News and Articles

พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1

พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1


หมวดหมู่: หนังสือบรรจุภัณฑ์อาหาร [บรรจุภัณฑ์อาหาร]
วันที่: 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์อาหาร

ตั้งแต่มนุษยชาติเกิดมาในโลกนี้ ความพยายามอยู่รอดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคน เริ่มต้นจากสมัยการทำเกษตรกรรมสืบต่อด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 20 การประกอบอาชีพได้เปลี่ยนโฉมจากการเพาะปลูกหรือผลิตเพื่อบริโภคเองมาเป็นเพาะปลูกหรือผลิตเพื่อการจำหน่ายเช่นเดียวกับวิวัฒนาการของบรรจุภัณฑ์จากอดีตมาถึงปัจจุบัน เริ่มด้วยบทบาทจากการปกป้องรักษาคุณภาพสินค้า พัฒนามาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริโภคและโฆษณาสินค้าไปในตัว นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมด้วย

สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการผลิตจากประเทศกสิกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้คนชนบทละถิ่นฐานของตัวเองมาเป็นคนเมืองมากยิ่งขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเพิ่มรายได้ สถานะความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเนื่องจากไม่มีเวลาที่จะเตรียมอาหารให้ครอบครัวและตัวเอง เวลาส่วนใหญ่ใช้ในการทำงานปกติและทำงานล่วงเวลายังไม่รวมถึงเวลาในการสัญจร บรรจุภัณฑ์ที่จะอำนวยความสะดวกในการเตรียมอาหารเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านเวลาที่จำกัดของตัวเองจึงได้อุบัติขึ้น ตัวอย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องชนิดต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเวลาอันจำกัดนี้เอง ทำให้พฤติกรรมที่ใช้ในการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนไปด้วย การซื้ออาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ที่สะดวกในการเดินทางซึ่งมีอยู่ทั่วไปในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร สินค้าที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์สโตร์หรือคอนวีเนียนสโตร์จำต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถสนองความต้องการของคนเมืองตามที่ได้กล่าวถึง สภาวะความเป็นอยู่และนิสัยการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไปดังที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้เกิดการวิวัฒนาการทางด้านบรรจุภัณฑ์พร้อมทั้งกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป วิวัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวย่อมหนีไม่พ้นการศึกษาวิจัยพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์และวิวัฒนาการของกระบวนการผลิตอาหาร

ผู้อุปโภคบริโภคในปัจจุบันมีความต้องการแตกต่างกันแปรตามอายุ เพศ ศาสนา สถานะ ความเป็นอยู่ เป็นต้น มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในประเทศที่มีบรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐานย่อมมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า สืบเนื่องจากความสามารถในการรักษาคุณภาพอาหาร การผลิตป้อนสู่ตลาดเป็นจำนวนมากด้วยเครื่องจักรทำให้ราคาต่อหน่วยต่ำลงและสามารถบริโภคได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้นโดยไม่แบ่งแยกวรรณะทางด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างของนมกล่องเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนของการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนทั่วทั้งประเทศได้ดื่มนมระหว่างอาหารกลางวัน จากการพัฒนาของบรรจุภัณฑ์นมกล่องที่บรรจุในสถานะปลอดเชื้อทำให้สามารถเก็บได้นานและสามารถจัดส่งไปยังชนบทไกลๆ ได้ ส่งผลให้มีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจำนวนหลายพันล้านบาทต่อปีแจกนมให้เด็กนักเรียนเพื่อสร้างให้เยาวชนรุ่นหลังได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ตัวอย่างการวิวัฒนาการของบรรจุภัณฑ์นมกล่องนี้ ย่อมทำให้สุขภาพอนามัยของอนุชนรุ่นหลังดีกว่ารุ่นบรรพบุรุษ

1.1 ประวัติศาสตร์บรรจุภัณฑ์

การศึกษาประวัติความเป็นมาของบรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนกับการศึกษาอารยธรรมของมนุษย์ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติจะพัฒนาไปพร้อมๆ กับมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ สืบเนื่องจากคุณประโยชน์ที่บรรจุภัณฑ์เอื้ออำนวยให้การกินอยู่ดีขึ้น การศึกษาประวัติการพัฒนาการบรรจุภัณฑ์ย่อมจะทำให้มองเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อมนุษยชาติ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้การศึกษาประวัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จึงควรเริ่มจากการศึกษาบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ

1.1.1 บรรจุภัณฑ์ธรรมชาติและประเพณีนิยม

เมื่อใดก็ตามที่มีการกล่าวถึงบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติมักจะมีความหมายว่าเป็นผลงานของเทวดา เนื่องจากเป็นบรรจุภัณฑ์สมบูรณ์แบบและเป็นต้นแบบของบรรจุภัณฑ์ที่มนุษย์พยายามลอกเลียนบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตหลายๆ ประเภท ตัวอย่างเช่น ไข่ รูปทรงของไข่ไม่ได้เป็นรูปทรงเรขาคณิต คือไม่กลมหรือวงรีทำให้กลิ้งไม่สะดวก ส่งผลให้โอกาสเกิดการกระแทกจากการเคลื่อนไหวไม่รุนแรง ส่วนโค้งของไข่มนพอดีกับการกกไข่ที่จะให้ความอบอุ่นได้อย่างทั่วถึง เปลือกของไข่เต็มไปด้วยรูพรุนต่างๆ เพื่อให้มีปริมาณอากาศภายในไข่อย่างพอเหมาะที่จะให้ลูกอ่อนเจริญเติบโตได้ ไข่ขาวที่มีอยู่ภายในมีลักษณะเป็นของเหลวหนืดเอื้ออำนวยให้ไข่แดงสามารถเคลื่อนไหวได้ในขณะเดียวกันยังช่วยปกป้องไข่แดงที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการด้วย เปลือกผิวไข่ที่ยอมให้อากาศซึมผ่านอย่างพอเหมาะช่วยควบคุมอากาศภายในไข่ให้สมดุลซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในการออกแบบพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์ที่มีการป้องกันเชิงรุก (Active Packaging) ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในบทที่ 2

พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1

ถั่วลันเตาเป็นบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบอีกประเภทหนึ่ง เม็ดถั่วอยู่ภายในฝักเรียงตัวเป็นแถว ตัวฝักเปรียบเหมือนกับฟิล์มเคลือบอยู่ 2 ชั้น โดยมีชั้นนอกที่แข็งและชั้นในที่อ่อนนุ่ม ภายในฝักถั่วยังมีการปรับอากาศภายในให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เปรียบเสมือนกับบรรจุภัณฑ์ปรับสภาวะบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging) ที่มนุษย์ได้คิดค้นเลียนแบบเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากถั่วลันเตาแล้วถั่วลิสงก็เป็นถั่วอีกแบบหนึ่งที่มีเปลือกข้างนอกคล้ายคลึงกับลอนของกระดาษ ลูกฟูกซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้ ลอนบนผิวของเปลือกถั่วลิสงสามารถปกป้องเม็ดถั่วที่อยู่ภายในด้วยรูปลักษณะของการเป็นลอนคล้ายกับลอนกระดาษลูกฟูก

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า บรรจุภัณฑ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรม ตัวอย่างที่เห็นชัดมากที่สุดคือ บรรจุภัณฑ์ของขวัญ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญที่เป็นสินค้า หรือ เงินสด จำต้องใช้บรรจุภัณฑ์ห่อ ในกรณีเงินสดและเช็คของขวัญย่อมจะต้องมีซองใส่ในรูปแบบต่างๆ กัน ในงานสมรสใดๆ ก็ตาม ถ้าผู้รับเชิญไปถึงงานและควักเงินสดโดยปราศจากซองให้แก่ผู้จัดงานสมรส จะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับการจ่ายเงิน แต่ถ้าให้เป็นซองที่บรรจุเงินสดหรือเช็คของขวัญความรู้สึกจะเป็นการให้เพื่อแสดงความยินดี ไม่ใช่เป็นการให้เพื่อแลกเปลี่ยนหรือเพื่อทดแทนกับสิ่งที่ได้รับประโยชน์ คล้ายกับการให้อั่งเปาของประชาชนจีน เงินที่ให้อั่งเปาเปรียบเสมือนกับการอวยพรให้โชคดีตลอดปีใหม่ นอกจากนี้ยังถือเป็นประเพณีว่าซองที่ใส่นั้นจะต้องเป็นสีแดงอันเป็นสื่อความหมายถึงความโชคดี

สรุปได้ว่าบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติและประเพณีนิยมมีบทบาทต่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แล้วยังเพิ่มคุณค่าของสินค้าด้วยสีสันและรูปทรงของบรรจุภัณฑ์เอง

1.1.2 ประวัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์

ในสมัยดึกดำบรรพ์บรรจุภัณฑ์มักจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ลูกน้ำเต้า ใบไม้ เปลือกหอย เป็นต้น มาถึงยุคสมัยประมาณ 5000 ปีก่อนพุทธกาล มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้เครื่องปั้นดินเผาทำให้สามารถเก็บตุนอาหารได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้สามารถนำส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลออกไป พร้อมทั้งการนำไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าและค้าขายเป็นสินค้าได้ บรรจุภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้พบแหล่งผลิตในประเทศกรีซและส่งไปขายไกลถึงประเทศอิตาลีในปัจจุบัน

บรรจุภัณฑ์แก้วเริ่มมีการผลิตประมาณ 2000 ปีก่อนพุทธกาลในแถบเมโสโปเตเมียหรือประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน ส่วนขวดแก้วใสนั้นสามารถผลิตได้ประมาณ 1000 ปีก่อนพุทธกาล และทำให้อียิปต์เป็นประเทศที่ชำนาญในการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ต่อมาประมาณ พ.ศ. 500 วิวัฒนาการทางด้านบรรจุภัณฑ์แก้วได้เปลี่ยนมาเป็นการเป่าแก้วซึ่งได้ตกทอดมรดกมาถึงปัจจุบันนี้ วิวัฒนาการในการผลิตแก้วได้ก้าวมาสู่จุดสุดยอดด้วยการพัฒนาของชาวโรมัน ประมาณ พ.ศ. 800

กระดาษเริ่มผลิตได้ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกับแก้ว คือ ประมาณ พ.ศ. 600 ในประเทศจีนแต่ในยุคนั้นกระดาษยังไม่ได้นำมาใช้ห่อสินค้า จวบจนกระทั่งกระดาษได้รับการนำเข้าสู่ประเทศยุโรปผ่านประเทศทางอาหรับ และเริ่มมีการผลิตกระดาษครั้งแรกในทวีปยุโรปที่ประเทศสเปนทางเหนือของวาเลนเซียโดยชาวมุสลิมสเปน กระดาษได้รับการแปรรูปเป็นถุงกระดาษในช่วง พ.ศ. 2161 ถึง พ.ศ. 2191 และมีการใช้มากถึง 800 ล้านถุงในสหรัฐอเมริกาในช่วงปีพ.ศ. 2418 ส่วนการตัด การทับเส้น พร้อมทั้งการพิมพ์เพื่อแปรรูปกล่องกระดาษแข็งนั้นเริ่มได้รับความนิยมใน พ.ศ. 2423

บรรจุภัณฑ์โลหะ เริ่มจากการค้นพบวิธีการชุบโลหะด้วยดีบุกโดยกระบวนการ Hot Dip ของชาวโบฮีเมียน ประมาณ พ.ศ. 700 จนกระทั่งมีการแปรรูปมาทำเป็นกระป๋องบรรจุยาเส้นที่พบในอังกฤษต้องใช้เวลานานถึง 500 ปีหลังจากการค้นพบการชุบดีบุก บรรจุภัณฑ์ในแถบทวีปเอเชียได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ คือ มีการใช้กระป๋องใส่ชาที่ผลิตจากประเทศในแหลมมาลายูด้วยปริมาณชา 1 "Kati" หรือประมาณ 1.5 ออนซ์ในปัจจุบันนี้เพื่อวางจำหน่ายในยุโรป

ในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ของบรรจุภัณฑ์ บุคคลที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด คือ ผู้ประดิษฐ์บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาอาหารได้เป็นชาวเปอร์เซียนที่ชื่อ Nicolas Appeert ซึ่งได้รับรางวัลจากจักรพรรดินโปเลียนในฐานะที่เป็นคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาอาหารไว้เป็นเสบียงแก่ทหาร บรรจุภัณฑ์อาหารดังกล่าวนี้จะใช้ขวดแก้วพร้อมจุกที่ปิดสนิทแน่นและสามารถฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ หลักการถนอมอาหารด้วยการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนนี้ได้รับการวิวัฒนาการต่อโดยใช้เป็นกระป๋องโลหะโดยชาวอังกฤษที่ชื่อ Donkin and Hall ซึ่งเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์การผลิตในอังกฤษจาก Appert ด้วยเหตุนี้ Appert จึงได้รับเกียรติในฐานะผู้คิดค้นบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะที่สามารถฆ่าเชื้อได้เป็นคนแรก

พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1

Nicolus Appert ผู้คิดค้นบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะที่สามารถฆ่าเชื้อได้เป็นคนแรก

พลาสติกชนิดแรกสุดมีชื่อว่า Parkesine ได้รับการคิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2399 โดยชาวอังกฤษที่ชื่อว่า Alexander Parkers นับเป็นพลาสติกจำพวก Thermoplastics ชนิดแรกที่ผลิตขึ้นในโลกนี้ และได้นำออกแสดงในงานแสดงสินค้าที่เมือง South Kensington ในอีก 6 ปีต่อมา หลังจากนั้น พลาสติกชนิดต่างๆ ได้รับการคิดค้นขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น Styrene ซึ่งได้รับการคิดค้นในปี พ.ศ. 2409 ตามมาด้วย Vinychloride ในปี พ.ศ. 2415 เป็นต้น การศึกษาประวัติศาสตร์บรรจุภัณฑ์ในยุคต่อมาซึ่งมีวิวัฒนาการที่น่ากล่าวถึงดังแสดงไว้ในตารางที่ 1.1

พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1

Alexander Parkes - the first plastics 1813 - 1890ที่มา http://westnorwoodcemetery.com/people_buried/alexander_parkes.html

ในวงการพลาสติก วิวัฒนาการที่พลิกประวัติศาสตร์พลาสติก ได้แก่ การค้นพบ Polyethylene ในโรงงานของ ICI ประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2468 และได้นำมาใช้เป็นสารหุ้มฉนวนของสายโทรศัพท์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งได้รับการพัฒนามาจนเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นิยมใช้มากที่สุด

ตะเข็บคู่ (Double Seam) ของกระป๋อง 3 ชิ้นได้รับการจดสิทธิบัตรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2439 โดยชาวนิวยอร์คที่มีชื่อว่า Max Ams ส่วนกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้บรรจุน้ำอัดลมต้องใช้เวลาอีกเกือบ 100 ปี จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาใช้ทางเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2508

การใช้กล่องกระดาษลูกฟูกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา คือ การใช้สำหรับบรรจุอาหารเช้าซีริล (Cereal) พร้อมทั้งได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่งในปี พ.ศ. 2437 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะสิ้นสุดลง มีผู้ประกอบการใช้กล่องอยู่เพียง 20% และใช้ลังไม้อยู่ 80% จวบจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง ตัวเลขการใช้ดังกล่าวได้กลับตาลปัตรเป็นมีผู้ใช้กล่องถึง 80%

ตารางที่ 1.1 : ประวัติวิวัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ

ปี

ประเภท

บรรจุภัณฑ์

วิวัฒนาการ

ยุคโบราณ

5000 ปี

ก่อนพุทธกาล

2000 ปี

ก่อนพุทธกาล

500

600

เครื่องปั้น

ดินเผา

แก้ว

แก้ว

กระดาษ

เริ่มมีการใช้เครื่องปั้นดินเผาในประเทศกรีซ

เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์แก้วในอารยธรรมแถบเมโสโป

เตเมีย

ผลิตแก้วด้วยการเป่า

เริ่มมีการผลิตกระดาษ

ยุคเริ่มแรก

2245

2352

2414

2435

2437

2441

2451

2458

2468

กระดาษ

กระป๋อง

กระดาษลูกฟูก

ฝา

กระดาษลูกฟูก

กระป๋องโลหะ

บรรจุภัณฑ์แก้ว

กระดาษลูกฟูก

พลาสติก

เริ่มการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ

Appert ค้นพบวิธีการถนอมอาหารด้วยความ

ร้อน

มีการจดลิขสิทธิ์ในการผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก

William Painter ของสหรัฐอเมริกาคิดค้นฝา

จีบ

เริ่มมีการใช้กล่องกระดาษลูกฟูกในการขนส่ง

ทางรถไฟในสหรัฐอเมริกา

ใช้ระบบสุญญากาศเป็นครั้งแรกสำหรับยาสูบใน

ประเทศอังกฤษ

บริษัท Anchor-Hocking ในสหรัฐอเมริกา

พัฒนาฝาปิดที่มีชั้นในบุด้วยยางและแถบโลหะ

รัดฝาโดยรอบ

C.D.Altick คิดค้นกระดาษเหนียวสีน้ำตาล

(Kraft)

เริ่มยุคสมัยของพลาสติก โดยมีการใช้ PE,

Cellophane, PVC, PSถ

ยุคปัจจุบัน

2503

2505

2507

2510

2513

2520

2521

2524

2526

พลาสติก

กระป๋องโลหะ

พลาสติก

พลาสติก

พลาสติก

พลาสติก

พลาสติก

กล่องกระดาษ

พลาสติก

เริ่มผลิตถุงพลาสติกที่ต้มในน้ำร้อนได้และขวด

นมขนาดใหญ่ที่ผลิตจาก HDPE

เริ่มผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่ม

และกระป๋องสเปรย์

แผงยาที่ใช้กดเม็ดยาให้ทะลุผ่านแผ่นเปลว

อะลูมิเนียม และฟิล์มหดที่มาใช้แทนที่กล่อง

กระดาษลูกฟูก

หลอดพลาสติกและฝาพลาสติกที่เปิดแล้วเกลียว

ขาดจากกัน

ฟิล์มเม็ตทัลไลซ์ (Metallized) ที่มีแสงแวววับ

ขวด PED สำหรับเครื่องดื่มน้ำอัดลม

ระบบบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ และระบบปรับ

สภาวะบรรยากาศ

กล่องปลอดเชื้อที่นิยมใช้บรรจุนมและเครื่องดื่ม

ขวดซ๊อสมะเขือเทศที่ผลิตด้วยกรรมวิธี Co-Extrusion

1.2 นิยาม

ศัพท์คำว่า "บรรจุภัณฑ์" ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างๆ แต่มักจะมีการใช้คำว่าภาชนะบรรจุกับบรรจุภัณฑ์อย่างสับสน คำถามมีอยู่ว่าภาชนะบรรจุกับบรรจุภัณฑ์นั้นแตกต่างกันอย่างไร ขอให้พิจารณาบรรจุภัณฑ์น้ำปลา การซื้อน้ำปลามาขวดหนึ่งจากร้านขายของชำตัวขวดนั้นย่อมเป็นบรรจุภัณฑ์ แต่เมื่อนำมาถึงบ้านเวลาบริโภคจะเทน้ำปลาใส่ถ้วยเล็กๆ ตามสัดส่วนที่ต้องการใช้บริโภค ถ้วยเล็กๆ ดังกล่าวนี้กลายมาเป็นภาชนะบรรจุ ในบางกรณีครอบครัวใหญ่อาจซื้อน้ำปลาเป็นขวดลิตรแล้วนำมากรอกใส่ขวดเล็กที่บ้าน แม้ว่าน้ำปลาจะใส่ขวดเหมือนกัน แต่ขวดใหญ่ที่ซื้อมาจากร้านค้านั้นจะถือเป็นบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่ขวดเล็กที่กรอกใส่ที่บ้านนั้นจะถือว่าเป็นภาชนะบรรจุ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายและไม่ได้มีบทบาทการส่งเสริมการจำหน่ายเมื่อวางขายบนชั้นหิ้ง ณ จุดขาย

อีกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารตามร้านนอกบ้าน จาน ชาม หรือถาดที่ใส่มาบริการที่โต๊ะนั้นจะถือว่าเป็นภาชนะบรรจุ แต่เมื่อไรก็ตามที่ภาชนะบรรจุนั้นๆ มีการปิดผนึกและนำส่ง เช่นนำไปรับประทานที่บ้าน หรือบนรถ ภาชนะบรรจุนั้นๆ จะกลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ว่าจะไม่มีการพิมพ์ยี่ห้อหรือฉลากก็ตาม จากตัวอย่างข้างต้นนั้น จะพบว่าภาชนะบรรจุจะกลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์นั้นต้องมีบทบาทและหน้าที่บางอย่าง นอกเหนือจากการรองรับบรรจุใส่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น

นอกจากศัพท์คำว่า ภาชนะบรรจุ และบรรจุภัณฑ์ในภาษาไทย ศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Packing และ Packaging อาจจะก่อให้เกิดความสับสนได้เช่นกัน โดยปกติคำว่า Packing จะมีความหมายใกล้เคียงกับการบรรจุหีบห่อ กล่าวคือ Packing สื่อความหมายถึงการบรรจุห่อเพื่อการขนส่ง ในขณะที่ศัพท์คำว่า Packaging มีความหมายกว้างกว่า และตรงกับศัพท์คำว่า บรรจุภัณฑ์ในไทย กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า Packing นับเป็นส่วนหนึ่งของ Packaging นั่นเอง

นิยาม : บรรจุภัณฑ์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ใช้ในการบรรจุสินค้าในการจัดจำหน่าย เพื่อสนองความต้องการของผู้ซื้อและหรือผู้บริโภคด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ศาสตร์และศิลป์ ความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้องใช้ความรู้หลายๆ สาขามาประยุกต์ใช้ ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์อาหารต้องใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอาหารเฉพาะทาง เช่น อาหารที่เป็นแป้ง อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์การเกิดปฏิกิริยาระหว่างอาหารและบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งศึกษาวิธีการถนอมรักษาอาหารให้ได้ตามกำหนดเวลาที่ต้องการหรือที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Shelf-Life นอกจากนี้การกำหนดอายุขัยของอาหารยังคงต้องใช้ความรู้ทางด้านการตลาด การขนส่ง เพื่อประเมินเวลาที่สินค้าอาหารจะอยู่ในตลาดและสามารถบริโภคได้หมดก่อนอาหารจะแปลงสภาพจนบริโภคไม่ได้

นอกเหนือจากศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้วบางส่วน การออกแบบกราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์ยังเป็นสาขาวิชาหนึ่งของพาณิชยศิลปะที่ต้องออกแบบให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่ทางด้านการตลาดได้กำหนดไว้ เพื่อว่าบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบนั้นจะได้รับการยอมรับและการซื้อซ้ำหลายๆ ครั้งจนเป็นที่นิยมในกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้

ผู้ซื้อและบริโภค ณ จุดขายมีสินค้าหลายประเภทที่ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริโภคเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ของขวัญในช่วงเทศกาล สินค้าสำหรับเด็กทารกหรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่ผู้ซื้อไม่ใช่ผู้บริโภคนี้ จำต้องสร้างสิ่งจูงใจและความมั่นใจต่อผู้ซื้อว่าสินค้าดังกล่าวจะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้การออกแบบบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะเน้นในการสร้างภาพแห่งความพอใจแทนที่จะเน้นเรื่องคุณสมบัติของตัวสินค้าที่ใช้ในการออกแบบทั่วๆ ไป

ต้นทุนที่เหมาะสม มองจากในแง่ธุรกิจ การผลิตสินค้าเพื่อการจัดจำหน่ายย่อมต้องการสินค้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การเลือกใช้วัสดุที่มีต้นทุนต่ำอย่างเดียวอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่บรรจุภัณฑ์ได้ง่าย ทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องคิดถึงผลกระทบของค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วทั้งระบบ (Total System Cost)

