บรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้าน (ตอนที่ 2)
4.ระบบการปิดผนึกบรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้าน
การปิดผนึกบรรจุภัณฑ์มิได้มีจุดประสงค์เพียงแค่การปิดให้แน่นสนิทเพื่อรักษาคุณภาพสินค้าและป้องกันการรั่วซึมเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเปิด เพื่อนำสุราออกมาบริโภคได้ง่ายแล้วปิดใหม่ได้ง่ายด้วย นอกจากนั้นวัสดุที่ใช้ผลิตเป็นฝาปิดจะต้องไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ กับสุราที่อยู่ภายในขวด ฝาที่นิยมใช้ปิดบรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้านแบ่งได้ดังนี้
4.1ฝาจีบ
ประวัติศาสตร์ของฝาปิดขวดเริ่มจกการคิดค้นฝาจีบเมื่อปี ค.ศ. 1891 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝาจีบนับได้ว่าเป็นฝาปิดขวดที่มีประวัติยาวนานที่สุดและยังมีราคาถูกที่สุดนอกจากนี้ยังมีความเร็วในการปิดฝาได้เร็วมากโดยมีเครื่องปิดฝาที่สามรถปิดได้เร็วถึง 1 แสนขวดต่อชั่วโมงต่อเครื่อง
ส่วนประกอบของฝามีด้วยกัน 2 ส่วนคือ
1.โครงฝา (Shell) คือ วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นตัวฝาส่วนใหญ่จะใช้โลหะสเตนเลส หรือสังกะสีเคลือบหรือสังกะสีปลอดดีบุก (TFS_Tin Free Steel) โลหะสเตนเลสสามารถทนการกัดกร่อน และการขึ้นสนิมได้ดีที่สุด รองลงมาคือสังกะสีปลอดดีบุก ส่วนสังกะสีเคลือบมีโอกาสขึ้นสนิมง่ายที่สุด แต่มีผิวแวววับทำให้ดูมีราคา
บริเวณโดยรอบของฝาจะมีจำนวนจีบมาตรฐานอยู่ 21 จีบ ก่อนปิดฝาจีบ ตัวจีบแต่ละจีบจะเอียงออกมาจากตัวฝาประมาณ 21 องศาจากแนวดิ่ง
2. สารเคลือบด้านในของฝาหรือไลนเนอร์ (Liner) สารเคลือบชั้นภายในฝาแบบดั้งเดิมจะใช้แผ่นคอร์ก (Cork) แล้วบุด้านที่สัมผัสกับสินค้าเป็นกระดาษหรือแผ่นอะลูมิเนียมบางๆ (Facing) ในปัจจุบันสารเคลือบด้านในของฝาส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีกว่า เพราะมีความบางกว่าแผ่นคอร์กทำให้ความหนาของโครงฝาลง อีกทั้งยังช่วยลดเวลาการผลิตฝาเนื่องจากทำงานได้ง่ายกว่าด้วยการลดขั้นตอนปิดแผ่นบุหน้า (Facing)
การปิดฝาจีบลงบนขวดประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนแรก เครื่องปิดฝาจะกดให้ชั้นของสารเคลือบด้านในของฝาให้แนบสนิทกับขอบปากของขวดแก้ว นี่คือขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การปิดผนึกเป็นไปอย่างสมบูรณ์
ขั้นตอนที่สอง เป็นการยึดฝาให้แน่นกับปากขวดด้วยการกดจีบ (Crimp) บริเวณรอบฝาให้ตัวจีบครอบลงไปตามขอบบนสุดของปากขวดแก้ว
การปิดฝาจีบทั้ง 2 ขั้นตอนจะสมบูรณ์แบบขึ้นอยู่กับการกดในขั้นตอนแรกและการปรับแรงกดจีบให้เท่ากันทุกจีบ ในขั้นตอนที่สองถ้ากดเบาไปการยึดเกาะจะไม่แน่นทำให้มีโอกาสรั่ว ถ้ากดหนักไปอาจทำให้ตัวจีบเสียหายและเป็นสาเหตุให้เกิดสนิมบริเวณจีบได้ง่ายนอกจากนั้น ยังต้องหมั่นตรวจสอบเส้นผ่าศูนย์กลางของอุปกรณ์กดจีบ (Crowning Head) ถ้าอุปกรณ์ใช้มาเป็นเวลานานพอสมควร เส้นผ่าศูนย์กลางจะใหญ่เกินไปหรือหลวมเกินไปทำให้กดจีบได้ไม่แน่น เส้นผ่าศูนย์กลางที่เหมาะสมของอุปกรณ์กดจีบควรมีค่า 28.7 ± 0.3 มม.
