7.5.2 ความเป็นมาและกฎหมายเกี่ยวกับฉลากสิ่งแวดล้อมจากนานาประเทศ
(1) ประเทศเยอรมัน
วิวัฒนาการของฉลากสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากประเทศในแถบยุโรปโดยมีประเทศเยอรมันเป็นหัวหอกและนับประเทศแรกที่เอาจริงเอาจังในการพัฒนาโครงการฉลากสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ใช้ฉลากที่เรียกว่า นางฟ้าสีฟ้า (Blue Angel) ในการรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ
(ก.) ชี้แนะให้ผู้บริโภคซื้อเฉพาะแต่สินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
(ข.) ส่งเสริมให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม
(ค.) รณรงค์ให้ฉลากนางฟ้าสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมการจำหน่าย
สิบสี่ปีให้หลังในปี 2535 ปรากฏว่ามีโรงงานเข้าร่วมโครงการนี้ 814 โรงและมีสินค้า 3,325 ชนิดได้รับฉลากนางฟ้าสีฟ้า ในแง่ของผู้บริโภค ปรากฏว่าชาวเยอรมันกว่าร้อยละ 80 ทราบเรื่องฉลาก และเข้าใจหลักการของฉลากมากกว่าร้อยละ 70
ตัวฉลากนางฟ้าสีฟ้า ได้เริ่มจากการใช้คำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltfreundlich (Environment Friendly) มาแก้ไขเป็น ฉลากสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltzeichen (Environment Label) ในปี พ.ศ. 2531 เพื่อหลีกเลี่ยงคำโฆษณาต่างๆ ที่มักใช้ประโยคว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รูปที่ 7.7 ฉลากนางฟ้าสีฟ้าในยุคแรก
ความนิยมจากนางฟ้าสีฟ้า คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาระบบมหภาคในการจัดเก็บซากบรรจุภัณฑ์กลับมาผลิตใหม่ โดยมีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบจากแหล่งขายปลีก แหล่งชุมชน ตามถนนหนทาง โดยมีการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาผลิตใหม่โดยใช้ชื่อว่าจุดเขียว (Green Point หรือ Der Grune Punkt) ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Green Dot
บริษัทที่รับผิดชอบนี้มีชื่อว่า Duales System Deustschland (DSD) จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยสมาคมผลิตเครื่องจักรบรรจุและผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลาง ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการระบบการเก็บกลับซากบรรจุภัณฑ์และนำมาผลิตใหม่ให้เป็นประโยชน์ ปรากฏว่าระบบ DSD นี้ ได้ล้มลุกคลุกคลานในตอนแรกๆ พร้อมทั้งรัฐบาลกลางต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินถึง 3 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในการสนับสนุนระบบนี้ให้สำเร็จ และในที่สุดระบบนี้ก็ได้รับความสำเร็จชนิดที่ประเทศอื่นๆ ต้องเลียนแบบและนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศของตน
(2) กลุ่มสหภาพยุโรป (The European Union - EU)
โครงการฉลากสิ่งแวดล้อมของกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มในปี พ.ศ. 2531 ใช้ชื่อว่า European Flower โดยกำหนดไว้ใน Council Regulation (EEC) No. 880/92 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าและให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้บริโภคถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ฉลากของ EU จะมีระบบตรงข้ามกับฉลากนางฟ้าสีฟ้าที่ว่า ฉลากของ EU จะไม่ใช้เป็นเครื่องหมายแสดงคุณภาพของผลิตภัณฑ์
EU ตั้งเป้าหมายไว้ว่าผลิตภัณฑ์ในตลาด EU อย่างต่ำร้อยละ 40 ควรได้รับฉลากภายใน 2 - 3 ปี ฉลาก European Flower มิได้มีข้อกำหนดที่เป็นเอกภาพเช่นเดียวกับทุกประเทศ หากแต่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถออกข้อกำหนดที่เข้มงวดกว่าของ EU ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละประเทศ
(3) ญี่ปุ่น
โครงการฉลากสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2529 หลังจากใช้เวลา 2 ปีกว่าในการศึกษาและเตรียมการ จึงได้เริ่มรณรงค์อีโค มาร์ค (Eco Mark) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยหันมาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรการในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า
วัตถุประสงค์หลักของ Eco Mark นั้น ต้องการที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า สินค้านี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ตราสัญลักษณ์โครงการมีความหมายว่า Friendly to the Earth) เป็นการปกป้องโลกผ่านสองมือของผู้บริโภค แต่ Eco Mark ไม่มีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานใหม่หรือเพื่อปกป้องผู้บริโภคในแง่ของการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือความปลอดภัยซึ่งจะแตกต่างจาก Blue Angel ผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาก Eco Mark นั้น จะจำหน่ายได้ภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น บริษัทต่างชาติที่จำหน่ายสินค้าในญี่ปุ่นก็สามารถขอใช้ฉลาก Eco Mark ได้ เป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่าสินค้า Eco Mark ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่า
รูปที่ 7.9 ฉลากอีโค มาร์ค (Eco Mark)
(4) สหรัฐอเมริกา
โครงการฉลากสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกานั้น มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ Federal Trade Commission (FTC) แต่มิได้แสดงบทบาทอย่างจริงจังต่อฉลากสิ่งแวดล้อม (Green Labeling) ปล่อยให้บริษัทเอกชนอีก 2 แห่ง คือ UL (Underwriters Laboratories Inc.) ที่ใช้ฉลาก Green Seal และบริษัท Scientific Certification System Inc. ที่มีชื่อบริษัทในเครือชื่อ Green Cross Certification Company ใช้ฉลาก Green Cross Certificate ต่างแข่งขันกันสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคโดยหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ FTC จะยอมรับตราของบริษัทใดบริษัทหนึ่งใช้เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทั้งประเทศ
7.5.3 ความเป็นมาของฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
โครงการฉลากสิ่งแวดล้อมของไทย ได้จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2536 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน โครงการฉลากสีเขียวต้องการผลักดันให้ผู้ผลิตคิดหาวิธี หรือขั้นตอนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและก่อให้เกิดมลพิษน้อยลง เพื่อลดมลภาวะโดยรวมที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองและจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ฉลากเขียวยังเปรียบเสมือนเป็นรางวัลสำหรับผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
(1) ฉลากเขียว
เป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าซึ่งได้ผ่านการประเมิน และตรวจสอบแล้วว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม หลักการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นแนวทางการดำเนินโครงการฉลากเขียวและเป็นพื้นฐานแนวทางนำไปสู่การคัดเลือกกลุ่มสินค้าและการออกข้อกำหนดต่างๆ ได้แก่
(ก) การสนับสนุนให้มีการจัดการทรัพยากร ทั้งทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Resources) และทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Nonrenewable Resources) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
(ข) การส่งเสริมให้มีการลดมลภาวะโดยรวมในประเทศโดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศ มลภาวะทางน้ำและขยะ
(ค) การส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่งและการกำจัดผลิตภัณฑ์ทางเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ
(ง) การสนับสนุนให้มีการปกป้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในประเทศ
ฉลากเขียวจะเป็นโครงการสมัครใจของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์ หลักการโครงการฉลากเขียว ได้มาจากแนวความคิดและความต้องการที่จะให้ประเทศไทยมีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) ยึดในหลักการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายของโครงการฉลากสีเขียวมีด้วยกันสามประการคือ
1. ลดมลภาวะโดยรวมในประเทศ
2. ให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
3. ผลักดันให้ผู้ผลิตนำเทคโนโลยีและวิธีการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาใช้ ซึ้งวัตถุประสงค์ข้อนี้จะส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองด้วย
หลักการในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์
1. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวัน
2. คำนึงถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และคุณประโยชนทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นถูกจำหน่ายออกสู่ตลาด
3. วิธีการตรวจสอบที่ไม่ยุ่งยากและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด
4. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมีทางเลือกอื่นในการผลิตที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า
(2) การสมัครขอใช้ฉลากเขียว
การขอใช้ฉลากเขียวเป็นความสมัครของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ประสงค์จะขอใช้ฉลากเขียว สามารถขอรับเอกสารเพื่อกรอกข้อความได้ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะตรวจสอบเอกสารและหลักฐาน และจัดทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากเขียวในการโฆษณาและติดที่ผลิตภัณฑ์ เมื่อผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดแล้ว ผู้สมัครจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้ฉลากเขียวและต่อสัญญาใช้ตามอายุที่กำหนด
(3) ความสำคัญของฉลากเขียวต่อการค้าระหว่างประเทศ
การกำหนดมาตรฐานฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งและมีปัญหามากด้วยเช่นกัน เพราะในหลายประเทศได้จัดทำโครงการฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว มาตรฐาน ISO ในอนุกรม 14000 ก็ได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย คือ Environmental Labelling วัตถุประสงค์ของการกำหนดมาตรฐานในระดับโลกเพื่อให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ แต่อย่างไรก็ตามแต่ละโครงการก็มีวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป และมีการนำไปโฆษณาที่ผิดจากความเป็นจริง โดยอุตสาหกรรมจำนวนมากต่างก็อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตน "เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