ในเรื่องของต้นทุนบรรจุภัณฑ์นี้มีปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่ามีค่าสูงกว่าต้นทุนของตัวสินค้า ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ของน้ำอัดลม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความยากลำบากที่จะประเมินว่าต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ควรจะเป็นร้อยละเท่าไรของราคาสินค้า ในทางปฏิบัติควรคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสนองความต้องการของผู้ซื้อและหรือผู้บริโภค เพราะถ้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยม ผลกำไรที่ได้ย่อมทำให้มีรายได้ที่จะจุนเจือต้นทุนบรรจุภัณฑ์ได้

<<กลับสู่หน้าหลักอ่านต่อ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2>>



ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2
1.3 หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูปมีความสอดคล้องกับวิทยาการ 2 ด้าน คือ ด้านเทคนิคและด้านการตลาด จำแนกได้ดังนี้ ด้านเทคนิค ด้านการตลาด การบรรจุใส่ การส่งเสริมการขาย การปกป้องคุ้มครอง การแสดงข้อมูลอาหาร การรักษาคุณภาพอาหาร การตั้งราคาขายได้สูงขึ้น การขนส่ง การเพิ่มปริมาณขาย การวางจำหน่าย ให้ความถูกต้องรวดเร็ว การรักษาสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์สามารถให้คำอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้ - การทำหน้าที่บรรจุใส่ ได้แก่ ใส่-ห่อสินค้า ด้วยการชั่ง ตวง วัด นับ - การทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ได้แก่ ป้องกันไม่ให้สินค้าเสียรูป แตกหัก ไหลซึม - การทำหน้าที่รักษาคุณภาพอาหาร ได้แก่ การใช้วัสดุที่ป้องกันอากาศซึมผ่าน ป้องกันแสง ป้องกันก๊าซเฉื่อยที่ฉีดเข้าไปชะลอปฏิกิริยาชีวภาพ ป้องกันความชื้นจากภายนอก - การทำหน้าที่ขนส่ง ได้แก่ กล่องลูกฟูก ลังพลาสติก ซึ่งบรรจุสินค้าหลายห่อหรือหน่วย เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและขนส่งสินค้าไปยังแหล่งผลิตหรือแหล่งขาย - การวางจำหน่าย คือ การนำบรรจุภัณฑ์ที่มีสินค้าอาหารแปรรูปอยู่ภายในวางจำหน่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องเห็นสินค้าเลย สามารถวางนอนหรือวางตั้งได้โดยสินค้าไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งควรคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสมกับชั้นวางสินค้าด้วย - การรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ให้ปริมาณขยะน้อย เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย ในกระบวนการผลิตจะไม่ใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นต้น 2. นำบรรจุภัณฑ์เวียนใช้ใหม่หรือใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น ขวดเหล้า แก้วใส่แยม เป็นต้น 3. หมุนเวียนนำกลับมาผลิตใหม่ คือ นำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปหลอมหรือย่อยสลายเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าอื่นได้ - ทำหน้าที่ส่งเสริมการขายเพราะบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบสวยงามสามารถใช้เป็นสื่อโฆษณาได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้เฉพาะกาล เช่น มีการแนบของแถมไปกับบรรจุภัณฑ์ การนำรูปภาพดารา เครื่องหมายกีฬาที่ได้รับความนิยมมาพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ จะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกความนิยมของสินค้า - ทำหน้าที่เป็นฉลากแสดงข้อมูลของอาหารแปรรูป ได้แก่ ข้อมูลทางด้านโภชนาการ ส่วนประกอบของอาหาร วันที่ผลิต วันที่หมดอายุ คำแนะนำ และเครื่องหมายเลขทะเบียนหรือเลขอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) - ทำให้ตั้งราคาขายได้สูงขึ้นเนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สร้างความนิยมในสินค้า จากตราและเครื่องหมายการค้าทำให้เกิดความภักดี (Loyalty) ในตัวสินค้าส่งผลให้ขายราคาที่สูงขึ้นได้ หรือ ที่เรียกว่าสินค้าแบรนด์เนม (Brandname) - การเพิ่มปริมาณขาย ด้วยการรวมหน่วยขายปลีกในบรรจุภัณฑ์อีกชั้นหนึ่ง เช่น นมกล่อง 1 โหลในกล่องกระดาษลูกฟูกที่มีหูหิ้ว หรือการขายขวดน้ำยาทำความสะอาดพร้อมกับซองน้ำยาทำความสะอาดเพื่อใช้เติมใส่ในขวดเมื่อใช้น้ำยาในขวดหมดแล้ว เป็นต้น - ให้ความถูกต้องรวดเร็วในการขาย โดยการพิมพ์บาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ทำให้คนคิดเงินไม่จำเป็นต้องอ่านป้ายราคาบนบรรจุภัณฑ์แล้วกดเงินที่ต้องจ่าย แต่ให้เครื่องอ่านบาร์โค้ดทำหน้าที่แทน ทำให้รวดเร็วขึ้นและถูกต้อง - ร่วมมีบทบาทในการรณรงค์เรื่องต่างๆ เช่น สัญลักษณ์รีไซเคิล ฉลากเขียว กีฬา ท่องเที่ยว กินของไทยใช้ของไทย เป็นต้น 1.4 ประเภทของบรรจุภัณฑ์ ตามนิยามที่กล่าวมาแล้ว บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นพาหะนำผลผลิตจากกระบวนการผลิตผ่านการขนย้าย เก็บในคลังสินค้า ระบบการขนส่ง ระบบการจัดจำหน่าย เปิดโอกาสให้เลือกซื้อ เอื้ออำนวยความสะดวกในการบริโภคพร้อมทั้งกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย จากขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ การแยกประเภทของบรรจุภัณฑ์อาจแยกได้หลายลักษณะแล้วแต่จุดมุ่งหมายการแยกประเภท ดังแสดงในตารางที่ 1.2 ตารางที่ 1.2 : การแยกประเภทของบรรจุภัณฑ์ วิธีการ จุดมุ่งหมาย ประเภทของบรรจุภัณฑ์ 1 การออกแบบ 1.1 บรรจุภัณฑ์ชั้นในหรือปฐมภูมิ (Primary Packaging) 1.2 บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) 1.3 บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามหรือตติยภูมิ (Tertiary Packaging) 2 วัสดุที่ใช้ผลิต 2.1 เยื่อและกระดาษ 2.2 พลาสติก 2.3 แก้ว 2.4 โลหะ 1.4.1 บรรจุภัณฑ์แบ่งตามการออกแบบ ด้วยหลักการในการออกแบบ สามารถจำแนกประเภทของบรรจุภัณฑ์ได้ 3 จำพวก คือ (1) บรรจุภัณฑ์ชั้นในหรือปฐมภูมิ (Primary Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ซื้อจะได้สัมผัสเวลาที่จะบริโภค บรรจุภัณฑ์นี้จะได้รับการโยนทิ้งเมื่อมีการเปิดและบริโภคสินค้าภายในจนหมด เช่น ซองบรรจุน้ำตาล เป็นต้น บรรจุภัณฑ์นี้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ชั้นในสุดติดกับตัวสินค้า ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นในมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา 2 ประการคือ อันดับแรกจะต้องมีการทดสอบจนมั่นใจว่าอาหารที่ผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้จำต้องเข้ากันได้ (Compatibility) หมายความว่าตัวอาหารจะไม่ทำปฏิกิริยาต่อผลิตภัณฑ์ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเกิดจากการแยกตัวของเนื้อวัสดุบรรจุภัณฑ์เข้าสู่อาหาร (Migration) หรือการทำให้บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนแปลงรูปทรงไปเช่นในกรณีการบรรจุอาหารใส่เข้าไปในบรรจุภัณฑ์ขณะที่อาหารยังร้อนอยู่ (Hot Filling) เมื่อเย็นตัวลงในสภาวะบรรยากาศห้อง จะทำให้รูปทรงของบรรจุภัณฑ์บูดเบี้ยวได้ เหตุการณ์นี้จะพบบ่อยมากในขวดพลาสติกทรงกระบอก ซึ่งแก้ไขได้โดยการเพิ่มร่องบนผิวทรงกระบอกหรือเปลี่ยนรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมมุมมน CPET บรรจุภัณฑ์ชั้นในสำหรับ บรรจุอาหารแช่เยือกแข็ง (freezing) และเข้าไมโครเวฟได้ นอกเหนือจากความเข้ากันได้ของอาหารและบรรจุภัณฑ์แล้ว ปัจจัยอันดับต่อมาที่ต้องพิจารณา คือ บรรจุภัณฑ์ชั้นในจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่วางขายบนหิ้งหรือไม่ ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์ชั้นในจำต้องวางขายแสดงตัวบนหิ้ง การออกแบบความสวยงาม การสื่อความหมายและภาพพจน์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ชั้นในที่ทำหน้าที่วางขายบนหิ้ง (2) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นแรกเข้าด้วยกัน เพื่อเหตุผลในการป้องกันหรือจัดจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น หรือด้วยเหตุผลในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองที่เห็นได้ทั่วไป เช่น กล่องกระดาษแข็งของหลอดยาสีฟัน ถุงพลาสติกใส่ซองน้ำตาล 50 ซอง เป็นต้น ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองนี้มักจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องวางแสดงบนหิ้ง ณ จุดขาย ดังนั้น การเน้นความสวยงามและภาพพจน์ของบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น กล่องยาสีฟัน การออกแบบของหลอดยาสีฟันที่อยู่ภายในก็ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้สอดสีหลายสี ในทางกลับกันถ้าบรรจุภัณฑ์ชั้นในได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองนี้อาจจะทำการเปิดเป็นหน้าต่างเพื่อให้เห็นถึงความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ชั้นในที่ออกแบบมาอย่างดีแล้ว ในกรณีของตัวอย่างถุงพลาสติกใส่ซองน้ำตาล 50 ซองนั้น ถุงพลาสติกที่เลือกใช้ไม่จำเป็นต้องช่วยรักษาคุณภาพของน้ำตาลมากเท่าซองชั้นใน เนื่องจากทำหน้าที่รวมซองน้ำตาล 50 ซองเข้าด้วยกันเพื่อการจัดจำหน่ายแต่ตัวถุงเองต้องพิมพ์สอดสีอย่างสวยงามเพราะเป็นถุงที่วางขายบนหิ้ง ณ จุดขาย บรรจุภัณฑ์ชั้นในหรือปฐมภูมิ (Primary Packaging) และบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายปลีก (Commercial Packaging) (3) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามหรือตติยภูมิ (Tertiary Packaging) หน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์นี้คือการป้องกันระหว่างการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ขนส่งนี้ อาจแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภท คือ - บรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากแหล่งผลิตถึงแหล่งขายปลีกเมื่อสินค้าได้รับการจัดเรียงวางบนหิ้งหรือคลังสินค้าของแหล่งขายปลีกแล้ว บรรจุภัณฑ์ขนส่งก็หมดหน้าที่การใช้งาน บรรจุภัณฑ์เหล่านี้เช่น แคร่และกะบะ (Pallet) เป็นต้น - บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ระหว่างโรงงาน เป็นบรรจุภัณฑ์ที่จัดส่งสินค้าระหว่างโรงงาน ตัวอย่างเช่น ลังใส่ซองพริกป่น ถุงน้ำจิ้ม เป็นผลผลิตจากโรงงานหนึ่งส่งไปยังโรงงานอาหารสำเร็จรูปเพื่อทำการบรรจุไปพร้อมกับอาหารหลัก เป็นต้น - บรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากแหล่งขายปลีกไปยังมือผู้อุปโภคบริโภค เช่น ถุงต่างๆ ที่ร้านค้าใส่สินค้าให้ผู้ซื้อ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนี้ จึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการป้องกันสินค้าระหว่างการขนส่ง ส่วนข้อมูลรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ขนส่งจะช่วยในการจัดส่งเป็นไปอย่างสะดวกและถูกต้อง บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Distribution Packaging) <<ย้อนกลับ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่1อ่านต่อ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่3 >> <<กลับสู่หน้าหลัก
บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่ 1
บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ในสังคมปัจจุบัน ผู้อุปโภคบริโภคให้ความสนใจต่อบรรจุภัณฑ์มากเป็นทวีคูณ ผู้บริโภคนอกจากจะมีความต้องการความสวยงามภายนอกของตัวบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์จำต้องพิจารณาถึงความสามารถในการลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วในขยะ ความต้องการดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสทางสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้สินค้าที่ส่งไปจัดจำหน่ายประเทศเหล่านี้จำต้องสอดคล้องกับกฎข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ด้วย มีการเปรียบเทียบบทบาทของบรรจุภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เม็กซิโก ในฐานะประเทศที่กำลังพัฒนา จะพบว่าปริมาณขยะโดยเฉลี่ยของชาวเม็กซิโกมีมากกว่าชาวอเมริกันถึงร้อยละ 40 เนื่องจากชาวเม็กซิโกใช้ปริมาณบรรจุภัณฑ์น้อยกว่า ส่งผลให้มีปริมาณขยะและอาหารเน่าเสียมากกว่า ในขณะเดียวกัน การศึกษาในยุโรปพบว่าปริมาณของซากบรรจุภัณฑ์ที่พบในขยะทิ้งตามบ้านมีปริมาณลดลงในระหว่างปี ค.ศ. 1971 - 1981 โดยมีประมาณร้อยละ 32 ใน ค.ศ. 1971 ลดลงมาประมาณร้อยละ 25.2 ในปี ค.ศ. 1978 และลดลงร้อยละ 22.4 ในปี ค.ศ. 1981 จากรายงานดังกล่าวนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์มีส่วนในการลดปริมาณขยะและซากบรรจุภัณฑ์ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ 7.1 บรรจุภัณฑ์กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความหมายของสิ่งแวดล้อมในที่นี้ครอบคลุมถึงผลกระทบที่เกิดจากวัสดุและระบบบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อโลกที่เราอยู่ ดังประโยคที่ว่า We Just Have One Earth รวมกระทั่งถึงผลกระทบที่มีต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด อันได้แก่ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ พลังงาน อากาศและบรรยากาศที่อยู่เหนือโลก ในอดีต วงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไม่ค่อยคำนึงถึงการกำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว แต่เน้นด้านต้นทุนมากกว่า ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในสมัยก่อนจึงมุ่งสู่การป้องกันรักษาคุณภาพและทำหน้าที่ส่งเสริมการจำหน่ายและการตลาด แต่ด้วยแรงกดดันจากกระแสสังคมที่มีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์สมัยนี้จึงต้องคำนึงถึงความสะดวกในการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์และการรักษาปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้ด้วย พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ทรัพยากรธรรมชาติในโลกที่มีอยู่นี้มีปริมาณจำกัด มนุษย์เราได้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไม่บันยะบันยังซึ่งนำไปสู่วิกฤติการณ์ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรณรงค์ให้นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Renewable) ตัวอย่างเช่น การนำเอากล่องกระดาษแข็งนำกลับมาใช้ใหม่ในประเทศเยอรมัน ผู้บริโภคจะนำเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชั้นใน เช่น ขวดที่บรรจุสินค้ากลับบ้าน ส่วนตัวกล่องชั้นนอกจะให้ผู้ขายนำกลับไปใช้ใหม่ โครงการนำกลับมาใช้ซึ่งค่อนข้างใหม่นี้ย่อมช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้หมดไปในระยะเวลาอันใกล้ 7.1.1 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ปัจจุบันสร้างเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ขึ้นมา และสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ที่สร้างขึ้นอาจก่อผลด้านบวกหรือด้านลบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้ บรรจุภัณฑ์ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงได้แก่ การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลง นอกจากวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ เช่น น้ำมัน โลหะ และทราย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยังเป็นแหล่งใช้พลังงานต่างๆ รวมทั้งใช้อากาศและน้ำในกระบวนการผลิตและแปรรูป สารบางประเภทที่ใช้ เช่น CFC (Chlorofluorocarbons) ยังทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศแต่ผลกระทบที่ได้รับการเพ่งเล็งมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วที่ก่อให้เกิดขยะตามถนนหนทาง (1) พลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ ปริมาณของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะแปรผันตามวิวัฒนาการทาเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตวัสดุแต่ละประเภทแล้ว ยังแปรผันตามประเภทของพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่ออกแบบด้วย จากตารางที่ 7.1 จะพบว่าการผลิตอะลูมิเนียมจะใช้พลังงานมากกว่าวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เป็นเท่าตัว แต่ถ้านำอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาหลอมละลายใหม่จะใช้พลังงานเพียงร้อยละ 10 ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุใหม่ (Virgin Material) ส่วนกระดาษนั้นจะใช้พลังงานน้ำค่อนข้างจะมาก พิจารณาจากประเภทของพลังงานที่ใช้ แหล่งพลังงานหลักที่ใช้ คือ กระแสไฟฟ้าและน้ำมัน อะลูมิเนียมใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ในการหลอมละลายแร่บอกไซด์ (Bauxite) แต่ใช้น้ำมันมากในการแปรรูปเป็นกระป๋อง แม้ว่าน้ำหนักของกระป๋องอะลูมิเนียมเมื่อเทียบกับกระป๋องโลหะขนาดเดียวกันจะมีน้ำหนักเพียงครึ่งเดียวของกระป๋องโลหะ แต่พลังงานที่ใช้กลับมากกว่าเป็นเท่าตัว ส่วนกระดาษและพลาสติกนั้นจะใช้พลังงานจากน้ำมันมากกว่าจากกระแสไฟฟ้าประมาณ 6 เท่าตัว รายละเอียดของประเภทพลังงานที่ใช้ทั้งหมดเริ่มจากแหล่งแร่รวมทั้งการขนส่งของบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ แสดงไว้ในตารางที่ 7.2 ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่มุมของปริมาณและประเภทของพลังงานที่ใช้ แก้วจะใช้พลังงานน้อยที่สุด เนื่องจากการผลิตอย่างต่อเนื่องภายในโรงงานเดียวไม่มีค่าขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ตารางที่ 7.1 : ปริมาณพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ วัสดุ ปริมาณพลังงาน (MJ/กิโลกรัม) ปริมาณอากาศ (1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อกิโลกรัม) ปริมาณน้ำ (ลูกบาศก์เมตรต่อกิโลกรัม) แก้ว นำกลับมาผลิตใหม่ 56.2% นำกลับมาผลิตใหม่ 100% กระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก อะลูมิเนียม (ใช้แหล่งพลังงานน้ำ + ไฟฟ้า) ไม่มีการนำกลับมาผลิตใหม่ มีการนำกลับมาผลิตใหม่ 100% พลาสติก LDPE PP PET PVC PS 7.5 5.9 33.1 16.3 126.1 12.6 47.4 50.0 69.5 42.5 56.2 293.0 165.4 381.4 186.1 2,611.0 300.7 231.2 331.5 692.4 669.0 675.9 1.3 1.1 948.3 136.9 638.6 1.9 107.3 122.2 119.7 307.2 60.2 แหล่งข้อมูล : BUWAL, Switzerland (1990) ตารางที่ 7.2 : ประเภทของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ 1 ตัน (หน่วย 106 Joules, หรือ MJ) วัสดุบรรจุภัณฑ์ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานอื่นๆ แก้ว 1,304 8,471 5,919 กระป๋องโลหะ 3 ชิ้น (450 ซี.ซี.) 10,531 16,802 28,993 กระป๋องอะลูมิเนียม (450 ซี.ซี.) 79,625 76,829 57,276 กระดาษแข็ง 9,350 25,630 16,630 ขวด LDPE (50,000 ขวด) 6,720 36,820 - ขวด HDPE (50,000 ขวด) 6,890 37,910 - ขวด PP (50,000 ขวด) 3,340 40,390 - ขวด PET (50,000 ขวด) 18,660 - - แหล่งที่มา : Boustead, Hancock "Energy and Packaging" (2) ขยะ บรรจุภัณฑ์มักจะถูกประณามว่าเป็นบ่อเป็นบ่อเกิดของปริมาณขยะที่ทิ้งตามบ้านและทำให้เกิดปัญหาในการกำจัด สืบเนื่องจากการหาที่ดินในการฝังกลบขยะนั้นยากขึ้น ในขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกำจัดขยะต้องใช้การลงทุนที่สูง ในสภาพความเป็นจริง ปริมาณของซากบรรจุภัณฑ์ในขยะนั้นมีประมาณเศษหนึ่งส่วนสามโดยน้ำหนัก ประเทศที่พัฒนาแล้วปริมาณซากบรรจุภัณฑ์ในขยะมีปริมาณโดยน้ำหนักลดน้อยลง เนื่องจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ การรณรงค์ลดปริมาณของซากบรรจุภัณฑ์ในขยะนั้น ควรเริ่มต้นจากการลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ที่ทิ้งในขยะ ด้วยการนำส่งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนั้นกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) แล้วจึงคิดวิธีนำกลับมาผลิตใหม่ (Recycling) ท้ายที่สุดจึงค่อยคำนึงถึงการนำมาเผาผลาญเอาพลังงานมาใช้เป็นประโยชน์ ผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการใช้พลังงานและก่อให้เกิดขยะแล้ว กระบวนการผลิตต่างๆ ยังมีส่วนทำให้เกิดมลภาวะทางด้านน้ำเสียและอากาศเป็นพิษ ซึ่งทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ทำการควบคุมอย่างใกล้ชิด การผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยแปรผันตามประเภทของวัสดุ เช่น การผลิตกระดาษจะมีน้ำเสียที่มีส่วนผสมของสารอินทรีย์อยู่มาก ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณ BOD (Biochemical Oxygen Demand) ในน้ำเสียก่อนระบายน้ำทิ้ง ส่วนพลาสติกจะปล่อยควันและไอที่มีสารอนินทรีย์ออกสู่อากาศซึ่งมีปัญหามากกว่าการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตกระดาษ นอกจากนี้ ในการแปรรูปและงานพิมพ์ยังมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตัวทำละลาย (Solvent) ที่มีอยู่ในหมึกพิมพ์และกาว ซึ่งควรจะมีการรณรงค์ให้ใช้หมึกและกาวฐานน้ำ (Water - Based) แทนที่ฐานตัวทำละลาย (Solvent - Based) (3) การทำลายชั้นโอโซน ประมาณกลางปี พ.ศ. 2523 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบรูรั่วเหนือทวีปแอนตาร์กติกที่เกิดจาการทำลายของสาร CFC (Chlorofluorocarbon) หลังจากนั้นอีก 16 ปีได้มีการตกลงระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วให้ยุติการผลิตสาร CFC สารนี้ที่มีใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นสารขับดัน (Propellant) ในกระป๋องสเปรย์นั้น ทางสหรัฐอเมริกาได้มีกฎห้ามใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 นอกจากกระป๋องสเปรย์ สาร CFC ยังใช้เป็นสารพองตัวในการผลิตโฟม และทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎยกเลิกการใช้เมื่อปี พ.ศ. 2533 ทำให้ถาดโฟมที่ใช้ในภัตตาคารประเภทอาหารจานด่วน (Fast Food) ได้ถูกแทนที่ด้วยถาดกระดาษภายในระยะเวลาอันสั้น ผลกระทบหลักที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อม มีผลทำให้วงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ทั่วทั้งโลกต้องปรับกระบวนการผลิตและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างรีบเร่ง รูปที่ 7.1 วงจรของบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตไปยังแหล่งกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ แหล่งที่มา : Darnay, A. and Franklin, W.E. "The Role of Packaging in Solid Waste Management 1996 to 1976." 7.1.2 วงจรบรรจุภัณฑ์และการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ วงจรบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มักจะมีแผนกกำจัดของเสียที่เกิดจากสายงานการผลิตภายในโรงงาน เมื่อนำของเสียเหล่านี้กลับมาใช้งานใหม่หรือจำหน่ายแบบตกเกรดหรือแบบไม่ได้มาตรฐาน ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปเสร็จสมบูรณ์แล้วจะนำไปยังโรงงานที่บรรจุอาหาร ในการส่งมอบบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ อาจมีบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตแล้วไม่ได้ตามข้อกำหนดที่ได้ตกลงไว้ (Specification) และถูกตีกลับคืนไปยังร้านค้าที่สั่งซื้อมาหรือส่งคืนกลับไปยังโรงงานโดยเพื่อผลิตใหม่ ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์ผ่านการยอมรับในการส่งมอบแล้วนำไปใช้งาน กระบวนการบรรจุย่อมมีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เช่น บรรจุไม่ได้น้ำหนักหรือปริมาตรที่กำหนด หรือปิดฉลากไม่ถูกต้อง เป็นต้น บรรจุภัณฑ์ที่เสียหายจากการบรรจุนี้อาจนำกลับไปใช้งานใหม่หรือกำจัดทิ้งภายในโรงงาน ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุได้เรียบร้อยสมบูรณ์จะถูกส่งไปจัดจำหน่ายผ่านผู้ขาย เมื่อผลิตภัณฑ์อาหารได้รับการบริโภคแล้วตัวบรรจุภัณฑ์จะถูกทิ้งไป การลดความเสียหายของบรรจุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในรูปที่ 7.1 จะแปรผันตามประสิทธิภาพในการผลิตและการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผู้บรรจุ (ผู้ใช้บรรจุภัณฑ์) เพื่อการยอมรับตัวบรรจุภัณฑ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทที่ 3 หัวข้อ ข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ และหัวข้อ Acceptable Quality Level ส่วนความเสียหายที่อาจเกิดจากสายงานการบรรจุขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาเครื่องจักร การจัดการโรงงานโดยพยายามที่จะลดความเสียหายให้น้อยที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการบรรจุและการใช้บรรจุภัณฑ์ เมื่ออาหารได้รับการบริโภคและบรรจุภัณฑ์ถูกทิ้งไปในรูปที่ 7.1 แสดงให้เห็นว่าก่อนที่บรรจุภัณฑ์จะถูกกำจัดทิ้ง จะสามารถเคลื่อนย้ายได้หลายวงจรหลังจากถูกใช้งานแล้ว ความยากลำบากในการนำซากบรรจุภัณฑ์ไปกำจัดทิ้งจะแปรตามปริมาตรและประเภทของบรรจุภัณฑ์ ปริมาตรดังกล่าวนี้แปรผันตามองค์ประกอบต่างๆ ของตัวบรรจุภัณฑ์ เช่น รูปทรง ขนาด น้ำหนัก และโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดซากแต่ละประเภทย่อมแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น กล่องนมหรือกระป๋อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของระยะทางที่จะนำไปกำจัดซากหรือนำกลับไปผลิตใหม่/ใช้ใหม่ การกำจัดด้วยการนำมาทำลายหรือการนำกลับมาใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ มีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาดังนี้ (1) การลดการทิ้งบรรจุภัณฑ์หลังบริโภค บรรจุภัณฑ์เมื่อได้รับการตัดสินใจซื้อและบริโภคอาหารที่อยู่ข้างในจนหมดนั้น