บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม
ในสังคมปัจจุบัน ผู้อุปโภคบริโภคให้ความสนใจต่อบรรจุภัณฑ์มากเป็นทวีคูณ ผู้บริโภคนอกจากจะมีความต้องการความสวยงามภายนอกของตัวบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์จำต้องพิจารณาถึงความสามารถในการลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วในขยะ ความต้องการดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสทางสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้สินค้าที่ส่งไปจัดจำหน่ายประเทศเหล่านี้จำต้องสอดคล้องกับกฎข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ด้วย
มีการเปรียบเทียบบทบาทของบรรจุภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เม็กซิโก ในฐานะประเทศที่กำลังพัฒนา จะพบว่าปริมาณขยะโดยเฉลี่ยของชาวเม็กซิโกมีมากกว่าชาวอเมริกันถึงร้อยละ 40 เนื่องจากชาวเม็กซิโกใช้ปริมาณบรรจุภัณฑ์น้อยกว่า ส่งผลให้มีปริมาณขยะและอาหารเน่าเสียมากกว่า ในขณะเดียวกัน การศึกษาในยุโรปพบว่าปริมาณของซากบรรจุภัณฑ์ที่พบในขยะทิ้งตามบ้านมีปริมาณลดลงในระหว่างปี ค.ศ. 1971 - 1981 โดยมีประมาณร้อยละ 32 ใน ค.ศ. 1971 ลดลงมาประมาณร้อยละ 25.2 ในปี ค.ศ. 1978 และลดลงร้อยละ 22.4 ในปี ค.ศ. 1981 จากรายงานดังกล่าวนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์มีส่วนในการลดปริมาณขยะและซากบรรจุภัณฑ์ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ
7.1 บรรจุภัณฑ์กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ความหมายของสิ่งแวดล้อมในที่นี้ครอบคลุมถึงผลกระทบที่เกิดจากวัสดุและระบบบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อโลกที่เราอยู่ ดังประโยคที่ว่า We Just Have One Earth รวมกระทั่งถึงผลกระทบที่มีต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด อันได้แก่ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ พลังงาน อากาศและบรรยากาศที่อยู่เหนือโลก
ในอดีต วงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไม่ค่อยคำนึงถึงการกำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว แต่เน้นด้านต้นทุนมากกว่า ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในสมัยก่อนจึงมุ่งสู่การป้องกันรักษาคุณภาพและทำหน้าที่ส่งเสริมการจำหน่ายและการตลาด แต่ด้วยแรงกดดันจากกระแสสังคมที่มีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์สมัยนี้จึงต้องคำนึงถึงความสะดวกในการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์และการรักษาปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้ด้วย
พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ทรัพยากรธรรมชาติในโลกที่มีอยู่นี้มีปริมาณจำกัด มนุษย์เราได้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไม่บันยะบันยังซึ่งนำไปสู่วิกฤติการณ์ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรณรงค์ให้นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Renewable) ตัวอย่างเช่น การนำเอากล่องกระดาษแข็งนำกลับมาใช้ใหม่ในประเทศเยอรมัน ผู้บริโภคจะนำเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชั้นใน เช่น ขวดที่บรรจุสินค้ากลับบ้าน ส่วนตัวกล่องชั้นนอกจะให้ผู้ขายนำกลับไปใช้ใหม่ โครงการนำกลับมาใช้ซึ่งค่อนข้างใหม่นี้ย่อมช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้หมดไปในระยะเวลาอันใกล้