4.2ฝาตีเกลียว
ฝาของขวดแก้วที่มีเกลียวอยู่ด้านในของฝานั้น อาจแบ่งเป็น 2 จำพวก คือ ฝาเกลียวสำเร็จรูปจะเป็นฝาที่ผู้ผลิตส่งฝาพร้อมเกลียวสำเร็จรูปในตัวฝา ส่วนฝาตีเกลียวเป็นฝาที่ยังไม่มีเกลียวในฝา แต่ผู้ปิดขวดหลังการบรรจุจุตีเกลียวในขั้นตอนที่ปิดฝา ในหัวข้อนี้จะขอกล่าวเฉพาะฝาชนิดที่เป็นฝาตีเกลียวเท่านั้น
การปิดฝาแบบตีเกลียวจะสมบูรณ์แบบหรือไม่แปรผันตามตัวเกลียวที่อยู่บนขวดลักษณะของเกลียวปากขวดอย่างง่ายๆ สำหรับขวดแก้วทั่วไป ดังแสดงในรูป
มิติของเกลียวดังกล่าวนี้ค่อนข้างจะเป็นมาตรฐาน แต่จะแตกต่างกันระหว่างขวดแก้วและขวดพลาสติก ในกรณีของฝาขวดแก้วมักจะเป็นฝาที่ทำจากสังกะสีชุบดีบุกหรือฝาอะลูมิเนียม ตัวฝาที่จะใช้ปิดจะไม่มีเกลียวเมื่อรับจากโรงงานผลิตฝา เครื่องปิดฝาจะกดให้ฝาแนบติดสนิทกับเกลียวของขวด ด้วยเหตุนี้ เกลียวของขวดแก้วจึงมีความสำคัญมากต่อการปิดฝาเกลียวแบบนี้ จากลักษณะการทำงานดังกล่าวจะพบว่าการปิดฝาแบบนี้ด้วยเครื่องจักรสามารถปิดได้ด้วยความเร็วสูงถึง 1200 ขวด/นาที
ความสมบูรณ์ในการปิดฝาเกลียว นอกจากแปรผันตามลักษณะของเกลียวบนขวดแล้วยังแปรผันตามความสามารถในการกดฝาให้แนบสนิทเข้าไปกับตัวเกลียว ด้วยเหตุนี้ฝาประเภทนี้จึงมีชื่อเรียกภาษอังกฤษแปลได้ว่า กลิ้งโดยรอบ (Roll-On Cap) โดยมีลักษณะการทำงานแสดงไว้ในรูป
5.บรรจุภัณฑ์ไวน์
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับไวน์มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี ในยุคแรกๆ อาจจะเป็นถุงทำด้วยหนังแกะ (Goatskin) หรือเครื่องปั้นดินเผา และพัฒนามาเป็นขวดแก้วและถุงในกล่อง (BIB_Bag-In-Box) ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้
5.1 ขวดแก้ว
ขวดแก้วบรรจุไวน์
ที่มา: http://www.stimulent.com/wine-bottle-photography.html
ขวดแก้วที่ใช้กับไวน์จะมีรูปลักษณ์โดยเฉพาะสำหรับไวน์ที่บรรจุจากแต่ละแห่ง ความแตกต่างของรูปทรงมักจะแตกต่างกันที่คอขวดซึ่งมีความสูงต่ำแตกต่างกัน รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะมักจะเป็นที่ยอมรับสำหรับไวน์แต่ละแหล่งผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปทรงของขวดไวน์ที่ผลิตจากประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมัน ส่วนประเทศผู้ผลิตไวน์หน้าใหม่ที่เริ่มผลิตไวน์มาไม่นานนักมักจะออกแบบรูปทรงขวดเน้นความสวยงามที่เตะตา ยกตัวอย่างเช่น ขวดไวน์Chianti ของอิตาลี
ขวดไวน์Chianti ของอิตาลี
นอกจากรูปทรงที่เห็นโดยทั่วไปแล้วบริเวณก้นขวดของสุราจะมีความแตกต่างกัน ถ้าพลิกเอาก้นของขวดไวน์ขึ้นมาดูจะพบว่า ก้นขวดไวน์มักจะมีหลุม บริเวณตรงกลางก้นของขวด การออกแบบก้นขวดในลักษณะแบบนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้ดูมีปริมาณไวน์ภายในขวดมากขึ้น แต่อาจจะออกแบบเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ตัวขวด
