7.6 เทคนิคการประเมินผลกระทบบรรจุภัณฑ์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Assessment หรือ LCA)
ในวิทยาการประเมินผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเครื่องมือที่ได้การกล่าวขวัญมากที่สุด คือ LCA การวิเคราะห์หรือการประเมินวงจรชีวิต (Life Cycle Analysis or Assessment) หลักการพื้นฐานในการวิเคราะห์แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: Analysis เป็นการวิเคราะห์วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ด้วยการรวบรวมตัวเลขการเข้าสู่และการออกจากคลังของวงจรชีวิตในรูปของพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบตลอดทั้งวงจรของสินค้าและบรรจุภัณฑ์
ขั้นตอนที่ 2: Assessment เป็นการศึกษาและการประเมินผลกระทบของคลังวงจรชีวิตที่มีต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม
จากวิธีการศึกษาทั้ง 2 ขั้นตอนดังกล่าวจึงเรียกชื่อตัวย่อ A ใน LCA บางครั้งว่า Analysis การวิเคราะห์ หรือ Assessment การประเมิน ตามรูปที่ 7.11 อธิบายแนวทางและขั้นตอนการวิเคราะห์วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์
รูปที่ 7.11 วงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์
7.6.1 การวิเคราะห์วงจรชีวิต
ก่อนที่จะมีการประยุกต์การวิเคราะห์วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมักจะคำนึงเฉพาะสถานะซากบรรจุภัณฑ์ที่ได้บริโภคแล้ว เช่น ความสามารถในการนำกลับมาผลิตและใช้ใหม่ ซากที่เหลือจากการทำลายด้วยวิธีการเผาไหม้ ปริมาตรของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ฝังดิน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้แนวความคิดที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นการวิเคราะห์วงจรชีวิตทั้งระบบ โดยเริ่มจากการออกแบบ การคัดเลือกประเภทของวัสดุที่จะนำมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ วิธีการบริโภคและการทิ้ง พร้อมวิธีการทำลายบรรจุภัณฑ์ เทคนิคการวิเคราะห์วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์กับผู้ผลิต นักวิชาการทางด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ที่สนใจอื่นๆ ในการศึกษาสถานะของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากหลักการวิเคราะห์ LCA นี้จึงเกิดมีอีกชื่อหนึ่งว่า การวิเคราะห์ความสมดุลทางนิเวศน์วิทยา (Eco-Balance Analysis) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "Cradle To Grave Analysis" สาเหตุเนื่องมาจากเป็นการวิเคราะห์ตั้งแต่เกิด คือผลิตวัตถุดิบจนกระทั่งจบสิ้นวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ด้วยการฟังดินเสียส่วนใหญ่
ในการประเมินวงจรชีวิต จะประเมินปริมาณวัตถุดิบ พลังงานและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ทั้งหมด เช่น น้ำ อากาศ และผลกระทบที่ทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด การวิเคราะห์วงจรชีวิตจำต้องสรุปผลดีและผลเสียที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประเพณีและเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ด้วย
7.6.2 องค์ประกอบของวงจรชีวิต
จากการสัมมนาของสมาคมเคมีและมลพิษทางนิเวศวิทยา หรือ SETAC (Society of Environmental Toxicology and Chemistry) ในปีพ.ศ. 2533 ประกอบด้วยวิศวกรรมและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 44 คน เห็นพ้องกันว่าการวิเคราะห์วงจรชีวิตจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
(1) คลังของวงจรชีวิต (Life Cycle Inventory) เป็นฐานข้อมูล เปรียบเสมือนคลังเก็บข้อมูลของปริมาณพลังงาน ปริมาณวัตถุดิบ อากาศที่ใช้และปล่อยออกมา น้ำที่ปล่อยจากการผลิต ขยะที่ทิ้งและสิ่งที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตของสินค้า
(2) ผลกระทบที่มีต่อวงจรชีวิต (Life Cycle Impact Analysis) เป็นการวิเคราะห์ทาเทคนิคเพื่อแยกแยะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของคลังวงจรชีวิตในองค์ประกอบที่ 1
(3) การพัฒนาวงจรชีวิต (Life Cycle Improvement Analysis) เป็นการวิเคราะห์ถึงความต้องการและความเป็นไปได้ในการลดมลภาวะต่างๆ อย่างมีระบบโดยครอบคลุมถึงพลังงาน วัตถุดิบในคลังวงจรชีวิตทั้งหมด