อาจจะใช้เวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปีกว่าจะบริโภคหมดแล้วโยนทิ้ง และมีหลายครั้งที่บรรจุภัณฑ์เปล่าเหล่านี้แทนที่จะถูกทิ้งทันทีกลับถูกนำไปใช้ใหม่ เช่น ขวดกาแฟนำไปใส่น้ำตาล ถังนำไปใช้เป็นถังน้ำ เป็นต้น การนำบรรจุภัณฑ์เปล่านี้ไปใช้ใหม่มีจำนวนไม่มากนักและใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นเวลาไม่ช้าหรือเร็วก็จะมีการรวบรวมขายให้กับคนรับรองซื้อของเก่าซาเล้งเข้าสู่วงจรของบรรจุภัณฑ์ต่อไป น้ำอัดลมในสมัยเก่าเมื่อมีการนำกลับไปบริโภคหรือซื้อขาดจะมีค่าวางมัดจำ ระบบการวางมัดจำนี้ได้นำกลับมาใช้ใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือกล่อง ระบบวางมัดจำนี้ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์เปล่าที่บริโภคอาหารแล้วสามารถนำเก็บกลับไปบรรจุใหม่ (Refill) หรือนำกลับมาผลิตใหม่ด้วยต้นทุนที่ต่ำและเก็บกลับได้ด้วยปริมาณเพียงพอที่คุ้มต่อการกำจัดทิ้งหรือใช้ใหม่ ความพยายามในการเก็บข้อมูลของขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางนั้น มีการศึกษาหนึ่งที่ได้รับการอ้างถึงอยู่เสมอ คือ การศึกษาประเภทของขยะที่ถูกทิ้งบนทางด่วน (Highway) ในรัฐแคนซัส (Kansas) ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังแสดงในตารางที่ 7.3 การศึกษาพบว่าเพียงระยะทาง 1 ไมล์ของถนนที่ขับไปกลับด้านละ 2 ช่องทางบนทางด่วน (Two - Lane Highway) นั้น 88% ของขยะที่พบสองข้างถนนจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่พบมากที่สุดคือ ถ้วยกระดาษมีจำนวนมากถึง 770 ใบ จากการศึกษานี้พอจะสรุปได้ว่าวิธีการที่จะลดขยะตามท้องถนนควรแก้ไขที่ผู้บริโภคมากกว่าที่จะโทษบรรจุภัณฑ์เพียงฝ่ายเดียว ตารางที่ 7.3 การสำรวจปริมาณขยะบนทางด่วนระยะทาง 1 ไมล์ในรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน ประเภท จำนวน ประเภท 770 ถ้วยกระดาษ 20 แผนที่ 730 กล่องบุหรี่เปล่า 16 กระป๋องกาแฟเปล่า 590 กระป๋องเบียร์ 10 เสื้อผ้า 130 ขวดน้ำอัดลม 10 ยางรถยนต์เก่า 120 ขวดเบียร์ 11 ถุงพลาสติก 110 ขวดเหล้า 4 รองเท้า (ไม่เป็นคู่) 90 กล่องเบียร์เปล่า 4 ชิ้นส่วนรถยนต์ 90 กระป๋องน้ำมัน 2 เสื้อชั้นในผู้ชาย 50 ถุงใส่อาหาร 2 หนังสือการ์ตูน 30 กล่องกระดาษแข็ง 2 สปริง 26 วารสาร 270 ขยะอื่นๆ แหล่งที่มา : Darnay, A. and Franklin, W.E. "The Role of Packaging in Solid Waste Management 1966 to 1976." (2) การเก็บบรรจุภัณฑ์กลับ (Collectability) องค์ประกอบสำคัญของความสามารถที่จะนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วรวบรวมนำกลับมาใช้ใหม่มี 2 ประการคือ ความหนาแน่นและความสามารถในการกดอัดให้แบนของตัวบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่มีปริมาตรน้อยย่อมเก็บกลับได้ง่ายกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาตรมาก ปริมาตรความจุของรถเก็บขยะหรือรถซาเล้งซื้อของเก่าคือข้อจำกัดในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและทำให้ค่าใช้จ่ายในเก็บกลับสูงขึ้น ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์มีปริมาตรเท่ากัน แต่ผลิตจากวัสดุด้วยรูปทรงที่สามารถกดอัดทับให้แบนได้ง่ายย่อมมีโอกาสได้รับการเก็บกลับมากกว่า ประเภทของวัสดุที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เป็นอีกองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาถึงความสามารถในการเก็บกลับ ตามที่ทราบกันมาแล้วว่าบรรจุภัณฑ์อาหารอาจจะผลิตจากกระดาษ โลหะ แก้ว พลาสติก ไม้ และสิ่งทอรวมกันได้เป็นร้อยเป็นพันรูปแบบ ด้วยเหตุนี้การทิ้งบรรจุภัณฑ์ลงไปยังถังขยะที่แยกประเภทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกลับ เพื่อการใช้หรือผลิตใหม่ได้ดีมากยิ่งขึ้น ในประเภทที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่จะทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางแล้ว ยังช่วยทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วในถังที่แยกประเภทไว้ นอกจากนี้ก่อนจะทิ้งยังมีการใช้อุปกรณ์ช่วยในการกดอัดบรรจุภัณฑ์ให้แบนราบ วิธีการที่จะนำเอาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาโดยความร่วมมืออย่างดีของผู้บริโภคจะเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดและได้ผลที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่งบริโภคหมดใหม่ๆ จะมั่นใจว่าถูกสุขลักษณะไม่มีการปนเปื้อนกับสิ่งที่สกปรกหรือเป็นพิษ บรรจุภัณฑ์เปล่าที่ทิ้งในขยะที่แยกประเภทจะมีโอกาสสะอาดกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ทิ้งเป็นขยะตามทาง อาจจะเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของคนทิ้งที่ทราบว่าบรรจุภัณฑ์ที่ทิ้งในถังขยะที่แยกประเภทนั้นจะมีการนำกลับไปใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ (3) เทคโนโลยี ในอดีตขยะต่างๆ ถูกกำจัดด้วยการฝังดินหรือการเผา การกำจัดด้วยการเผานั้นไม่เป็นที่นิยมเท่าใด เนื่องจากในขณะที่เผาจะก่อให้เกิดก๊าซออกมาส่วนหนึ่งซึ่งผสมเข้าไปในบรรยากาศทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ การฝังดินจึงนับเป็นวิธีการที่นิยมมากที่สุด เพราะว่าแม้จะมีการเผาทำลายไปแล้ว เถ้าถ่านที่เหลือก็จะต้องนำไปฝังดินเช่นกัน แม้ว่าในบางประเทศอาจจะมีการนำขยะไปถมทะเลแต่ยังมีน้อยอยู่ เนื่องจากต้องคอยควบคุมไม่ให้เกิดมลภาวะทางน้ำจากขยะที่ถมลงทะเล การฝังดินนั้นอาจจะกระทำได้ 2 วิธี คือ การเทขยะทั่วบริเวณโดยไม่มีการกดอัด หรือกลบด้วยดินที่เรียกว่าแบบเปิด (Open Dumping) วิธีการนี้มักจะต้องทำในที่ไกลจากชุมชน ไม่เป็นที่อุจาดตาและต้องไม่อยู่เหนือลมที่จะส่งกลิ่นไปรบกวนชาวบ้านใกล้เคียง ส่วนอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีที่ใช้หลักวิชาการมากขึ้น กล่าวคือ ขยะมีการเทให้ทั่วแล้วทำการกดอัด ท้ายที่สุดกลบด้วยดินหรือสารที่ไม่ทำปฏิกิริยา (Inert Fill Materials) การฝังดินแบบหลังนี้มีชื่อว่า การฝังอย่างถูกสุขลักษณะ (Sanitary Landfilling) และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีการกำจัดขยะและซากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว คือ การเผาหรือเรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า Incineration การเผาขยะด้วยเตาเผาสมัยใหม่นับเป็นการกำจัดขยะที่มีประสิทธิผลที่ดีที่สุดในการลดปริมาตรและน้ำหนักของขยะและซากบรรจุภัณฑ์โดยสามารถลดปริมาตรลงได้ 70 - 80% และลดน้ำหนักได้ 60 - 80% คุณสมบัติของขยะและซากบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้การกำจัดด้วยวิธีนี้ คือ ความสามารถติดไฟได้ สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีใช้อยู่ จะมีแต่บรรจุภัณฑ์แก้วและโลหะที่ต้องใช้ความร้อนที่สูงมากในการเผา ส่วนบรรจุภัณฑ์อื่นๆ สามารถเผาไหม้ แม้ว่าจะมีอัตราการเผาไหม้ได้แตกต่างกัน เช่น กระดาษและไม้จะติดไฟได้ดีและเร็วกว่าพลาสติก คุณสมบัติประการถัดมาของขยะและซากบรรจุภัณฑ์ที่ต้องพิจารณาเลือกเพื่อการกำจัดด้วยวิธีการเผา คือ เศษเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาโดยไม่ทำปฏิกิริยา (Inert Residue) จากข้อมูลที่แสดงไว้ในตารางที่ 7.4 จะพบว่าแก้วและโลหะจะมีเศษเถ้าถ่านเหลือจากการเผาไหม้มากที่สุด ดังนั้นในการเผากำจัดขยะจึงมักจะต้องคัดแก้วและโลหะออก เพื่อความสะดวกในการกำจัดเศษเถ้าถ่านที่เหลือจากเตาเผา <<กลับสู่หน้าหลักอ่านต่อบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่ 2>>
พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 3
1.4.2 ประเภทของบรรจุภัณฑ์จำแนกตามวัสดุ บรรจุภัณฑ์แยกตามวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตได้ 4 ประเภท คือ เยื่อและกระดาษ นับได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้มากที่สุดและมีแนวโน้มใช้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการรีไซเคิลได้ง่าย อันเป็นผลจากการรณรงค์สิ่งแวดล้อม กระดาษนับเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ประเภทเดียวที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จากการปลูกป่าทดแทน กระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีหลายประเภท และสามารถพิมพ์ตกแต่งได้ง่ายและสวยงาม นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการขนส่งจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้เนื่องจากสามารถพับได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง พลาสติก เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่อัตราการเจริญเติบโตสูงมาก คุณประโยชน์ของพลาสติกคือ มีน้ำหนักเบา ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและก๊าซได้ระดับหนึ่ง สามารถต่อต้านการทำลายของแบคทีเรียและเชื้อรา มีคุณสมบัติหลายอย่างที่สามารถเลือกใช้ในงานที่เหมาะสม พลาสติกบางชนิดยังเป็นฉนวนกันความร้อนอีกด้วย พลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีอยู่หลากหลายประเภท การศึกษาคุณสมบัติของพลาสติกแต่ละประเภทมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เลือกใช้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แก้ว นับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยากับสารเคมีชีวภาพต่างๆ เมื่อเทียบกับวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และรักษาคุณภาพสินค้าได้ดีมาก ข้อดีของแก้วคือมีความใสและทำเป็นสีต่างๆ ได้ สามารถทนต่อแรงกดได้สูงแต่เปราะแตกง่าย ในด้านสิ่งแวดล้อม แก้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่พึงระวังในเรื่องการบรรจุ คือ ฝาขวดแก้วจะต้องเลือกใช้ฝาที่ได้ขนาด และต้องสามารถปิดได้สนิทแน่น เพื่อช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุของสินค้า โลหะ ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร วัสดุโลหะที่ใช้มี 2 ชนิด คือ - เหล็กเคลือบดีบุก เป็นบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ การลงทุนในการผลิตไม่สูงนักและไม่สลับซับซ้อน สามารถใช้บรรจุอาหารได้ดี เนื่องจากสามารถปิดผนึกได้สนิทและฆ่าเชื้อได้ด้วยความร้อน ในแง่ของสิ่งแวดล้อมสามารถแยกออกจากขยะได้ง่ายด้วยการใช้แม่เหล็ก - อะลูมิเนียม มักจะใช้ในรูปเปลวอะลูมิเนียมหรือกระป๋อง มีน้ำหนักเบา อีกทั้งมีความแข็งแรงทนต่อการซึมผ่านของอากาศ ก๊าซ แสง และกลิ่นรสได้ดี ในรูปของเปลวอะลูมิเนียมมักใช้เคลือบกับวัสดุอื่นซึ่งให้ภาพลักษณ์ที่ดีเนื่องจากความเงาวับของอะลูมิเนียมและเป็นตัวเหนี่ยวนำความเย็นได้ดี 1.5 วิทยาการบรรจุภัณฑ์ ในอดีตกาลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารมักจะคิดว่าบรรจุภัณฑ์เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าจะเสีย ดังนั้นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จึงมักจะเลือกราคาต่ำเป็นเกณฑ์ตราบจนกระทั่งช่องทางการจัดจำหน่ายในบ้านเราค่อยๆ เปลี่ยนโฉมมาเป็นร้านค้าแบบช่วยเหลือตนเอง เริ่มจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกลายเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงห่อหุ้มสินค้าไว้เท่านั้น แต่ต้องช่วยตะโกนบอกด้วยคำบรรยายบนบรรจุภัณฑ์ ณ จุดขาย ผู้ประกอบการจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ กอปรกับการเริ่มมีหลักสูตรทางด้านบรรจุภัณฑ์ในระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา ทำให้บรรจุภัณฑ์ศาสตร์เริ่มจะได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ในหลายๆ สาขา เริ่มจากวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม วัสดุศาสตร์ การตลาด จิตวิทยา และการออกแบบ ความรู้ต่างๆ ในหลากหลายสาขาเหล่านี้เปรียบเสมือนยาหม้อปรุงขึ้นมาเพื่อพัฒนาวิทยาการบรรจุภัณฑ์อันประกอบด้วย การบรรจุใส่ การเก็บคงคลัง การจัดส่ง การจัดจำหน่ายด้วยบรรจุภัณฑ์หลายประเภทและหลายขนาด ด้วยจุดประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างความประทับใจให้กลับมาซื้อใหม่ จากการที่วิทยาการบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยหลายๆ สาขาดังกล่าวมานี้ บุคลากรที่เข้ามารับผิดชอบงานทางด้านบรรจุภัณฑ์จึงอาจมีความรู้พื้นฐานต่างสาขาขึ้นอยู่กับขอบเขตของงานบรรจุภัณฑ์ที่รับผิดชอบ สำหรับนักศึกษาตามระบบทางด้านวิทยาการบรรจุภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 2 สาขา คือ สาขาทางด้านเทคโนโลยี พื้นฐานความรู้ควรจะครอบคลุมถึงวิชาความรู้ทางด้านเคมี ฟิสิกส์ จุลชีววิทยา คณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และอิเล็คทรอนิคส์ ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการแก้ปัญหาทางด้านบรรจุภัณฑ์ สาขาทางศิลปะ จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านออกแบบกราฟฟิกในเชิงพาณิชย์ (พาณิชย์ศิลป์) การตลาด จิตวิทยา และการโฆษณา ความรู้พื้นฐานนี้มีบทบาทต่อการส่งเสริมการขายของบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยเริ่มมีการเปิดหลักสูตรความรู้ระดับปริญญาตรีทางด้านนี้มาประมาณ 10 ปี โดยภาควิชาเริ่มแรกคือ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ อยู่ภายใต้คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ ที่มีการเปิดสอนวิทยาการบรรจุภัณฑ์ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในอนาคตอันใกล้นี้คงเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีโครงการขยายระดับการศึกษาสูงถึงขั้นปริญญาโทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถาบันการศึกษาดังกล่าวเหล่านี้ มักจะเน้นทางด้านเทคโนโลยี ส่วนทางด้านศิลปะนั้นยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดๆ เปิดสอนวิชาทางด้านการออกแบบกราฟฟิกโดยเฉพาะ การสอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทางกราฟฟิกมักจะสอนเพียงแต่ระดับวิชา (Course) เช่น วิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น นอกเหนือจากการศึกษาตามระบบแล้ว ยังมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง การสัมมนาและการฝึกอบรม ซึ่งมีการจัดอยู่ตลอดปีโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีการจัดการโดยองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ศูนย์บรรจุหีบห่อไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก รายละเอียดได้รวบรวมไว้ในบทที่ 9 สำหรับการศึกษาต่อเนื่องทางไปรษณีย์ สถาบันที่มีชื่อเสียงและมีมานานที่สุด ได้แก่ Pira International ของประเทศอังกฤษ (e-mail : [email protected]) และยังมีของสถาบันบรรจุภัณฑ์ Institute of Packaging (e-mail : [email protected]) สำหรับในทวีปเอเชีย ได้แก่ Asian Packaging Federation ที่มอบให้ทาง Indian Institute of Packaging (e-mail : [email protected]) เป็นผู้จัดการศึกษาต่อเนื่องทางไปรษณีย์สำหรับชาวเอเชีย สำหรับผู้ที่สนใจวิทยาการทางด้านนี้ และต้องการทราบถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ สามารถติดตามได้จากงานแสดงสินค้าทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่ 2 งานในประเทศไทย คือ Pro-Pak Asia ซึ่งเน้นหนักไปทางด้านกระบวนการผลิตอาหาร (Process) และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะจัดประมาณกลางปีของทุกปี ส่วนงานแสดงสินค้าอีกงานหนึ่ง คือ Thai Pack Print ที่จัดประมาณปลายปีของทุกปี โดยเน้นในทางด้านการแปรรูปบรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ในงานระดับสากล งานแสดงสินค้าเครื่องจักรทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด คือ Interpack ของประเทศเยอรมันโดยจัดที่เมือง Dusseldorf ทุกปีเว้นปี โดยจะมีในปี พ.ศ. 2542 ช่วงเดือนพฤษภาคม ในแถบเอเชียการแสดงเครื่องจักรและวัสดุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ Tokyo Pack จัดโดยสถาบันบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่น (Japan Packaging Institute) โดยจัดสลับปีเว้นปีกับ Japan Pack ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่น โดยงานทั้งสองจะจัดในช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีสลับกันคนละปี บทสรุป บรรจุภัณฑ์ได้กำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ ตอนเริ่มต้นบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่เฉพาะเป็นภาชนะรองรับอาหารและน้ำดื่ม และค่อยๆ วิวัฒนาการขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์เต็มรูปแบบ ด้วยเหตุนี้บรรจุภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์กับประเพณีนิยมของแต่ละชนชาติอย่างใกล้ชิด บรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากความคิดริเริ่มของมนุษย์ได้มีการพัฒนาสอดคล้องกับบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ไข่ ถั่ว และกล้วย เป็นต้น คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วย การรวบรวมปริมาณของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทำการปกป้องรักษาคุณภาพของอาหารพร้อมทั้งเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง ณ จุดขาย บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่พนักงานขายใบ้ (Silent Salesman) ด้วยการสื่อความหมายต่างๆ ที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ให้แก่เป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นผู้ซื้อและหรือผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะสัมฤทธิผลได้ต่อเมื่อมีต้นทุนเหมาะสมกับราคาของสินค้าซึ่งแปรตามปริมาณการขายและตลาดที่จำหน่ายสินค้านั้นๆ ประเภทของบรรจุภัณฑ์อาจแบ่งตามเหตุผลในการออกแบบหรือแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิต เมื่อแบ่งตามเหตุผลในการออกแบบ ซึ่งแยกเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นใน บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง และบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนั้น เป็นการแยกตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบที่แตกต่างกัน ส่วนการแยกตามวัสดุแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เยื่อและกระดาษ พลาสติก แก้ว และโลหะ วิทยาการบรรจุภัณฑ์นับเป็นวิทยาการใหม่ในเมืองไทย ซึ่งประกอบความรู้ทางหลายด้านผสมกัน บรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนบ้านที่คนเราอยู่ เมื่อวิศวโยธาร่วมกับสถาปนิกช่วยการออกแบบบ้านให้คนเราอาศัย ผลิตภัณฑ์อาหารก็จำต้องอาศัยวิศวกรรมบรรจุภัณฑ์และนักออกแบบกราฟฟิกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผลิตภัณฑ์อาหารอาศัยอยู่ การสร้างบ้านมีตั้งแต่การสร้างบ้านไม้มุงหลังคาจาก ห้องแถว คฤหาสน์ คอนโดมิเนียมให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารก็คล้ายคลึงกันมีทั้งซอง ถุง กล่อง กระป๋อง ขวด ให้เลือกตามความเหมาะสมของอาหารแต่ละประเภท สิ่งที่แตกต่างกัน คือ บรรจุภัณฑ์อาหารมีอายุขัยโดยปกติไม่เกิน 2 ปี และไม่มีโอกาสทำการซ่อมแซมระหว่างการใช้งานเหมือนกับบ้านที่คนเราอยู่ <<ย้อนกลับ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่2 <<กลับสู่หน้าหลัก
การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1
การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่าแตกต่างกันมาก ตั้งแต่เนื้อวัวโคขุนชิ้นละเป็นร้อยเป็นพันบาท จนกระทั่งถึงลูกหยีเม็ดละไม่ถึงบาท การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เอื้ออำนวยระดับการป้องกันจึงแตกต่างกันในเรื่องของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของวัสดุและระบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ถึงแม้ว่าบรรจุภัณฑ์จะสามารถป้องกันอันตรายจากภายนอก เช่น แสงแดด ฝน หรือทนต่อการโยน การกระแทกกันระหว่างการขนส่งได้ แต่ถ้าบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถรักษาคุณภาพของอาหารได้โดยปล่อยให้สินค้าที่อยู่ภายในเน่าเสีย บรรจุภัณฑ์นั้นย่อมใช้งานไม่ได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงพอสรุปได้ว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ คือ การป้องกันและรักษาคุณภาพอาหารด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เมื่อบรรจุภัณฑ์สามารถทำหน้าที่เป็นพาหะนำส่งไปยังจุดขายด้วยโครงสร้างที่ออกแบบมาอย่างดี ณ สถานที่จัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ต้องแปลงกายทำอีกหน้าที่หนึ่ง คือ การช่วยส่งเสริมการขาย ณ จุดขาย ซึ่งอาจเป็นตลาดในหมู่บ้าน ในเมือง หรืออาจจะไปขายถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต ความสามารถที่จะช่วยชักชวนเชื้อเชิญอย่างเงียบอย่างเงียบๆ ให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้านี้เป็นบทบาทของการออกแบบกราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จึงแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. โครงสร้าง เป็นการออกแบบทางด้านเทคนิคและทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ โดยเน้นกระบวนการบรรจุใส่ การรักษาคุณภาพด้วยการประเมินอายุของอาหาร (Shelf Life) และการป้องกันที่เหมาะสมต่อการขนส่งและการกระจายสินค้า 2. กราฟฟิก เป็นการออกแบบรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อและสื่อความหมายให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถโน้มน้าวให้เกิดการสั่งซื้อ การออกแบบกราฟฟิกจะเน้นในเรื่องของการตกแต่งรูปลักษณ์ด้วยภาพพจน์ที่สร้างความประทับใจซึ่งจะกล่าวถึงในบทต่อไป 3.1 การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นงานที่ต้องทำอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีบรรจุภัณฑ์ใดในโลกนี้จะสามารถใช้ได้ตลอดกาล สาเหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านการตลาด และเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมของผู้บริโภค รวมทั้งระบบการจัดจำหน่ายที่พัฒนาขึ้นและเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านบรรจุภัณฑ์ จำต้องตื่นตัวอยู่เสมอและพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับต้นทุน ตลาด ภาพพจน์ กราฟฟิก การใช้งานและความต้องการในการรักษาสิ่งแวดล้อม 3.1.1 มูลเหตุที่ต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มูลเหตุที่ต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มีหลายประการ มูลเหตุหลักเกิดจากมูลเหตุทางด้านการตลาดและการผลิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ดังแสดงในรูปที่ 3.1 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นแนะนำผลิตภัณฑ์ (Introduction) 2) ขั้นตลาดเจริญเติบโต (growth) 3) ขั้นตลาดอิ่มตัว (maturity) 4) ขั้นตลาดตกต่ำ (decline) รูปที่ 3.1 ขั้นตอนวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Product_life_cycle.png สถานะของส่วนผสมทางการตลาดในแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์สามารถสรุปอย่างสั้นๆ ได้ด้วยตารางที่ 3.1 ตารางที่ 3.1 สถานะของส่วนผสมทางการตลาดในแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมทางการตลาด ขั้นตอนวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ 1. แนะนำ 2. เติบโต 3. อิ่มตัว 4. ตกต่ำ ก.ผลิตภัณฑ์ ชนิดเดียว หลายชนิด แข่งขัน เหลือน้อยราย ข. การจัดส่ง เลือกระบบ ที่เหมาะสม หลายระบบ ระบบที่จำเป็น ค. การส่งเสริม แนะนำ เร่งเร้า ทุกรูปแบบ แยกประเภท ง. ราคา เจาะตลาด สูงสุด ตัดราคา ลดสุดๆ พิจารณามูลเหตุของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (1) มูลเหตุจากภายนอกองค์กร เริ่มจากผลิตภัณฑ์อันเป็นส่วนผสมการตลาดอันดับแรก มูลเหตุภายนอกองค์กรที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มักจะเกิดจากสภาวะคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเติบโตหรือขั้นตอนการแข่งขันวัฏจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะถึงขั้นตกต่ำ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่มักจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงหรือยืดขั้นอิ่มตัวให้ยาวออกไปอีกระยะหนึ่งแม้ว่ากำไรจะเลยสูงสุดไปแล้วก็ตาม การเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น การเข้าสู่ระบบการขายจำพวกไฮเปอร์มาร์เก็ตย่อมมีความจำเป็นต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม เช่น การรวมกลุ่มสินค้าต่อหน่วยขนส่ง การเปลี่ยนระบบการจัดส่ง เช่น การขนไปยังศูนย์รวมการจัดส่งหรือที่เรียกว่า Distribution Center หรือ D.C. ของคู่ค้า บรรจุภัณฑ์ที่ใช้จำต้องได้รับการพัฒนาใหม่ให้เหมาะสมกับการทำงาน ณ D.C ของคู่ค้า มูลเหตุสำคัญภายนอกอีกประการหนึ่ง คือ กฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่มีการออกกฎข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับฉลากและบรรจุภัณฑ์ย่อมต้องมีการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการออกกฎให้แสดงคุณค่าทางโภชนาการ (nutrition label) บนบรรจุภัณฑ์อาหาร ย่อมต้องมีการออกแบบฉลากอาหารใหม่ เป็นต้น ตัวอย่างที่ยกมานี้มีเพียงบางตัวอย่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยังมีอีกมากมายขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะนำเอาบรรจุภัณฑ์มาเป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาดมากน้อยแค่ไหน (2) มูลเหตุจากภายในองค์กร จากหลักการวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ สินค้าแต่ละอย่างมีโอกาสเข้าสู่ขั้นตอนการตกต่ำและหายไปจากตลาด ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ดังนั้นปัจจัยภายในองค์กรอันดับแรกในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ คือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าใหม่ ในการออกแบบควรคำนึงถึงแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตและควรจะมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เตรียมเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อส่วนผสมการตลาดมีการเปลี่ยนแปลง แนวทางการพัฒนามักจะเป็นการเสริมหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น การปรับปรุงพัฒนาความสวยงาม การปรับปรุงเพื่อยกระดับการป้องกันสินค้า การปรับปรุงเพื่อเพิ่มสมรรถนะการใช้งานและเอื้ออำนวยความสะดวกของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น (3) มูลเหตุจากด้านเทคโนโลยี กระแสโลกานุวัติของโลกธุรกิจ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์มีเกิดขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น การใช้สัญลักษณ์รหัสแท่ง (bar code) ที่จะนำไปสู่การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้ระบบการพิมพ์แบบไร้สัมผัส (Non-Contact) การบรรจุภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ (Aseptic packaging) เป็นต้น วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีบทบาทต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ควรจะพัฒนาให้เกิดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบในระยะสั้น คือ การส่งผลให้ยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แผลกระทบในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าและเป็นสิ่งที่พิสูจน์อย่างแท้จริงว่าการพัฒนาบรรจุภัณฑ์นั้นสำเร็จหรือไม่ คือ ความสามารถในการดึงให้ผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายมาซื้อซ้ำอยู่เรื่อยๆ 3.1.2 ปัจจัยที่ต้องพิจารณา ข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องคำนึงในการออกแบบ คือ (1) สินค้านั้นคืออะไร การออกแบบต้องเริ่มต้นด้วยมีข้อมูลทางด้านสินค้าอย่างเพียงพอ ได้แก่ ประเภทของสินค้า คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ขนาด รูปทรง ปริมาตร ส่วนประกอบหรือส่วนผสม คุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการผลิตหรือกรรมวิธีการแปรรูปอาหาร การตรวจสอบคุณภาพ ข้อแนะนำในการบริโภค และสินค้าจะเสื่อมคุณภาพจากปฏิกิริยาอะไรเพื่อจะได้นำมาออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ให้ลวดลายสีสันอย่างเหมาะสม สร้างการยอมรับจากผู้ซื้อ และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างจุดขายของสินค้า (Unique Selling Point) ด้วยเหตุนี้ คุณสมบัติของสินค้าที่ต้องพิจารณาจึงมีดังต่อไปนี้ 1. คุณสมบัติทางกายภาพ ประกอบด้วยของแข็ง ของเหลว ผู้ออกแบบต้องทราบความเหนียวข้นในกรณีที่เป็นของเหลว และต้องรู้น้ำหนัก / ปริมาตรหรือความหนาแน่นสำหรับสินค้าที่เป็นของแห้ง 2. คุณสมบัติทางเคมี คือ สาเหตุที่ทำให้สินค้าอาหารเน่าเสีย (food spoilage) หรือเสื่อมคุณภาพจนไม่เป็นที่ยอมรับได้ และปฏิกิริยาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น 3. คุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ เช่น กลิ่น การแยกตัว เป็นต้น คุณสมบัติดังกล่าวทั้ง 3 ข้อเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสินค้าที่จำเป็นต้องทราบเพื่อเริ่มต้นเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม (2) ประโยชน์และความต้องการของผู้บริโภค การกำหนดเป้าหมายของผู้บริโภคและการวิจัยตลาดย่อมสามารถประเมินว่าจุดขายของสินค้าสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องทราบถึงปริมาณการบริโภคแต่ละครั้ง การนำไปปรุงร่วมกับอาหารชนิดอื่น และโอกาสในการบริโภคหรือฤดูในการเลือกซื้อ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การบรรจุรวมห่อ การออกแบบบรรจุภัณฑ์และลวดลายให้สอดคล้องกับเทศกาล การออกแบบให้เป็นของกำนัล เป็นต้น เพื่อเป็นการสนองความต้องการของผู้ซื้อ และทำให้สินค้าของเรามีความแตกต่างหรือสร้างคุณประโยชน์มากกว่าคู่แข่งขันไม่ว่าในแง่ของคุณค่าอาหารหรือความสะดวกในการบริโภค ปัจจัยในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวหากนำมาเปรียบกับเรื่องใกล้ตัว ก็คงคล้ายคลึงกับการจ้างช่างตัดเสื้อผ้าตัดเย็บเสื้อผ้าให้ การตัดเย็บเสื้อผ้าเริ่มจากการวัดตัวซึ่งก็คือการเก็บข้อมูลของสินค้าของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การที่คนบางคนแพ้ผ้าบางอย่างก็คงเหมือนกับการทดสอบความเข้ากันได้ (Compatibility) ของผลิตภัณฑ์อาหารกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่นักออกแบบหรือช่างตัดเสื้อจำต้องทราบ เมื่อผ่านขั้นตอนการวัดตัวแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะออกแบบเสื้อผ้าใส่ในงานอะไร เช่น ชุดกลางคืนสำหรับงานราตรีสโมสร ชุดกลางวันสำหรับทำงาน เป็นต้น ขั้นตอนนี้เหมือนกับการเก็บข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการออกแบบเสื้อผ้าหรือตัวบรรจุภัณฑ์ (3) บรรจุภัณฑ์ จากปัจจัยทั้ง 2 ดังกล่าวมาแล้ว ปัจจัยที่สาม คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องพิจารณามีดังนี้ 1. พิจารณาตามหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ การป้องกัน การรักษาคุณภาพ ความสะดวกในการใช้งาน ความประหยัดในการขนส่ง การออกแบบกราฟฟิกให้สอดคล้องกับความต้องการ การใช้ฉลากและส่วนประกอบของฉลาก โดยแบ่งเป็น - บรรจุภัณฑ์ชั้นใน (primary packaging) พิจารณาความเข้ากันได้ระหว่างสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (Compatibilty) ความสามารถในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค - บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง (secondary packaging) ความจำเป็นในการรวมกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชั้นในเข้าด้วยกัน ความจำเป็นในการนำบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองวางขาย ณ จุดขาย - บรรจุภัณฑ์ขนส่ง (distribution packaging) ความสามารถในการป้องกันสินค้า ข้อมูลที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยให้ถึงจุดมุ่งหมายปลายทางด้วยความลอดภัย 2. พิจารณาถึงคุณสมบัติทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ สามารถแบ่งบรรจุภัณฑ์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ บรรจุภัณฑ์แข็งตัว (Rigid packaging) บรรจุภัณฑ์กึ่งแข็ง (Semi-rigid packaging) และบรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม (Flexible packaging) ดังมีรายละเอียดดังนี้ - บรรจุภัณฑ์แข็งตัว (Rigid Packaging) เช่น แก้ว กระป๋องโลหะ (can) และขวด พลาสติก ส่วนมากเป็นพลาสติกฉีด บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีความแข็งแรง คงรูปได้ดี ลำเลียงบนสายพาน (conveyor) ได้สะดวก จึงเหมาะสำหรับการใช้งานกับเครื่องบรรจุของเหลวด้วยระบบสุญญากาศ และระบบที่ใช้ความดันได้ - บรรจุภัณฑ์กึ่งแข็ง (Semi-Rigid Packaging) เช่น ขวดพลาสติกแบบขึ้นรูปด้วยการเป่า ถาดโฟม ถ้วยไอศกรีม ขึ้นรูปด้วยความร้อนและสุญญากาศ บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีข้อจำกัดในการรับแรงอัดและแรงดันจึงบรรจุแบบกระบอกสูบอัดใส่ในถุงบรรจุภัณฑ์ - บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม (Flexible Packaging) เช่น ซองและถุง บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ไม่สามารถรักษามิติหรือรูปทรงได้จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยในระหว่างทำการบรรจุของเหลว และมักใช้ระบบการบรรจุแบบกระบอกสูบอัดใส่ในถุงบรรจุภัณฑ์ นอกจากปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยดังกล่าวมาแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่พิจารณาประกอบได้แก่ (4) การตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สนองกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จำต้องวิเคราะห์จุดยืนของสินค้าและบรรจุภัณฑ์เทียบกับคู่แข่งขันที่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ฝ่ายการตลาดหน้าที่เป็นผู้หาข้อมูลดังกล่าวและป้อนให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลของปริมาณสินค้าที่จะบรรจุ ขนาด จำนวน บรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยขนส่ง อาณาเขตของตลาด เป็นต้น (5) ระบบขนส่งสินค้าและคลังสินค้า ศึกษาวิธีและอุปกรณ์การขนย้ายและการเก็บคงคลัง เช่น การใช้กะบะเป็นพาหนะสำหรับใช้ในระบบการขนย้าย ความจำเป็นในการใช้สัญลักษณ์รหัสแท่งบนบรรจุภัณฑ์ขนส่ง เป็นต้น (6) กฎหมาย การออกแบบกราฟฟิกของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นไปตามข้อบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับข้อบังคับของสำนักงานอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ยังต้องศึกษาการใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (7) ปัจจัยอื่นๆ สภาวะคู่แข่งขันรวมกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวของคู่แข่ง สถานะของผลิตภัณฑ์ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 3.1.3 องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรทุกแห่งจะประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกัน ในองค์กรใหญ่อาจจะมีฝ่ายบริหารเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่องค์กรเล็กอาจจะเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ 1) ฝ่ายบริหาร ตัวประธานฝ่ายบริหารหรือเจ้าของกิจการย่อมมีส่วนในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบไปขัดกับกฎหมายบ้านเมือง ตัวประธานฝ่ายบริหารอาจจะต้องรับผิดชอบ สาเหตุที่ฝ่ายบริหารต้องมาเกี่ยวข้องเพราะว่าบรรจุภัณฑ์เป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรและลูกค้า ในบริษัทใหญ่ๆ ของไทยเริ่มมีบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะมาดูแลรับผิดชอบทางด้านบรรจุภัณฑ์มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของฝ่ายบริหารและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาด 2) ฝ่ายการตลาด บทบาทของการตลาดเป็นการสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยสินค้าที่จำหน่าย โดยมีบรรจุภัณฑ์เป็นอาวุธสำคัญในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการตลาดสมัยใหม่ การส่งเสริมการจำหน่าย ณ จุดขายก็ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เป็นหัวหอกสำคัญ ฝ่ายการตลาดจะพิจารณาบรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ 3) ฝ่ายผลิต สินค้าที่บรรจุเสร็จเรียบร้อยในบรรจุภัณฑ์จะมีต้นทุนต่ำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของฝ่ายผลิต นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานที่จะควบคุมคุณภาพให้คงที่สม่ำเสมอ ในการทำงานฝ่ายผลิตมักจะมีความเห็นขัดแย้งกับฝ่ายการตลาด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดระหว่างขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ฝ่ายผลิตจะร่วมวิเคราะห์เรื่องความเข้ากันได้ระหว่างบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบกับเครื่องจักรที่จะใช้ในการบรรจุ เพื่อช่วยกำหนดคุณภาพและความเร็วของสินค้าที่จะผลิตได้ 4) ฝ่ายบัญชีและการเงิน ฝ่ายนี้ต้องคอยติดตามผลประกอบการขององค์กรพร้อมทั่งรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในสภาวะที่มั่นคง หน้าที่ของฝ่ายบัญชีและการเงินจะพยายามลดต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายการตลาดที่พยายามจะลงทุนบรรจุภัณฑ์เพื่อปกป้องให้สินค้าดีขึ้น และช่วยในการเพิ่มยอดขาย 5) ฝ่ายจัดซื้อและจัดส่ง หน้าที่หลักที่เกี่ยวกับฝ่ายจัดซื้อ คือ การจัดหาบรรจุภัณฑ์ให้ได้ตามคุณภาพ จำนวน เวลา และราคาที่กำหนดไว้ ในขณะที่ฝ่ายจัดส่งพยายามลำเลียงสินค้าที่ผลิตเสร็จไปสู่ผู้ขายด้วยจำนวนที่ถูกต้องภายในเวลาและสถานที่ที่กำหนด จะพบกิจกรรมทางด้านนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายผลิตและฝ่ายตลาดเข้าด้วยกัน และเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการแข่งขันเพื่อการลดต้นทุนพร้อมการบริการที่สะดวกมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น <<กลับสู่หน้าหลัก อ่านต่อ การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2>>
สมัครสมาชิก