2. ใช้เป็นยึดของนิ้วเวลาที่บริการใช้มือข้างเดียวยกเทจาก้นขวดเมื่อปริมาณไวน์ในขวดเหลือน้อย
3. ใช้เป็นบริเวณดักเก็บสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในไวน์ เช่น เศษของคอร์กที่หลุดออกมาจากจุกขวด เป็นต้น
สีของขวดแก้วเป็นอีกปัจจัยที่ใช้ในการออกแบบให้มีความหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ขวดแก้วสีใสธรรมดาและขวดหลากสีซึ่งสามารถแยกออกมาเป็นขวดอำพัน สีเหลืองอ่อน-แก่ สีน้ำเงิน ขวดสีมีบทบาทในการถนอมไวน์ให้ยาวนานขึ้น ขวดสีเข้มจะป้องกันแสงได้ดีกว่าขวดสีใส อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเลือกสีของขวดแก้ว ในทางปฏิบัติมักจะเลือกด้วยเหตุผลทางด้านการตลาด มากกว่าเหตุผลทางด้านถนอมอายุของไวน์
ขนาดของขวดไวน์ที่ใช้เป็นมาตรฐาน คือ ขวดขนาด 750 ซีซีหรือมิลลิลิตร ซึ่งถูกกำหนดโดยกลุ่มประเทศในยุโรป นอกจากขวดมาตรฐาน 750 มิลลิลิตรนี้แล้วยังมีการออกแบบผลิตขวดเพื่อการบรรจุขนาดต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคอีกหลายขนาดดังต่อไปนี้
ตารางที่ 5.1 ขนาดมาตรฐานของขวดไวน์
ปริมาณบรรจุ | ขนาดเทียบเท่า | จำนวนคนที่ดื่ม / หน่วย |
187 มิลลิลิตร | 1/4 ขวด | 1 คน |
375 มิลลิลิตร | 1/2 ขวด | 2 คน |
500 มิลลิลิตร | 2/3 ขวด | 3 คนหรือน้อยกว่า |
750 มิลลิลิตร | ขวดมาตรฐาน | 4 คนหรือน้อยกว่า |
1.5 ลิตร | 2 ขวด | 8 คนหรือน้อยกว่า |
3 ลิตร | 4 ขวด | 17 คนหรือน้อยกว่า |
4.5/5 ลิตร | 6/6+2/3 ขวด | 25 - 28 คน |
6 ลิตร | 8 ขวด | 34 คน |
9 ลิตร | 12 ขวด (1 ลัง) | 50 คนหรือมากกว่า |
12 ลิตร | 16 ขวด | 67 คนหรือมากกว่า |
16 ลิตร | 24 ขวด | 112 คนหรือมากกว่า |
5.2 จุกคอร์ก
เมื่อกล่าวถึงจุกปิดฝาขวดไวน์ ทุกคนมักคิดถึงจุกคอร์ก แม้ว่าความกว้างหน้าทางเทคโนโลยีพลาสติกจะสามารถผลิตคอร์กเทียม (Artificial Cork) ได้ก็ตาม แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงยอมรับจุกคอร์กมากกว่า ด้วยเหตุนี้จุกคอร์กซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แยกไม่ได้จากขวดไวน์
ภายในเนื้อคอร์กประกอบด้วยเซลล์ขนาดเล็กรูปทรงปริซึม (Prism) แยกเป็นห้ามุม (Pentagonal) หรือหกมุม (Hexagonal) มีขนาดของเซลล์อยู่ในช่วง 0.010 - 0.45 มิลลิเมตร จำนวนของเซลล์ในเนื้อคอร์กมีมากถึง 40 ล้านเซลล์ต่อหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตร ภายในเนื้อคอร์กมีอากาศแทรกอยู่ 50% โดยปริมาณ ส่วนประกอบหลักของเนื้อคอร์กจะช่วยป้องกันอากาศภายนอกซึมผ่าน (Air Tight) และสกัดกั้นการซึมผ่านของความชื้น (Impermeable) นอกจากนี้ยังป้องกันการกัดกร่อนของแมลง ข้อดีอีกประการหนึ่งของจุกคอร์กคือ น้ำไม่สามารถละลายคอร์ก
