อุตสาหกรรมอาหาร กับ เทคโนโลยีสะอาด (CT) จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาโลกร้อน อันตรายต่างๆ ปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อม ทุกทิศทุกทาง ทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ทำให้ทั่วโลกจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อร่วมกัน ป้องกัน ร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน ที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มากที่สุดไว้ให้ลูกหลาน เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (Cleaner Technology : CT) อาจเรียกว่า การผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Productivity) หมายถึง การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การใช้ วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้เปลี่ยนเป็นของเสียน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย (Waste Minimization) จึงเป็นการลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด (Pollution Prevention) ทั้งนี้ รวมถึงการเปลี่ยนวัตถุดิบ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการผลิตไปพร้อมกัน เทคโลโลยีการผลิตที่สะอาดจึง เป็นแนวทางหนึ่งของการจัดการสิ่งแวดล้อมในลักษณะของการป้องกันมลพิษ ที่มีการประยุกต์และผสมผสานกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของภาคการผลิต ให้มีการป้องกันหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดเป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยรวมถึงการเปลี่ยนวัตถุดิบ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นการลดมลพิษ ที่แหล่งกำเนิดช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์และลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการบำบัดหรือกำจัดของเสีย จึงเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้า อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่นำวัตถุดิบจากการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช เนื้อสัตว์ซึ่งได้จากธรรมชาติ มาผ่านการแปรรูป เพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการถนอมอาหาร ยืดอายุการเก็บรักษา และสะดวกในการรับประทาน ซึ่งกระบวนการแปรรูปอาหารตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบจนถึง การแปรรูปอาหารด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การแปรรูปอาหารความร้อน การแช่เยือกแข็ง การทำแห้งจำเป็นต้องใช้พลังงานสูง และทำให้เกิดของเสียเป็นจำนวนมาก ทั้งขยะจากเศษอาหารน้ำล้าง น้ำทิ้ง ซึ่งมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และยังเกิดการปนเปื้อนไปยังอาหารที่ผลิต ทำให้เกิดอันตรายทางอาหาร (food hazard) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารโดยตรง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยังมีการใช้ บรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องการพลังงานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และพลังงงานอื่นๆ ในการผลิต และยังก่อให้เกิด "ขยะ" ปริมาณมหาศาล ประเภทของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ 1 ตัน (หน่วย 106 Joules, หรือ MJ) วัสดุบรรจุภัณฑ์ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานอื่นๆ แก้ว 1,304 8,471 5,919 กระป๋อง 3 ชิ้น (450 ซี.ซี.) 10,531 16,802 28,993 กระป๋องอะลูมิเนียม (450 ซี.ซี.) 79,625 76,829 57,276 กระดาษแข็ง 9,350 25,630 16,630 ขวด LDPE (50,000 ขวด) 6,720 36,820 - ขวด HDPE (50,000 ขวด) 6,890 37,910 - ขวด PP (50,000 ขวด) 3,340 40,390 - ขวด PET (50,000 ขวด) 18,660 - - แหล่งที่มา : Boustead, Hancock "Energy and Packaging http://www.foodnetworksolution.com/control/knowledge_edit_content/142 ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด จึงเป็นเครื่องมือเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุตสหาหรรมอาหาร เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน นำไปสู่มาตรฐาน การจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ในวงการค้า ในโลกปัจจุบันด้วย วิธีการของเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด ต้องมีการค้นหาแหล่งกำเนิดของเสียหรือมลพิษ และวิเคราะห์หาสาเหตุว่าของเสียหรือมลพิษเหล่านั้นเกิดอย่างไร การลดมลพิษสามารถทำได้โดย 1) การเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ (Product Reformulation) เป็นการปรับปรุงในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการเกิดสารมลพิษ โดยพัฒนาการออกแบบให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น น้ำผลไม้เข้มข้น ซึ่งนำไปผสมน้ำให้เป็นผลไม้พร้อมดื่ม อาหารแห้ง เช่นเครื่องดื่มผงชงดื่มชาเขียวบรรจุซองชา ใช้ชงดื่มแทนการบรรจุขวดพร้อมดื่มเพื่อลดจำนวนบรรจุภัณฑ์ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น กระดาษ วัสดุจากธรรมชาติรวมทั้งยกเลิกหีบห่อที่ไม่จำเป็น 2) การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต (Process Change) สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ 2.1) การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ (Input Material Change) เป็นการเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด มีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก วัตถุอันตรายทางการเกษตรให้น้อยที่สุดโดยใช้มาตรการGood Agricultural Practice หรือGAPหากเป็นไปได้ควรมีการกำจัดสิ่งปนเปื้อน เช่น ดิน ทราย กิ่งไม้วัชพืช ออกตั้งแต่แหล่งที่มาก่อนที่จะเข้าสู่โรงงานหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อการล้าง 2.2) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technology Improvement) โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการ กลไกในกระบวนการผลิต หรือปรับปรุงอุปกรณ์ในสายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดการ สูญเสีย เปลี่ยนการออกแบบใหม่ เพิ่มระบบอัตโนมัติเข้าช่วย ปรับปรุงข้อจำกัดในการปฏิบัติงานและการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น ทำได้โดยการออกแบบใหม่ เพิ่มระบบอัตโนมัติ เข้าช่วยปรับปรุง คุณภาพของอุปกรณ์ และแสวงหาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เช่น ปรับ ตำแหน่งการวางอุปกรณ์ หรือระบบท่อไอน้ำ เข้าสู่ เครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการสูญเสีย ใช้อุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุ (conveyor) ที่เหมาะสมในการผลิตอาหาร เพื่อลดพลังงานในการขนส่ง ขนถ่ายอาหาร ปรับปรุงการดำเนินการผลิต เพื่อลดปริมาณ น้ำล้าง น้ำทิ้ง เช่น ในอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง อาจหาวิธีการประหยัดน้ำเพื่อการละลายปลาทูน่า ก่อนเข้ากระบวนการผลิต การหาการนำประโยชน์จากน้ำทิ้ง จากการนึ่งปลา เป็นต้น ปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหารให้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ต้องใช้พลังงานสูงเช่น เครื่องระเหย (evaporator) เครื่องอบแห้ง (drier) หม้อฆ่าเชื้อ (retort) เครื่องแช่เยือกแข็ง (freezer) เครื่องทอดโดยการใช้ ระบบอัตโนมัติ หรือ ใช้ อุปกรณ์ ควบคุม อุณหภูมิ ความดัน เพื่อตัดการทำงาน เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ ในการผสมอาหาร มีการติดตั้ง ติดตั้งมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมความเร็วของมอเตอร์ เครื่องผสมเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ลดผลผลิตที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน 3) การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน (Operational Improvement) โดยการปรับปรุงการบริหารระบบการวางแผนและควบคุมการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพของกระบวนการผลิตให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น มีกระบวนการทำงานและขั้นตอนการบำรุงรักษาที่ชัดเจน มีการบริหารการปฏิบัติงาน มีการฝึกอบรม มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง มีระบบการจัดเก็บในโกดัง ชั้นเก็บของ ใช้ระบบ First in - First out เพื่อลดการสูญเสียจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีการวางแผนซ่อมบำรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ หลีกเลี่ยงการรวมของเสียต่างชนิดเข้าด้วยกันแยกของเสียที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่างๆ อย่างเหมาะสม การใช้ซ้ำ (Reuse) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นต้น ประโยชน์จากนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร ของไทย ต้องตระหนักถึงบทบาทของการมีส่วนร่วมสำคัญเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ผลดีที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสะอาด เริ่มต้นที่ตัวท่านเองก่อน เพราะเทคโนโลยีสะอาด เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ในการสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ทำให้สามารถรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนา อุตสาหกรรมของประเทศ ผลของการใช้ เทคโนโลยีสะอาด สามารถช่วยให้ ลดอันตรายในอาหาร เพิ่มความปลอดภัยทางอาหาร ของเสียจากการผลิต และประหยัดค่าใช้จ่าย ในการจัดการของเสีย ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต เพราะใช้วัตถุดิบ น้อย ลง แต่ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น เพิ่มผลการผลิต และเพิ่มคุณภาพอาหาร ประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงและอุบัติเหตุ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ภาพพจน์ขององค์กรดีขึ้น เป็นไปตามกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อมของทางราชการ นำไปสู่มาตรฐาน การจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ในวงการค้า ในโลกปัจจุบัน Refernces http://www.sme.go.th/SiteCollectionDocuments/วิจัยSMEs/FATและผลกระทบ/เตรียมรับมาตรการ/doc (5) .pdf