6.2 ขั้นตอนการออกแบบ
สิ่งที่ผู้ซื้อเสียความรู้สึกมากที่สุดคือ บรรจุภัณฑ์ไม่สามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการหรือไม่สามารถทำงานได้ตรงตามที่บรรยายบนบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น มีการโฆษณาบนบรรจุภัณฑ์ว่าเป็นซองออกแบบใหม่ฉีกเปิดได้ง่ายแต่พอเปิดซองแล้วสินค้าเกลื่อนกระจายไปทั่วพื้น เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้ผู้บริโภคจะไม่ตำหนิบรรจุภัณฑ์แต่จะไม่ยอมรับสินค้ายี่ห้อนั้นๆ เพราะถือว่าถูกหลอก ไม่ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ว่านี้จะออกแบบมาสวยงามน่าประทับใจเพียงใด ในฐานะเจ้าของสินค้าจะต้องยอมรับว่าออกแบบบรรจุภัณฑ์มาไม่ดี จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นที่ประจักษ์ว่าจุดมุ่งหมายในการออกแบบไม่รอบคอบไม่ใส่ใจในสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อยอดขายของสินค้าเนื่องจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์จำต้องมีการวางแผนงานและกำหนดจุดมุ่งหมายรองรับซึ่งมีหลายประการไว้อย่างชัดเจน
ขั้นตอนการออกแบบกราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์จะคล้ายคลึงกับขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ แต่อาจจะมีส่วนปลีกย่อยที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้
6.2.1 การตั้งจุดมุ่งหมาย
ในการตั้งจุดมุ่งหมายในการออกแบบกราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์ มีสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้หรือศึกษาข้อมูลคือ ตำแหน่ง (Positioning) ของบรรจุภัณฑ์ของคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์มีอยู่ในตลาดแล้ว การทราบถึงตำแหน่งดังแสดงในรูปที่ 6.9 ย่อมทำให้ตั้งจุดมุ่งหมายในการออกแบบได้ง่าย นอกจากตำแหน่งของสินค้า สิ่งที่จำต้องค้นหาออกมาคือ จุดขายหรือ USP (Unique Selling Point) ของสินค้า ที่จะโฆษณาบนบรรจุภัณฑ์ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการตั้งจุดมุ่งหมายของการออกแบบนมกล่องของ Bell ในหน้า 195 ที่วางตำแหน่งสินค้ารักษาสุขภาพและมีจุดขายที่มีคุณค่าทางโภชนาการและอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
รูปที่ 6.9 การวางตำแหน่งของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาด
6.2.2 การวางแผน
ปัจจัยต่างๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลขั้นต้นเพื่อเตรียมร่างจุดมุ่งหมายและขอบเขตการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ก่อนที่จะปรับปรุงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อาจวางแผนได้ 2 วิธีคือ
(1) ปรับปรุงพัฒนาให้ฉีกแนวแตกต่างจากคู่แข่งขัน
(2) ปรับปรุงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มาสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันโดยตรงได้ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ดีกว่าหรือด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า การตั้งเป้าหมายและวางแผนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ย่อมต้องศึกษาสถานภาพบรรจุภัณฑ์ของคู่แข่ง พร้อมกับล่วงรู้ถึงนโยบายของบริษัทตัวเองและกลยุทธ์การตลาดที่จะแข่งขันกับคู่แข่งขัน
การวางแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สามารถใช้การวิเคราะห์แบบ 5W + 2H ดังนี้
WHYทำไม
WHOใคร
WHEREที่ไหน
WHATอะไร
WHEN เมื่อไร
HOWอย่างไร
HOW MUCH ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการพัฒนา
1. WHY ทำไม เหตุการณ์หรือปัจจัยอะไรทำให้ต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ทำไมต้องพัฒนากราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์ ทำไมไม่แก้ไขพัฒนาอย่างอื่นแทน