สมบัติเด่นของจุกคอร์ก มีดังนี้คือ
- เป็นสารธรรมชาติ นำมาใช้ใหม่ได้ และเสื่อมสลายด้วยปฏิกิริยาชีวภาค
- น้ำหนักเบา
- ยืดหยุ่นได้ขณะเดียวกันป้องกันการซึมผ่าน
-เป็นฉนวนอย่างดีต่อความร้อน การสั่นสะเทือนหรือแม้กระทั่งเสียง
- ทนต่อการฉีดขาด
จุกคอร์กสามารถแยกตามวัสดุที่ใช้ผลิตเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรก เป็นจุกที่ผลิตจากคอร์กธรรมชาติที่ตัดมาเป็นแผ่นๆ แล้วกด (Punch) ออกมาเป็นจุกตามขนาดที่ต้องการ จุกประเภทนี้มีราคาแพง จุกคอร์กประเภทนี้ยังสามารถแบ่งเกรดเป็นอีก 4 ระดับ A B C D โดยแบ่งตามขนาดของรูพรุนบนผิวคอร์ก รอยแตก รอยฉีกขาด และส่วนผสมของเปลือกที่ติดมากับคอร์ก เป็นต้น
ประเภทที่สอง เป็นจุกที่ได้จากการขึ้นรูปของเศษคอร์ก (Granulate) ที่เหลือจากการอัดจุกคอร์กประเภทแรก ทำให้มีราคาถูกกว่าและใช้ปิดขวดไวน์ที่มีราคาถูก
วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีพลาสติกได้ผลิตคอร์กสังเคราะห์ (Synthetic Cork) ที่ทำจากพลาสติก นอกจากผลิตเป็นสีน้ำตาลคล้ายสีของคอร์กแล้ว ยังผลิตเป็นสีฉูดฉาดอื่นๆ เพื่อเจาะตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดวัยรุ่นหรือตลาดกีฬา เป็นต้น พลาสติกที่ใช้ผลิตมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับคอร์กธรรมชาติทุกประการแต่ที่ดีกว่าคือ ไม่ยุ่ยและขาดง่ายเหมือนคอร์กธรรมชาติพร้อมทั้งลดโอกาสที่จะเกิดจุกคอร์กเน่าเสียที่เกิดกับจุกคอร์กธรรมชาติ
5.3ถุงในกล่อง (BIB, Bag In box)
การบรรจุแบบ BIB ได้รับความนิยมจนกลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับไวน์มากที่สุดสาเหตุหนึ่งเกิดจากการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง นอกจากนี้ถุงนกล่องยังเป็นบรรจุภัณฑ์ทางเดียว (One-Way) ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำกลับ
โครงสร้างของตัวถุงจะประกอบด้วยพลาสติกที่เคลือบชั้นไว้อย่างน้อย 3 ชั้น โดยมีพลาสติกชั้นหนึ่ง ทำหน้าที่ป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจนเพื่อช่วยถนอมอายุของไวน์บริเวณมุมหรือขอบของถุงจะมีฝาเปิดปิดซึ่งกดแล้วไวน์จะไหลออกมาได้ ตัวอย่างของฝาที่เปิดปิดแบบนี้มักเห็นได้จากถังแช่น้ำแข็งโดยทั่วไป มีรายงานว่าระบบ BIB สามารถเก็บรักษาไวน์ได้นานถึง 6 เดือน
