News and Articles

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4


หมวดหมู่: หนังสือบรรจุภัณฑ์อาหาร [บรรจุภัณฑ์อาหาร]
วันที่: 13 มกราคม พ.ศ. 2555

8.3.8 เครื่องปิดฉลาก (Labeling Machine)

การปิดฉลากบนบรรจุภัณฑ์จะแปรตามรูปทรงของบรรจุภัณฑ์และบริเวณที่จะติดบนบรรจุภัณฑ์ดังแสดงในรูปขวดรูปที่ 8.26 นอกจากนี้ยังแปรตามกาวที่ใช้และวัสดุของตัวแผ่นฉลาก เครื่องปิดฉลากแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ดังต่อไปนี้

รูปที่ 8.26 ตำแหน่งต่างๆ ของฉลากบนขวด

(1) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวแล้วกลิ้งติด

ในกรณีบรรจุภัณฑ์เป็นทรงกลม เช่น กระป๋อง จะใช้ความเป็นทรงกลมให้เป็นประโยชน์ โดยให้กระป๋องกลิ้งไปตามรางแล้วทากาวลงบนตัวกระป๋อง เมื่อกลิ้งต่อไปกาวบนกระป๋องจะติดเอาฉลากขึ้นมาด้วย เมื่อกลิ้งไปก่อนจะครบรอบของฉลากที่ติดมานั้นจะมีการทากาวบนปลายฉลากอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้บริเวณปลายอีกข้างของฉลากสามารถติดแน่นสนิท เครื่องปิดฉลากประเภทนี้สามารถหาซื้อได้ภายในประเทศด้วยราคาพอสมควร

รูปที่ 8.27 การปิดฉลากแบบทากาวแล้วกลิ้งติด

(2) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวที่ฉลากแล้วส่งผ่านไปติด

เครื่องปิดฉลากบนส่วนหน้าหรือส่วนหลังของบรรจุภัณฑ์ จำพวกขวดแก้วหรือพลาสติก มีหลักการทำงาน คือ ฉลากจะถูกทากาวด้วยลูกกลิ้งก่อน แล้วจึงนำฉลากมาติดบนภาชนะในตำแหน่งที่ต้องการ เครื่องปิดฉลากแบบนี้มีหลักการทำงานแบ่งเป็น 3 แบบดังแสดงดังรูปที่ 8.28 โดยในรูป ก ลูกกลิ้งกาวจะนำฉลากที่ทากาวแล้ว ส่งต่อไปติดบนบรรจุภัณฑ์ ในรูป ข ยังคงใช้หลักการเดียวกัน แต่ตัวลูกกลิ้งจะมี 4 สถานีทากาวที่ฉลากได้ถึง 4 แผ่นต่อการหมุนของลูกกลิ้ง 1 รอบ แบบสุดท้ายรูป ค จะเป็นแบบที่เร็วที่สุด โดยมีสถานีทากาวผ่านฉลากตามจำนวนที่ต้องการในการหมุนลูกกลิ้ง 1 รอบ

รูปที่ 8.28 การทำงานระบบทากาวที่ใช้ลูกกลิ้งหรือสถานีทากาวโดยติดกาวที่ฉลากก่อน แล้วส่งผ่านไปติดบนบรรจุภัณฑ์

(3) เครื่องปิดฉลากสติกเกอร์

เครื่องปิดฉลากอีกประเภทหนึ่งที่สมควรจะกล่าวถึงคือ เครื่องปิดฉลากประเภทใช้ฉลากแบบสติกเกอร์หรือกาวในตัว แม้ว่าตัวฉลากจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่มีความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะติดด้วยเครื่องมือหรือใช้เครื่องจักร ในกรณีใช้เครื่องจักร ฉลากจะพิมพ์มาเป็นม้วนเว้นช่วงระยะเท่าๆ กัน สืบเนื่องจากความหนาแน่นและความเหนียวของตัวฉลากกับตัวแผ่นกระดาษที่ปะอยู่ข้างหลัง เมื่อแผ่นกระดาษหมุนกลับ 180 องศา จะปล่อยให้ฉลากเผยอออกมา แล้วไปติดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยลูกกลิ้งติดกาว เครื่องจักรติดฉลากประเภทนี้มีราคาไม่สูงนักและสามารถทำงานได้อย่างสะอาด นอกจากนี้ความเร็วในการติดฉลากยังสามารถทำได้สูงถึงหลายร้อยขวดต่อนาที

จากตัวอย่างของเครื่องปิดฉลากทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานี้จะพบว่าข้อพิจารณาในการเลือกเครื่องจักรนั้นจะแปรผันตามบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ประเภทของฉลากที่เหมาะแก่การใช้งาน ตำแหน่งและบริเวณของการติดฉลาก

รูปที่ 8.29 การปิดฉลากสติกเกอร์

8.3.9 เครื่องบรรจุกล่อง

(1) เครื่องบรรจุใส่กล่องกระดาษแข็ง

เครื่องจะเริ่มต้นการทำงานจากการนำเอากล่องออกจากแม็กกาซีนกล่อง (Carton Magazine) แต่การขึ้นรูปกล่องจะลำบากกว่าถุง เนื่องจากเส้นรอยพับของสันข้างกล่อง ถ้าเก็บไว้นานหรือถูกกดทับไว้นาน ความเป็นสปริงของกล่องจะลดน้อยลงทำให้ขึ้นรูปกล่องได้ลำบาก เมื่อกล่องออกจากแม็กกาซีนกล่องและขึ้นรูปกล่องแล้วเครื่องจะทำการบรรจุสินค้าลงในกล่องและปิดกล่อง รูปแบบของเครื่องจักรจะเริ่มจากแบบง่ายๆที่ใช้มือบรรจุหรือใส่เป็นแบบที่ทำงานอย่างอัตโนมัติทั้งหมด

การปิดกล่องโดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัตินี้มักใช้กาว ซึ่งทำงานได้เร็วและสะดวกกว่า รูปแบบของกล่องที่เลือกก็มีผลต่อการหาเครื่องจักรได้ยากหรือง่าย การจัดแนวเกรนและประเภทของกระดาษที่มีความเหนียวและสภาพการเป็นสปริงที่ดี จะสามารถทำให้การปิดกล่องทำได้สะดวก บ่อยครั้งที่พบว่า การที่ใช้ปิดด้วยมือแล้วหันมาใช้เครื่องทดแทนนั้น จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของกล่องเพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องจักรได้ ในรูปที่ 8.30 เป็นเครื่องจักรบรรจุใส่กล่องในแนวราบแบบอัตโนมัติ ส่วนรูปถัดมารูปที่ 8.31 แสดงการบรรจุพร้อมกระดาษแจ้งสรรพคุณสอดเข้าไปในกล่อง รูปที่ 8.32 แสดงการบรรจุใส่กล่องกระดาษลูกฟูกในแนวราบทำหน้าที่การรวมห่อสินค้า

รูปที่ 8.30 เครื่องบรรจุและปิดกล่องแบบอัตโนมัติทำงานในแนวราบ

การบรรจุกล่องกระดาษลูกฟูกคล้ายคลึงกับกล่องกระดาษแข็ง คือ บรรจุสินค้าตามแบบแนวราบและตามแนวดิ่ง ดังแสดงในรูปที่ 8,32 และ 8.33 จะสังเกตได้ว่า การเลือกใช้การบรรจุใส่ในแนวไหนนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและความสะดวกในการบรรจุใส่

รูปที่ 8.31 การบรรจุกล่องพร้อมกระดาษแจ้งสรรพคุณ

รูปที่ 8.32 การปล่อยให้ลงสู่กล่องลูกฟูกในแนวดิ่ง

(2) เครื่องปิดกล่อง (Case Sealer)

สิ่งที่จะกล่าวในรายละเอียด ต่อไปนี้คือ วิธีการปิดกล่องกระดาษลูกฟูกซึ่งนิยมใช้กันอยู่ 4 วิธีคือ

1. การทากาวด้วยมือและเครื่อง

กาวที่ใช้อาจจะใช้ตั้งแต่แป้งเปียก กาวลาเทกซ์ หรือกาวที่ใช้ความร้อน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่า เวลาที่ใช้กาวในการผนึกติด การแข็งตัวภายหลงการทา และเวลาที่ใช้ในการแห้งตัว กาวฮอตเมลท์จะเป็นกาวที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ในทุกๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว

2. การปิดเทปด้วยมือและเครื่อง

เทปที่ใช้มีหลายประเภท อาจแบ่งตามวัสดุ เช่น กระดาษ พลาสติกเสริมความ แข็งแรงด้วยเส้นใย เป็กนต้น ส่วนสารเชื่อมติดที่อยู่บนเทป อาจเป็นกาวที่ต้องทาน้ำก่อน เทปที่มีกาวในตัวเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดเทปดังแสดงในรูปที่ 8.34

รูปที่ 8.34 อุปกรณ์และเครื่องจักรในการปิดกล่องด้วยเทป

การปิดเทปด้วยมือต้องอาศัยความชำนาญกะประมาณความแม่นยำว่า จะดึงออกมาใช้มากน้อยแค่ไหน ดังรูปซ้ายบนสุด ส่วนรูปล่างถัดมานั้นเป็นแบบประมาณด้วยความยาวได้ล่วงหน้า โดยการโยกคันโยก เทปจะเคลื่อนที่ออกมาตามความยาวที่ตั้งไว้ล่วงหน้า ส่วนรูปทางขวามือเป็นการปิดเทปด้วยเครื่องปิดเทปอัตโนมัติ ซึ่งสามารถติดเทปทั้งข้างบนและข้างล่างพร้อมกันได้ และสามารถใช้ปิดเทปบนกล่องได้หลายขนาดโดยไม่ต้องปรับเครื่องทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขนาดกล่อง

3. การเย็บลวดด้วยเครื่องเย็บลวด

ลวดที่ใช้มี 2 อย่างคือ แถบลวดที่ขึ้นรูปแล้ว (ลักษณะเหมือนแถบลวดเย้บกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน) และขดลวดเป็นม้วน ส่วนเครื่องเย็บลวดมีทั้งแบบจับมือโยกหรือยิง และแบบเท้าเหยียบซึ่งเหมาะกับการเย็บก้นกล่อง

รูปที่ 8.35 การทำงานของลวดเย็บตะเข็บและกดตะเข็บ

รูปที่ 8.36 อุปกรณ์รัดกล่อง

4. การรัดด้วยเครื่องสายรัดและคีมหนีบคลิปเหล็ก

สายรัดที่ใช้ส่วนมากจะทำมาจากพลาสติก PP (โพลิโพพิลีน) ซึ่งทนต่อแรงดึงสูง หากรัดกล่องด้วยมือและคลิปโลหะ ต้องใช้ที่รัดสายให้ตึงตามรูป ก. แล้วรัดด้วยคีมหนีบคลิปตามรูป ข. ส่วนรูป ค.และ ง. เป็นเครื่องรัดแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ อาศัยความร้อนเชื่อมให้สายรัดติดเข้าด้วยกัน

8.3.10 เครื่องพิมพ์

เครื่องพิมพ์ทำหน้าที่ถ่ายหมึกเหลวลงไปสิ่งพิมพ์ (Substrate) ตามตำแหน่ง (image Area) และแบบ (Pattern) ที่ต้องการ ระบบการพิมพ์อาจมีอยู่หลายประเภท แต่ทว่าระบบการพิมพ์กว่า 80% ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์จะประกอบด้วย 4 ประเภทดังนี้

1. แบบถ่ายผ่าน (Relief) ระบบพิมพ์ประเภทนี้อาจเรียกว่า ระบบการพิมพ์พื้นนูน ได้แก่ แบบเฟลกโซกราฟี (Flexo Graphy) แบบแลตเตอร์เพรส ซึ่งเป็นการพิมพ์โดยตรง (Direct Printing)

2. แบบแบนราบ (Plano Graphic) ที่นิยมใช้ได้แก่ ระบบลิโธกราฟี (Lithography) หรือแบบออฟเซ็ตลิโธกราฟี (Offset Lithography)

