7.4.2 ตัวอย่างการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างที่ 1 : การเปรียบเทียบขนาดของขวดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในแง่ของพลังงานขนย้ายและการผลิต
ขวดบรรจุน้ำอัดลมที่มีขายอยู่ในตลาด สามารถนำมาวิเคราะห์ว่าขนาดเท่าใดจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ขวด PET สำหรับน้ำอัดลมและน้ำดื่มซึ่งกำลังเป็นที่นิยมด้วยขนาด 1 , 2 และ 3 ลิตร สมมุติว่าขวดทั้ง 3 ขนาด ใช้ฝาขนาดเดียวกัน รูปทรงเหมือนกัน เนื้อพลาสติกแบบเดียวกัน แต่ความหนาไม่เท่ากันเนื่องจากขนาดบรรจุที่แตกต่างกัน ถ้ามองอย่างผิวเผินคงจะเดาว่าขวดขนาด 3 ลิตรน่าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะสามารถบรรจุปริมาตรน้ำดื่มได้มากกว่าหน่วยบรรจุ ถ้ามีการจัดหน่วยบรรจุภัณฑ์ขนส่งเป็น 6 ลิตร ขวด 3 ลิตรจะใช้เพียง 2 ขวด ในขณะที่ขวดขนาด 2 ลิตรและ 1 ลิตร จะต้องใช้ 3 ขวดและ 6 ขวดตามลำดับ และยังต้องใช้จำนวนฝาที่มากขึ้นต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ขนส่ง
จากการศึกษาพลังงานที่ใช้ในการขนย้ายของบรรจุภัณฑ์ทั้ง 3 ขนาดพบว่า พลังงานที่ใช้ขนย้ายน้ำดื่มและการผลิตของน้ำดื่ม 1,000 แกลลอน ขวดขนาด 2 ลิตร ใช้พลังงานใกล้เคียงกับ 3 ลิตร คือ 20.1 ล้าน BTU กับ 19.7 ล้าน BTU ตามลำดับ ส่วนขวด 1 ลิตร จะใช้พลังงานต่อหน่วยสินค้ามากที่สุด 27.4 ล้าน BTU ดังแสดงในรูปที่ 7.2 ความได้เปรียบเสียเปรียบของขวดทั้ง 3 ขนาด ในแง่ของปริมาตรของขวดเมื่อทิ้งในขยะมูลฝอยมีความคล้ายคลึงกับการใช้พลังงานตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 7.3 กล่าวคือ ขวดขนาด 1 ลิตร ใช้ปริมาตรในการกำจัดมูลฝอยมากกว่าอีก 2 ขนาด
สรุปได้ว่าจากการศึกษานี้พบว่าขวดขนาด 2 และ 3 ลิตรจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการศึกษาไม่ได้แสดงว่าไม่ควรผลิตหรือจำหน่ายน้ำดื่มขนาด 1 ลิตร เพราะต้องคำนึงว่าขวดขนาด 1 ลิตรจะเหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก และมีตลาดใหญ่พอสมควร ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้ผลิตสามารถสร้างจิตสำนึกในการช่วยลดพลังงานให้แก่ผู้บริโภคหันมาซื้อขวดขนาด 2 และ 3 ลิตรได้อย่างไร
รูปที่ 7.2 พลังงานที่ขนย้ายขวดน้ำดื่ม PET
รูปที่ 7.3 ปริมาตรของขยะมูลฝอยของขวด PET เมื่อทิ้งในขยะ
ตัวอย่างที่ 2 : การออกแบบกล่องกระดาษลูกฟูกที่ประหยัดพื้นที่
กล่องกระดาษลูกฟูกที่ออกแบบ จะมีความกว้างของฝาที่ปิดพบกันที่จุดกึ่งกลางของด้านที่ปิดของกล่องพอดี การออกแบบกล่องจะสามารถออกแบบให้มีฝาเปิด (Panel) อยู่บนด้านใดด้านหนึ่งทั้ง 3 ด้านของกล่อง นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบให้ฝาด้านนอกนั้นแตกต่างกันตามแนวความกว้างหรือความยาวของฝา
ตัวอย่างที่ยกมาให้พิจารณาทั้ง 3 แบบนั้น แบบ (ก) ออกแบบให้เปิดอยู่ด้านที่ใหญ่ที่สุด ส่วนแบบ (ข) และ (ค) มีบริเวณเปิดอยู่ด้านที่เล็กที่สุดของกล่อง โดยที่แบบ (ข) มีฝาที่เปิดอยู่ตามแนวความกว้างของด้านที่เปิด ส่วนแบบ (ค) นั้นมีฝาอยู่ตามแนวความยาวของด้านที่เปิด