7.1.1 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ปัจจุบันสร้างเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ขึ้นมา และสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ที่สร้างขึ้นอาจก่อผลด้านบวกหรือด้านลบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้ บรรจุภัณฑ์ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงได้แก่ การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลง นอกจากวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ เช่น น้ำมัน โลหะ และทราย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยังเป็นแหล่งใช้พลังงานต่างๆ รวมทั้งใช้อากาศและน้ำในกระบวนการผลิตและแปรรูป สารบางประเภทที่ใช้ เช่น CFC (Chlorofluorocarbons) ยังทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศแต่ผลกระทบที่ได้รับการเพ่งเล็งมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วที่ก่อให้เกิดขยะตามถนนหนทาง
(1) พลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์
ปริมาณของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะแปรผันตามวิวัฒนาการทาเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตวัสดุแต่ละประเภทแล้ว ยังแปรผันตามประเภทของพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่ออกแบบด้วย จากตารางที่ 7.1 จะพบว่าการผลิตอะลูมิเนียมจะใช้พลังงานมากกว่าวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เป็นเท่าตัว แต่ถ้านำอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาหลอมละลายใหม่จะใช้พลังงานเพียงร้อยละ 10 ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุใหม่ (Virgin Material) ส่วนกระดาษนั้นจะใช้พลังงานน้ำค่อนข้างจะมาก
พิจารณาจากประเภทของพลังงานที่ใช้ แหล่งพลังงานหลักที่ใช้ คือ กระแสไฟฟ้าและน้ำมัน อะลูมิเนียมใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ในการหลอมละลายแร่บอกไซด์ (Bauxite) แต่ใช้น้ำมันมากในการแปรรูปเป็นกระป๋อง แม้ว่าน้ำหนักของกระป๋องอะลูมิเนียมเมื่อเทียบกับกระป๋องโลหะขนาดเดียวกันจะมีน้ำหนักเพียงครึ่งเดียวของกระป๋องโลหะ แต่พลังงานที่ใช้กลับมากกว่าเป็นเท่าตัว ส่วนกระดาษและพลาสติกนั้นจะใช้พลังงานจากน้ำมันมากกว่าจากกระแสไฟฟ้าประมาณ 6 เท่าตัว รายละเอียดของประเภทพลังงานที่ใช้ทั้งหมดเริ่มจากแหล่งแร่รวมทั้งการขนส่งของบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ แสดงไว้ในตารางที่ 7.2 ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่มุมของปริมาณและประเภทของพลังงานที่ใช้ แก้วจะใช้พลังงานน้อยที่สุด เนื่องจากการผลิตอย่างต่อเนื่องภายในโรงงานเดียวไม่มีค่าขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตารางที่ 7.1 : ปริมาณพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์
วัสดุ | ปริมาณพลังงาน (MJ/กิโลกรัม) | ปริมาณอากาศ (1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อกิโลกรัม) | ปริมาณน้ำ (ลูกบาศก์เมตรต่อกิโลกรัม) |
แก้ว นำกลับมาผลิตใหม่ 56.2% นำกลับมาผลิตใหม่ 100% กระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก อะลูมิเนียม (ใช้แหล่งพลังงานน้ำ + ไฟฟ้า) ไม่มีการนำกลับมาผลิตใหม่ มีการนำกลับมาผลิตใหม่ 100% พลาสติก LDPE PP PET PVC PS | 7.5 5.9 33.1 16.3
126.1 12.6 47.4 50.0 69.5 42.5 56.2 | 293.0 165.4 381.4 186.1
2,611.0 300.7 231.2 331.5 692.4 669.0 675.9 | 1.3 1.1 948.3 136.9
638.6 1.9 107.3 122.2 119.7 307.2 60.2 |
แหล่งข้อมูล : BUWAL, Switzerland (1990)
ตารางที่ 7.2 : ประเภทของพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ 1 ตัน (หน่วย 106 Joules, หรือ MJ)
วัสดุบรรจุภัณฑ์ | ไฟฟ้า | น้ำมัน | พลังงานอื่นๆ |
แก้ว | 1,304 | 8,471 | 5,919 |
กระป๋องโลหะ 3 ชิ้น (450 ซี.ซี.) | 10,531 | 16,802 | 28,993 |
กระป๋องอะลูมิเนียม (450 ซี.ซี.) | 79,625 | 76,829 | 57,276 |