2. WHO ใคร ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์นี้ บุคคล หรือแผนกที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง
3. WHERE ที่ไหน สถานที่ที่จะวางจำหน่ายสินค้าอยู่ที่ไหน ขอบเขตพื้นที่ที่จะวางสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบครอบคลุมพื้นที่มากน้อยแค่ไหน
4. WHAT อะไร จุดมุ่งหมายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์คืออะไร ข้อจำกัดในการออกแบบมีอะไรบ้าง จุดขายของสินค้าคืออะไร การใช้งานของบรรจุภัณฑ์คืออะไร
5. WHEN เมื่อไร ควรจะเริ่มงานการพัฒนาเมื่อไร เมื่อไรจะพัฒนาเสร็จ วางตลาดเมื่อไร
6. HOW อย่างไร จะใช้เทคโนโลยีแบบใด อย่างไร จะจัดหาเทคโนโลยีใหม่ใช้วัดความสนใจของบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบ
7. HOW MUCH ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการพัฒนา ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มีงบประมาณเท่าไร
คำตอบที่จะได้รับจากคำถาม 5W + 2H นี้ จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ได้
ขั้นตอนการวางแผนออกแบบบรรจุภัณฑ์
การวางแผนเริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ของการพัฒนา พร้อมด้วยข้อจำกัดต่างๆ รายละเอียดการวางแผนต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 : การวางแผน
ขั้นตอนที่ 2 : การรวบรวมข้อมูล อันได้แก่
ขั้นตอนที่ 3 : การออกแบบร่าง
ขั้นตอนที่ 4 : การประชุมวิเคราะห์ปรับต้นแบบ
ขั้นตอนที่ 5 : การทำแบบเหมือนร่าง
ขั้นตอนที่ 6 : การบริหารการออกแบบ เริ่มจากการติดต่อโรงงานผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์จนถึงการควบคุมงานผลิตให้ได้ตามแบบที่ต้องการ พร้อมทั้งจัดเตรียมรายละเอียดการสั่งซื้อ (Specification) เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบสามารถผลิตได้ตามต้องการ
ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการติดตามผลของบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบไปแล้วว่าสามารถสนองตามจุดมุ่งหมายของการออกแบบและบรรลุถึงวัตถุระสงค์ขององค์กรเพียงใด
6.3 เทคนิคการออกแบบ
รูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์นั้นสามารถจับต้องได้ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น สี่เหลี่ยมและทรงกลมรูปทรงที่แตกต่างกันย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบรูปทรงต่างๆ กันของวัสดุหลัก 4 ประเภท อันได้แก่ กระดาษ โลหะ แก้ว และพลาสติก ที่เห็นได้ชัด คือ กระป๋องโลหะที่แต่เดิมมักเป็นรูปทรงกระบอกเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถออกแบบรูปทรงอื่นที่เรียกว่า Contour Packaging ดังแสดงในรูปที่ 6.10 รูปลักษณ์ใหม่นี้ย่อมก่อให้เกิดความสะดุดตาและสร้างความสนใจให้แก่กลุ่มเป้าหมาย
นอกจากรูปลักษณ์ของตัวบรรจุภัณฑ์ การออกแบบกราฟฟิกตามที่ได้บรรยายมาอย่างละเอียดมาแล้ว ย่อมมีบทบาทอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่กลุ่มเป้าหมาย ในหัวข้อนี้จะยกตัวอย่างของเทคนิคการออกแบบกราฟฟิก ที่ได้รับการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางเมื่อโอกาสเอื้ออำนวยให้ ตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 6.11 ย่อมเห็นได้ชัดว่ากล่องแถวล่างที่ออกแบบมีกราฟฟิกเรียบขนานกับแนวราบย่อมไม่สะดุดตาเท่ากับกล่องแถวบนที่ออกแบบเป็นเส้นเอียงที่สะดุดตามากกว่าเมื่อวางอยู่บนหิ้งเทคนิคการออกแบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้บนกล่องที่พิมพ์สอดสีอย่างสวยงามในรูปที่ 6.12
6.3.1 การออกแบบเป็นชุด (Package Uniform)
การออกแบบเป็นชุดเป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันมาก จากกราฟฟิกง่ายๆ ที่เป็นจุดเส้นและภาพ มาจัดเป็นรูปบนบรรจุภัณฑ์ สร้างอารมณ์ร่วมจากการสัมผัสด้วยสายตา หลักเกณฑ์ในการออกแบบ คือ ให้ดูง่ายสะอาดตา แต่ต้องทันสมัยและเหมาะแก่การใช้งาน ความง่ายสะอาดตามีผลต่อการดึงดูดความสนใจ ความทันสมัยช่วยสร้างความแปลกใหม่ ส่วนความรู้สึกเหมาะแก่การใช้งานเสริมความรู้สึกว่าคุ้มค่าเงินและความมั่นใจในตัวสินค้า