เมื่อนำเอากล่องที่ออกแบบมาคลี่ออกในแนวแบนราบ (Blank Sheet) จะพบว่าบริเวณฝาที่เปิดปิดมีส่วนทำให้ใช้กระดาษเปลืองมากน้อยแตกต่างกัน ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากล่องแบบ (ค) ใช้พื้นผิวที่น้อยที่สุด เพราะว่าใช้กระดาษมาทำฝาน้อยกว่ากล่องอื่นๆ
กล่องลูกฟูกแบบ (ค) นี้มีชื่อเรียกว่า Regular Slotted Container (RSC) เปิดปลาย (End Openning) ตามที่ได้แนะนำในบทที่ 2 แล้วว่า กล่องประเภทนี้ถ้าสามารถจัดเรียงสินค้าภายใน ให้กล่องมีความยาวต่อความกว้างต่อความสูงเป็นอัตราส่วน 2:1:2 จะเป็นกล่องที่ต้นทุนน้อยที่สุด
การออกแบบบรรจุภัณฑ์นอกจากจะออกแบบให้ใช้พื้นที่ผิวน้อยต่อหน่วยปริมาตรสินค้าเดียวกัน ดังตัวอย่างที่ 2 อย่างไรก็ตาม หน้าที่สำคัญของบรรจุภัณฑ์คือ ปกป้องสินค้าที่อยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นตัวอย่างที่ 3 แสดงถึงแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันแรงกดทับในแนวดิ่ง ซึ่งมักจะพบภัยอันตรายนี้จากการวางซ้อนสินค้าในคลังสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการป้องกันสินค้าด้วย มิฉะนั้นแล้วสินค้าที่ส่งไปยังจุดหมายปลายทางจะไม่สามารถจำหน่ายได้เนื่องจากการแตกหักชำรุดเสียหาย และย่อมเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต การขนส่งของสินค้าและบรรจุภัณฑ์นั้นๆ ด้วย
รูปที่ 7.4 กล่องลูกฟูก 3 แบบ ห่อสินค้าขนาดเดียวกัน (พื้นที่ที่แรเงาไว้เป็นพื้นที่ของฝา)
ตัวอย่างที่ 3 : การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการแตกหักเสียหายและประหยัดต้นทุน
ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกสำหรับบรรจุขวดแบบ HDPE ซึ่งแบ่งบรรจุ ในกล่องกระดาษแข็งอีกชั้นหนึ่งจำนวนกล่องละ 12 ขวด จำนวนทั้งสิ้น 12 กล่องต่อการบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูก 1 กล่อง จะพบว่า กล่องกระดาษลูกฟูกนี้จะมีโอกาสถูกกดทับโดยน้ำหนักรวมทั้งหมดถึง 300 กิโลกรัม การออกแบบกล่องกระดาษลูกฟูกและกล่องกระดาษแข็งพร้อมขวด จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถจัดส่งถึงผู้บริโภคโดยไม่มีการบอบช้ำเสียหายด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด
การออกแบบทั่วๆ ไป อาจเริ่มจากการออกแบบกล่องลูกฟูกเปล่าๆ สามารถรับแรงกดได้ 300 กิโลกรัม แต่ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งพบว่า จำต้องเอาความสามารถในการรับแรงกดของกล่องกระดาษแข็งและขวดเข้ามาพิจารณาด้วย
รูปที่ 7.5 แสดงความสามารถในการรับแรงกดของบรรจุภัณฑ์แต่ละชั้นเป็นกราฟแท่ง ความสามารถในการรับแรงกดของขวดแบบ HDPE และกล่องกระดาษแข็งมีค่า 100 และ 50 กิโลกรัม ตามลำดับ ในกรณี (ก) กล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้สามารถรับแรงกดได้ 120 กิโลกรัม เมื่อรวมความสามารถในการรับแรง ระบบบรรจุภัณฑ์แบบ (ก) = 270 กิโลกรัม ย่อมไม่สามารถปกป้องสินค้าได้ (Under Packaging) กล่องที่ออกแบบตามกรณี (ข) จะสามารถรับแรงกดได้ตามต้องการ ส่วนกรณีของ (ค) นั้น เป็นการป้องกันเกินความต้องการหรือที่เรียกว่า Over Packaging บรรจุภัณฑ์ที่มีใช้อยู่ทั่วไปมักจะเป็นกรณี (ค) ซึ่งมีโอกาสที่จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ ดังนี้
