด้วย เช่น เบียร์และไวน์
- เบียร์ คือ สุราแช่ที่ทำจากข้าวมอลท์ ดอกฮอพและข้าว
- ไวน์ คือ สุราที่ทำจากองุ่น แบ่งเป็นสองพวก คือ ทำจากองุ่นเขียวและองุ่นแดง แต่ละชนิดยังแบ่งตามสายพันธุ์ย่อยๆอีกจำนวนมากมาย
2. สุรากลั่น หมายความว่า สุราที่ได้กลั่นแล้ว และรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่าสิบห้าดีกรีด้วย เช่น วิสกี้ บรั่นดี รัม วอดก้า ยิน ลิเคียว เป็นต้น
- สุราขาว คือ สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่งมีแรงแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี
- สุราผสม (เชี่ยงชุน หงส์ทอง แสงทิพย์) คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราขาวหรือสุราสามทับมาปรุงแต่งมีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี
- สุราปรุงพิเศษ (แม่โขง) คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่งมีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี
- สุราพิเศษ แบ่งเป็น
ก) สุราวิสกี้ คือ สุราที่กลั่นจากเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวมอลท์ ข้าว ข้าวโพด มาปรุงแต่งมีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี
ข) สุราบรั่นดี คือ สุราที่กลั่นจากไวน์องุ่น
- สุรากลั่นอย่างอื่น เช่น รัม คือ สุราที่กลั่นจากน้ำตาล กากน้ำตาล
- สุราสามทับ คือ สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่แปดสิบดีกรีขึ้นไป แยกได้เป็น
ก) ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือที่นำไปทำการแปลงสภาพ
ข) ที่นำไปใช้ในการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ หรือนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
จากการแยกประเภทของสุราไทยดังกล่าว ใคร่ขอเปรียบเทียบกับประเภทสุราของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยมีหลักฐานการผลิตสุราย้อนกลับไปถึงพันๆปี คือ สุราในประเทศจีน ถ้าแยกตามปริมาณแอลกอฮอล์สุราจีนจะสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
1. สุราแช่ (Fermented) มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 20%
2. สุรากลั่น (Distilled beverage) มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ในช่วง 32 - 66%
3. สุราพิเศษหรือสุราสังเคราะห์ (Synthesis) มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ระหว่าง 16 - 66 %
สำหรับประเภทของสุรา ทางประเทศจีนได้แบ่งเป็น 6 ประเภทเหมือนกับของไทยโดยแยกตาม
ประเภทของวัตถุดิบ และวิธีการผลิตได้ดังนี้
1. เหล้าขาว (White Liquor) ผลิตจากธัญพืชด้วยวิธีกลั่น เหล้าจีนที่มีชื่อมากที่สุดของเหล้าจำพวกนี้ คือ เหมาไถ
2. ไวน์เหลือง (Yellow Wine) ผลิตจากธัญพืชด้วยวิธีแช่ เหล้าจีนที่มีชื่อเสียงในบ้านเรา คือ เหล้าที่ผลิตจากไต้หวันในนามของ "เส้าซิ่ง"
3. เบียร์ ผลิตจากข้าวมอลท์ด้วยวิธีแช่
4. ไวน์ ผลิตจากองุ่นและผลไม้ อาจจะผลิตด้วยวิธีแช่หรือวิธีกลั่น การผลิตไวน์ในจีนเริ่มต้นตั้งแต่การเปิดทางสายไหม (Silk Road) แล้วค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นไวน์ผลไม้ต่างๆ
5. สุราพิเศษหรือสุราสังเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นการผสมระหว่างเหล้าขาวและไวน์เหลืองและครอบคลุมไปถึงยาดองเหล้าสมุนไพรต่างๆ (Medical Wines)
ในแง่ของบรรจุภัณฑ์สุรา นอกเหนือจากการใช้บรรจุภัณฑ์เป็นที่บรรจุเก็บรักษาสินค้าตามหน้าที่แล้วยังช่วยรักษาคุณภาพของสุรา และช่วยในการนำออกมาบริโภคได้อย่างสะดวกตามต้องการ ในปัจจุบันนี้ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับสุรามีอย่างหลากหลาย เช่น เครื่องปั้นดินเผา ขวดแก้ว ขวดเจียระไนคริสตัล ซอง ถุง กล่อง และถุงในกล่อง
บรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้าน
บรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้านที่นิยมใช้แบ่งเป็นขวดแก้วและฉลาก