กระดาษแข็ง | 9,350 | 25,630 | 16,630 |
ขวด LDPE (50,000 ขวด) | 6,720 | 36,820 | - |
ขวด HDPE (50,000 ขวด) | 6,890 | 37,910 | - |
ขวด PP (50,000 ขวด) | 3,340 | 40,390 | - |
ขวด PET (50,000 ขวด) | 18,660 | - | - |
แหล่งที่มา : Boustead, Hancock "Energy and Packaging"
(2) ขยะ
บรรจุภัณฑ์มักจะถูกประณามว่าเป็นบ่อเป็นบ่อเกิดของปริมาณขยะที่ทิ้งตามบ้านและทำให้เกิดปัญหาในการกำจัด สืบเนื่องจากการหาที่ดินในการฝังกลบขยะนั้นยากขึ้น ในขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกำจัดขยะต้องใช้การลงทุนที่สูง ในสภาพความเป็นจริง ปริมาณของซากบรรจุภัณฑ์ในขยะนั้นมีประมาณเศษหนึ่งส่วนสามโดยน้ำหนัก ประเทศที่พัฒนาแล้วปริมาณซากบรรจุภัณฑ์ในขยะมีปริมาณโดยน้ำหนักลดน้อยลง เนื่องจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์
การรณรงค์ลดปริมาณของซากบรรจุภัณฑ์ในขยะนั้น ควรเริ่มต้นจากการลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ที่ทิ้งในขยะ ด้วยการนำส่งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนั้นกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) แล้วจึงคิดวิธีนำกลับมาผลิตใหม่ (Recycling) ท้ายที่สุดจึงค่อยคำนึงถึงการนำมาเผาผลาญเอาพลังงานมาใช้เป็นประโยชน์ ผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการใช้พลังงานและก่อให้เกิดขยะแล้ว กระบวนการผลิตต่างๆ ยังมีส่วนทำให้เกิดมลภาวะทางด้านน้ำเสียและอากาศเป็นพิษ ซึ่งทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ทำการควบคุมอย่างใกล้ชิด การผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยแปรผันตามประเภทของวัสดุ เช่น การผลิตกระดาษจะมีน้ำเสียที่มีส่วนผสมของสารอินทรีย์อยู่มาก ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณ BOD (Biochemical Oxygen Demand) ในน้ำเสียก่อนระบายน้ำทิ้ง ส่วนพลาสติกจะปล่อยควันและไอที่มีสารอนินทรีย์ออกสู่อากาศซึ่งมีปัญหามากกว่าการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตกระดาษ นอกจากนี้ ในการแปรรูปและงานพิมพ์ยังมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตัวทำละลาย (Solvent) ที่มีอยู่ในหมึกพิมพ์และกาว ซึ่งควรจะมีการรณรงค์ให้ใช้หมึกและกาวฐานน้ำ (Water - Based) แทนที่ฐานตัวทำละลาย (Solvent - Based)
(3) การทำลายชั้นโอโซน
ประมาณกลางปี พ.ศ. 2523 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบรูรั่วเหนือทวีปแอนตาร์กติกที่เกิดจาการทำลายของสาร CFC (Chlorofluorocarbon) หลังจากนั้นอีก 16 ปีได้มีการตกลงระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วให้ยุติการผลิตสาร CFC สารนี้ที่มีใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นสารขับดัน (Propellant) ในกระป๋องสเปรย์นั้น ทางสหรัฐอเมริกาได้มีกฎห้ามใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 นอกจากกระป๋องสเปรย์ สาร CFC ยังใช้เป็นสารพองตัวในการผลิตโฟม และทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎยกเลิกการใช้เมื่อปี พ.ศ. 2533 ทำให้ถาดโฟมที่ใช้ในภัตตาคารประเภทอาหารจานด่วน (Fast Food) ได้ถูกแทนที่ด้วยถาดกระดาษภายในระยะเวลาอันสั้น
ผลกระทบหลักที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อม มีผลทำให้วงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ทั่วทั้งโลกต้องปรับกระบวนการผลิตและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างรีบเร่ง
รูปที่ 7.1 วงจรของบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตไปยังแหล่งกำจัดซากบรรจุภัณฑ์
แหล่งที่มา : Darnay, A. and Franklin, W.E. "The Role of Packaging in Solid Waste Management 1996 to 1976."