ลองพิจารณาในแง่ของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน รูปที่ 7.6 แสดงความสามารถรับแรงกดที่เท่ากันของระบบบรรจุภัณฑ์ 3 ประเภท (ก) คือ 300 กิโลกรัม แต่มีการออกแบบระบบบรรจุภัณฑ์ของแต่ละประเภทแตกต่างกัน โดยแบบ (ข) เป็นแบบมาตรฐานใช้ขวดแบบ HDPE ส่วนแบบ (ง) นั้นใช้ขวด PET ที่รับแรงกดได้สูงถึง 200 กิโลกรัม พร้อมทั้งใช้กล่องกระดาษแข็งที่แข็งแรงกว่ารับแรงกดได้ถึง 100 กิโลกรัม แต่แทนที่จะบรรจุในกล่องกระดาษแข็งจะใช้ฟิล์มหดแทน ส่วนแบบ (จ) เป็นแบบที่ใช้ขวด PE ธรรมดารับแรงกดได้เพียง 50 กิโลกรัม บรรจุในกล่องกระดาษแข็งที่แข็งแรงมากสามารถรับแรงกดได้ถึง 150 กิโลกรัม แล้วบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้กระดาษบางหน่อยและมีราคาถูกรับแรงกดได้เพียง 100 กิโลกรัม
ส่วนใน ตารางที่ 7.9 แสดงค่าใช้จ่ายของระบบบรรจุภัณฑ์แต่ละแบบค่าใช้จ่ายนี้คิดเป็นราคาบาทต่อความสามารถในการรับแรงกด 100 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าระบบ ข และ ง มีค่าใช้จ่ายเท่ากัน ดังนั้นพิจารณาจากความได้เปรียบของขวด PE ที่มีโอกาสนำกลับมาย่อยสลายได้ง่ายกว่า เพราะมีระบบเก็บกลับมา Recycle ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ ระบบบรรจุภัณฑ์แบบ ง
รูปที่ 7.5 ระบบบรรจุภัณฑ์ที่รับแรงกดได้แตกต่างกัน
รูปที่ 7.6 ระบบบรรจุภัณฑ์ที่รับแรงกดได้ตามต้องการ
ตารางที่ 7.9 : ค่าใช้จ่ายของระบบบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภท
| ต้นทุนค่าใช้จ่าย (บาท) ต่อความสามารถในการรับแรงกด 100 กิโลกรัม | ต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ (บาท) | ||
แบบ ข | แบบ ง | แบบ จ | ||
ขวด 1. HDPE | 1.80 | 1.80 | - | - |
2. PET | 4.00 | - | 8.00 | - |
3. PE | 1.60 | - | - | 0.80 |
กล่องกระดาษแข็ง | 10.00 | 5.00 | 10.00 | 15.00 |
กล่องกระดาษลูกฟูก | 8.00 | 12.00 | - | 8.00 |
ฟิล์มหด | - | - | 0.80 | 0 |
ค่าใช้จ่ายรวมของระบบบรรจุภัณฑ์ | 18.80 | 18.80 | 23.80 |
7.5 ฉลากสิ่งแวดล้อม
7.5.1 ความหมายและการเรียกชื่อฉลากสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบันนี้ มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 20 ประเทศ ได้จัดตั้งองค์กรในแต่ละประเทศรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมดังแสดงไว้ในตารางที่ 7.10 พร้อมกันนี้แต่ละองค์กรได้ออกแบบสัญลักษณ์หรือฉลากใช้กำกับสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สัญลักษณ์นี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความใส่ใจในการซื้อหาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คำจำกัดความ : ฉลากสิ่งแวดล้อม หมายถึง การใช้ฉลากในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากนี้มีมาตรฐานเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า
ฉลากสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน และมีมาตรการในการพิจารณาและแบ่งประเภทของสินค้าที่พิจารณาให้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์จะเน้นในเรื่องกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษเขียน กระดาษชำระ และกระดาษใช้ในสำนักงาน ส่วนประเทศที่มีวิวัฒนาการทางด้านฉลากสิ่งแวดล้อมจะครอบคลุมสินค้าได้มากกว่า เช่น ECO-MARK ของญี่ปุ่น จะพิจารณารวมถึงสินค้าไม้ พลาสติก ยางพารา แก้ว วัสดุสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น สิ่งที่คล้ายคลึงกันในทุกๆ ประเทศ คือ ฉลากสิ่งแวดล้อมนี้จะดำเนินการด้วยองค์กรอิสระ ดำรงไว้ซึ่งมีความยุติธรรมในการพิจารณาโดยมุ่งหวังต่อการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมของสินค้าประเภทต่างๆ เป็นสำคัญ
ตารางที่ 7.10 : รายชื่อฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ
ที่ | ประเทศ | ชื่อฉลากสิ่งแวดล้อม | ปี |
1 | EC | Environmental Choice | 1991 |
2 | กลุ่มประชาคมยุโรป (EU) | European Flower | ไม่ระบุ |
3 | กรีซ | ASAOS* | ไม่ระบุ |
4 | เกาหลีใต้ | Cleaner and Greener | 1992 |
5 | แคนาดา | Environmental Choice | 1989 |
6 | โครเอเชีย | Environmental Friendly | ไม่ระบุ |
7 | ญี่ปุ่น | Eco-Mark | 1989 |
8 | ไต้หวัน | Green Mark | 1992 |
9 | ไทย | Green Label | 1993 |
10 | นิวซีแลนด์ | Environmental Choice | 1990 |
11 | เนเธอร์แลนด์ | Stiching Milieuukeur | 1992 |
12 | บราซิล | Selo Verde | ไม่ระบุ |
13 | ฝรั่งเศส | NF Environment | 1992 |
14 | ยุโรปเหนือ (Nordic Council : นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์) |
Miljomarket (Nordic Swan) |
1989 |
15 | เยอรมัน | Blue Angel (Umwelt Zeichen) | 1978 |
16 | ลักเซมเบอร์ก | Ministere de Environment* | ไม่ระบุ |
17 | สเปน | AENOR* | ไม่ระบุ |
18 | สิงคโปร์ | Green Labeling | 1992 |
19 | สหรัฐอเมริกา | Green Seal | 1993 |
20 | ออสเตรเลีย | Environmental Choice | 1991 |
21 | ออสเตรีย | Eco-label (Umwelt Zeichen) | 1990 |
22 | อังกฤษ | European Union Ecolabel Award | ไม่ระบุ |
23 | อินเดีย | Eco-Mark | 1992 |
24 | อิสราเอล | Green Label Program | ไม่ระบุ |
แหล่งที่มา :
1. สำนักงานสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, "ISO 14020 ECOLABELLING : ฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมกับอนาคตอุตสาหกรรมส่งออกไทย", 2539 : p.6
2. China External Trade Development Council "Green Design : We Just Have One Earth" 1994 : p.219-220
<<ย้อนกลับ บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่3อ่านต่อ บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่5 >>