สรุปจากองค์ประกอบทั้ง 3 การวิเคราะห์วงจรชีวิตต้องพิจารณาผลกระทบที่มีต่อสังคมที่อยู่พร้อมทั้งสภาพความเป็นอยู่ทั้งหมดของมนุษยชาติในสังคมนั้น เพื่อว่าสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์นั้นๆ จะได้รับการยอมรับจากสังคม ผลจากการศึกษาอาจจะไม่มีคำตอบอย่างเด่นชัด แต่ข้อมูลและบทสรุปจะสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และวางมาตรการการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
7.6.3 การจัดการวงจรชีวิต
ผู้ผลิตสินค้า และผู้จัดจำหน่ายสามารถใช้การประเมินวงจรชีวิตเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งโดยการศึกษาผลกระทบของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในแต่ละช่วงวงจรชีวิต ผลการศึกษาจะสามารถสร้างสภาวะการแข่งขันเหนือคู่แข่งขันได้ เช่น การได้รับการยอมรับจากสาธารณะชนเพิ่มมากขึ้นเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลกำไร และแน่นอนที่สุดส่งผลกระทบต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่าเดิม วิธีการประยุกต์ใช้สามารถทำได้ดังนี้คือ
(1) การออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ สินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์สามารถออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตสินค้าน้ำยาซักล้างแบบเข้มข้น ย่อมเป็นการลดปริมาณบนบรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยปริมาตรสินค้า หรือการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับไปผลิต หรือใช้ใหม่ได้ง่าย และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เช่น การแปรรูปบรรจุภัณฑ์โดยที่ไม่ได้ใช้ส่วนประกอบใดๆ ที่จะเกิดผลเสียเมื่อมีการทำลายซากบรรจุภัณฑ์จากการฝังดิน หรือการเผาสลายด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารที่ประกอบด้วยโลหะหนักเป็นต้น
(2) การคัดเลือกวัตถุดิบ การเลือกวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และความสะดวกในการแยกวัตถุดิบจากขยะ เช่น การนำขวด PET กลับมาย่อยสลายแล้วนำมาผลิตเป็นพรม เป็นต้น ย่อมเป็นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการนำไปทำลายทิ้งเสียเปล่าๆ
(3) การผลิต จำหน่าย และจัดส่ง การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิผลการจัดระบบมาตรการลดมลภาวะ และการลดปริมาณขยะ ย่อมเป็นการลดต้นทุนรวม พร้อมทั้งไม่เพิ่มภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
(4) การใช้สินค้า ความได้เปรียบในเชิงการค้าในปัจจุบันนี้มักจะได้จากการวางตำแหน่งสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การโฆษณาของสินค้ามักจะอ้างถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการใช้สินค้า เพราะว่าผู้บริโภคมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างแรงจูงใจต่อการเลือกซื้อสินค้านั้นๆ
(5) การทำลาย ในชุมชนที่มีระบบการเก็บคัดแยกขยะและมีสถานที่ที่สามารถนำกลับมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง พร้อมทั้งมีอุตสาหกรรมรองรับวัสดุที่นำกลับมาผลิตใหม่ ผู้ผลิตสินค้าหรือวัสดุนั้นๆ ย่อมมีความได้เปรียบต่อการแข่งขันทางการค้า ในสหรัฐอเมริกา สถานที่ที่สามารถนำพลาสติกจำพวก PET และ HDPE กลับมาผลิตใหม่นั้นมีมากอยู่พอสมควร ย่อมส่งผลให้ผู้แปรรูปบรรจุภัณฑ์ของวัสดุทั้ง 2 ประเภทมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้ามีโอกาสเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้วัสดุดังกล่าวมากขึ้น
การวิเคราะห์วงจรชีวิตนี้เป็นเพียงเทคนิคอย่างหนึ่งในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาอาจจะมีความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การผลิตสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ ความเป็นได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาความเป็นไปได้อย่างอื่นๆ ด้วย การศึกษาต้นทุนการตลาด เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการวิเคราะห์วงจรชีวิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้การวิเคราะห์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