7.1.2 วงจรบรรจุภัณฑ์และการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์
วงจรบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มักจะมีแผนกกำจัดของเสียที่เกิดจากสายงานการผลิตภายในโรงงาน เมื่อนำของเสียเหล่านี้กลับมาใช้งานใหม่หรือจำหน่ายแบบตกเกรดหรือแบบไม่ได้มาตรฐาน ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปเสร็จสมบูรณ์แล้วจะนำไปยังโรงงานที่บรรจุอาหาร ในการส่งมอบบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ อาจมีบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตแล้วไม่ได้ตามข้อกำหนดที่ได้ตกลงไว้ (Specification) และถูกตีกลับคืนไปยังร้านค้าที่สั่งซื้อมาหรือส่งคืนกลับไปยังโรงงานโดยเพื่อผลิตใหม่ ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์ผ่านการยอมรับในการส่งมอบแล้วนำไปใช้งาน กระบวนการบรรจุย่อมมีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เช่น บรรจุไม่ได้น้ำหนักหรือปริมาตรที่กำหนด หรือปิดฉลากไม่ถูกต้อง เป็นต้น บรรจุภัณฑ์ที่เสียหายจากการบรรจุนี้อาจนำกลับไปใช้งานใหม่หรือกำจัดทิ้งภายในโรงงาน ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุได้เรียบร้อยสมบูรณ์จะถูกส่งไปจัดจำหน่ายผ่านผู้ขาย เมื่อผลิตภัณฑ์อาหารได้รับการบริโภคแล้วตัวบรรจุภัณฑ์จะถูกทิ้งไป
การลดความเสียหายของบรรจุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในรูปที่ 7.1 จะแปรผันตามประสิทธิภาพในการผลิตและการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผู้บรรจุ (ผู้ใช้บรรจุภัณฑ์) เพื่อการยอมรับตัวบรรจุภัณฑ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทที่ 3 หัวข้อ ข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ และหัวข้อ Acceptable Quality Level ส่วนความเสียหายที่อาจเกิดจากสายงานการบรรจุขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาเครื่องจักร การจัดการโรงงานโดยพยายามที่จะลดความเสียหายให้น้อยที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการบรรจุและการใช้บรรจุภัณฑ์
เมื่ออาหารได้รับการบริโภคและบรรจุภัณฑ์ถูกทิ้งไปในรูปที่ 7.1 แสดงให้เห็นว่าก่อนที่บรรจุภัณฑ์จะถูกกำจัดทิ้ง จะสามารถเคลื่อนย้ายได้หลายวงจรหลังจากถูกใช้งานแล้ว ความยากลำบากในการนำซากบรรจุภัณฑ์ไปกำจัดทิ้งจะแปรตามปริมาตรและประเภทของบรรจุภัณฑ์ ปริมาตรดังกล่าวนี้แปรผันตามองค์ประกอบต่างๆ ของตัวบรรจุภัณฑ์ เช่น รูปทรง ขนาด น้ำหนัก และโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดซากแต่ละประเภทย่อมแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น กล่องนมหรือกระป๋อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของระยะทางที่จะนำไปกำจัดซากหรือนำกลับไปผลิตใหม่/ใช้ใหม่ การกำจัดด้วยการนำมาทำลายหรือการนำกลับมาใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ มีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาดังนี้
(1) การลดการทิ้งบรรจุภัณฑ์หลังบริโภค
บรรจุภัณฑ์เมื่อได้รับการตัดสินใจซื้อและบริโภคอาหารที่อยู่ข้างในจนหมดนั้น อาจจะใช้เวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปีกว่าจะบริโภคหมดแล้วโยนทิ้ง และมีหลายครั้งที่บรรจุภัณฑ์เปล่าเหล่านี้แทนที่จะถูกทิ้งทันทีกลับถูกนำไปใช้ใหม่ เช่น ขวดกาแฟนำไปใส่น้ำตาล ถังนำไปใช้เป็นถังน้ำ เป็นต้น การนำบรรจุภัณฑ์เปล่านี้ไปใช้ใหม่มีจำนวนไม่มากนักและใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นเวลาไม่ช้าหรือเร็วก็จะมีการรวบรวมขายให้กับคนรับรองซื้อของเก่าซาเล้งเข้าสู่วงจรของบรรจุภัณฑ์ต่อไป
น้ำอัดลมในสมัยเก่าเมื่อมีการนำกลับไปบริโภคหรือซื้อขาดจะมีค่าวางมัดจำ ระบบการวางมัดจำนี้ได้นำกลับมาใช้ใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือกล่อง ระบบวางมัดจำนี้ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์เปล่าที่บริโภคอาหารแล้วสามารถนำเก็บกลับไปบรรจุใหม่ (Refill) หรือนำกลับมาผลิตใหม่ด้วยต้นทุนที่ต่ำและเก็บกลับได้ด้วยปริมาณเพียงพอที่คุ้มต่อการกำจัดทิ้งหรือใช้ใหม่
ความพยายามในการเก็บข้อมูลของขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางนั้น มีการศึกษาหนึ่งที่ได้รับการอ้างถึงอยู่เสมอ คือ การศึกษาประเภทของขยะที่ถูกทิ้งบนทางด่วน (Highway) ในรัฐแคนซัส (Kansas) ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังแสดงในตารางที่ 7.3 การศึกษาพบว่าเพียงระยะทาง 1 ไมล์ของถนนที่ขับไปกลับด้านละ 2 ช่องทางบนทางด่วน (Two - Lane Highway) นั้น 88% ของขยะที่พบสองข้างถนนจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่พบมากที่สุดคือ ถ้วยกระดาษมีจำนวนมากถึง 770 ใบ จากการศึกษานี้พอจะสรุปได้ว่าวิธีการที่จะลดขยะตามท้องถนนควรแก้ไขที่ผู้บริโภคมากกว่าที่จะโทษบรรจุภัณฑ์เพียงฝ่ายเดียว
ตารางที่ 7.3 การสำรวจปริมาณขยะบนทางด่วนระยะทาง 1 ไมล์ในรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน | ประเภท | จำนวน | ประเภท |
770 | ถ้วยกระดาษ | 20 | แผนที่ |
730 | กล่องบุหรี่เปล่า | 16 | กระป๋องกาแฟเปล่า |
590 | กระป๋องเบียร์ | 10 | เสื้อผ้า |
130 | ขวดน้ำอัดลม | 10 | ยางรถยนต์เก่า |
120 | ขวดเบียร์ | 11 | ถุงพลาสติก |
110 | ขวดเหล้า | 4 | รองเท้า (ไม่เป็นคู่) |
90 | กล่องเบียร์เปล่า | 4 | ชิ้นส่วนรถยนต์ |
90 | กระป๋องน้ำมัน | 2 | เสื้อชั้นในผู้ชาย |
50 | ถุงใส่อาหาร | 2 | หนังสือการ์ตูน |
30 | กล่องกระดาษแข็ง | 2 | สปริง |
26 | วารสาร | 270 | ขยะอื่นๆ |
แหล่งที่มา : Darnay, A. and Franklin, W.E. "The Role of Packaging in Solid Waste Management 1966 to 1976."
(2) การเก็บบรรจุภัณฑ์กลับ (Collectability)
องค์ประกอบสำคัญของความสามารถที่จะนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วรวบรวมนำกลับมาใช้ใหม่มี 2 ประการคือ ความหนาแน่นและความสามารถในการกดอัดให้แบนของตัวบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่มีปริมาตรน้อยย่อมเก็บกลับได้ง่ายกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาตรมาก ปริมาตรความจุของรถเก็บขยะหรือรถซาเล้งซื้อของเก่าคือข้อจำกัดในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและทำให้ค่าใช้จ่ายในเก็บกลับสูงขึ้น ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์มีปริมาตรเท่ากัน แต่ผลิตจากวัสดุด้วยรูปทรงที่สามารถกดอัดทับให้แบนได้ง่ายย่อมมีโอกาสได้รับการเก็บกลับมากกว่า
ประเภทของวัสดุที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เป็นอีกองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาถึงความสามารถในการเก็บกลับ ตามที่ทราบกันมาแล้วว่าบรรจุภัณฑ์อาหารอาจจะผลิตจากกระดาษ โลหะ แก้ว พลาสติก ไม้ และสิ่งทอรวมกันได้เป็นร้อยเป็นพันรูปแบบ ด้วยเหตุนี้การทิ้งบรรจุภัณฑ์ลงไปยังถังขยะที่แยกประเภทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกลับ เพื่อการใช้หรือผลิตใหม่ได้ดีมากยิ่งขึ้น
