3.1.4 ขั้นตอนในการพัฒนา
ขั้นตอนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาจแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทแรกเป็นการพัฒนาทั้งระบบ เริ่มจากแนวความคิดจนกระทั่งการจำหน่ายสู่ตลาด และประเภทที่สอง คือ การพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ เช่น พัฒนาเฉพาะฉลากแต่เก็บรูปทรงไว้ เป็นต้น การพัฒนาประเภทที่สองนี้ในประเทศไทยนิยมให้โรงงานผู้ผลิตหรือแปรรูปบรรจุภัณฑ์เป็นผู้พัฒนาให้ แต่ในหัวข้อนี้จะได้กล่าวถึงการพัฒนาประเภทแรกที่เป็นการพัฒนาทั้งระบบตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
(1) กำหนดจุดมุ่งหมายการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์
กระบวนการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นด้วยการตั้งจุดมุ่งหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะได้รับผลอะไรจากการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ จุดมุ่งหมายที่ตั้งนี้ควรมีจุดมุ่งหมายหลักเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีจุดมุ่งหมายต่อเนื่องอีกหลายประการก็ได้ จุดมุ่งหมายนี้จำต้องเขียนอย่างเด่นชัด และถ้าเป็นไปได้อาจจะกำกับเป้าหมายเป็นตัวเลข เช่น ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอีก 10% จากการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรืออาจจะเป็นการลดต้นทุนลงอีก 5% เป็นต้น การเขียนจุดมุ่งหมายในรูปของผลกำไรอาจไม่เด่นชัดและเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป
จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้จะต้องเฉพาะเจาะจงและเข้าใจได้ง่ายระหว่างทีมงานที่พัฒนาออกแบบ เพื่อว่าแต่ละบุคคลจะสามารถกำหนดขอบเขตรับผิดชอบและกำหนดเวลาที่ต้องทำให้เสร็จ การตั้งจุดมุ่งหมายอาจใช้หลักของมูลเหตุที่ต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อที่ 3.1.1 เป็นจุดมุ่งหมายในการพัฒนาได้
(2) การวางแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์
ขั้นตอนนี้นับได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มักจะได้รับการละเลยมากที่สุด เนื่องจากการทำงานในบ้านเราชอบทำงานแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าถ้าไม่จวนตัวแล้วจะไม่ค่อยทำ การวางแผนจะทำให้ทราบว่าการพัฒนาจะมุ่งไปทางไหนและพัฒนาอย่างไร ด้วยเวลาและงบประมาณค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าการวางแผน คือ การตั้งกลยุทธ์หรือขั้นตอนพร้อมกรอบในการทำงานแต่ละขั้นตอน เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ในการวางแผนพัฒนาจะเริ่มต้นจากขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การหาข้อมูลของสินค้าที่จะพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น ข้อมูลทางเทคนิค ทางด้านการตลาด การจัดส่ง ค่าใช้จ่าย
2. ความต้องการของบรรจุภัณฑ์ ทั้งทางด้านเทคนิคและการใช้งาน
3. รายละเอียดของรูปแบบของบรรจุภัณฑ์
4. ข้อกำหนดบังคับตามกฎหมาย
5. รวบรวมรายละเอียดระบบบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่เหมาะสม
6. ประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนา
7. กำหนดมาตรการที่จะดำเนินการพัฒนาต่อหรือจะทิ้งโครงการพัฒนา
8. กำหนดมาตรการที่จะทำการทดสอบตลาดหรือทดสอบภายในสถานที่จำลอง
เมื่อทราบคุณลักษณะและมาตรการต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว จะเริ่มเห็นแนวทางของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้านั้นๆ
(3) ปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
การพัฒนาเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูล และข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือ ข้อมูลของสินค้า
1. สินค้า คุณสมบัติของสินค้าที่ต้องทราบเป็นอันดับแรก คือ คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี
- คุณสมบัติทางกายภาพ ดังได้กล่าวมาแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารสามารถจำแนกตามคุณสมบัติทางกายภาพได้ 3 รูปแบบ คือ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพของแข็งและของเหลว ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซนั้นมีน้อยมาก นอกจากว่าจะเติมเข้าไปในอาหาร เช่น น้ำอัดลมที่บรรจุก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ หรือก๊าซเฉื่อยที่ฉีดเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ปรับสภาวะ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นของแข็ง เมื่อพิจารณาจากวิธีการบรรจุใส่ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นของแข็ง แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นชิ้นเป็นก้อน เช่น กล้วยตาก
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่ร่วงหล่นได้ง่าย (Free Flowing Products) เช่น ข้าว ถั่วลิสง
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่ร่วงหล่นได้ยาก (Non-Free Flowing Products) เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ฟุ้งกระจายและใช้เวลาในการร่วงหล่นมาเป็นกอง เช่น แป้งชนิดต่างๆ
รูปที่ 3.2 ลักษณะของสินค้าแห้งแบบ Free-Flowing, Non-Free-Flowing และแบบสารจับเป็นก้อน (agglomerate)
จุดประสงค์หลักในการแบ่งแยกผลิตภัณฑ์อาหารแข็งออกเป็น 3 ชนิดดังกล่าว สืบเนื่องจากเครื่องจักรที่ใช้ในการบรรจุสำหรับสินค้าทั้ง 3 ชนิด มีความแตกต่างกัน ดังจะได้บรรยายในรายละเอียดต่อไปในเรื่องเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์
คุณสมบัติสำคัญของสินค้าประเภทที่เป็นของแข็งที่ผู้ผลิตควรทราบ คือ ความหนาแน่น (Density) ของสินค้า หมายความถึง น้ำหนักต่อหน่วยปริมาตร ซึ่งหาได้จากการชั่งน้ำหนักของสินค้าเต็มถ้วยตวงที่รู้ปริมาตรที่แน่นอน จากค่าความหนาแน่นที่ได้นี้จะสามารถคำนวณได้ว่าน้ำหนักสินค้าที่ใช้บรรจุจะต้องมีปริมาตรเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้เลือกประเภทหรือกำหนดมิติของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมได้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นของเหลวนั้น คุณสมบัติสำคัญที่จำต้องทราบ คือ ความเหนียวข้น (Viscosity) เนื่องจากความเร็วในการไหลตัวของผลิตภัณฑ์อาหารเหลว จากคุณสมบัติดังกล่าวนี้จะเป็นแนวทางในการคัดเลือกประเภทเครื่องจักรและประเภทของบรรจุภัณฑ์ต่อไป
ในแง่ของการตลาด คุณสมบัติเด่นของสินค้าที่จะสร้างเป็นจุดขายจะต้องกำหนดขึ้นมาเพื่อสามารถสนองความต้องการผู้บริโภค ในสภาวะที่ผู้บริโภคเริ่มคำนึงถึงสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร การวางจำขายของอาหารที่ผลิตจากธรรมชาติย่อมสนองความต้องการได้ การหาจุดขายนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และควรจะมองในแง่มุมของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเพื่อสร้างจุดขายที่เด่นชัดและจำได้ง่ายแทนที่จะหาจุดขายโดยมองจากในแง่มุมของผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตสินค้า
- คุณสมบัติทางเคมี สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องรู้คือ สินค้าจะเน่าเสีย ( ดู food spoilage) หรือเสื่อมคุณภาพจากปฏิกิริยาอะไร เช่น การทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือความชื้น เพื่อว่าจะสามารถประเมินอายุการเก็บของอาหารได้ และเพื่อเป็นแนวทางที่จะสรรหาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมมาคุ้มครองรักษาคุณภาพอาหารได้ตามกำหนดอายุที่ต้องการ
นอกเหนือจากคุณสมบัติพื้นฐานทั้ง 2 แล้ว ข้อมูลพิเศษที่จะต้องเก็บเพิ่มอาจได้แก่ คุณสมบัติทางกลิ่น เช่น ปลาร้า กะปิ โดยเฉพาะกะปิอาจมีการแยกตัวเป็นน้ำออกมา คุณสมบัติพิเศษของสินค้าแต่ละชนิดจะต้องทราบ เพื่อสามารถสรรหาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการใช้งาน