7.6.4 การวิเคราะห์
การวิเคราะห์วงจรชีวิตไม่ใช่เป็นกระบวนทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ แต่ประกอบด้วยศิลปะในการประเมิน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการประเมิน 4 ประการด้วยกันคือ
(1) ขอบเขตการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบการใช้ผ้าอ้อมแบบทำจากผ้าและผ้าอ้อมที่ใช้แล้วทิ้ง ขอบเขตการวิเคราะห์จะรวมความไปถึงการใช้งานของเครื่องซักผ้าที่ซักผ้าอ้อมแบบผ้า และแบบที่ไม่ใช่ผ้าเป็นต้น ขอบเขตการวิเคราะห์นี้จะทำให้การศึกษาในเรื่องเดียวกันแต่ต่างองค์กรที่ทำการศึกษาได้ผลมาไม่เหมือนกัน
จุดเริ่มต้นของขอบเขตการวิเคราะห์เริ่มจากการให้คำนิยามของระบบที่ศึกษา (Define the System) พร้อมจุดมุ่งหมายของการศึกษาให้เด่นชัด จากจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้จึงทำการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า Boundaries of the System เพื่อศึกษาสิ่งที่เข้าและออกจากขอบเขตที่กำหนดไว้นี้ เช่น เริ่มจากการนำวัตถุดิบเข้ามายังขอบเขตที่ศึกษาและจบลงด้วยการฝังดินของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ถ้าจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้เป็นการเปรียบเทียบขอบเขตที่ตั้งไว้ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เปรียบเทียบควรจะเหมือนกับการสร้างแบบจำลอง แบบจำลองนี้คล้ายคลึงกับรูปแบบทางบัญชีที่เก็บตัวเลขของสิ่งที่เข้าสู่และสิ่งที่ออกจากขอบเขตการวิเคราะห์ เมื่อเก็บตัวเลขเหล่านี้แล้ว จะขั้นตอนคล้ายคลึงกับบัญชีแยกประเภท โดยการแยกประเภทการเข้าออกของพลังงาน วัตถุดิบ อากาศ และน้ำ เป็นต้น จากคลังวงจรของชีวิตแต่ละอย่าง เช่น การเข้าและออกของพลังงานดังแสดงในรูปที่ 7.12 แสดงการใช้พลังของกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ และปล่อยออกมาในรูปของขยะ น้ำเสีย อากาศ เป็นต้น
รูปที่ 7.12 แบบจำลองการเข้าออกของพลังงานจากวงจรชีวิต
(2) ฐานข้อมูลที่ใช้ ถ้าฐานข้อมูลมีความเหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษา ผลการศึกษาจะจำกัดเฉพาะขอบเขตที่ใช้ฐานข้อมูลที่นำมาศึกษาเท่านั้น แต่ถ้าใช้ฐานข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ผลที่ได้ย่อมจะมีการเบี่ยงเบน นอกจากฐานข้อมูลที่ใช้แล้ว ยังต้องศึกษาถึงข้อสมมติฐานและวิธีการวิเคราะห์ที่ใช้อีกด้วย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฐานข้อมูลดังกล่าวอาจจะสามารถจัดซื้อจัดหาเองได้จากส่วนราชการ สมาคมการค้า หรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีผลงานในเรื่องนี้ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มีการใช้วัตถุดิบจำกัดเพียง 4 ประเภทดังที่กล่าวมาแล้ว คือ เยื่อและกระดาษ แก้ว พลาสติก และโลหะ และมีวิธีการผลิตไม่หลากหลายนัก ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสที่นำเอาฐานข้อมูลที่เคยศึกษาแล้วจากแหล่งต่างๆ มาใช้ได้ เช่น ข้อมูลทางด้านพลังงาน วัตถุดิบ มลภาวะที่เกิดขึ้น และขยะเป็นต้น
(3) ระดับความละเอียด การเจาะลึกของข้อมูลนี้ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการศึกษา ตัวอย่างเช่น การศึกษาสภาวะสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ถ้าจะครอบคลุมถึงปริมาณอากาศที่หายใจของคนทำงานเพื่อทราบถึงปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่จำเป็นต่อการหายใจ ข้อมูลนี้อาจจะละเอียดเกินไปในสภาวะทั่วๆ ไป แต่ในกรณีที่มีการวิเคราะห์คุณภาพอากาศในที่ทำงานข้อมูลนี้ย่อมมีความจำเป็นต่อการวิเคราะห์ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าความละเอียดของข้อมูลจะแปรตามขอบเขตและจุดมุ่งมั่นของการศึกษา
(4) วิธีการเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น สินค้า (ก) ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศมากกว่าสินค้า (ข) แต่สินค้า (ข) ก็ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำมากกว่าสินค้า (ก) สินค้าตัวใดจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน เป็นต้น การศึกษาจำต้องเจาะข้อมูลในหลายแง่มุมมาเปรียบเทียบกัน และตั้งเป็นดรรชนีมาตรฐานในการเปรียบเทียบมลภาวะที่เกิดดังกล่าวของสินค้า (ก) และสินค้า (ข)