รูปที่ 7.10 ฉลากเขียว
ประเทศในกลุ่มตลาดร่วมยุโรป (EC) ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับภาระบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ผู้ส่งออกต้องดำเนินการเป็นสองทางเลือก คือ โกยนำกลับประเทศหรือเสียค่าใช้จ่ายให้กับประเทศผู้นำเข้าดำเนินการกำจัดเอง โดยประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ประกาศใช้มาตรการภาระกำจัดมูลฝอยบรรจุภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้
(ก) ผู้ส่งออกต้องรับภาระขนส่งบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทุกชนิดกลับประเทศ หรือ
(ข) ต้องจ่ายเงินค่ากำจัดมูลฝอยบรรจุภัณฑ์ให้กับประเทศผู้นำเข้าดำเนินการเองตามจำนวนมูลฝอยบรรจุภัณฑ์
ตามหลักการของกฎหมายบรรจุภัณฑ์ของประชาคมยุโรป (EC Directive on Packaging and Packaging Waste) ส่วนที่เกี่ยวกับระบบมัดจำและเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ได้นำเอามาตรการหลีกเลี่ยงมูลฝอยบรรจุภัณฑ์ (The Ordinance on the Avoidance of Packaging Waste) ที่มีชื่อเสียงของเยอรมันมาเป็นแนวทาง ซึ่งอาจสรุปหลักการของกฎหมายข้างต้นบางส่วนดังนี้
1. กฎหมายบรรจุภัณฑ์ของประชาคมยุโรป
(1) ตั้งเป้าหมายในการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์และมูลฝอยบรรจุภัณฑ์
(2) ตั้งเป้าหมายในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์และมูลฝอยบรรจุภัณฑ์
(3) ตั้งข้อกำหนดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์
(4) ส่งเสริมระบบการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ
(5) ลดการใช้บรรจุภัณฑ์
(6) กำกับสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์
2. มาตรการการหลีกเลี่ยงมูลฝอยบรรจุภัณฑ์
(1) กำหนดคุณลักษณะทั่วไปของบรรจุภัณฑ์ว่าจะต้องผลิตจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล ต้องออกแบบให้มีขนาดและน้ำหนักน้อยที่สุด พร้อมทั้งสนับสนุนให้ใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดเติม (Refill)
(2) กำหนดขอบเขตบังคับของกฎหมายกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายรวมทั้งการจำหน่ายสินค้าทางไปรษณีย์ แต่ไม่รวมบรรจุภัณฑ์สำหรับวัตถุอันตรายที่มีกฎหมายเฉพาะ
(3) แยกบรรจุภัณฑ์ทั่วไปออกเป็น 3 ประเภทคือ
- บรรจุภัณฑ์บริโภคหรือบรรจุภัณฑ์ชั้นแรก (Primary Packaging)
- บรรจุภัณฑ์ชั้นนอกหรือบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง (Secondary Packaging)
- บรรจุภัณฑ์ขนส่ง (Transport Packaging)
(4) แยกความหมายของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มออกต่างหากจากบรรจุภัณฑ์ทั่วไป
(5) ให้ความหมายของบรรจุภัณฑ์เรียกคืนเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำ
(6) กำหนดหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายต้องรับคืนบรรจุภัณฑ์ขนส่งที่ใช้แล้วเพื่อนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
(7) กำหนดหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายต้องแยกบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกออกจากสินค้า หรือต้องจัดให้มีภาชนะรองรับบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
(8) กำหนดหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายต้องรับคืนบรรจุภัณฑ์ชั้นในที่นำมาจำหน่าย โดยจัดภาชนะรองรับ ณ จุดขายหรือจุดที่ใกล้จุดขาย
(9) กำหนดหน้าที่ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ปะเภทใช้แล้วทิ้งต้องเรียกเก็บมัดจำจากผู้ซื้อเป็นรายชิ้น และจะคืนมัดจำให้เมื่อมีการนำบรรจุภัณฑ์มาคืน
(10) บรรจุภัณฑ์ซักล้างและทำความสะอาด และบรรจุภัณฑ์สีทาบ้านอยู่ในข่ายที่ต้องเรียกเก็บมัดจำเช่นเดียวกันกับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ยกเว้น บรรจุภัณฑ์ชนิดเติม เพื่อสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ
(11) มีข้อยกเว้นหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายที่ไม่ประสงค์จะรับคืนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของตน โดยกฎหมายให้ทางเลือกในการเข้าร่วมกับระบบซึ่งมีประกันที่เก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากผู้บริโภค รัฐจะทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายการเรียกคืน และถ้าอัตราการเรียกคืนต่ำกว่าเป้าหมายก็ต้องกลับมาใช้ระบบมัดจำตามเดิม
(12) กำหนดมาตรการป้องกันบรรจุภัณฑ์ในเขตที่ได้รับยกเว้นการมัดจำที่มีระบบจัดเก็บโดยเอกชนอยู่แล้วข้ามไปยังเขตที่ใช้ระบบมัดจำและคืนบรรจุภัณฑ์อันจะทำให้การรวบรวมในเขตไม่ได้ปริมาณตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
(13) กฎหมายเปิดให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้จัดจำหน่ายทางไปรษณีย์ที่มีหน้าที่ สามารถมอบหมายบุคคลอื่นดำเนินการในหน้าที่ที่กฎหมายกกำหนดแทนได้ หรืออาจใช้เครื่องอัตโนมัติในการรับคืนบรรจุภัณฑ์และคืนเงินมัดจำได้
รูปที่ 7.8 ฉลาก EU
<<ย้อนกลับ บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่4อ่านต่อ บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่6 >>