3. แบบโรตากราวัวร์ (Rotagravure) หรือเรียกแบบย่อว่า กราวัวร์

4. แบบไร้สัมผัส (Non - contact) หรือ แบบไม่ใช้ระบบการกดพิมพ์ เป็นระบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

ระบบการพิมพ์แต่ละแบบดังกล่าวนี้จะแตกต่างกันในแง่ของคุณลักษณะหมึกการส่งผ่านหมึกและการทำให้ติดบนสิ่งตีพิมพ์ อย่างไรก็ตามระบบการพิมพ์ทั้งหมดยกเว้นแบบไร้สัมผัสจะต้องใช้ตัวกลางในการส่งผ่านหมึกที่เรียกว่าโมแม่พิมพ์ซึ่งมีเพลทติดอยู่

นอกจากการแบ่งด้วยระบบการพิมพ์ดังกล่าวนี้ เครื่องพิมพ์ยังสามารถแบ่งตามวิธีการป้อนแบบเป็นแผ่น ป้อนเป็นม้วน โดยปกติเครื่องพิมพ์ที่ป้อนเป็นม้วนจะใช้กับกระดาษที่ยืดตัวได้ง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ในกรณีที่แปรรูปวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องบรรจุ Form - Fill - Seal มักจะใช้วัสดุที่เป็นม้วน เพราะตัวเครื่องจะทำการขึ้นรูปเอง ดังนั้นวัสดุจึงต้องพิมพ์ส่งเป็นม้วนและมีจุดหรือเส้นดำหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร ไว้ให้ตาแมว (Photoelectric cell) ของเครื่องคอยจับจุดรวมฉาก (Registration Mark) เพื่อให้ขึ้นรูปได้ขนาดแต่ละถุงตามต้องการ

การเลือกระบบการพิมพ์ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญมีดังนี้

1. ปริมารของงานพิมพ์ จำนวนสีที่พิมพ์ต่อหน่วยพื้นที่ (Impression Work) และความละเอียดของงานพิมพ์

2. งานที่ออกแบบ กราฟฟิกที่ออกแบบบนบรรจุภัณฑ์อาจจะเป็นลายเส้น (Line Work) งานพิมพ์หลายสี (Full Color) ความแวววับของงานพิมพ์เป็นต้น จะเลือกใช้ระบบที่แตกต่างกัน

3. สิ่งพิมพ์ (Substrate) วัสดุที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์และใช้พิมพ์งานได้แก่ กระดาษ พลาสติก โลหะ และแก้ว การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันจะได้คุณภาพการพิมพ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการดูดซับสีที่ไม่เหมือนกัน ความนิ่มและความแข็งแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์ให้เหมาะสมกับวัสดุแต่ละประเภท

4. รูปทรงสิ่งที่พิมพ์ ซึ่งอาจจะเป็นม้วนหรือแผ่นได้ตามที่กล่าวมาแล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ที่จะพิมพ์อาจจะเป็นรูปทรงกลมหรือไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตใดๆ เลย

5. ความต้องการคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เช่น ป้องกันน้ำ ป้องกันสารเคมี หรือเป็นฉนวนความร้อน เป็นต้น

(1) เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่าน (Relief)

เครื่องพิมพ์แบบนี้ใช้ส่วนที่นูนออกมาเป็นที่ถ่ายผ่านหมึก วิธีการพิมพ์แบบนี้นับเป็นวิธีการแรกเริ่มที่ใช้ในการพิมพ์ เช่น ปั๊มตรายางซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในสำนักงาน เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิมพ์แบบนี้ เครื่องพิมพ์แบบนี้ตัวแม่พิมพ์อาจจะทำจากโลหะยางโพลิเมอร์หรือสารผสม ขึ้นอยู่กับงานพิมพ์ ตัวแม่พิมพ์อาจจะอยู่ในรูปแผ่นแบบราบหรือติดรอบโมหรือไซลินเดอร์ (Cylinder) ที่หมุนในขณะพิมพ์ งานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์ที่เป็นม้วนบนไซลินเดอร์หรือเรียกว่าโมแม่พิมพ์

เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่านที่นิยมได้แก่ เลตเตอร์เพรส และเฟลกโซกราฟี เครื่องพิมพเลตเตอร์เพรสที่ใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากโลหะ เครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสมักใช้หมึกที่ผสมน้ำมันและมักใช้กับการพิมพ์ฉลากและวัสดุเคลือบหลายชั้น แม่พิมพ์ที่ใช้กับเลตเตอร์เพรสจะใช้ได้นานกว่า ทนทานกว่า และพิมพ์ได้คมชัดกว่าแม่พิมพ์ที่ใช้กับเฟลกโซกราฟีที่ทำจากโพลิเมอร์

1. เครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟี

แม่พิมพ์หรือตัวเพลทที่ใช้ในการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟีจะเป็นแบบยืดหยุ่นละกดอัดได้ ด้วยเหตุนี้การพิมพ์ด้วยเฟลกโซกราฟีต้องระมัดระวังในแรงกด ถ้าแรงกดมีมากเกินไปจะทำให้หมึกที่พิมพ์ปลิ้นออกมาอยู่ข้างๆ สิ่งพิมพ์ ที่เรียกตามวิชาการว่า Gain นอกจากนี้ยังมีผลต่อความเข้มของสีพิมพ์อีกด้วย ความละเอียดในการพิมพ์แบบเฟลกโซกราฟีจะค่อนข้างหยาบ คือ ได้เพียง 60 - 120 จุดต่อนิ้ว

ขณะที่พิมพ์หมึกพิมพ์เฟลกโซจะถูกกดให้ขอบของบริเวณที่พิมพ์เป็นเส้นขาดๆ ที่เรียกว่า "Halo Effect" หรือขอบมีรอยแสดงดังในรูปที่ 8.40 ซึ่งเป็นรอยปรากฎการณ์ปกติของการพิมพ์ระบบนี้ ด้วยเหตุนี้ ในการใช้เครื่องพิมพ์เฟลกโซจึงควรหลีกเลี่ยงงานที่ละเอียดมากๆ หรือสีที่เต็มพื้นที่ (Solid color) การพิมพ์ระบบนี้จึงเหมาะกับสิ่งพิมพ์ที่มีผิวค่อนข้างหยาบ และใช้ในวงการบรรจุภัณฑ์ในการพิมพ์กล่องกระดาษลูกฟูก ถุงกระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม และฉลาก

รูปที่ 8.37 หน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟี

วิธีการพิมพ์ระบบเฟลกโซกราฟีแสดงอยู่ในรูปที่ 8.37 หมึกพิมพ์จะถูกนำขึ้นจากเบ้าหมึกด้วยโมถ่ายทอดหมึกที่ควบคุมปริมาณหมึกที่จะพิมพ์ โดยการปาดของมีด (Doctor Blade) เพื่อพาหมึกไปสู่ไซลินเดอร์แม่พิมพ์ วัสดุของสิ่งที่พิมพ์จะเคลื่อนที่ผ่านแม่พิมพ์และไซลินเดอร์กดที่เรียกว่า โมกดแม่พิมพ์ (Impression Roll)

2. เครื่องพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสหรือออฟเซ็ตแบบแห้ง

บรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรงกลม เช่น กระป๋องโลหะไม่มีจุดรวมฉาก (Registration Mark) บนเส้นรอบวงเหมือนกับวัสดุสิ่งพิมพ์แบบเรียบ ด้วยเหตุนี้เวลาพิมพ์กระป๋องจึงใช้วิธีถ่ายผ่านหมึกที่จะพิมพ์ลงบนโมยางที่เรียกว่า Blanket Cylinder แล้วถ่ายผ่านสีทั้งหมดจากโมยางนี้ลงสู่กระป๋อง ดังแสดงในรูปที่ 8.38 โมยางนี้จะหมุนผ่านพื้นผิวบนกระป๋องและถ่ายผ่านสีจากหน่วยพิมพ์แต่ละหน่วยลงไปบนกระป๋องจากการหมุนครบรอบ 1 รอบ หมึกที่ใช้พิมพ์จะยังเปียกชื้นอยู่ ดังนั้น หลังการพิมพ์จึงจำต้องอบให้แห้งด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน

รูปที่ 8.38 หน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ตแบบแห้ง

เครื่องพิมพ์ระบบนี้รู้จักกันในนามของออฟเซ็ตแบบแห้ง สีพิมพ์ในแต่ละจุดไม่ทับกัน ดังนั้น เมื่อมองผ่านแว่นขยายจะเห็นช่องว่างระหว่างจะแต่ละจุดที่พิมพ์บนผิวของสิ่งที่พิมพ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยนิยมพิมพ์สีหลากสีมากนัก (Full - color) ตัวอย่างเช่น กระป๋องน้ำอัดลมต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นรอยเส้นทับบนกระป๋อง ตามแนวความสูงของกระป๋องซึ่งเป็นรอยเส้นที่เกิดจากสีที่เกยกัน

<<ย้อนกลับ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 3 อ่านต่อ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5>>