1.ขวดแก้ว
ขวดแก้วเริ่มมีการผลิตโดยใช้ปากเป่าตั้งแต่สมัยโรมัน ส่วนการใช้เครื่องจักรในการผลิตขวดแก้วนั้น
ได้มีการจดสิทธิบัตรเมื่อประมาณ 180 ปีที่ผ่านมาในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนี้ขวดแก้วได้รับการนำมาใช้บรรจุเครื่องดื่มมากกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น
วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตขวดแก้วคือทรายซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายและมีอยู่มากมาย ขวดแก้วจึงเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ คุณสมบัติที่โดดเด่นของขวดแก้วคือมีความเฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยาจากสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน ทำให้รสชาติของสินค้าไม่แปรปรวนตามบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ การบรรจุสุราลงในขวดแก้วยังทำได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนั้นขวดแก้วยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทนต่อการอัดก๊าซเข้าไปภายในโดยไม่เสียรูปร่าง จุดเด่นของการใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์อีกประการหนึ่งคือมีรูปทรงและสีสันให้เลือกหลากหลายรูปแบบ นอกจากนั้นยังสามารถตกแต่งให้สวยงามดูมีค่า เช่น การพิมพ์การแกะสลัก รวมไปถึงการเจียระไน ในแง่ของผู้บริโภค นอกจากการเทสุราจากขวดแก้วจะทำได้สะดวกแล้วยังสามารถปิดฝาเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าได้อีก หากมองในแง่ของสังคมท่ามกลางกระแสที่เรียกร้องให้ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% และแม้แต่ขวดที่ชำรุดหรือแตกก็ยังสามารถเก็บเศษแก้วกลับไปหลอมเพื่อผลิตขึ้นมาใหม่ได้
ขนาดของบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้บรรจุสุราหรือเบียร์มีอยู่ 2 ขนาด คือ ขวดใหญ่ ขนาด 750 ซีซีหรือมิลลิลิตร (ขวดแม่โขง) ขวดเบียร์ขนาดใหญ่ 630 ซีซี และขวดเล็ก 330 ซีซี สำหรับสุราขวดเล็กจะเป็นขวดแบนขนาด 375 ซีซี ส่วนสีที่ใช้มีทั้งสีใส สีอำพัน และสีเขียว นอกจากสีมาตรฐานเหล่านี้ เทคโนโลยีของการผลิตขวดสีได้ก้าวไกลไปถึงการใช้เม็ดสีผสมเข้าไปในเนื้อแก้วเพื่อผลิตขวดสีใดๆก็ได้ การเปลี่ยนสีของเนื้อแก้วอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้คือการเคลือบด้วยสเปรย์ลงไปบนขวดสีด้วยสีตามที่ต้องการดังแสดงในรูป
การตกแต่งขวดแก้วสามารถทำได้หลายวิธีนอกเหนือจากการติดฉลากแล้ว การตกแต่งขวดแก้วแบบพื้นฐานที่สุด คือ การสลักลายหรือแกะลายลงไปในเนื้อแก้ว (Embossing/Engraving) นอกจากนี้ลายนูนบนผิวขวดยังสามารถปั๊มสีโลหะได้อีก การตกแต่งที่ดูมีราคา อันดับถัดมา คือ การพ่นทรายทำให้ทึบแสง นอกจากสร้างความแปลกใหม่ยังช่วยถนอมอายุของสุราอีกด้วย การตกแต่งขวดแก้วที่มีราคาสูง คือ ขวดแก้วเจียระไน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า
2. ฉลาก
ฉลากที่ใช้ในการปิดบรรจุภัณฑ์สุราเริ่มใช้กันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 โดยเป็นฉลากกระดาษธรรมดาใช้เขียนด้วยลายมือ ส่วนการใช้ฉลากที่พิมพ์สำเร็จรูปดังเช่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ต้องใช้เวลาอีก 60 ปีในการพัฒนา จนกระทั่งฉลากได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญบนบรรจุภัณฑ์สุรา
ฉลากบนบรรจุภัณฑ์สุราโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉลากบนสินค้าอื่นๆ เพราะก่อนที่ผู้บริโภคไวน์จะตัดสินใจซื้อจะอ่านรายละเอียดบนฉลากเพื่อทราบถึงยี่ห้อ สายพันธุ์ขององุ่นที่ใช้ผลิตไวน์ แหล่งผลิตและปีที่ผลิตจากรายละเอียดเหล่านี้ผู้ซื้อจะคาดคะเนว่ากลิ่นหรือรสชาติจะเป็นแบบที่ต้องการหรือไม่เป็นสิ่งน่าแปลกที่บนฉลากของขวดไวน์ไม่ได้บอกถึงรสชาติที่จะได้จากการบริโภค เนื่องจากรสชาติของไวน์แปรผันตามปัจจัยต่างๆ สุดครานับ ตัวอย่างของฉลากไวน์จากสหรัฐอเมริกาพร้อมรายละเอียดที่ต้องแสดงอยู่ในรูป