2. บรรจุภัณฑ์ การพัฒนามาถึงขั้นตอนนี้ เมื่อทราบคุณลักษณะของสินค้า ความต้องการทางด้านการตลาดที่จะสนองตามจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้ จะเริ่มเห็นแนวทางของบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้และเตรียมร่างต้นแบบขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน บรรจุภัณฑ์ที่จะพัฒนานี้อาจมีความต้องการคุณสมบัติพิเศษหรืออาจมีข้อจำกัดอื่นๆ ที่เพิ่งจะทราบ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายใหม่ที่จะออกบังคับ หรือข้อมูลทางด้านการตลาดที่เปลี่ยนข้อกำหนดของปริมาตรที่บรรจุหรือขนาดของสินค้า ความไม่แน่นอนในข้อจำกัดต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ จะต้องกำหนดให้ชัดเจนในขั้นตอนการร่างต้นแบบเพื่อที่จะได้นำเอาข้อจำกัดดังกล่าวมากำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนา
ในเวลาเดียวกัน การศึกษาบรรจุภัณฑ์ของคู่แข่งก็เป็นสิ่งที่จะต้องรวบรวมเพื่อให้ทราบถึงจุดเด่นและจุดด้อยของคู่แข่งขัน ขนาดบรรจุที่มีอยู่ในตลาด ราคาที่จำหน่าย พร้อมทั้งประเมินอายุการเก็บของสินค้าคู่แข่ง
นอกเหนือจากบรรจุภัณฑ์ชั้นในที่เป็นบรรจุภัณฑ์ติดกับสินค้าแล้ว การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกและบรรจุภัณฑ์ขนส่งให้สัมฤทธิ์ผลนั้น จำต้องทราบถึงวิธีการขนถ่ายสินค้า พาหนะที่ใช้ เวลาและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนย้าย เช่น มีการใช้กะบะ (Pallet) หรือไม่ วิธีเก็บในคลังสินค้า โดยปกติการขนถ่ายในคลังสินค้ายิ่งน้อยครั้งเท่าไร อันตรายที่จะเกิดขึ้นยิ่งน้อยลง นอกจากนี้ การขนย้ายในระยะใกล้ ย่อมต้องการระดับการป้องกันมากกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ภายในประเทศ สภาพภูมิอากาศระหว่างการขนส่งและในคลังสินค้า ก็เป็นข้อมูลที่จำเป็นมากในการคัดเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งการจำลองสภาวะในการทดสอบของบรรจุภัณฑ์
3. เครื่องจักร สืบเนื่องต่อจากบรรจุภัณฑ์ที่ได้เลือกไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มสรรหาเครื่องจักรบรรจุที่เหมาะสมกับการใช้งานซึ่งคล้ายคลึงกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เครื่องจักรที่สรรหามาพิจารณาควรจะมีประเภทต่างๆ กันเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผล ค่าใช้จ่าย และต้นทุน รายละเอียดของการจัดหาเครื่องจักร พร้อมทั้งชนิดและประเภทจะกล่าวต่อไปในบทของเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์
เมื่อได้ข้อมูลครบก็เริ่มทำต้นแบบและเริ่มสอบถามความเห็นเบื้องต้นของกลุ่มเป้าหมายจากต้นแบบร่างแบบบรรจุภัณฑ์หลายๆ แบบที่เตรียมขึ้นมา
(4) การประเมินรอบแรก
จากร่างต้นแบบบรรจุภัณฑ์หลายแบบที่ได้พัฒนาขึ้นมา ขั้นตอนนี้จะทำการเปรียบเทียบและคัดบางแบบออก มาตรการหนึ่งที่ใช้ในการเปรียบเทียบเพื่อคัดออกนี้ คือ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ กลุ่มเป้าหมายและต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ ตัวเลขของต้นทุนที่ได้มาจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แหล่งต่างๆ ที่นำมาเปรียบเทียบนั้น ควรจะขอในเวลาที่ใกล้เคียงกัน และเป็นราคาที่ผ่านขั้นตอนการต่อรองที่เหมือนกัน เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของราคาเมื่อเทียบกับอรรถประโยชน์อื่นๆ ของบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบ
มาตรการอย่างอื่นๆ ที่จะใช้ในการประเมิน คือ การทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (Product Compatibility Test) ซึ่งเป็นการทดสอบว่าทั้งสินค้าและบรรจุภัณฑ์มีการทำปฏิกิริยากันในเวลาใช้งานจริง การทดสอบในห้องปฏิบัติการมักจะใช้สภาวะการเก็บที่เร่งสภาวะ (Accelerated Condition) เพื่อศึกษาสภาวะการทำปฏิกิริยาและการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูง (Accelerated Temperature Condition) และความชื้นสัมพัทธ์สูง เพื่อศึกษาสภาวะการทำปฏิกิริยาและสภาวะการเปลี่ยนแลงคุณสมบัติ เช่น ความเปราะแตกหักสำหรับสินค้าที่เป็นของแห้งหรือของเหลวที่อาจเปลี่ยนความเข้มข้นจนเป็นของเหลวข้นมากหรืออาจจับตัวแข็งเทไม่ออก เป็นต้น
การประเมินรอบแรกจะจบลงเมื่อสามารถคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายด้วยค่าใช้จ่ายที่ประเมินและเป็นที่ยอมรับกันในทีมทำงานและสอดคล้องตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
(5) การพัฒนาขั้นที่สอง
การพัฒนาขั้นต่อมาเริ่มพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยของบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกและบรรจุภัณฑ์ขนส่งของบรรจุภัณฑ์ชั้นใน (primary packaging) ที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้ว เช่น จะมีการสั่งทำตัวอย่างและทำการทดสอบคุณสมบัติการใช้งานต่างๆ การทดสอบความสามารถเรียงซ้อนของกล่องลูกฟูก (corrugated box) เป็นต้น รายละเอียดของการทดสอบจะได้กล่าวต่อในบทการทดสอบวัสดุและบรรจุภัณฑ์
(6) การทดสอบการใช้งาน
ในขั้นตอนนี้เป็นการทดสอบการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบในแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทดสอบการบรรจุ การเดินเครื่อง เพื่อพิจารณาความเข้ากันได้ของบรรจุภัณฑ์กับเครื่องจักรที่จะใช้การทดสอบความเข้ากันได้กับเครื่องจักรนี้มีชื่อเฉพาะทางเทคนิคว่า Machianbility บรรจุภัณฑ์ที่เลือกเอาไว้จะมีการทดสอบในช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่ง การเก็บในคลังสินค้า ความหลากหลายของการทดสอบจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ขอบเขตในการพัฒนาออกแบบ พร้อมทั้งงบประมาณของการพัฒนานั้น
การทดสอบที่สำคัญที่สุด คือ การทดสอบทางการตลาด โดยอาจมีการทดลองวางจำหน่าย สรุปผลการยอมรับจากกลุ่มเป้าหมายในสภาวะจุดขายจริงๆ ในบางกรณีถ้ากลัวความลับรั่วไหลอาจจะต้องปิดบังชื่อบริษัทและสินค้า หรือทำการทดสอบในสถานที่จำลองแทนที่จะเป็นสถานที่จริง จุดมุ่งหมายในการทดสอบตลาด คือ ทดสอบการยอมรับในตัวสินค้า การประเมินว่ากลุ่มเป้าหมายพอใจซื้อสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนามาอย่างดีแล้วนี้ที่ราคาเท่าไร พร้อมทั้งการประเมินยอดขาย เพื่อที่จะไปกำหนดกลยุทธ์ทางด้านการตลาดในทางกลับกันสามารถทราบถึงจุดบกพร่องของบรรจุภัณฑ์ที่จะพัฒนาเพื่อนำไปทำการแก้ไขก่อนวางตลาดจริง
(7) การประเมินครั้งสุดท้าย
การประเมินครั้งสุดท้ายเป็นการประเมินว่าบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบนี้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่และสมควรที่จะวางตลาดตามเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการตัดสินใจจะวางจำหน่ายสินค้าหรือไม่ ถ้าไม่วางจำหน่ายสินค้า สิ่งที่สูญเสีย คือ ค่าพัฒนาที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าตัดสินใจวางจำหน่ายและสินค้าไม่ประสบความสำเร็จ ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจะมีมูลค่ามากกว่าค่าพัฒนาที่ได้ทำไปอีกมากมาย
มาถึงขั้นตอนนี้ ข้อมูลต่างๆ ได้รับการออกแบบพัฒนามาเป็นตัวบรรจุภัณฑ์พร้อมด้วยตัวเลขของค่าใช้จ่ายโดยรวมที่จะจำหน่ายสินค้าเพื่อที่จะตัดสินใจลงทุน การกำหนดเวลาที่จะสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องพิจารณา เนื่องจากในขณะที่พัฒนานั้นกับเวลาที่วางตลาดจริงอาจจะห่างกันถึง 1 ปี สภาวการณ์ต่างๆ อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ อาจจะมีการจ้างผลิตและบรรจุนอกบริษัท และมีการปรับปรุงแก้ไขจนกว่าเครื่องจักรใหม่จะเข้ามาและทำการผลิตจริงเพื่อวางตลาดตัดหน้าคู่แข่ง