<<กลับสู่หน้าหลัก



ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5
(2) เครื่องพิมพ์แบบแบนราบ เครื่องพิมพ์ที่ทำงานในแนวแบนราบนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ลิโกราฟฟี (Lithography) ความหมายของแบนราบ คือ บริเวณที่ถูกพิมพ์และไม่ได้พิมพ์ต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน ตัวแม่พิมพ์หรือเพลทมีลักษณะแบนราบและแวววับจะส่งผ่านหมึกไปสู่โมยาง ก่อนพิมพ์ลงไปบนสิ่งพิมพ์ วิธีส่งหมึกผ่านโมยางจะช่วยยืดอายุของแม่พิมพ์ ถ้าปล่อยให้พิมพ์สัมผัสกับสิ่งที่พิมพ์ทุกครั้งที่พิมพ์ หัวใจสำคัญของการพิมพ์แบบแบนราบ คือ การทำงานของเพลทแม่พิมพ์และตัวหมึกที่มีน้ำมันเป็นฐาน เพลทแม่พิมพ์จะถ่ายหมึกพิมพ์ตรงบริเวณที่จะพิมพ์ ส่วนบริเวณที่ไม่พิมพ์นั้นจะเป็นเยื่อบางๆ ของน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีลูกกลิ้งที่ให้ความชื้นบนผิวของลูกกลิ้งแม่พิมพ์ ตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 8.39 ส่วนปริมาณหมึกที่จะพิมพ์นี้ถูกควบคุมด้วยปริมาณของลูกกลิ้งที่ส่งถ่ายหมึกเป็นชุด การพิมพ์แบบลิโธกราฟฟีนี้มักใช้กับการพิมพ์กระดาษ เช่น กล่องกระดาษแข็งฉลากสีสอดสีหลายๆ สี เป็นต้น เครื่องพิมพ์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะป้อนกระดาษเป็นแผ่น ถ้ากระดาษยิ่งเรียบและมันวาวจะยิ่งพิมพ์สอดสีได้สวยงาม จะได้รูปภาพที่คมชัดดังแสดงไว้ในรูปที่ 8.40 รูปที่ 8.40 การแยกประเภทของการพิมพ์จากงานที่พิมพ์ สำหรับกระป๋องที่ต้องการสอดสีสวยงาม จะใช้ระบบออฟเซ็ตลิโธกราฟีนี้พิมพ์ลงไปบนแผ่นโลหะก่อนจะนำไปขึ้นเป็นรูปกระป๋อง แล้วทำการอบแห้ง พร้อมทั้งเคลือบด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน (3) เครื่องพิมพ์กราวัวร์หรือโรโต้กราวัวร์ เครื่องพิมพ์กราวัวร์จะส่งหมึกผ่านโดยแม่พิมพ์ที่กัดเป็นรูเล็กๆ ตามขนาดและความลึกแตกต่างกัน โดยใช้ปฏิกิริยาทางเคมีและการเจียรผิวของของโมแม่พิมพ์ให้เรียบ ในยุคสมัยใหม่จะใช้การเจาะรูด้วยแสงเลเซอร์หรือหัวเข็มทำด้วยเพชร ตัวลูกกลิ้งแม่พิมพ์นี้ทำจากเหล็กชุบด้วยทองแดงพร้อมทั้งเคลือบโครเมียมในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สามารถใช้แม่พิมพ์ได้ทนทาน โมที่พาหมึกพิมพ์นี้จะมีใบมีดที่เรียกว่า Doctor Blade ทำการปาดสีบริเวณปากรูให้เรียบดังแสดงไว้ใน รูปที่ 8.41 สิ่งที่พิมพ์จะผ่านระหว่างโมแม่พิมพ์และโมกดแม่พิมพ์ รูปที่ 8.41 หน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์กราวัวร์ สิ่งที่พิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์ควรมีผิวเรียบที่สามารถรับถ่ายหมึกที่เป็นจุดๆ นี้อย่างรวดเร็วนับได้ว่าเป็นระบบพิมพ์ทำให้คุณภาพการพิมพ์ที่ดีและแม่พิมพ์สามารถใช้งานได้ทนนานกว่าระบบพิมพ์อื่นๆ ดังนั้นจึงเหมาะกับงานพิมพ์ที่มีปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่อง (4) เครื่องพิมพ์ไร้สัมผัสแบบอิงค์เจ็ท (Ink - Jet Printer) Ink - Jet เป็นระบบการพิมพ์แบบไร้สัมผัสที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเนื่องจากความรวดเร็วในการพิมพ์และการพิมพ์ลงบนวัสดุใดๆ ก็ๆ ได้ เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะทำงานโดยใช้วิธีพ่นหยดหมึกขนาดเล็กในปริมาณที่เหมาะสมลงบนสิ่งที่ต้องการจะพิมพ์ จึงให้ประสิทธิภาพในการพิมพ์ที่ดีกว่าแบบอื่นๆ เนื่องจากตัวอักษรคมชัดและสะอาด ระบบอิงค์เจ็ทสามารถพิมพ์ได้เร็วถึง 300 เมตรต่อวินาทีต่อแถว หรือเกือบ 2000 ตัวอักษรต่อนาที ส่วนหมึกที่ใช้กับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเป็นหมึกผสมสารเคมีแบบฐานน้ำ (Water - based Inks) ซึ่งแห้งเร็วและตัวหมึกเองโดยส่วนใหญ่สามารถละลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถขจัดปัญหาการทำความสะอาดของเครื่องพิมพ์ เนื่องจากหมึกที่ใช้กับเครื่องอิงค์เจ็ทเป็นหมึกแบบเชื้อน้ำจึงไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ระบบนี้จึงเป็นที่นิยมกับการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์อาหารในบางโรงงาน ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 200 รายการของการผลิตสามารถใช้ระบบนี้ในการพิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท โดยมีการพิมพ์มากกว่า 1.2 ล้านครั้งต่อวัน และประมาณ 320 วันต่อปี นอกเหนือจากนี้บรรจุภัณฑ์ที่ต้องฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสามารถใช้หมึกพิเศษที่ทนความร้อนได้สูงกว่า 120 องศาเซลเซียส โดยที่สีไม่หลุดลอก รูปที่ 8.42 หน่วยการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท คุณสมบัติพิเศษของเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท คือ ให้การพิมพ์ที่ละเอียดมากจึงสามารถพิมพ์ลงบนพื้นที่ขนาดเล็กๆ ได้โดยหมึกไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนออกมา โดยเฉพาะการพิมพ์บาร์โค้ดซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็กๆเรียงกัน นอกจาดนี้ยังเหมาะสมกับการพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์หรือฉลากในขณะที่บรรจุโดยการเติมวันที่หมดอายุ น้ำหนัก ราคา และวันที่บรรจุในช่องว่างขนาดเล็กที่กำหนดไว้ 8.4 วิธีการจัดหา การจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์มีทั้งเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศและเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องจักรที่นำเข้านั้นอาจจะมีอยู่ในสต๊อกที่สามารถดูสภาพการใช้งานและหลักการทำงานของเครื่องได้ ส่วนเครื่องจักรที่มีระดับราคาเป็นล้านบาทขึ้นไปนั้น มักจะต้องนำเข้าและสั่งทำเป็นรายๆ ไป 8.4.1 เกณฑ์การเลือกซื้อเลือกใช้ การจัดซื้อจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นจากผู้จัดซื้อต้องรู้ถึงความต้องการใช้งานขนาดและความเร็วของเครื่องจักรที่ต้องการซึ่งมีรายละเอียดที่จำต้องรวบรวม ดังต่อไปนี้ 1. สินค้าที่จะบรรจุ เราจะต้องทราบคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น ความสามารถการไหลตกด้วยตนเอง ความหนาแน่น เป็นต้น คุณสมบัติทางเคมีชีวภาพ เช่น การกัดกร่อน ความเป็นกรด - ด่างของสินค้า ถ้ามีตัวอย่างอาหารอยู่แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งให้ผู้ขายเครื่องจักรตรวจสอบและทดลองกับเครื่องจักรจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องทราบถึงหน้าที่เฉพาะของเครื่องจักร เช่น เป็นเครื่องปิดกล่อง เครื่องบรรจุ เครื่องปิดฝา หรือเป็นเครื่อง Form - Fill Seal เป็นต้น 2. สภาวะของการใช้งาน เริ่มตั้งแต่ความดันไฟฟ้า ความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้า ความถี่ของไฟฟ้า น้ำที่จะใช้ สภาวะความเป็นกรด - ด่างของน้ำ ความร้อน และความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณที่จะติดตั้งเครื่อง วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่จะสามารถหาได้ และเหมาะสมกับการใช้งานของเครื่อง 3. วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานเครื่องจักร เช่น ความหนา พร้อมทั้งค่าเบี่ยงเบนที่เครื่องจักรจะยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ความหนา 40 ไมครอน +/- 10% เป็นต้น ในกรณีที่มีตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้อยู่แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะส่งตัวอย่างไปลองทดสอบกับเครื่องจักรพร้อมกับตัวอย่างอาหาร ในกรณีที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่และยังไม่มีตัวอย่าง ควรปรึกษากับผู้ผลิตเครื่องจักรเกี่ยวกับข้อจำกัดของวัสดุที่จะใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วย 4. ปริมาณหรือปริมาตรที่จะบรรจุต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ จะประเมินจากกำลังการผลิตต่อปี ขนาดบรรจุที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งสามารถประเมินปริมาณที่ต้องบรรจุของแต่ละขนาดบรรจุ 5. ความแน่นอนในการบรรจุ โดยการวัดเป็นน้ำหนักหรือปริมาตร 6. บรรจุภัณฑ์ขนส่ง ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุแล้วพร้อมทั้งวิธีการจัดส่ง 7. ความต้องการพิเศษต่างๆ เช่น วิธีการป้อนสินค้ามายังเครื่องบรรจุเครื่องต่อท้ายจากการบรรจุ เช่น เครื่องปิดฉลาก เป็นต้น 8. ราคาของอะไหล่ที่จำเป็นใช้ ที่จะส่งมาพร้อมกับการส่งมอบเครื่องจักร 9. วิธีการและระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักร 10. เวลาที่ใช้ในการส่งสินค้า 11. การฝึกอบรมบุคลากรในการใช้เครื่องจักร เช่น ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ระยะเวลาในการฝึก และผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกดังกล่าว เป็นต้น 12. วิธีการจัดส่งเครื่องจักร 13. ข้อจำกัดอื่นๆ ในการจักซื้อและวิธีการจ่ายเงิน รายละเอียดต่างๆ ที่เตรียมไว้ดังกล่าวข้างต้นนี้ มีจุดหมายเพื่อให้ผู้ผลิต/ขายเครื่องสามารถเตรียมใบเสนอราคาให้ได้ตรงตามความต้องการใช้งานจริงๆ การติดต่อผู้ผลิต/ผู้ขายเครื่องจักรนั้นสมควรพิจารณาจากผู้ผลิที่มีเครื่องจักรมาตรฐานที่ผลิตตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน รายละเอียดเหล่านี้อาจจะได้จากรายชื่อของผู้ได้ซื้อเครื่องและใช้เครื่องอยู่ เมื่อได้รับการเสนอราคาจากผู้ผลิต/ผู้ขายใดๆ แล้ว มาตรการที่จะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักร คือ สมรรถนะในการใช้งานของเครื่องและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต สิ่งเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ไปถึงความสามารถในการจัดหาอะไหล่หลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง พิจารณาโดยรวมแล้วมูลค่าเครื่องจักรที่จ่ายไปนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าโสหุ้ย ค่าบำรุงรักษา เวลาที่เสียไปในการเปลี่ยนขนาด และเวลาที่ต้องหยุดเครื่องโดยไม่มีผลผลิตออกมา หลังจากการรวบรวมราคาและพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว จะเป็นการคัดเลือกเครื่องจักรที่เหมาะสมการใช้งานรอบแรก และปรับปรุงความต้องการในการใช้งานของเครื่องจักรใหม่แปรตามมาตรฐานของผู้ผลิต/ผู้ขายแต่ละราย ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เครื่องทราบถึงรายละเอียดทางเทคนิคของเครื่องจักรแต่ละรายมากขึ้น ก่อนการตัดสินใจในการสั่งซื้อสิ่งที่จำเป็นประการสุท้าย คือ การหาโอกาสได้ชมเครื่องจักรที่ต้องการซื้อนั้นในสภาพการใช้งานอย่างแท้จริง พร้อมทั้งหาโอกาสพูดคุยกับผู้ใช้เครื่องจักรนั้นๆ ด้วย 8.4.2 การเตรียมข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักร (Order Specification) ข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักรเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ใดๆนั้น จะต้องมีรายละเอียดทางเทคนิคมากกว่าข้อกำหนดของตัวบรรจุภัณฑ์ สำหรับข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจำเตรียมจากข้อกำหนดเบื้องต้นที่สอบถาม (Inquiry Specification) และได้รับการตอบแทนด้วยใบเสนอราคาจากผู้ผลิตเครื่องแล้ว ข้อมูลที่จะระบุไว้ในข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักร จะประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้ - แบบและรุ่นของเครื่องจักร - มิติที่ยอมรับได้ของเครื่อง เช่น มีข้อจำกัดเรื่องความสูงของเครื่อง เป็นต้น - แบบ/ขนาด/มิติของบรรจุภัณฑ์และความแปรปรวนที่ยอมรับได้ เป็นต้น - ปริมาณ/ปริมาตร/น้ำหนักที่บรรจุ พร้อมกับความแปรปรวนที่ยอมรับได้ - ความเร็ว ขีดความสามารถในการบรรจุของเครื่องจักร - ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์อาหารที่จะทำการบรรจุ - ข้อกำหนดของคุณสมบัติของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น มิติ รวมทั้งภาพประกอบ - องค์ประกอบสำคัญในการทำงานของเครื่องจักร ถ้าเป็นไปได้ควรมีรูปภาพประกอบ - อุปกรณ์พิเศษต่างๆ และอุปกรณ์เสริมที่ต้องการ เช่น o การเคลือบผิวของเครื่องจักร o ระบบควบคุมอัตโนมัติ o สายพานลำเลียงเพื่อนำส่งเข้าและออกเครื่องจักร - คู่มือการใช้เครื่องจักรที่พิมพ์เป็นภาษาไทย หรืออาจเป็นแผ่นดิสก์ หรือถ่ายทำเป็นม้วนวีดีทัศน์ พร้อมทั้งการฝึกอบรมที่ต้องการ - จำนวนเครื่องจักรที่สั่งซื้อ - ระบบไฟฟ้าของเครื่องจักร เช่น ความดันไฟฟ้า (โวลท์) กำลังไฟฟ้าที่ใช้ เป็นต้น - ระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด - ระบบการบำรุงรักษาของเครื่องจักร - กำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเครื่องจักรเกินจากเวลาที่กำหนดไว้อาจยอมรับให้ส่งล่าช้าได้ แต่อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการสั่งจ่ายเงินตาม Letter of Credit (L/C Amendment) รายละเอียดเหล่านี้ต้องการตกลงล่วงหน้าว่าใครจะเป็นผู้ชดใช้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าในการส่งมอบดังกล่าว - วิธีการส่ง โดยรถยนต์ ทางเรือ ทางอากาศและค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง ในกรณีที่เป็นการสั่งซื้อจากต่างประเทศจำเป็นต้องแจ้งสภาวะดิน ฟ้า อากาศ เช่นอุณหภูมิและความชื้นให้ผู้ผลิตทราบ เพื่อว่าผู้ผลิตเครื่องจักรจะได้เตรียมการจัดส่งอย่างเหมาะสม เช่น การเคลือบกันสนิม เป็นต้น - ราคาที่ได้ตกลงกันไว้แล้วและกำหนดการชำระเงิน ถ้าเป็นการซื้อเครื่องจักรภายในประเทศด้วยเงินบาท ปัญหาก็จะไม่ยุ่งยากนัก แต่ถ้าเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศอาจจะต้องมีการกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนที่แน่นอน โดยมอบความรับผิดชอบให้ธนาคารหรือผู้ขาย แล้วแต่จะตกลงกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่เครื่องจักรส่งมอบใช้ระยะเวลาผลิตนานเป็นปี อาจต้องมีการยืนยันราคาอีกครั้งเมื่อถึงกำหนดส่งมอบเครื่อง - วิธีการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร (รายละเอียดจะได้กล่าวต่อในหัวข้อ 8.4.3) - การรับประกันคุณภาพการใช้งานของเครื่อง โดยปกติจะมีการรับประกันคุณภาพ 1 ปี หลังการส่งมอบ ด้วยการเดินเครื่องจักรตามสภาวะที่ได้ตกลงไว้ก่อน เช่น การเดินเครื่องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและด้วยความเร็วไม่เกิน 100 ขวดต่อนาที เป็นต้น ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สภาวะการเดินเครื่องจักรตามที่ได้ตกลงไว้นี้ มักจะได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจจ่ายเฉพาะค่าแรงเป็นต้น - การบริการหลังการขายและการติดตั้งเครื่องจักร เช่น มีการตรวจเครื่องทุกช่วงเวลาที่กำหนดด้วยค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน - รายชื่อและราคาของอะไหล่ที่ผู้ขายแนะนำให้มี ข้อมูลที่กำหนดในข้อกำหนดการสั่งซื้อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรมีการประยุกต์ใช้และเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นในแต่ละกรณีไป 8.4.3 การตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร ก่อนการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักรมักจะมีการทดสอบการเดินเครื่อง โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้เครื่องมักจะมีความรู้เกี่ยวกับการเดินเครื่องน้อยกว่าผู้ผลิตเครื่องจักร ยกเว้นเคยมีประสบการณ์ในการใช้เครื่องจักรประเภทที่จะซื้อมาก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้การทดสอบการเดินเครื่องก่อนการส่งมอบผู้ซื้อมักจะประสบปัญหา 2 ประการ คือ 1. ขีดความสามารถในการทำงานของเครื่องจักรที่จะยอมรับได้ของผู้ซื้อ เช่น ปริมาณสินค้าที่จะบรรจุ/ผลิตได้จากเครื่อง และปริมาณความสูญเสียในการเดินเครื่องที่จะยอมรับได้ เป็นต้น 2. มาตรการที่จะใช้ในการทดสอบการเดินเครื่อง วิธีการทดสอบเครื่องและมาตรการที่จะยอมรับเครื่องจักร ปัญหา 2 ข้อดังกล่าวควรจะมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าหรืออาจจะมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหน่วยงานกลางมาตัดสินหรือให้คำแนะนำในกรณีที่เป็นเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงๆ ในการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักรมีหลักเกณฑ์การยอมรับเครื่องจักรดังนี้ 1. การทดลองเดินเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ขาย 2. การทดลองเดินเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ซื้อ 3. จำนวนเล่มของคู่มือเครื่องจักร คู่มือบำรุงรักษาและคู่มืออะไหล่ วิธีการทดสอบตรวจรับเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์จะแปรตามประเภทของเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อจะต้องทำการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่จะใช้ในการทดลองเดินเครื่องด้วยปริมาณที่เพียงพอต่อการทดลองเดินเครื่อง นอกจากความเร็วในการบรรจุด้วยวัสดุตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร คือ - สีและรูปลักษณะของตัวเครื่อง - ขนาดและปริมาตรของการบรรจุที่ยอมรับได้ - รายละเอียดของคู่มือการใช้เครื่อง การบำรุงรักษาเครื่อง และความสมบูรณ์ของคู่มือ (คู่มือดังกล่าวอาจจะใช้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการติดสินใจก่อนซื้อเครื่อง ด้วยการศึกษาคู่มือดังกล่าวเปรียบเทียบกับผู้ผลิตเครื่องจักรแต่ละราย) - ความเร็วสูงสุดเมื่อวิ่งด้วยเครื่องเปล่าไม่มีการบรรจุ และความเร็วที่ยอมรับได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนในสัญญาซื้อขาย - ความแปรเปลี่ยนของตัวสินค้าหลังจากการบรรจุ การใช้งานของเครื่องจักร - การตรวจสอบเครื่องจักรก่อนการส่งมอบ ณ โรงงานผลิตเครื่องจักร เพื่อว่าถ้าต้องการมีการแก้ไขใดๆ ก็จะสามารถกระทำได้ที่โรงงานผลิตเครื่องจักรนั้นซึ่งมีสมรรถนะที่ดีกว่าจะมาแก้ไข ณ จุดที่ใช้งานเครื่องจักรหรือมีการตรวจทั้ง 2 แห่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อน ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ควรระบุอยู่ในข้อกำหนดการสั่งซื้อซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละกรณี และความต้องการของผู้ซื้อเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบและการบริหารงานของผู้ผลิตเครื่องจักรเป็นหัวใจสำคัญที่จะให้รายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้ในข้อกำหนดการสั่งซื้อสัมฤทธิผลได้ เช่น การควบคุมคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ การใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย การจัดการภายในโรงงานผลิตเครื่อง อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากแหล่งต่างๆ เป็นต้น บทสรุป การจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์มักจะตัดสินใจโดยใช้ความเร็วในการผลิตหรือการบรรจุเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ เนื่องจากเครื่องจักรเป็นสินทรัพย์ ความมั่นใจในชื่อเสียงของบริษัทที่ผลิตเครื่องจักรและบริษัทที่จำหน่ายก็มีบทบาทต่อการตัดสินใจ ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเลือกเครื่องจักรนั้น นอกเหนือจากความเร็วของเครื่องแล้วปัจจัยอื่นที่จำเป็นต้องพิจารณา ได้แก่ ตำแหน่งที่ตั้งเครื่อง การควบคุมการทำงานของเครื่อง การบำรุงรักษา พร้อมทั้งการบริการหลังการขาย และสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่ายรวมของเครื่องจักร ซึ่งรายละเอียดปัจจัยและวิธีการเลือกเครื่องจักรทั้งหมดได้รวบรวมไว้ในตารางที่ 8.1 ประเภทของเครื่องจักรอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทตามประเภทของอาหาร คือ อาหารเหลว และอาหารแห้ง ส่วนเครื่องจักรพิเศษประเภทอื่นๆ ได้แก่ เครื่องบรรจุสุญญากาศ เครื่องห่อที่มีการทำงานด้วยเชิงกลและการใช้ฟิล์มหดรัดรูปและฟิล์มยืด ในกรณีของบรรจุภัณฑ์แก้ว ฝาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นต้องพิจารณาเครื่องปิดฝาด้วย สำหรับถุงพลาสติกที่มีใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมขนาดย่อม เครื่องปิดปากถุงโดยใช้ความร้อนจะเป็นเครื่องจักรที่พบได้โดยทั่วไป ส่วนกระป๋องนับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันมากในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องจักที่ใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ คือ เครื่องปิดฝาตะเข็บคู่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้กระป๋องมีการปิดสนิทที่มิดชิด (Hermetic Seal) ส่วนเครื่องจักรอื่นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้แก่ เครื่องปิดฉลาก เครื่องบรรจุกล่อง เครื่องปิดกล่อง และเครื่องรัดกล่อง การพิมพ์ที่นิยมใช้กับบรรจุภัณฑ์มี 4 ประการ คือ 1. แบบถ่ายผ่าน (Relief) 2. แบบแบนราบ (Plano Graphic) 3. แบบกราวัวร์ (Gravure) 4. แบบไร้สัมผัส (Non - Contact) สุดท้ายคือ การตรวจสอบและการรับมอบเครื่องจักร ซึ่งมีความจำเป็นมากในการกำหนดคุณลักษณะจำเพาะหรือที่เรียกว่า Specification ของเครื่องจักรในสัญญาการซื้อขาย รายละเอียดในการกำหนดสเป็คจะรวบรวมเอาปัจจัยที่สำคัญตามที่กล่าวไว้แล้วในตารางที่ 8.1 เป็นเกณฑ์ในการตรวจรับมอบเครื่องจักร <<ย้อนกลับ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4 <<กลับสู่หน้าหลัก
กระบวนการพัฒนา เปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค(From Trend to Opportunity)
โดย : คุณสรยุทธ อุจจภูรีSale & Service [email protected] นวัตกรรมเครื่องจักรแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก : ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันผู้คนต่างมีเวลาในการเตรียมอาหารในแต่ละมื้อน้อยลง ส่งผลให้ตลาดอาหารพร้อมปรุงหรืออาหารสะดวกซื้อเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยอาหารพร้อมปรุงได้ออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น หั่นเตรียมสำเร็จ ปรุงเครื่องเทศสำเร็จ หรือเครื่องแกงสำเร็จรูป ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายและมองหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พร้อมปรุงหรืออาหารพร้อมรับประทานที่มีรูปร่างหน้าตาและรสชาติเหมือนกับต้นตำรับ การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ทำให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกต้องตอบสนองกับความต้องการต่อผู้บริโภค ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องจักรเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแบบครบวงจรที่มีความหลากหลาย อาทิเช่น เครื่องตัดกระดูกหรือเนื้อไก่ ให้มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตัดเป็นรูปแบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพความเที่ยงตรงแม่นยำ ทั้งน้ำหนักที่เที่ยงตรง ความยาวหรือรูปร่างตามที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปซึ่งส่วนมากจะถูกเคลือบด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆ หรือตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "Kakugiri" หรือแม้การตัดแต่งให้ได้รูปร่างและน้ำหนักตามที่กำหนดไว้เป็นแผ่นบางๆ มีดังนี้เครื่องสไลด์วัตถุดิบแนวนอน สามารถสไลด์วัตถุดิบให้ได้ขนาดและความสูงตามที่ต้องการ โดยเครื่องสไลด์จะสไลด์วัตถุดิบในแนวนอน มีหลักการทำงานโดยมีใบมีดตัดเนื้อเป็นแนวนอนอย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับความสูงของการตัดได้ตามระยะที่ต้องการ รูปที่ 1เครื่องสไลด์วัตถุดิบในแนวนอน เครื่องตัด สามารรองรับความต้องการตัดวัตถุดิบตามน้ำหนักและความยาวที่กำหนดเพื่อให้เหลือส่วนเกินให้น้อยที่สุด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับวัตถุดิบในกลุ่มสัตว์ปีก โดยเครื่องตัดทำงานโดยอาศัยระบบกล้องและเลเซอร์คำนวณปริมาตรและน้ำหนักของสินค้า หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จะสั่งใบมีดตัดเนื้อให้ได้น้ำหนักและขนาดตามที่ต้องการ (a.) (b.) รูปที่ 2 เครื่องตัด (a.I-cut 36, b. I-cut 32) ส่วนวัตถุดิบที่มีขนาดเล็ก ต้องอาศัยเครื่องตัดวัตถุดิบขนาดความเร็วสูง ที่ทำงานโดยมีใบมีดแบบวงกลมวางเรียงกันตามแนวยาว สามารถตั้งระยะความกว้างในการตัดได้ และได้ปริมาณการตัดสูง เหมาะกับสินค้าที่มีกระดูกและไม่มีกระดูก รูปที่ 3 เครื่องตัดวัตถุดิบขนาดเล็กความเร็วสูง (Strip Cutter) หรือหากต้องการตัดวัตถุดิบให้ได้รูปร่างตามที่กำหนดไว้ เครื่องตัดขึ้นรูปวัตถุดิบสามารถตัดได้โดยมีแม่พิมพ์เป็นตัวกำหนดรูปร่างและน้ำหนักสินค้า เครื่องนี้จึงตัดสินค้าออกมาเป็นแบบสามมิติ รูปที่4เครื่องตัดขึ้นรูปวัตถุดิบ (Template Slicing Machine) หากต้องการคลุกผสมวัตถุดิบ เครื่องคลุกผสมวัตถุดิบสามารถรองรับวัตถุดิบได้ทั้งแบบเปียกและแห้ง ทั้งผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งแบบมีกระดูกหรือไร้กระดูก จึงช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยหลักการทำงานแบบต่อเนื่องสำหรับการผสมและคลุกเคล้าเครื่องปรุงให้เข้าเนื้อวัตถุดิบได้อย่างดี รูปที่ 5เครื่องคลุกผสมวัตถุดิบ (Value drum)
เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2
8.2.3 ระบบการบรรจุ - เติม (1) การบรรจุผลิตภัณฑ์เหลวโดยปริมาตรคงที่ - ระดับคงที่ การบรรจุของเหลวลงในบรรจุภัณฑ์สามารถบรรจุได้ 2 ประเภทดังรูปที่ 8.3 รูปที่ 8.3 การบรรจุของเหลวแบบระดับคงที่และแบบปริมาตรคงที่ 1. การบรรจุแบบระดับคงที่ จะใช้กับผลิตภัณฑ์ของเหลวที่มีราคาต่ำจนถึงราคาปานกลางตัวอย่างเช่น น้ำอัดลม เบียร์ และซอส ซึ่งปริมาตรที่ถูกต้องไม่มีสาระสำคัญนัก การบรรจุแบบระดับคงที่นี้สามารถสังเกตโดยใช้สายตาวัดระดับ ในขณะเดียวกัน ภาชนะบรรจุจะมีปริมาตรบรรจุไม่คงที่ เนื่องจากความหนาของผนังภาชนะบรรจุไม่สม่ำเสมอ ถ้าทำการบรรจุแบบปริมาตรคงที่ ก็จะทำให้ระดับความสูงในการบรรจุแตกต่างกันไป ในขณะที่ผู้บริโภคพอใจที่จะซื้อภาชนะที่บรรจุในระดับเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาใจลูกค้าโดยการบรรจุให้ระดับคงที่ แม้ว่าการบรรจุแบบระดับคงที่จะไม่คำนึงถึงปริมาตรจริง การบรรจุแบบระดับคงที่จะใช้วิธีแรงโน้มถ่วง สุญญากาศ ความดัน หรือการใช้ทั้งความดันและสุญญากาศ ส่วนการควบคุมให้ระดับคงที่โดยการนำของเหลวส่วนเกินออก เมื่อถึงระดับที่ต้องการโดยการใช้อิเล็กทรอนิกส์ หรือการควบคุมแบบนิวเมติกวาล์วช่วยในการบรรจุดังแสดงในรูปบนหน้า 272 2. การบรรจุแบบปริมาตรคงที่ ปริมาตรที่ถูกต้องของอาหารจะถูกบรรจุในภาชนะบรรจุ โดยใช้กระบอกสูบหรือระบบการตวง ชั่ง อย่างอื่น ดังนั้นระบบการบรรจุแบบปริมาตรคงที่จะใช้กับ - ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง - ผลิตภัณฑ์ที่ขายตามน้ำหนัก - ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายต้องการน้ำหนักหรือปริมาตรที่ถูกต้อง (ยกตัวอย่างเช่น แม่สีของสีกระป๋อง) - ผลิตภัณฑ์ทางยาหรือสารเคมีที่ต้องการปริมาณการบริโภคและการใช้ที่ถูกต้อง - ผลิตภัณฑ์ที่มีความเหนียวข้นและไม่สามารถไหลได้ด้วยตนเอง 2. วิธีการบรรจุเติม ถ้าพิจารณาจากการเคลื่อนตัวของภาชนะและท่อบรรจุ (Nozzle) สามารถแบ่งเป็น 2 วิธี คือ วิธีให้ภาชนะเคลื่อนที่ลง และวิธีให้ท่อเติมเคลื่อนที่ขึ้น ดังแสดงในรูปที่ 8.4 รูปที่ 8.4 วิธีการบรรจุของเหลวโดยพิจารณาจากการเคลื่อนที่ของภาชนะบรรจุและท่อบรรจุของเหลว 1. วิธีให้ภาชนะเคลื่อนที่ เริ่มจากการสอดท่อบรรจุของเหลวในคอของภาชนะบรรจุจนถึงระดับหนึ่ง แล้วจึงปล่อยผลิตภัณฑ์ของเหลวให้ไหลลงไปที่ก้นภาชนะ หรือให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวนั้นกระจายไปทางด้านข้างของภาชนะบรรจุ เพื่อให้ของเหลวนั้นค่อยๆ ไหลลงตามผนังภาชนะ ซึ่งจะช่วยลดความแรงของการไหลของผลิตภัณฑ์และลดการรวมตัวกับอากาศจนเกิดเป็นฟองอากาศ 2. วิธีให้ท่อบรรจุเคลื่อนที่ ทำโดยการใส่ท่อหรือท่อบรรจุลงไปถึงก้นของภาชนะบรรจุ แล้วปล่อยผลิตภัณฑ์ของเหลวให้ไหลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้จะช่วยลดการเกิดฟองอากาศในผลิตภัณฑ์และหลีกเลี่ยงการระเหยกลายเป็นไอของผลิตภัณฑ์ การออกแบบท่องบรรจุของเครื่องบรรจุสามารถออกแบบทรงแข็งหรือแบบอ่อนนุ่ม ถ้าหัวเติมเป็นแบบทรงแข็ง เวลาที่ทำการบรรจุตัวบรรจุภัณฑ์จะถูกยกขึ้น แล้วเลื่อนต่ำลงในขณะที่ทำการบรรจุไปเรื่อยๆ ส่วนท่อบรรจุแบบอ่อนนุ่มจะทำงานแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อสอดท่อบรรจุเข้าไปข้างในบรรจุภัณฑ์แล้ว ตัวท่อนั้นจะค่อยๆ เลื่อนสูงขึ้นในขณะบรรจุ (3) ระบบการบรรจุผลิตภัณฑ์ของเหลว การเติมของเหลวมีหลายระบบ ได้แก่ ระบบสุญญากาศ ระบบแรงโน้มถ่วง ระบบความดัน ระบบความดันผสมสุญญากาศและระบบกระบอกสูบ ซึ่งมีการทำงานของระบบต่างๆ พอสังเขป ดังต่อไปนี้ 1. การบรรจุระบบสุญญากาศ เมื่อใส่หัวเติมหรือปลายท่อบรรจุและท่อสุญญากาศเข้าแค่ระดับคอของบรรจุภัณฑ์แล้วผนึกให้สนิทด้วยวงแหวน แล้วทำการดูดอากาศออกจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลให้ความดันของอากาศในถังจ่ายผลิตภัณฑ์ของเหลวสูงกว่าความดันในบรรจุภัณฑ์ ของเหลวในถังจ่ายจะถูกดันด้วยแรงดันบรรยากาศเข้าสู่บรรจุภัณฑ์ เมื่อของเหลวเติมในบรรจุภัณฑ์ถึงระดับปลายท่อ หัวเติมจะดูดของเหลวที่อยู่เหนือระดับปลายท่อไหลออกไปยังถังน้ำล้น ทำให้ของเหลวไม่สูงขึ้นเกินระดับที่ต้องการบรรจุ ส่วนอากาศในบรรจุภัณฑ์ก็จะถูกดูดผ่านปั๊มสุญญากาศปล่อยทิ้งไป การบรรจุระบบสุญญากาศนี้ ใช้สำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวที่สามารถไหลได้ด้วยตนเองลงในบรรจุภัณฑ์ประเภทแข็งตัว ซึ่งเป็นวิธีการที่รวดเร็ว ยืดหยุ่น และการลงทุนต่ำ อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะจำกัดเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่คงรูปแข็งตัว และต้องใช้วิธีการบรรจุแบบระดับคงที่เท่านั้น นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง คือ บริเวณปากบรรจุภัณฑ์จะต้องไม่บิ่นหรือแตก เนื่องจากจะทำให้การดึงสุญญากาศออกจากบรรจุภัณฑ์ไม่สัมฤทธิผล รูปที่ 8.5 การบรรจุระบบสุญญากาศ 2. การบรรจุระบบแรงโน้มถ่วง หัวบรรจุจะเป็นแบบที่มีสปริงกดและมีห่วงยางด้วย มีขนาดพอเหมาะที่สามารถกดลงบนปากขวดได้พอดี เมื่อทำการกดหัวยางลงปากท่อด้วยสปริงก็จะเป็นจังหวะที่ไปเปิดวาล์ว ของเหลวก็จะไหลจากถังจ่ายที่ตั้งอยู่ตอนบนลงในถังบรรจุภัณฑ์ ระดับที่เติมจะถูกกำหนดด้วยระดับของท่อน้ำล้น การบรรจุเติมของเหลวด้วยแรงโน้มถ่วงนี้ จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการหยดก่อนและหลังบรรจุ แต่จะทำงานช้ากว่าระบบบรรจุแบบสุญญากาศ ด้วยเหตุนี้ ระบบนี้จึงไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ประเภทของเหลวที่มีความหนืดสูงซึ่งจะไหลช้ามาก รูปที่ 8.6 การบรรจุระบบแรงโน้มถ่วง 3. การบรรจุระบบความดัน มีการทำงานคล้ายคลึงกับระบบบรรจุการบรรจุระบบแรงโน้มถ่วง โดยใช้ปั๊มเป็นตัวส่งแรงให้เคลื่อนผลิตภัณฑ์ วิธีการนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องยกถังเก็บขึ้นสูง และมีผลทำให้การไหลของผลิตภัณฑ์ไปได้เร็วขึ้น ระบบการบรรจุระบบใช้ความดันนี้เหมาะที่จะใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความเหนียวข้น รูปที่ 8.7 การบรรจุระบบความดัน 4. การบรรจุระบบผสมความดันและสุญญากาศ ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นฟองและมีความเหนียวข้นและส่วนใหญ่ใช้บรรจุในภาชนะบรรจุพลาสติก ความดันจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไหลไปได้เร็ว และสุญญากาศจะช่วยเร่งความเร็วในการบรรจุ ระบบนี้ยังช่วยป้องกันสภาวะการบรรจุเกินโดยการดูดกลับไปยังถังน้ำล้น ทุกระบบของการบรรจุที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องมีห่วงยางบนปากขวดของภาชนะบรรจุและท่อดูดผลิตภัณฑ์ส่วนเกิน ท่อน้ำล้นนี้สามารถใช้ระบบนิวเมติกควบคุมระดับการเติมของเหลว ระบบนิวเมติกนี้จะทำให้อากาศที่มีความดันต่ำ ช่วยดันของเหลวไหลผ่านท่อภายในท่อบรรจุ เมื่อถึงระดับความสูงที่ต้องการของเหลวในภาชนะบรรจุจะก่อให้เกิดความดันย้อนกลับ และทำให้ระบบนิวเมติกหยุดระบบการเติมของเหลว รูปที่ 8.8 การบรรจุระบบผสมความดันและสุญญากาศ 5. การบรรจุระบบกระบอกลูกสูบ ระบบนี้ประกอบด้วยกระบอกลูกสูบพร้อมแกนลูกสูบและวาล์ว ผลิตภัณฑ์จะไหลจากถังเก็บเมื่อลูกสูบเลื่อนมาข้างหลังและถูกบังคับให้ไหลลงในบรรจุภัณฑ์เมื่อลูกสูบเลื่อนมาข้างหน้า การบรรจุระบบกระบอกสูบเป็นระบบที่มีวิธีการทำอย่างง่าย สะดวกต่อการบำรุงรักษา นับเป็นระบบบรรจุที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่บรรจุผลิตภัณฑ์ที่สามารถไหลได้ง่ายและสะดวกด้วย คุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์เองดังแสดงในรูปบนสุดหน้า 271 6. การบรรจุระบบการตวง วัด โดยใช้ปั๊มวัด (Metering Pumps) ระบบการบรรจุแบบตวงวัดจะใช้ปั๊มชนิดเคลื่อนที่ได้ไปติดตั้งตรงบริเวณที่ต้องการปั๊มจะทำงานโดยการตั้งจำนวนรอบไว้ล่วงหน้า และหยุดการจ่ายเมื่อครบรอบที่ตั้งไว้แล้ว ระบบการบรรจุแบบปั๊มมักจะใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารเหลวซึ่งไม่มีของเหลวแขวนลอยหรือตกตะกอน เช่น น้ำดื่ม ซอส เป็นต้น (4) ระบบการบรรจุผลิตภัณฑ์ของแห้ง ระบบการบรรจุผลิตภัณฑ์ของแห้งโดยทั่วไปมี 4 วิธีหลักๆ คือ 1. การบรรจุโดยปริมาตรระบบถ้วยตวง รูปแบบที่ง่ายที่สุดของเครื่องจักรในการบรรจุแบบปริมาตรจะประกอบด้วยจานแผ่นเรียบที่มีถ้วยตวงวางตั้ง ซึ่งหมุนไปจนเมื่อบรรจุแต่ละถ้วยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อหมุนมาถึงอีกด้านหนึ่งจะปล่อยผลิตภัณฑ์ออกจากถ้วยตวง วิธีการนี้เป็นวิธีการลงทุนไม่สูงและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลต่ำ 2. การบรรจุโดยปริมาตรระบบใช้เกลียว ระบบนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการบรรจุแบบปริมาตรซึ่งเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ไหลได้ด้วยตนเองลำบาก ตัวอย่างเช่น น้ำตาลทรายแดง จึงจำเป็นต้องมีเกลียวในถังเก็บผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการจ่ายผลิตภัณฑ์ลงไปในบรรจุภัณฑ์ ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่จ่ายจะแปรตามความเร็วในการหมุนของเกลียว และช่องว่างระหว่างแต่ละเกลียวที่นำส่งผลิตภัณฑ์ รูปที่ 8.9 การบรรจุแบบใช้ถ้วยตวงวัด รูปที่ 8.10 การบรรจุแบบใช้เกลียว 3. การบรรจุระบบน้ำหนักสุทธิ ระบบนี้มีหน่วยชั่งน้ำหนักเพื่อชั่งน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ก่อนบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ โดยทั่วไปแต่ละสถานีของเครื่องบรรจุระบบชั่งน้ำหนักสุทธิจะมีความเร็วไม่เกิน 20 - 22 ครั้งต่อนาที 4. การบรรจุระบบนับจำนวน การบรรจุระบบนับจำนวนมีหลายวิธีการ เช่น - การนับแบบใช้ตาไฟฟ้าจะเหมาะกับผลิตภัณฑ์ประเภทขนมปัง ขนมขบเคี้ยว หรือสินค้าชิ้นใหญ่ - การนับโดยใช้แผ่นดิสก์ที่เจาะรู (Rotating Perforated Disc) เป็นวิธีการที่ง่ายและไม่แพง จึงเหมาะสมที่จะใช้กับการนับผลิตภัณฑ์จำพวกลูกกวาด - การนับโดยใช้ราง (Chute) และท่อ (Channel) ซึ่งเป็นวิธีการนับที่นิยมมากที่สุด สำหรับลูกอมแบบแข็งซึ่งมีขนาดคงที่ ผลิตภัณฑ์จะเดินทางผ่านช่องรางซึ่งมีการตวง วัด จำนวนที่ถูกต้องจากระยะทางที่ลูกอมเรียงกันตามช่องรางก่อนบรรจุในบรรจุภัณฑ์ การบรรจุทั้งระบบของเหลวและระบบแบบแห้งดังที่กล่าวมาแล้วนี้ สามารถนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ กันได้ เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และซอง เป็นต้น ความสลับซับซ้อนของเครื่องบรรจุแปรผันตามความเร็วที่ต้องการใช้ในการบรรจุและรูปทรงของภาชนะบรรจุ เช่น รูปทรงกลม ทรงเหลี่ยมหรือเป็นแบบซอง 8.3 เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ 8.3.1 เครื่องบรรจุเติม เครื่องบรรจุประเภทนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามแนวการเคลื่อนที่ของบรรจุภัณฑ์ คือ เครื่องบรรจุเส้นตรงและแบบโรตารี่ดังแสดงในรูปที่ 8.11 รูปที 8.11 เครื่องบรรจุแบบเส้นตรงและแบบโรตารี่ (1) เครื่องบรรจุแบบเส้นตรง ตัวบรรจุภัณฑ์จะเรียงเข้าสู่หัวบรรจุเป็นแนวเส้นตรง เครื่องบรรจุประเภทนี้สะดวกในการเปลี่ยนขนาดและเพิ่มหัวบรรจุเมื่อมีความต้องการเพิ่มความเร็วในการบรรจุ (2) เครื่องบรรจุแบบโรตารี่ เป็นเครื่องที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ที่มีการบรรจุโดยใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดเดียวกันตลอด โดยไม่ค่อยเปลี่ยนขนาดเนื่องจากต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนจานป้อนเข้าและออกพร้อมทั้งเปลี่ยนหัวบรรจุ ในกรณีของเครื่องบรรจุซอง มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์อื่น เนื่องจากมีการออกแบบเครื่องจักรสำหรับซองโดยเฉพาะ ตัวเครื่องจะทำการขึ้นรูปซองเองจากฟิล์มเป็นม้วน แล้วบรรจุโดยใช้ระบบ การบรรจุตามที่กล่าวมาแล้วไม่ว่าจะเป็นแบบแห้งหรือแบบเหลว จากนั้นตัวเครื่องจะทำการปิดผนึกเสร็จในเครื่อง ด้วยเหตุนี้เครื่องประเภทนี้จึงมีชื่อย่อว่า FFS ซึ่งย่อมาจาก Form - Fill - Seal (ขึ้นรูปภาชนะบรรจุสินค้า - ปิดผนึก - ห่อ) รูปที่ 8.12 เครื่อง FFS บรรจุซองแบบแนวดิ่ง รูปที่ 8.13 เครื่อง FFS บรรจุซองแบบแนวราบ เครื่องจักร FFS แบ่งตามทิศทางการเคลื่อนที่ของซอง โดยแบ่งเป็นแบบแนวดิ่งและแนวราบ ดังแสดงในรูปที่ 8.12, รูปที่ 8.13 และรูปล่างในหน้า 271 เครื่องจักรในแนวดิ่งจะดิ่งมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่า เครื่องจักร FFS ดังกล่าวทั้ง 2 ประเภทโดยทั่วไปจะมีความเร็วไม่เกิน 200 ซองต่อนาที ต่อหัวบรรจุ 1 หัว นอกจากในกรณีที่ต้องการความเร็วสูงๆ ต้องใช้ระบบโรตารี่เข้าช่วย