สำหรับฉลากบนขวดสุราพื้นบ้านยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตและบรรจุสุราพื้นบ้านส่วนใหญ่จะใช้ขวดที่ใช้แล้ว เช่น ขวดเบียร์หรือขวดไวน์ที่บริโภคแล้ว เมื่อรูปทรงของขวดเป็นแบบเดียวกันหมด ดังนั้น การออกแบบฉลากจึงมีความสำคัญมากในการสร้างความแตกต่างให้แก่บรรจุภัณฑ์ รายละเอียดอย่างน้อยที่สุดที่ปรากฏบนฉลากควรประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
1. ตราสินค้า อาจเป็นชื่อของชุมชนหรือชื่อเจ้าของสินค้าก็ได้
2. ประเภทของสุรา
3. แหล่งหรือสถานที่ผลิต
4. ปริมาณแอลกอฮอล์โดยปริมาตร
5. ปริมาตรสุทธิที่บรรจุ
สุราพื้นบ้านที่ต้องการวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่ (Modern Trade) ยังจำเป็นต้องมีบาร์โค้ด หรือ สัญลักษณ์รหัสแท่งติดอยู่บนฉลากด้วย
ฉลากกระดาษ
ฉลากที่ใช่ส่วนใหญ่จะเป็นกระดาษการปิดฉลากที่ดีต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. คุณสมบัติกระดาษ
2. กาวหรือสารเชื่อมติด
3. หมึก
1) กระดาษ เยื่อที่ใช้ผลิตกระดาษเป็นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึง เยื่อใยยาวจะแข็งแรงกว่าเยื่อใยสั้น ส่วนน้ำหนักของกระดาษที่ใช้พิมพ์ฉลากจะอยู่ในช่วง 70-80 กรัมต่อตารางเมตรด้านหน้าของกระดาษจะต้องทำให้ผิวเรียบเพื่อให้การพิมพ์มีคุณภาพดี ในกรณีที่มีการแช่เย็นฉลากที่ใช้ควรใช้กระดาษทนน้ำ (Wet Strength Paper) เพื่อป้องกันการหลุดลอกและการฉีกขาด
2) กาวที่ใช้ทา กาวทีมีคุณสมบัติยึดติดได้อย่างสมบูรณ์จะป้องกันการเกิดรอยย่นหลังการติดฉลาก กาวที่มีส่วนผสมไม่เหมาะสมหรือทากาวมากเกินไป สามารถก่อให้เกิดรอยด่างบนฉลาก ทำให้งานออกแบบฉลากเสียคุณค่าไป
3) หมึก การติดของหมึกบนฉลากเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบกันทั่วไป ภายในส่วนผสมของหมึกประกอบด้วยสารเชื่อม (Binders) เม็ดสี (Pigment) และสารเติมแต่งคุณภาพการพิมพ์ทำให้เพิ่มคุณค่าของสินค้า
3. การบรรจุ
วิธีการบรรจุของเหลวลงในขวดมีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบปริมาตรคงที่และระบบระดับคงที่ สินค้าจำพวกสุรามักนิยมใช้ระบบระดับคงที่และสามารถสังเกตโดยใช้สายตาวัดระดับ ณ จุดขาย เวลาผลิตขวดแก้ว น้ำแก้วจะถูกเป่าให้กระจายเต็มผิวด้านในของแม่แบบ ทำให้ความหนาของผนังขวดแก้วของแต่ละขวดไม่สม่ำเสมอเท่ากันทุกๆขวด ถ้าทำการบรรจุแบบปริมาตรคงที่จะทำให้ระดับความสูงบริเวณคอขวดแตกต่างกันไป ในขณะที่ผู้บริโภคพอใจที่จะซื้อขวดบรรจุสุราที่เห็นอยู่ในระดับสูงกว่า ด้วยเหตุนี้จึงนิยมบรรจุแบบระดับคงที่มากกว่า แม้ว่าการบรรจุแบบระดับคงที่จะมีความแปรปรวนของปริมาตรที่บรรจุอยู่บ้าง
การบรรจุแบบระดับคงที่ใช้วิธีบรรจุได้หลายวิธี เช่น บรรจุแรงโน้มถ่วง สุญญากาศความดัน หรือการใช้ทั้งความดันและสุญญากาศ ส่วนการควบคุมให้ระดับคงที่โดยการนำของเหลวส่วนเกินออกเมื่อถึงระดับที่ต้องการโดยการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการควบคุมแบบนิวเมติกาล์วช่วยในการบรรจุทำให้ระดับสุราในแต่ละขวดคงที่เสมอ
ระดับของสุราที่บรรจุในขวดจะสังเกตได้จากบริเวณคอขวดโดยปกติจะนิยมบรรจุให้ระดับของสุราภายในขวดอยู่ในระดับสูงหรือเรียกตามศัพท์วิชาการทางด้านบรรจุภัณฑ์ว่ามีช่องว่างเหนือระดับบรรจุอยู่น้อย (Less Headspace) ปริมาตรของอากาศเหนือระดับบรรจุที่น้อยนี้ทำให้ปริมาณออกซิเดชั่นภายในขวดน้อยตามไปด้วย นับเป็นการช่วยยืดอายุของสุรา เนื่องจากการเกิดออกซิเดชั่นระหว่างสุราและออกซิเจนมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ในทางกลับกันถ้าปริมาตรเหนือระดับบรรจุมีเหลือน้อยมาก จะเพิ่มโอกาสที่ขวดแก้วทนแรงอัดจาดก๊าซที่เกิดจากการหมักภายในขวดไม่ได้ มีโอกาสส่งผลให้ฝาหรือขวดระเบิดได้ง่าย