3.1.5 การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ (Specification)
การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของบรรจุภัณฑ์ นับเป็นอาวุธลับชิ้นสุดท้ายของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากรายละเอียดที่กำหนดหรือที่เรียกว่า "สเป็ก" นี้จะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการสื่อข้อมูลทางบรรจุภัณฑ์ระหว่างแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่า จะได้รับบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุตามที่ต้องการ ใช้งานได้ตรงตามประสงค์ ได้รับตามจำนวนที่ต้องการต่อหน่วยขนส่ง ด้วยเหตุนี้การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะนี้ จะต้องเขียนด้วยศัพท์เทคนิคที่เข้าใจเหมือนกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กรที่เกี่ยวข้อง และครอบคลุมรายละเอียดที่จำเป็นในการใช้งานทั้งหมด รวมทั้งคุณสมบัติและลักษณะพิเศษ
เมื่อตกลงเป็นที่เรียบร้อยภายในองค์กรแล้ว ข้อกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะนี้จะใช้เป็นบรรทัดฐานในการสั่งซื้อจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์หรือจัดหามาตามความต้องการเพื่อใช้งาน
ความจำเป็นในการตั้งข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ มีดังนี้
1. เพื่อสร้างความมั่นใจว่า บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถเข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายในและใช้งานได้ดีกับเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์
2. เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา / ความเข้าใจผิดทั้งทางด้านเทคนิค และการจัดส่งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร
3. เพื่อเป็นหลักฐานเมื่อมีการเรียกร้องภายหลัง
4. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดซื้อในการเสาะหาผู้ผลิต และสามารถเปรียบเทียบข้อเสนอที่แตกต่างกัน
(1) ข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดหาบรรจุภัณฑ์
โดยทั่วไป คุณลักษณะเฉพาะมักมีอย่างน้อยที่สุด 2 ชุด คือ ชุดแรก สำหรับการขอใบเสนอราคาจากผู้ผลิต หลังจากได้รับใบเสนอราคา มีการประเมินและเลือกผู้ผลิตแล้ว คุณลักษณะเฉพาะชุดที่สองจะถูกทำขึ้นเพื่อการออกใบสั่งซื้อที่แท้จริง ความแตกต่างขั้นพื้นฐานระหว่างคุณลักษณะเฉพาะ 2 ชุด คือ ชุดแรกสามารถยืดหยุ่นได้ ในขณะที่ชุดที่สองจะต้องมีรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบ / เครื่องจักรที่เฉพาะเจาะจงแจ้งชัดและถูกต้อง คุณลักษณะเฉพาะที่มี 2 ชุดนี้จะสอดคล้องกับขั้นตอนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้ใบเสนอราคาที่ได้เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมิน 2 ขั้นตอน พร้อมทั้งสนองความต้องการในการจัดหาบรรจุภัณฑ์ในแต่ละขั้นตอนดังกล่าว
การจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ เป็นการบังคับให้ผู้ซื้อคิดถึงสิ่งที่ตนเองต้องการจริงๆ และยังทำให้ผู้ผลิตเพิ่มความระมัดระวังว่า ผู้ซื้อรู้ว่าผู้ผลิตกำลังจัดทำบรรจุภัณฑ์อะไรและสมควรที่จะมีระบบควบคุมคุณภาพให้ได้ตามที่ต้องการอย่างไร มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดหาอย่างไร
(2) การเขียนข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของบรรจุภัณฑ์
กฎการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเขียนข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของบรรจุภัณฑ์ คือ การเขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ โดยกล่าวถึงสิ่งที่เป็นความจริง สามารถให้รายละเอียดอย่างเพียงพอแก่ผู้ผลิตที่จะเสนอราคาทำการผลิตและส่งบรรจุภัณฑ์ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ ในขณะเดียวกันจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเหตุผล และปรับปรุงได้ในด้านของผู้ผลิต
ดังนั้น ข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของบรรจุภัณฑ์ควรจะประกอบด้วย
- ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่จะบรรจุ คุณลักษณะเฉพาะ วิธีการบรรจุพร้อมเงื่อนไข และความต้องการในการปกป้องสินค้าระหว่างการขนส่ง (ข้อมูลนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของบรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์)
- การออกแบบบรรจุภัณฑ์
- ปริมาณ / ปริมาตรที่จะบรรจุ พร้อมทั้งส่วนแตกต่างที่ยอมรับได้ (+/-)
- เกรดของวัตถุดิบ คุณภาพ น้ำหนักมาตรฐาน และอื่นๆ
- โครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ ถ้าจำเป็นควรมีภาพวาดประกอบ
- มิติของบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งส่วนแตกต่างที่ยอมรับได้ (+/-)
- คุณลักษณะพิเศษ ส่วนประกอบ และอื่นๆ
- การออกแบบทางกราฟฟิก / รายละเอียดข้อแนะนำสำหรับการพิมพ์หรือการตบแต่งอื่นๆ
- ปริมาณที่ต้องการ / สั่งซื้อ
- กำหนดวันส่งมอบที่ต้องการ / ตกลงกัน
- ข้อแนะนำสำหรับการบรรจุและการส่งของจากผู้ผลิตมายังผู้ซื้อ
- เงื่อนไขในการขนส่งและการเก็บรักษา
- ราคาตามที่ตกลง
- เงื่อนไขในการส่งมอบ
นอกจากที่กล่าวข้างต้น ควรมีข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
- เลขที่ของข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ และวันที่ที่ออก
- อ้างถึงการทดสอบตามวิธีมาตรฐานสำหรับจุดประสงค์ของการคุณภาพ
- ส่วนแตกต่างของปริมาณที่ยอมรับได้
- ประเภทของความเสียหายที่เกิดขึ้นและการยอมรับ
- บุคลากรที่รับผิดชอบ
ถ้าผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลิตภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ขบวนการบรรจุและระบบการจัดจำหน่าย ผู้ผลิตก็จะมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพและประหยัด โดยเฉพาะในกรณีของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จะต้องรู้ถึงคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ค่า pH ปริมาณไนเตรท (Nitrate Content) ส่วนประกอบทางเคมี และอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้ผลิตสามารถที่จะเลือกประเภทของวัตถุดิบ วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้อง และยังต้องระบุถึงวิธีการบรรจุ และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อุณหภูมิในระหว่างการบรรจุ ข้อมูลของระบบการจัดจำหน่ายที่มีผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ วิธีการหีบห่อระหว่างการขนส่งจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์มายังผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการนำเข้าบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ ผู้ผลิตควรจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายที่ท่าเรือ / ท่าอากาศยาน สถานภาพของถนนและภูมิอากาศ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ผลิตที่จะทำการหีบห่อบรรจุภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่ไม่จำเป็น ถ้าเรามีการวางแผนที่ดีก็เป็นไปได้สำหรับผู้ซื้อที่จะสั่งซื้อวัสดุหีบห่อของผู้ผลิตรายเดิมไปเรื่อยๆ
(3) ส่วนแตกต่างที่ยอมรับได้ของมิติและปริมาณ
ในการผลิตวัสดุและแปรรูปมาเป็นบรรจุภัณฑ์ จะพบว่ามีความเบี่ยงเบนในเรื่องของมิติ และปริมาณที่กำหนดไว้ในการออกแบบ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการระบุส่วนแตกต่างที่ยอมรับได้ในเกณฑ์สูงสุดและต่ำสุดของผู้ซื้อ ในกรณีของขบวนการบรรจุอาหารใส่บรรจุภัณฑ์โดยใช้แรงงานคน ส่วนแตกต่างของมิติอาจไม่สำคัญมากนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ เราต้องให้ความสนใจในการระบุส่วนแตกต่างที่แน่นอนเพื่อให้เครื่องจักรเดินเครื่องได้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิตที่จะตั้งอยู่บนแนวทางการปฏิบัติที่ผู้ผลิตพึงปฏิบัติได้ ขอให้ตระหนักว่าถ้าระยะเวลาการผลิตยิ่งยาว ผู้ผลิตจะสามารถปรับเครื่องจักรตามระดับความแม่นยำตามที่ต้องการ ค่ากำหนดส่วนแตกต่างที่แคบเกินไป ถ้าแม้จะยอมรับหรือปฏิบัติได้ในช่วงต้น แต่ก็ส่งผลให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากและเกิดความสิ้นเปลืองในสายการผลิต และสุดท้ายก็ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ความแตกต่างส่วนของมิติ ควรจะกำหนดเป็นสัญลักษณ์ + หรือ - และต้องระบุในข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะหรือใบแสดงคุณภาพที่แนบไป
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์ต้องกำหนดส่วนแตกต่างของปริมาณสำหรับการส่งมอบ ถ้าผู้ซื้อต้องการให้ส่งในปริมาณที่แน่นอน ถ้าผู้ผลิตจำเป็นต้องผลิตสินค้าเกินกว่าจำนวน โดยเผื่อสินค้าเสียหาย ส่วนต่างที่ผลิตเกินนี้จะระบุเป็นร้อยละ ตัวอย่างเช่น การสั่งซื้อฟิล์มหดเป็นม้วนอาจจะตั้งข้อกำหนดในการยอมรับสินค้าเป็นดังนี้
- ถ้าปริมาณในการสั่งซื้อน้อยกว่า 400 กิโลกรัม จะยอมรับสินค้าที่ส่งเกินอีกหนึ่งม้วน
- ถ้าปริมาณในการสั่งซื้อมากกว่า 400 กิโลกรัม +/- 10%
อย่างไรก็ตามในบางกรณี ส่วนแตกต่างของปริมาณที่มีจำนวนมาก ผู้ผลิตก็จะสามารถทำให้แคบลงเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ซื้อ
(4) การจัดระดับขั้นของความเสียหาย การสุ่มตัวอย่างและการประเมินคุณภาพ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกงวดสินค้าที่ทำการส่งมักจะมีบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเสียหายจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้ต้องกำหนดในรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การจัดขั้นประเภทของความเสียหาย
- จำนวนชิ้นของสินค้าเสียหายที่ยอมรับได้ในการดำเนินงานปกติ
- การตั้งระเบียบหรือข้อกำหนดสำหรับการควบคุมคุณภาพ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะส่งมอบสามารถจัดเป็นแยกประเภทได้ดังนี้
ระดับ A : ความเสียหายระดับวิกฤต คือสินค้าหรือวัสดุไม่สามารถนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ ไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ระดับ B : ความเสียหายระดับใหญ่ คือ สินค้าหรือวัสดุมีความเบี่ยงเบนเล็กน้อยจากข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ แต่ยังสามารถนำมาใช้ตามจุดประสงค์เดิมหรือตามจุดประสงค์รอง โดยการแก้ไขปรับปรุงงานบางอย่าง เช่น ใช้แรงงานของผู้ใช้บรรจุภัณฑ์นั้นทำการแก้ไข
ระดับ C : ความเสียหายระดับเล็ก คือ ภาพลักษณ์ของสินค้าหรือวัสดุแตกต่างจากข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในด้านเทคนิค แต่ยังสามารถทำตามหน้าที่ได้
การจัดระดับของความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงว่าอยู่ในระดับวิกฤติ ระดับใหญ่ หรือระดับเล็กขึ้นอยู่กับประเภทของบรรจุภัณฑ์และการดำเนินงานของผู้บรรจุหีบห่อ ตัวอย่างเช่น การส่งของแต่ละครั้งจะมีสินค้าที่มีความเสียหายแต่ละระดับแฝงอยู่จำนวนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่จะระบุว่าจำนวนเท่าใดของความเสียหายในแต่ละระดับที่เราสามารถยอมรับได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ระดับคุณภาพที่ยอมรับได้ หรือ "Acceptable Quality Level" (AQL) และจำนวนของสินค้าที่เสียหายไม่ว่าในระดับใด ควรจะต้องได้รับการชดเชยจากผู้ผลิต การเรียกร้องควรจะมีการสนับสนุนโดยการส่งตัวอย่างที่เสียหายไปยังผู้ผลิตพร้อมกับรายงานและรูปถ่ายโดยบุคคลที่เป็นกลางหรือสถาบัน วิธีการที่ดีอีกวิธีหนึ่ง คือการเชิญตัวแทนของผู้ผลิตมาตรวจสอบและหาสาเหตุ ณ จุดส่งมอบบรรจุภัณฑ์
<<ย้อนกลับ การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1 อ่านต่อ การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ตอนที่3 >>