ปัจจุบันในกระบวนการผลิตกล้วยตากส่วนใหญ่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อบกล้วยปราศจากสารเคมี และมีคุณภาพมากขึ้น
ล่าสุด บริษัท ศิริวานิช (เอส แอนด์ดับเบิ้ลยู) ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยตากกล้วยม้วนนิ่ม กล้วยอบกรอบ ภายใต้แบรนด์ ไท-ไท (TAI-TAI) และไซรัปกล้วยตรานาส์ ได้นำ "เทคโนโลยีไฮบริด" มาใช้อบกล้วยตากเป็นรายแรกของไทย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนเรศวรจ.พิษณุโลก ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ
ศิริ วนสุวานิชกรรมการผู้จัดการบริษัท ศิริวานิช เปิดเผยว่า เดิมทีการผลิตกล้วยตากขึ้นอยู่กับแสงแดดเป็นหลักไม่มีความแน่นอน รวมถึงมีปัญหาของฝนและสิ่งปนเปื้อน แม้จะมีการพัฒนาโรงเรือนอบกล้วยตากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แก้ปัญหาแล้ว แต่บริษัทเห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการตามคำสั่งซื้อที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก และเสียดายความร้อนในช่วงกลางวัน จึงต้องการเก็บความร้อนที่ได้นำไปใช้อบกล้วยตากในช่วงเวลากลางคืน
บริษัทจึงได้ต่อยอดจากรูปแบบเดิมที่นำพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์มาใช้อบกล้วยเพียงแหล่งเดียว ปรับมาเป็นการใช้พลังงานความร้อนจาก 2 แหล่งคือ ความร้อนจากแสงอาทิตย์สำหรับอบกล้วยตากในเวลากลางวัน และความร้อนจากพื้นนำมาเก็บสะสมไว้ในแท็งก์สเตนเลส (ขนาด 1,500 ลิตร จำนวน 2 ถัง) ในรูปแบบของน้ำร้อน ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
การอบกล้วยตากในเวลากลางคืนก็เพื่อรองรับกำลังการผลิตในปริมาณมากๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เพียงพอต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์กล้วยตากไท-ไท ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพดังนั้นการใช้พลังงานความร้อนจาก 2 แหล่งภายในโรงเรือนเดียวกัน จะทำให้สามารถอบกล้วยตากได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วยลดระยะเวลาในการผลิตให้สั้นลง และประหยัดต้นทุน
การพัฒนาครั้งนี้ ภายใต้ชื่อโครงการ"การออกแบบและสร้างโรงเรือนกรีนเฮาส์ไฮบริด เพื่อการผลิตกล้วยตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์"
ศิริ ขยายความเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนากรีนเฮาส์ไฮบริดนี้ คือ "ชุดควบคุม หรือระบบควบคุมแบบป้อนกลับ (อัตโนมัติ) " ที่ผู้เชี่ยวชาญได้พัฒนาโปรแกรมควบคุมขึ้นใหม่ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานในโรงเรือนให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอบแห้งที่ต้องการมากที่สุดทำให้อบกล้วยตากได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งวันที่มีแสงแดดและวันที่ไม่มีแสงแดด ระบบจะทำหน้าที่สั่งการทำงานเองทั้งหมด ไม่ต้องมีพนักงานควบคุม ถือเป็นแห่งเดียวของไทย
"การที่บริษัทมีโอกาสส่งผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ หากไม่ได้ iTAP เข้ามาช่วย ในฐานะธุรกิจเอสเอ็มอีคงไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้มากขึ้น เอสเอ็มอีรายอื่นที่อยากจะพัฒนาตัวเอง ถ้ายอมปรับตัว เปิดใจให้กว้างรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ไม่ยาก เหมือนอย่างที่บริษัทได้รับ"ศิริ กล่าวทิ้งท้าย
ผลิตภัณฑ์กล้วยตากตราไท-ไท ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย GMP (จากสำนักงานสาธารณสุขพิษณุโลก) ในปี 2549 เป็นผู้ประกอบการกล้วยตากรายแรกของจังหวัดพิษณุโลก ล่าสุด ในปี 2553 บริษัทฯ ผ่านการตรวจประเมินและรับรองการผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล GMP/ HACCP Codex โดยสถาบัน SGS ผลิตภัณฑ์ตราไท-ไท มีวางจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สยามพารากอน เดอะมอลล์ เทสโก้โลตัส ฟู้ดแลนด์ ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของฝากทั่วประเทศ รวมถึงการจัดหน่ายผ่านตัวแทนส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศจากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์จากกล้วยตราไท-ไท อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มียอดขายเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 ล้านบาท ( ปี49 มีผลประกอบการอยู่ที่ 7 ล้านบาท ) คาดว่า ภายในสิ้นปี 2553 นี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นได้ถึง 12 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า โครงการ iTAP เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กได้จริง ช่วยเชื่อมระหว่างองค์ความรู้และผู้ประกอบการ หากไม่มี iTAP คงไม่รู้จักกับผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในเชิงวิชาการให้กับบริษัท เช่นการที่ได้มีโอกาสส่งผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ หากไม่ได้หน่วยงานภาครัฐอย่างiTAPเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วบริษัทก็ไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้ การช่วยเหลือดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีไม่หลงทางและมุ่งสู่ความฝันได้เร็วขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรต้องปรับตัวและเปิดใจกว้างทั้งการรับองค์ความรู้ต่างๆ และเปิดกว้างที่จะถ่ายทอดความรู้นั้นออกไป เพื่อให้ประเทศไทยไม่ด้อยไปกว่าประเทศใด โดยในอนาคตทางบริษัทฯ จะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานการทำกล้วยตากพิษณุโลกให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนรู้กระบวนการผลิต ระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยมากขึ้นด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554