ขนาดบรรจุของถุงในกล่องเริ่มจากขนาด 1.5 ลิตร ที่นิยมกันมากจะเป็นขนาด 5 ลิตร แต่ถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่งอาจจะมากถึง 200 ลิตร หรือ 1000 ลิตร ภาพลักษณ์ของไวน์ที่บรรจุในรูปแบบของถุงในกล่องไดรับการวางตำแหน่งสินค้าว่าเป็นไวน์ระดับล่างเพราะใช้ปริมาณเป็นจุดขาย อย่างไรก็ตามความนิยมของบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้จะแปรเปลี่ยนตามรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เช่น ในประเทศออสเตรเลียมียอดขายโดยปริมาตรสูงสุดถึง 52% ส่วนในสหรัฐยอดขายโดยปริมาตรมีเพียง 18% ตารางข้างล่างนี้ สรุปปริมาณการขายโดยปริมาตรของไวน์แบบถุงในกล่องในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งอัตราการเจริญเติบโตของไวน์แบบถุงในกล่องของประเทศต่างๆ
ตารางที่ 5.2 ยอดการจัดจำหน่ายไวน์บรรจุแบบ BIB และอัตราการเจริญเติบโตในแต่ละประเทศ
ประเทศ | % การจำหน่ายโดยปริมาตร | % อัตราการเจริญเติบโต |
ออสเตรเลีย | 52 | 5 |
สหรัฐอเมริกา | 18 | 4 |
แคนาดา | 15 | 7 |
สหราชอาณาจักร | 10 | 6 |
ฝรั่งเศส | 4 | 8 |
นอร์เวย์ | 33 | 15 |
สวีเดน | 17 | 22 |
6. บทสรุป
ผลจากการเปิดเสรีในการผลิตสุราพื้นบ้านของรัฐบาลทำให้มีผู้ผลิตสุราพื้นบ้านทั่วประเทศในขณะนี้มีมากกว่าพันราย อุปสรรคร่วมอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ คือ ความรู้ทางด้านบรรจุภัณฑ์
บทความนี้นำเสนอความรู้พื้นฐานของบรรจุภัณฑ์สำหรับพื้นบ้าน โดยเริ่มจากการแบ่งประเภทของสุรา ทำการเปรียบเทียบสุราไทยกับสุราจีน ซึ่งสามารถจำแนกได้ด้วยปริมาณแอลกอฮอล์หรือกระบวนการผลิต สำหรับบรรจุภัณฑ์สุราพื้นบ้านที่ใช้ในเมืองไทยมักจะเป็นขวดใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยเหตุนี้การออกแบบฉลากของขวดที่เหมือนกันนี้มีความจำเป็นมากที่จะสร้างความแตกต่างและสร้างสิ่งจูงใจให้ซื้อ นอกเหนือจากขวดและฉลาก ฝาของขวด และวิธีการบรรจุมีบทบาทอย่างมากต่อการถนอมรักษาสุราพร้อมทั้งป้องกันสุราระเบิดระหว่างจัดส่ง
ใน 2 หัวข้อสุดท้ายได้แนะนำให้รู้จักบรรจุภัณฑ์ไวน์และบรรจุภัณฑ์รูปแบบที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ ถุงในกล่องหรือBIB ขวดไวน์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกสามารถแยกเป็น 2 ประเภทคือ ไวน์ที่ผลิตจากประเทศประวัติศาสตร์ยาวนาน เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น ขวดไวน์จากประเทศเล่านี้จะมีรูปทรงมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและจำได้จากนักดื่มไวน์ทั่วโลก ส่วนขวดไวน์ที่บรรจุไวน์จากประเทศที่มีประวัติศาสตร์สั้นกว่า เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และชิลี จะมีรูปทรงที่แปลกใหม่กว่าโดยไม่มีมาตรฐานใดๆ จุกคอร์กซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไวน์ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นจุกคอร์กพลาสติกที่ค่อยๆคืบคลานมาแย่งตลาดของคอร์กจากธรรมชาติ ส่วนบรรจุภัณฑ์แบบถุงในกล่องยังคงมีอนาคตที่สดใส โดยมีอัตราการเจริญเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี แปรตามความนิยมในประเทศต่างๆ