การวิเคราะห์ที่ได้ผลนี้จะต้องลดข้อจำกัดต่างๆ กันทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาแล้วให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ตัวอย่างเช่น พัฒนาฐานข้อมูลที่เหมาะสมและใช้งานได้ถูกต้อง มีการทบทวนวิธีการวิเคราะห์ และการใช้การวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
บทสรุป
ในสังคมที่เกือบจะทุกวันได้ยินหรือได้อ่านคำว่ารีไซเคิลหรือฉลากสีเขียวเบอร์อะไรต่อมิอะไรในสื่อต่างๆ ย่อมเป็นการแสดงว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่อนุชนรุ่นหลังมีบทบาทเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกวัน วงการอุตสาหกรรมอาหารหลีกหนีกระแสจากสังคมในด้านนี้ไม่พ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ที่จำต้องใช้ในการทำหน้าที่เป็นพาหะให้แก่อาหารที่จำหน่ายได้รับการเพ่งเล็งจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้ตามกฎเกณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศที่นำเข้า
บทนี้ได้เริ่มบรรยายถึงความจำเป็นของบรรจุภัณฑ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาจากพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ ปริมาณของขยะมูลฝอยที่ทิ้งตามบ้านมีบรรจุภัณฑ์อยู่ประมาณหนึ่งในสามของน้ำหนัก และผลกระทบของการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีมลภาวะเป็นหลัก อาวุธที่สำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ การศึกษาวงจรของบรรจุภัณฑ์พร้อมทั้งแนวทางในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยวิธีการลดการทิ้งบรรจุภัณฑ์หลังบริโภค วิธีการเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาผลิตและใช้ใหม่ คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ การศึกษาแนวทางทั้ง 3 นี้ ย่อมมีส่วนช่วยผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์สามารถเลือกประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด
การศึกษาสถานะของการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วย่อมมีส่วนช่วยการตัดสินใจในการเลือกประเภทของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์เริ่มจากการออกแบบด้วยการลดปริมาณวัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยน้ำหนัก/ปริมาตร การเพิ่มความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์อาหาร การเลือกใช้วัสดุที่ได้จากธรรมชาติ การรวมกลุ่มของสินค้า การใช้สัญลักษณ์เพื่อช่วยในการแยกประเภทของพลาสติก และการลดจำนวนสีที่ใช้พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ตัวอย่างในการออกแบบที่เสนอมานี้ พิจารณาสิ่งแวดล้อมในแง่ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตและการขนส่ง การลดพื้นที่ผิวของบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้บรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิผล และลดความเสียหายที่จะเกิดกับอาหารในบรรจุภัณฑ์ระหว่างการเรียงซ้อนโดยมีการเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์แต่ละระบบที่ออกแบบ
หัวข้อสุดท้ายได้อธิบายถึงความเป็นมาของฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญกับประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปที่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง บทนี้จบลงด้วยการอธิบายเทคนิคการประเมินผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า LCA เทคนิคการประเมินนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้เมื่อมีการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์อย่างเด่นชัด พร้อมทั้งการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งยังเป็นที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในประเทศไทย
<<ย้อนกลับบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่5