ในประเภทที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่จะทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางแล้ว ยังช่วยทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วในถังที่แยกประเภทไว้ นอกจากนี้ก่อนจะทิ้งยังมีการใช้อุปกรณ์ช่วยในการกดอัดบรรจุภัณฑ์ให้แบนราบ
วิธีการที่จะนำเอาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาโดยความร่วมมืออย่างดีของผู้บริโภคจะเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดและได้ผลที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่งบริโภคหมดใหม่ๆ จะมั่นใจว่าถูกสุขลักษณะไม่มีการปนเปื้อนกับสิ่งที่สกปรกหรือเป็นพิษ บรรจุภัณฑ์เปล่าที่ทิ้งในขยะที่แยกประเภทจะมีโอกาสสะอาดกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ทิ้งเป็นขยะตามทาง อาจจะเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของคนทิ้งที่ทราบว่าบรรจุภัณฑ์ที่ทิ้งในถังขยะที่แยกประเภทนั้นจะมีการนำกลับไปใช้ใหม่หรือผลิตใหม่
(3) เทคโนโลยี
ในอดีตขยะต่างๆ ถูกกำจัดด้วยการฝังดินหรือการเผา การกำจัดด้วยการเผานั้นไม่เป็นที่นิยมเท่าใด เนื่องจากในขณะที่เผาจะก่อให้เกิดก๊าซออกมาส่วนหนึ่งซึ่งผสมเข้าไปในบรรยากาศทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ การฝังดินจึงนับเป็นวิธีการที่นิยมมากที่สุด เพราะว่าแม้จะมีการเผาทำลายไปแล้ว เถ้าถ่านที่เหลือก็จะต้องนำไปฝังดินเช่นกัน แม้ว่าในบางประเทศอาจจะมีการนำขยะไปถมทะเลแต่ยังมีน้อยอยู่ เนื่องจากต้องคอยควบคุมไม่ให้เกิดมลภาวะทางน้ำจากขยะที่ถมลงทะเล
การฝังดินนั้นอาจจะกระทำได้ 2 วิธี คือ การเทขยะทั่วบริเวณโดยไม่มีการกดอัด หรือกลบด้วยดินที่เรียกว่าแบบเปิด (Open Dumping) วิธีการนี้มักจะต้องทำในที่ไกลจากชุมชน ไม่เป็นที่อุจาดตาและต้องไม่อยู่เหนือลมที่จะส่งกลิ่นไปรบกวนชาวบ้านใกล้เคียง ส่วนอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีที่ใช้หลักวิชาการมากขึ้น กล่าวคือ ขยะมีการเทให้ทั่วแล้วทำการกดอัด ท้ายที่สุดกลบด้วยดินหรือสารที่ไม่ทำปฏิกิริยา (Inert Fill Materials) การฝังดินแบบหลังนี้มีชื่อว่า การฝังอย่างถูกสุขลักษณะ (Sanitary Landfilling) และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เทคโนโลยีการกำจัดขยะและซากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว คือ การเผาหรือเรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า Incineration การเผาขยะด้วยเตาเผาสมัยใหม่นับเป็นการกำจัดขยะที่มีประสิทธิผลที่ดีที่สุดในการลดปริมาตรและน้ำหนักของขยะและซากบรรจุภัณฑ์โดยสามารถลดปริมาตรลงได้ 70 - 80% และลดน้ำหนักได้ 60 - 80% คุณสมบัติของขยะและซากบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้การกำจัดด้วยวิธีนี้ คือ ความสามารถติดไฟได้ สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีใช้อยู่ จะมีแต่บรรจุภัณฑ์แก้วและโลหะที่ต้องใช้ความร้อนที่สูงมากในการเผา ส่วนบรรจุภัณฑ์อื่นๆ สามารถเผาไหม้ แม้ว่าจะมีอัตราการเผาไหม้ได้แตกต่างกัน เช่น กระดาษและไม้จะติดไฟได้ดีและเร็วกว่าพลาสติก
คุณสมบัติประการถัดมาของขยะและซากบรรจุภัณฑ์ที่ต้องพิจารณาเลือกเพื่อการกำจัดด้วยวิธีการเผา คือ เศษเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาโดยไม่ทำปฏิกิริยา (Inert Residue) จากข้อมูลที่แสดงไว้ในตารางที่ 7.4 จะพบว่าแก้วและโลหะจะมีเศษเถ้าถ่านเหลือจากการเผาไหม้มากที่สุด ดังนั้นในการเผากำจัดขยะจึงมักจะต้องคัดแก้วและโลหะออก เพื่อความสะดวกในการกำจัดเศษเถ้าถ่านที่เหลือจากเตาเผา
<<กลับสู่หน้าหลักอ่านต่อบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่ 2>>