สนับสนุนโดย / Supported By

  • บริษ้ท มาเรล ฟู้ดส์ ซิสเท็ม จำกัด จัดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์การแปรรูปอาหาร เช่น ระบบการชั่งน้ำหนัก, การคัดขนาด, การแบ่ง, การตรวจสอบกระดูก และการประยุกต์ใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับบริการ ออกแบบ ติดตั้ง กรรมวิธีการแปรรูปทั้งกระบวนการ สำหรับ ผลิตภัณฑ์ ปลา เนื้อ และ สัตว์ปีก โดยมีวิศวกรบริการและ สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพ มาเรล เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกของอุปกรณ์การแปรรูปอาหารที่ทันสมัย​​ครบวงจรทั้งระบบ สำหรับอุตสาหกรรม ปลา กุ้ง เนื้อ และสัตว์ปีก ต่างๆ เครื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก Stork และ Townsend จาก Marel อยู่ในกลุ่มเครื่องที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ สามารถบริการครบวงจรตั้งแต่ต้นสายการผลิตจนเสร็จเป็นสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกความต้องการของลูกค้า ด้วยสำนักงานและบริษัทสาขามากกว่า 30 ประเทศ และ 100 เครือข่ายตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก ที่พร้อมทำงานเคียงข้างลูกค้าเพื่อขยายขอบเขตผลการแปรรูปอาหาร Marel Food Systems Limited. We are supply weighing, grading, portioning, bone detection and software applications as well as complete turn-key processing solutions for fish, meat and poultry. We have service engineer and office in Bangkok. Marel is the leading global provider of advanced food processing equipment, systems and services to the fish, meat, and poultry industries. Our brands - Marel, Stork Poultry Processing and Townsend Further Processing - are among the most respected in the industry. Together, we offer the convenience of a single source to meet our customers' every need. With offices and subsidiaries in over 30 countries and a global network of 100 agents and distributors, we work side-by-side with our customers to extend the boundaries of food processing performance.
  • วิสัยทัศน์ของบริษัท คือ การอยู่ในระดับแนวหน้า "ฟอร์ฟร้อนท์" ของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ และนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตในประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า บริษัท ฟอร์ฟร้อนท์ ฟู้ดเทค จำกัด เชื่อมั่นและยึดมั่นในอุดมการณ์การดำเนินธุรกิจ กล่าวคือ จำหน่าย สินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ด้วยความซื่อสัตย์และความตรงต่อเวลา เพื่อการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จร่วมกันระยะยาว Our vision is to be in the "forefront" of technology in its field and suitably apply the technology to industries and production in Thailand for customers' utmost benefits. Forefront Foodtech Co., Ltd. strongly believes in and is committed to our own business philosophy which is to supply high quality products and service appropriately to each customer's requirements with honesty and punctuality in order to maintain long term win-win business relationship. Forefront Foodtech Co., Ltd. is the agent company that supplies machinery and system, install and provide after sales service as well as spare parts. Our products are: Nock, made in Germany: manufacturer of skinning machines, membrane skinning machine, slicers and scale ice makers. Frey, made in Germany: manufacturer of vacuum stuffers and chain linking system. Kronen, made in Germany: manufacturer of washing, centrifuges and cutting machinery for vegetable and fruits. Bandall, made in Netherlands: manufacturer of banding machine. Emerson, made in Romania: smoke chamber. G.Mondini, made in Italy: manufacturer of top seal, skin pack, paper seal, slimfresh and slicefresh for ready meal, meat, petfood and etc. Dorit, made in Germany: manufacturer of tumblers and injectors. Cliptechnik, made in Germany: manufacturer of single and double clippers for table top use and standalone clipping machines. Firex, made in Italy: manufacturer of food-processing equipment for kitchen and commercial equipment. Orved, made in Italy: manufacturer of vacuum packing machine. Carsoe, made in Denmark: designs and produces products for the seafood and food processing industry Gernal, made in Belgium: manufacturer of food-processing equipment for industrial Mado, made in Germany: manufacturer of meat-processing industry
  • We are well known for reliable, easy-to-use coding and marking solutions which have a low total cost of ownership, as well as for our strong customer service ethos. Developing new products and a continuous programme of improving existing coding and marking solutions also remain central to Linx's strategy. Coding and marking machines from Linx Printing Technologies Ltd provide a comprehensive solution for date and batch coding of products and packaging across manufacturing industries via a global network of distributors. In the industrial inkjet printer arena, our reputation is second to none. Our continuous ink jet printers, laser coders, outer case coders and thermal transfer overprinters are used on production lines in many manufacturing sectors, including the food, beverage, pharmaceutical, cosmetics, automotive and electronic industries, where product identification codes, batch numbers, use by dates and barcodes are needed. PTasia, THAILAND With more than 3,700 coding, marking, barcode, label applicator, filling, packing and sealing systems installed in THAILAND market. Our range is includes systems across a wide range of technologies. To select the most appropriate technology to suit our customers. An excellent customer service reputation, together with a reputation for reliability that sets standards in the industry, rounds off the PTAsia offering and provides customers with efficient and economical solutions of the high quality. Satisfyingcustomers inTHAILAND for 10 years Our 1,313 customers benefit from our many years of experience in the field, with our successful business model of continuous improvement. Our technical and service associates specialise in providing individual advice and finding the most efficient and practical solution to every requirment. PTAsia extends its expertise to customers in the food, beverage, chemical, personal care, pharmaceutical, medical device, electronics, aerospace, military, automotive, and other industrial markets.