จากการออกแบบเป็นชุดของสินค้า มีผลต่อการทำให้ผู้บริโภคเกิดความทรงจำที่ดีถ้าออกแบบได้ตรงกับรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นชุดเปรียบเสมือนชุดแบบฟอร์มของเสื้อผ้าที่คนใส่ เช่น มีชุดสูท ชุดพระราชทาน ชุดม่อฮ่อม เป็นต้น การออกแบบเสื้อผ้าที่เป็นชุดนี้เมื่อใครเห็นก็ทราบว่าชุดอะไรแม้ว่าจะใช้เสื้อผ้าและสีสันที่แตกต่างกัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นชุดนี้ก็มีหลักการคล้ายคลึงกัน
การออกแบบเสื้อผ้าเป็นชุดยังมีชื่อเรียก แต่ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่มีชื่อเรียก จึงจำต้องยึดเอกลักษณ์บางอย่างบนบรรจุภัณฑ์เป็นตัวเชื่อมโยงให้รู้ว่าเป็นชุดเดียวกัน อาจใช้สัญลักษณ์ทางการค้า ใช้สไตล์การออกแบบ ใช้การจัดเรียงวางรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในระดับเดียวกัน นอกจากนี้รูปแบบของตัวอักษรจะต้องเป็นแบบสไตล์เดียวกัน ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่แสดงในรูปที่ 6.13 เป็นตัวอย่างของเทคนิคการออกแบบเป็นชุด
6.3.2 การเรียงต่อเป็นภาพ ณ จุดขาย
เทคนิคการออกแบบวิธีนี้ยึดหลักในการสร้างภาพ ณ จุดขายให้เป็นภาพใหญ่ อาจจะดูเป็นภาพที่ปะติดปะต่อ เช่น รูปซานตาคลอสดังรูปที่ 6.14 หรืออาจเป็นภาพกราฟฟิกขนาดใหญ่โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในระยะทางไกลตามรายละเอียดเรื่องสรีระในการอ่านและประสาทสัมผัสของผู้ซื้อ ณ จุดขายในหัวข้อ 6.1.3 เนื่องจากโอกาสที่ตัวบรรจุภัณฑ์และรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์จะสามารถมองเห็นในระยะเกิน 10 เมตรขึ้นไปนั้นเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้พื้นที่บนหิ้งวางสินค้านั้นจัดเป็นภาพใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจ
รูปที่ 6.10 : ตัวอย่างของ Contour Packaging
แหล่งที่มา : Asian Packaging Federation, "Asian Packaging Bulletin" iss.4/96. p.18.
รูปที่ 6.11 : การออกแบบกราฟฟิกให้สะดุดตา
แหล่งที่มา : Lung, Donna, "Commercial Package design" 1991, p.97
รูปที่ 6.12 : การสอดสีในการออกแบบเพื่อให้สะดุดตา
แหล่งที่มา : Lung, Donna, "Commercial Package design" 1991, p.97
รูปที่ 6.13 : ตัวอย่างการออกแบบเป็นชุด
แหล่งที่มา : Lung, Donna, "Commercial Package design" 1991, p.102, p.54
รูปที่ 6.14 : ตัวอย่างการออกแบบต่อเป็นภาพ
แหล่งที่มา : Lung, Donna, "Commercial Package design" 1991, p.124
Lee, T.L., "Visual Design Part I_Point, Line, Plane" 1992, p.30
รูปที่ 6.15 : การออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาและอาหารทะเลอบแห้งแสดงศิลปะท้องถิ่น
แหล่งที่มา : Lee, T.L., "Visual Design Part I_Point, Line, Plane" 1992, p.109
รูปที่ 6.16 : การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของขวัญ - เหล้าบรั่นดี
แหล่งที่มา : Anon, "Package Design_Designers" 1993, p.140
สิ่งพึงระวังในภาพที่ต่อขึ้นจากการเรียงบรรจุภัณฑ์นั้น จะต้องเป็นภาพที่สร้างความประทับใจหรือกระตุ้นให้เกิดความอยากได้ของกลุ่มเป้าหมายที่อาจเคยเห็นภาพดังกล่าวจากสื่ออื่นๆ เช่น บนตัวบรรจุภัณฑ์ที่เคยบริโภค หรือสื่อโฆษณาต่างๆ เป็นต้น การต่อเป็นภาพของบรรจุภัณฑ์จะต้องแน่นอน มีคุณภาพดี เพื่อว่าภาพที่ต่อขึ้นมาจะเป็นภาพที่สมบูรณ์ตามความต้องการ
•6.3.3 การออกแบบแสดงศิลปะท้องถิ่น
เทคนิคการออกแบบวิธีนี้มีจุดมุ่งหมายอันดับแรก คือ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในท้องถิ่นเพื่อเสนอแก่นักท่องเที่ยวให้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ถ้าสินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมในวงกว้างก็สามารถนำออกขายในตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรืออาจส่งขายไปยังต่างประเทศได้ ถ้าสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตและมีวัตถุดิบมากพอ พร้อมทั้งกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติที่สามารถวางแผนการผลิตได้
รายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สื่อความหมายเพื่อเป็นของฝากนี้ มักจะใช้สิ่งที่รู้จักกันดีในท้องถิ่นนั้น เช่น รูปจระเข้ของชาละวันของจังหวัดพิจิตร รถม้าของจังหวัดลำปาง ภูมิประเทศในท้องถิ่น เป็นต้น ในบางกรณีอาจนำวัสดุที่ผลิตได้ในท้องถิ่นมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อความแปลกใหม่ ยกตัวอย่าง ถุงกระดาษที่บรรจุใบชาดังแสดงในรูปที่ 6.15 รายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ มักจะพบว่ามีการพิมพ์ประโยคที่ว่า "ของฝากจาก" เพื่อเน้นหรือกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวที่อ่านพบเกิดความต้องการที่จะซื้อเป็นของฝากไปให้ทางบ้านหรือญาติมิตร
นอกเหนือจากรายละเอียดของกราฟฟิก การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อซื้อไปเป็นของฝากจำต้องพิจารณาถึงความสะดวกในการนำกลับของผู้ซื้อและความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ในการนำไปมอบเป็นของขวัญ ตัวอย่างของกล่องบรรจุอาหารทะเลอบแห้งดังแสดงในรูปที่ 6.15 มีการออกแบบหูหิ้วเพื่อความสะดวกในการนำกลับ
6.3.4 การออกแบบของขวัญ
เทคนิคในการออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบของขวัญค่อนข้างจะแตกต่างจากเทคนิคที่ได้กล่าวมา สาเหตุเนื่องจากผู้ซื้อสินค้าที่เป็นของขวัญไม่มีโอกาสบริโภค และหลายครั้งที่การตัดสินใจซื้อเกิดขึ้น ณ จุดขาย ด้วยเหตุนี้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของขวัญที่ดีจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อความสำเร็จของการขายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลต่างๆ
ตัวอย่างของเหล้าบรั่นดีซันโตรี่ที่แสดงในรูปที่ 6.16 เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายหลักการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของขวัญ เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเหล้าเป็นของขวัญที่นิยมมากสำหรับเพศชาย แต่จากรูปลักษณ์ที่เป็นหัวใจตรงกลางและสีสันที่ใช้ไม่ได้แสดงถึงรูปลักษณ์โดยปกติของเหล้า เนื่องจากออกแบบในรูปของขวัญ ผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายของบรรจุภัณฑ์นี้จึงเจาะไปยังกลุ่มสุภาพสตรี รายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์เน้นความสำคัญของรูปหัวใจ เน้นความมั่นใจด้วยชื่อบริษัท และย้ำความคุ้นเคยให้ซื้อด้วยรายละเอียดส่วนสุดท้ายที่ว่า FOR YOU องค์ประกอบอย่างอื่นที่สร้างความสนใจคือมีการผูกโบว์ให้เรียบร้อยเหมาะที่จะให้เป็นของขวัญ จะพบว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นไปอย่างง่ายๆ แต่สร้างอารมณ์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่อยากจะซื้อเป็นของขวัญ
เทคนิคต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากเทคนิคการออกแบบกราฟฟิกแล้ว ในฐานะนักออกแบบกราฟฟิกแล้วยังจำต้องรู้ถึงข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีทั้งในด้านการบรรจุ และการพิมพ์ ดังต่อไปนี้
- ข้อมูลของเครื่องจักรที่ใช้ในการบรรจุ เช่น การขึ้นรูป การบรรจุ การปิด การขนย้าย พร้อมวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้
- ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาขึ้นมาใหม่หรือการเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนมากๆ ผลการทดสอบความเข้ากันได้ของผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุบรรจุภัณฑ์ควรแจ้งไปยังนักออกแบบกราฟฟิกด้วย
- นักออกแบบกราฟฟิกควรจะทราบถึงข้อจำกัดของโครงสร้างที่พัฒนาโดยฝ่ายผลิตเทคโนโลยี เช่น ช่องปากที่เปิดของบรรจุภัณฑ์ ความเหนียวข้นของผลิตภัณฑ์ อายุขัยของผลิตภัณฑ์อาหาร การเก็บ การขนส่ง เป็นต้น
- รายละเอียดเกี่ยวกับการพิมพ์ ระบบการพิมพ์ที่จะใช้กับวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่จะเลือกใช้จำนวนสีที่สามารถพิมพ์ได้ วิธีการเคลือบ ข้อจำกัดใดๆ เกี่ยวกับการพิมพ์เหล่านี้เป็นรายละเอียดที่จำเป็นมากสำหรับการออกแบบกราฟฟิก
- ในกรณีที่สินค้าเดียวกันบรรจุในบรรจุภัณฑ์ต่างชนิดกัน เช่น อาหารเหลวบรรจุในขวดและซอง นักออกแบบกราฟฟิกมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงข้อจำกัดของบรรจุภัณฑ์แต่ละระบบ
- ในการออกแบบกราฟฟิกสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ต่างประเภทกัน จะใช้เทคนิคการออกแบบที่แตกต่างกัน กุญแจสำคัญของการออกแบบให้สัมฤทธิผล คือ การสื่อสารระหว่างแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักออกแบบกราฟฟิกสามารถใช้ความคิดริเริ่มต่างๆ สร้างสรรค์งานทางศิลปะให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการออกแบบ
บทสรุป
วิทยาการทางด้านการออกแบบกราฟฟิกนับได้ว่ามีการตีพิมพ์น้อย หรือหาตำราได้ค่อนข้างลำบาก เมื่อเปรียบเทียบกับการออกแบบโครงสร้าง ตัวบรรจุภัณฑ์จะได้รับการพัฒนาโดยใช้หลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ เป็นต้น พร้อมกับมีสิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้างมากพอสมควร ด้วยเหตุนี้ การออกแบบกราฟฟิกดูจะล้าหลังกว่าในแง่ของการกระจายความรู้สู่สาธารณชน
ในบทนี้ การออกแบบกราฟฟิกเริ่มจากสมการง่ายๆ ว่า การออกแบบประกอบด้วย คำบรรยาย สัญลักษณ์ และภาพพจน์ โดยต้องออกแบบให้ดูง่ายสบายตา มีความสวยงาม ใช้งานง่าย สะดวกด้วยต้นทุนที่เหมาะสม พร้อมย่อเป็นคำย่อได้ว่า SAFE การออกแบบกราฟฟิกมักจะใช้เป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาดและช่วยเสริมกิจกรรมต่างๆ ของส่วนผสมทางด้านการตลาด โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญบนบรรจุภัณฑ์ได้แก่ ชื่อสินค้า ตราสินค้า สัญลักษณ์ทางการค้า รายละเอียดของสินค้า รูปภาพ ส่วนประกอบของสินค้า ปริมาตรหรือปริมาณชื่อผู้ผลิต ผู้จำหน่าย วันผลิต และวันหมดอายุ การสร้างตราสินค้าจะมีบทบาทมากแต่มักจะได้รับการละเลย ภายใต้กระแสโลกานุวัตรการใช้ตราสินค้าที่ทันสมัยในการสื่อย่อมมีโอกาสสร้างความจำได้และพัฒนาเป็นการซื่อสัตย์ต่อตราสินค้า (Brand Loyalty) ได้ แทนที่จะใช้ภาษาในการสื่อซึ่งยุ่งยากมากกว่าและจำได้ยากกว่า
ในช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่ที่มีสินค้าเป็นหมื่นเป็นแสนให้เลือก ณ จุดขายบรรจุภัณฑ์มีบทบาทมีความสำคัญในการสร้างความสนใจและโน้มน้าวให้ผู้ตัดสินใจเลือกซื้อ การวิเคราะห์ความกว้างที่อาจมองเห็น ณ จุดขาย ตำแหน่งของสินค้าที่ได้รับการมองและการหยิบมากที่สุด ย่อมมีผลต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นภาพสามมิติ ให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาการเคลื่อนไหวของลูกนัยน์ตาในการอ่านรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ ย่อมมีส่วนทำให้การสื่อสารของข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ส่วนสุดท้ายของการออกแบบกราฟฟิกได้แนะนำเทคนิคการออกแบบที่ได้รับความนิยมใช้โดยเริ่มจากเทคโนโลยีใหม่ของ Contour Packaging การออกแบบกราฟฟิกให้สะดุดตา การออกแบบเป็นชุด การเรียงต่อภาพ การใช้ศิลปะท้องถิ่น ท้ายที่สุดคือ ตัวอย่างของการออกแบบของขวัญเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ สามารถประยุกต์ใช้แล้วแต่กาลเทศะที่เหมาะสม