ซึ่งอาจมีความเร็วสูงถึง 1,000 ซองต่อนาที โดยแยกส่วนขึ้นรูปซองออกจากส่วนบรรจุ 8.3.2 เครื่องบรรจุสุญญากาศ (Vacuum Packing Machine) ตามที่อธิบายในหัวข้อของการถนอมอาหารว่าปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในบรรจุภัณฑ์เป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นจึงมีการปรับสภาวะภายในภาชนะบรรจุอาหารโดยการดูดเอาอากาศออก เพื่อลดปริมาณออกซิเจนในภาชนะบรรจุ เป็นการยืดอายุของผลิตภัณฑ์อาหาร จากการดูดเอาอากาศออกย่อมส่งผลให้ตัวบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะแบบซองหดตัวไปตามรูปแบบอาหาร ทำให้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ชวนมอง ดังนั้น จึงมีการฉีดก๊าซเฉื่อยเข้าไปแทนที่กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ปรับสภาวะบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging หรือ MAP) เครื่องจักรที่ใช้ในระบบนี้แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบกึ่งอัตโนมัติและแบบอัตโนมัติ (1) เครื่องสุญญากาศแบบกึ่งอัตโนมัติ ส่วนใหญ่มักใช้ถุงหรือถาดที่ทำมาสำเร็จรูปแล้ว โดยการบรรจุสินค้าลงไปก่อนนำเข้าสู่เครื่อง แล้วนำซองหรือถาดวางในตัวเครื่องโดยมีบริเวณส่วนเปิดของบรรจุภัณฑ์วางอยู่ในรอยแนวปิดผนึกของเครื่องตามรูป (ก) ของรูปที่ 8.14 ส่วนตัวเครื่องมีลักษณะคล้ายกระเป๋าเอกสารมีฝาเปิดปิดในแนวดิ่ง เมื่อจัดเรียงวางบรรจุภัณฑ์ภายในเครื่องเสร็จแล้วปิดฝา ตัวเครื่องจะทำงานอย่างอัตโนมัติ โดยการดูดเอาสุญญากาศภายในตัวเครื่องรูป (ข) เมื่อเครื่องดูดสุญญากาศได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้เครื่องจะปิดผนึกในรูป (ง) แล้วปล่อยอากาศเข้าไปในเครื่องพร้อมกับเปิดฝาออกในรูป (จ) ถ้าต้องการทำเป็นระบบบรรจุภัณฑ์ปรับสภาวะ หลังจากการดูดสุญญากาศออกแล้ว ตัวเครื่องจะทำงานต่ออีกขั้นหนึ่ง คือ การฉีดก๊าซในอัตราส่วนที่ต้องการเข้าไปในเครื่องหรือเข้าไปในบรรจุภัณฑ์แล้วแต่การออกแบบของเครื่องเมื่อฉีดได้ตามปริมาณที่ต้องการแล้ว ค่อยปิดผนึกและหยุดการทำงานของเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงานของการฉีดก๊าซดังแสดงในรูปที่ 8.14 รูป (ค) รูปที่ 8.14 ขั้นตอนการทำงานของเครื่องบรรจุสุญญากาศ ปัจจัยสำคัญพึงสังเกตของเครื่องสุญญากาศแบบกึ่งอัตโนมัตินี้คือ มิติของความยาว ความกว้างและความสูงของเครื่อง ความยาวของรอยปิดผนึก ความสามารถของปั๊มในการดูดสุญญากาศระบบการควบคุมและระบบการผสมก๊าซที่ต้องการ (2) เครื่องสุญญากาศแบบอัตโนมัติ เครื่องจักรแบบอัตโนมัตินี้มักป้อนฟิล์มพลาสติกในลักษณะเป็นม้วน จึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Rollstock Machine .ในกรณีที่ต้องการทำเป็นถุงจะประกอบด้วยฟิล์ม 2 ม้วน ม้วนหนึ่งอยู่ด้านล่างและม้วนหนึ่งอยู่ด้านบน ม้วนล่างจะรองรับสินค้าที่จะบรรจุ ในกรณีที่ต้องการทำเป็นถาด ม้วนล่างจะเป็นม้วนที่ถูกความร้อนทำให้นิ่มและขึ้นเป็นรูปถาด เมื่อบรรจุสินค้าเรียบร้อยแล้ว ทั้งฟิล์มม้วนล่างและม้วนบนจะเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณสถานีที่ทำการดูดสุญญากาศและฉีดก๊าซพร้อมทั้งปิดผนึก แล้วจึงทำการตัดออกมาเป็นถาดหรือซองตามต้องการ ตัวเครื่องแสดงในรูปกลางหน้า 271 ปัจจัยในการพิจารณาเลือกใช้เครื่องจักร คือความกว้างของเครื่องที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ตามที่ต้องการ วิธีการขึ้นรูปเป็นถาดและถุง ระบบการควบคุมการดึงสุญญากาศและการผสมก๊าซที่จะฉีด จังหวะการเคลื่อนบนสายพานเพื่อนำส่งซองหรือถาด ปริมาณการสูญเสียจากการตัดขอบทั้ง 2 ข้าง หัวใจสำคัญของเครื่องแบบอัตโนมัติ คือ ตัวโมลด์ที่ใช้ขึ้นรูปถาด นอกจากจะขึ้นรูปได้ตามความสูงที่ต้องการแล้ว ความหนาบางของบริเวณมุมถาดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บรรจุภัณฑ์ถาดคงรูปภายใต้สภาวะความเป็นสุญญากาศหรือการปรับสภาวะเนื่องจากความดันอากาศภายในถาดต่ำ 8.3.3 เครื่องห่อ (Wrapping Machine) (1) การห่อแบบบิด (Twist Wrap) เมื่อต้องการห่อผลิตภัณฑ์จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกอม ย่อมมีความจำเป็นต้องพิจารณาใช้เครื่องห่ออัตโนมัติเข้ามาแทนที่คน ส่งผลให้ความเร็วในการห่อเพิ่มมากขึ้น และห่อของเล็กๆได้อย่างง่ายดาย เมื่อนำแผ่นวัสดุที่ตัดเป็นแผ่นมาพันรอบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการห่อ แล้วบิดปลายทั้งสองข้างเป็นเกลียวที่เรียกว่า Twist Wrap ดังแสดงในรูปที่ 8.15 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับการห่อลูกกวาดนั้น สามารถห่อได้เร็วถึง 600 ชิ้นต่อนาที (2) การห่อของที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า การห่อของที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้วิธีการห่อของแบบปกติด้วยวัสดุบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ที่สามารถเลือกใช้ตามขนาดและจัดให้เหมาะกับรูปร่างของสิ่งของที่ต้องการห่อตามวิธีการดังนี้ ตัดวัสดุที่จะห่อให้เป็นแผ่นยาวที่ต้องการ วางของที่ต้องการลงบนห่อนั้น พับตามรอยของที่ต้องการจนปลายมาทับซ้อนกันประมาณ ¼ นิ้วหรือ 1 นิ้ว แบบปลายเปิดทั้งสองข้าง จากนั้นพับบิดปลายทั้งสองข้างให้เข้าที่ การห่อของที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างชัดเจน เช่น ซองบุหรี่ แสดงดังรูปที่ 8.16 มีขั้นตอนการห่อดังนี้ เริ่มด้วยการพับขอบปลายข้างหนึ่งก่อน (หมายเลข 1) เหลือปลายอีกข้างวิ่งผ่านไปตามรางจะถูกพับปิด (หมายเลข 2) ปลายที่เหลืออีกสองข้าง (หมายเลข 3) จะถูกพับด้านล่างและด้านบนต่อไป (หมายเลข 3 และ 4) รูปที่ 8.16 การห่อของที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า (3) การห่อของที่มีขนาดไม่คงที่ - ลักษณะนุ่ม ถ้าต้องการห่อของที่มีขนาดไม่คงที่หรือมีลักษณะนุ่ม การยึดติดปลายทั้งสองข้างจะต้องมีความแน่นอนแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถพับเรียงไปตามลำดับได้ เช่น การห่อก้อนขนมปังปอนด์ การห่อของดังที่กล่าวมาโดยใช้เครื่องจักรช่วยห่อ จำเป็นจะต้องดึงวัสดุห่อออกจากม้วน แล้วตัดเพื่อนำมาห่อของอีกครั้ง ถ้าวัสดุห่อนั้นบางมากและไม่คงตัวก็จะยุ่งยากในการทำงาน มีดที่จะใช้ตัดก็ต้องตัดปรับให้เหมาะสม การใช้ตัวจับดึงวัสดุออกมาจึงเหมาะสมกว่าดันสินค้าผ่านวัสดุที่ออกจากม้วน จากนั้นผนึกปลายด้วยฉลาก กาว หรือปิดผนึกด้วยความร้อน การติดฉลากด้วยกาวทีละชิ้นนั้นไม่เหมาะกับความเร็วสูง โดยปกติมักใช้ฉลากที่ต้องป้อนมาเป็นม้วน โดยมีข้างหนึ่งเคลือบด้วยกาวแบบเดียวกับสติกเกอร์แล้วแตะสัมผัสสินค้า ฉลากสติกเกอร์นั้นก็จะถูกส่งผ่านจากม้วนลงไปติดตำแหน่งที่ต้องการ รูปที่ 8.17 การห่อสินค้าที่นุ่ม เช่น ขนมปังปอนด์ <<ย้อนกลับ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1 อ่านต่อ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 3 >> <<กลับสู่หน้าหลัก
เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 3
8.3.4 เครื่องหดรัดรูป (Shrink Wrapping Machine) และเครื่องยืดรัดรูป (Stretch Wrapping Machine) การที่ฟิล์มสามารถหดรัดรูปสินค้าได้เกิดจากฟิล์มซึ่งยังคืนตัวไม่หมดระหว่างการผลิตเมื่อได้รับความร้อน เนื้อฟิล์มก็จะหดตัวลงรัดตัวบรรจุภัณฑ์สินค้าที่จะทำการห่อ เมื่อบรรจุภัณฑ์ที่ห่อด้วยฟิล์มหดรัดรูปแล้วจะดูสวยงามสามารถมองเห็นบรรจุภัณฑ์ได้ชัดเจนรอบตัว ช่วยป้องกันฝุ่นละอองและช่วยป้องกันบรรจุภัณฑ์ถูกเปิดออกก่อนที่จะซื้อ (1) รูปแบบการห่อรัดรูป มีสองรูปแบบ คือ - แบบสวมหรือสลีฟ (Sleeve) จะเปิดปลาย 2 ข้าง เสมือนสวมปลอกให้บรรจุภัณฑ์สินค้า - แบบห่อปิดผนึกโดยรอบ ปกติเมื่อห่อฟิล์มแล้วจึงจะตัดพร้อมปิดผนึกสองด้าน รูปที่ 8.18 การห่อแบบรัดรูป (2) ฟิล์มที่ใช้กับเครื่องหดรัดรูป ทำจากพลาสติกเนื้อ PE, PVC, PP พิเศษ และ PE พิเศษ โดยฟิล์มแต่ละชนิดมีคุณสมบัติดังนี้ - ฟิล์ม PE จะมีความเหนียวพอใช้แต่ไม่ใสมาก จึงมักใช้ในการห่อสินค้าแบบรวมห่อ เช่น ห่อรัดน้ำดื่ม 6 ขวด - ฟิล์ม PVC เป็นฟิล์มใสวาว กรอบแตกฉีกขาดง่าย ระหว่างที่ฟิล์มหดตัวด้วยความร้อนจะคายสารไวนิลคลอไรด์ออกมามีกลิ่นฉุนแบบกลิ่นคลอรีน ถ้าถูกอาหารจะปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจึงไม่ควรใช้กับอาหารโดยตรง - ฟิล์ม PP พิเศษและ PE พิเศษ อาจเรียกชื่อฟิล์มทั้งสองว่า ฟิล์ม HP (High Performance) เป็นฟิล์มที่มีความใสสูง วาวพอสมควร เนื้อบาง แต่มีความเหนียวสูง ทนอุณหภูมิเยือกแข็งได้ สามารถใช้ห่อสัมผัสกับอาหารได้โดยตรง เช่น ห่อเนื้อผลไม้สด อาหารพร้อมปรุง ฟิล์ม PP พิเศษ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า ส่วนฟิล์ม PE พิเศษเพิ่งเริ่มทำการผลิตในเมืองไทยเมื่อต้นปี 2540 (3) เครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับฟิล์มหดรัดรูป ได้แก่ - เครื่องเป่าผม เป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดสำหรับการผลิตจำนวนน้อยๆ - ตู้อบ เป็นแบบเปิดรับบรรจุภัณฑ์สินค้าที่สวมฟิล์มหรือผนึกฟิล์ม 3 ด้าน เมื่อปิดฝาเครื่องจะเป่าความร้อนที่อุณหภูมิและตามเวลาที่ตั้งไว้ - อุโมงค์อบเป็นทั้งแบบส่งผ่านเข้าตู้ด้วยมือและโดยใช้สายพาน - บ่อแช่น้ำร้อน ตัวสินค้าจะห่อด้วยฟิล์ม HP ที่ปิดผนึกทุกด้าน แล้วจึงจะนำไปหย่อนแช่ในน้ำร้อนตามเวลาและอุณหภูมิที่ตั้งไว้ สินค้าอาหารที่ใช้ห่อด้วยการแช่น้ำร้อนนี้ ได้แก่ เป็ดทั้งตัว ขาหมูแช่เค็ม เนื้อแฮมชิ้นใหญ่ๆ ข้อดีของการใช้ฟิล์มหดรัดรูปแบบแช่น้ำร้อนนี้ จะทำให้ฟิล์มได้รับความร้อนสม่ำเสมอและจะหดตัวได้รอบทั่วถุงทำให้ดูสวยงาม เครื่องจักรหดรัดรูปแบบอุโมงค์อบและตู้อบดังแสดงในรูปซ้ายมือล่างหน้า 272 ประกอบด้วยเครื่องปิดผนึกตัดฟิล์มในตัว หลังจากห่อและปิดผนึกแล้ว จะต้องลำเลียงบรรจุภัณฑ์พร้อมสินค้าที่มีฟิล์มห่อหรือสวมไว้อย่างหลวมเข้าไปในอุโมงค์ การลำเลียงสินค้าที่เข้าสู่อุโมงค์อบมีทั้งแบบกึ่งอัตโนมัติและแบบอัตโนมัติรูปที่แสดงไว้นี้เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ (4) รูปแบบการยืดรัดรูป การยืดรัดรูปเป็นวิธีการห่อรัดบรรจุภัณฑ์สินค้าโดยการดึงฟิล์มให้ยืดออกในขณะที่ห่อสินค้าขอบที่ยืดออกสามารถซ้อนแนบติดกับฟิล์มด้วยกันเองได้ เนื่องจากความพยายามในการคืนสู่รูปเดิมหรืออาจใช้กาวหรือความร้อนช่วยติดด้วย ตัวฟิล์มยืดมีราคาสูงกว่าฟิล์มหดเล็กน้อย แต่มีความบางน้อยกว่า 15% ฟิล์มยืดนี้ทำจากเนื้อพลาสติก LLDPE เนื่องจากมีความสามารถยึดได้ดีและเหนียว ในกรณีทีต้องการใช้ฟิล์มยืดที่มีความใส อาจใช้เป็นฟิล์มเนื้อ PVC แทนได้ ข้อดีของการใช้ฟิล์มยืดคือ ไม่ต้องเสียพลังงานความร้อน แต่ใช้แรงยืดแทนทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของฟิล์มยืดจะถูกกว่าฟิล์มหด เครื่องมือในการใช้งานเพื่อยืดรัดห่อสินค้าได้แก่ - มือดึงยืดและกดแนบ - แท่นปิดผนึก มีแกนติดตั้งม้วนฟิล์มยืดและแท่นอุ่น - เครื่องยืดรัดกึ่งอัตโนมัติ (5) เครื่องพันรัดกองกะบะ เป็นเครื่องที่ทำงานด้วยระบบเบรกเพื่อช่วยจับฟิล์มให้ยืดออกในขณะพันรัดกะบะ ซึ่งมีทั้งที่เป็นระบบแท่นหมุน (กะบะวางอยู่บนแท่น) หรือระบบแขนดึงหมุนของฟิล์ม ซึ่งกะบะจะอยู่กับที่ดังแสดงในรูปที่ 8.19 รูปที่ 8.19 การยึดรัดสินค้าบนกะบะ 8.3.5 เครื่องปิดฝา (Cap Closure Machine) ฝาที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 ประเภทดังแสดงในรูปที่ 8.20 ฝาแต่ละประเภทมีลักษณะดังนี้คือ (1) ฝาจีบ (Crown Cork) เป็นฝาที่คุ้นเคยเนื่องจากใช้กับขวดน้ำอัดลมเป็นส่วนใหญ่ เครื่องจักรที่ใช้เป็นการกด (Press) บริเวณฝาที่เป็นจีบลงไปในร่องของปากขวด (2) ฝาเกลียว เป็นฝาที่ใช้กันมากในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรที่ใช้จะมีตัวหนีบฝา (Chuck) ให้หมุนไปตามเกลียวของขวด ในกรณีใช้ฝาอะลูมิเนียมกับขวดพลาสติก ตัวฝาอะลูมิเนียมจะไม่ได้มีเกลียวมาก่อน แต่ตัวเกลียวจะรัดฝาอะลูมิเนียมที่นิ่มเข้ากับร่องขวดทำให้ฝาแนบสนิทกับปากขวดแก้ว (3) ฝาลัก (Lug) ส่วนใหญ่เป็นฝาโลหะที่มีติ่งอยู่ใต้ฝา มักใช้กับขวดปากกว้างสำหรับบรรจุอาหารประเภทต่างๆ ข้อดีของฝาประเภทนี้ คือ หมุนฝาเพียงเศษ 1 ส่วน 4 รอบก็จะสามารถเปิดฝาได้อย่างง่ายดายเช่น ฝาที่มี 4 lug การเลือกใช้เครื่องจักรในการปิดฝาจะแปรตามประเภทของฝาที่ใช้ ระบบการทำงานที่นิยมทั่วไป คือ ระบบตัวหนีบทำงานด้วยทำงานด้วยกลและระบบทำงานด้วยลม ระบบลมจะเป็นระบบที่ทำงานได้สะดวกกว่าระบบกล ในปัจจุบันเครื่องปิดฝามักจะผสมผสานทั้ง 2 ระบบเข้าด้วยกัน รูปที่ 8.20 ฝาประเภทต่างๆ 8.3.6 เครื่องปิดผนึกแบบร้อนและแบบเย็น (Sealing Machine Hot Seal and Cold Seal) (1) การปิดผนึกแบบร้อน เครื่องปิดผนึกแบบร้อน อาจแบ่งประเภทตามความสลับซับซ้อนของเครื่องจักรดังแสดงในรูปกลางหน้า 272 โดยเริ่มจากประเภทง่ายๆ เรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้ 1. เครื่องปิดผนึกแบบบาร์ร้อน (Bar Sealer) หลักการทำงานคล้ายกับเครื่องเตารีดซึ่งแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน เครื่องปิดผนึกนี้นับเป็นเครื่องที่ใช้กันมากที่สุด ก่อนปิดผนึกจะต้องจับบริเวณปากถุงให้ตึงเรียบไร้รอยย่น จึงจะได้รอยปิดผนึกที่สมบูรณ์ โดยปกติบาร์ร้อนจะมีเพียงด้านเดียว ดังรูปที่ 8.21 แสดงการปิดผนึกแบบบาร์ร้อนตัวบาร์ร้อนจะอยู่ด้านบน ด้วยการใช้แรงกดอย่างสม่ำเสมอทั้งบริเวณเครื่องปิดผนึกแบบนี้ใช้พลาสติกที่มีการเคลือบหลายชั้น รูปที่ 8.21 การปิดผนึกแบบบาร์ร้อน 2. เครื่องปิดผนึกแบบสายพาน (Band Sealer) ใช้ระบบการทำงานเช่นเดียวกับแบบแรก แต่มีความเร็วในการทำงานสูงกว่าและแรงดันแต่ละครั้งสม่ำเสมอ สามารถตั้งระยะชิดของสายพานลวดความเร็วให้ได้ความดันใกล้เคียงกันตลอดแนวปิดผนึก ความร้อนของสายพานถูกส่งผ่านจากแผ่นความร้อนและลวดความร้อนดังแสดงในรูปที่ 8.22 และรูปกลางในหน้า 272 สิ่งที่พึงระวังคล้ายคลึงกับระบบแรกคือ เมื่อป้อนถุงตามรูปจากซ้ายมือเข้าสู่เครื่องนั้น ปากซองจะต้องตึงเรียบเพื่อให้เกิดการปิดผนึกอย่างสมบูรณ์แบบ เครื่องปิดผนึกแบบสายพานนี้มีกำลังการผลิตสูงกว่าเครื่องปิดผนึกแบบบาร์ร้อนถึง 3 เท่า จึงสมควรพิจารณาจัดหามาใช้ถ้าต้องการเพิ่มกำลังการผลิต รูปที่ 8.22 การรีดปิดปากซอง ระบบสายพาน (3) เครื่องปิดผนึกแบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Impulse Sealer) หลักการทำงานคล้ายคลึงกับแบบที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ความแตกต่างอยู่ที่บริเวณให้ความร้อน เส้นลวดที่ให้ความร้อนนี้ จะมีฉนวนความร้อนหุ้มอยู่เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านในระยะเวลาสั้นๆ จะแปลงเป็นความร้อนเชื่อมบริเวณปากถุงให้หลอมเหลวเป็นเส้นรอยปิดผนึกเล็กๆ ดังแสดงในรูป 8.23 เครื่องปิดผนึกระบบนี้จะมีการสะสมความร้อนน้อยกว่าและให้ความร้อนด้วยปริมาณที่แน่นอนกว่าในการปิดผนึกแต่ละครั้ง เครื่องปิดผนึกแบบนี้เหมาะแก่การใช้งานกับพลาสติกชั้นเดี่ยวๆ ไม่มีการเคลือบหลายชั้น รูปที่ 8.23 การปิดผนึกแบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (2) การปิดผนึกแบบเย็น ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว องค์ประกอบในการปิดผนึก ประกอบด้วยอุณหภูมิเวลาที่ปิดผนึก แรงปิดผนึกและการเย็นตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือความเร็วในการปิดผนึกและยังสามารถลดการใช้พลังงานของเครื่อง ได้มีวิวัฒนาการของกาวในการเคลือบชั้นในของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ โดยสามารถปิดผนึกด้วยความร้อนที่ต่ำประมาณ 50 องศาเซลเซียส และใช้เวลาน้อยทั้งในการปิดผนึกและการเย็นตัว แต่เพิ่มความดันมากขึ้นเป็นเท่าตัวจากความดันในระบบการปิดผนึกแบบเดิม ผลจากการใช้ระบบผนึกแบบเย็น ทำให้เครื่องจักรสานสามารถเพิ่มความเร็วได้สูงกว่าเท่าตัว โดยสามารถห่อได้เกินกว่า 500 ซองต่อนาที โดยเฉพาะเครื่อง Form - Fill - Seal แบบแนวราบดังแสดงในรูปที่ 8.24 ระบบผนึกแบบเย็นยังเป็นระบบที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา เนื่องจากความต้องการความเร็วในการผลิตยังค่อนข้างต่ำ และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องปิดผนึกแบบเย็น (Cold Seal Machine) ยังมีราคาค่อนข้างสูง รูปที่ 8.24 เครื่องห่อ FFS แบบแนวราบ 8.3.7 เครื่องปิดกระป๋อง (Can Seamer) เครื่องจักรที่ใช้ปิดกระป๋องมีหลายแบบและหลายขนาดนับตั้งแต่ทำงานด้วยมือและมอเตอร์ทั้งแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ มีความเร็วตั้งแต่นาทีละ 10 กระป๋องจนถึงนาทีละ 100 กระป๋อง นอกจากนี้บางชนิดยังทำการปิดฝาภายใต้สภาวะสุญญากาศ ด้วยส่วนประกอบของเครื่องจักรเหล่านี้ อาจแบ่งได้เป็น 4 ส่วนคือ - ลูกกลิ้งลูกที่หนึ่ง ( First roller) - ลูกกลิ้งลูกที่สอง (Second Roller) - แท่นรองกระป๋อง (Baseplate) - แท่นสวมฝากระป๋อง (Chuck) ลูกกลิ้งลูกที่หนึ่งและลูกที่สอง ทำด้วยโละที่มีความแข็งเป็นพิเศษ ลูกกลิ้งทั้งสองนี้ทำงานร่วมกันและเรียกว่าลูกกลิ้ง 1 ชุด ลูกกลิ้งลูกที่หนึ่งมีร่องที่มีความลึกมากและมีความแคบ ส่วนลูกกลิ้งที่สองมีร่องกว้างและตื้นและทำการปิดกระป๋องบริเวณตะเข็บคู่ดังแสดงในรูปที่ 8.25 รูปที่ 8.25 การทำงานของลูกกลิ้งในการขึ้นรูปตะเข็บคู่ (1) การทำงานของเครื่องปิดฝา มีทั้งแบบอัตโนมัติ แบบกึ่งอัตโนมัติ และแบบใช้แรงงานคน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ 1. เครื่องปิดฝาอัตโนมัติ กระป๋องที่บรรจุอาหารจะวางบนแท่นรองกระป๋อง จากนั้นฝาจะถูกเลื่อนด้วยเครื่องกลไกอัตโนมัติมาวางบนกระป๋องพอดี ต่อจากนั้นแท่นรองกระป๋องจะถูกยกขึ้นเพื่อให้สวมเข้าไปในแท่นสวมฝา การทำงานของลูกกลิ้งลูกที่หนึ่งจะเริ่มขึ้นทันที และติดตามด้วยลูกที่สอง การทำงานของลูกกลิ้งจะสัมพันธ์กับแท่นสวมฝา ต่อจากนั้นแท่นรองกระป๋องจะลดต่ำลงและปล่อยกระป๋องออก 2. เครื่องกึ่งอัตโนมัติ การทำงานของเครื่องแบบนี้ต้องใช้คนวางฝากระป๋องลงบนกระป๋อง แล้วยกกระป๋องขึ้นโดยใช้คันกระเดื่องยกแท่นรองกระป๋อง แท่นสวมฝาจะสวมเข้าไปในฝากระป๋องพอดี เมื่อแท่นสวมฝาเข้าแล้ว การทำงานของลูกกลิ้งลูกที่หนึ่งและสองจะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ 3. เครื่องปิดฝาแบบใช้แรงงานคน เครื่องปิดฝาแบบนี้การทำงานทุกขั้นตอนต้องใช้แรงงานคนทั้งหมด นับตั้งแต่การวางฝากระป๋องลงบนกระป๋อง การยกแท่นรองกระป๋อง การเริ่มทำงานของลูกกลิ้งและการปล่อยกระป๋องออกจากเครื่องปิดฝา ลูกกลิ้งที่กล่าวมาแล้วทั้งสอง มีการทำงานแบบเดียวกัน โดยเริ่มด้วยลูกกลิ้งลูกแรกจะกดตะเข็บที่ส่วนนอกของฝาและหมุนไปรอบๆ ส่วนในของฝาจะขนานไปกับปากของตัวกระป๋องที่บานออกเล็กน้อยและพับลงเล็กน้อยในขณะที่ปลายของฝาจะม้วนตัวและสอดเข้าไปอยู่ใต้ของตัวกระป๋อง โดยมีปลายขอบเกือบชิดตัวกระป๋อง การทำงานของลูกกลิ้งตัวแรกนี้มีความสำคัญมาก ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น การแก้ไขเพื่อให้ตะเข็บดีขึ้นในระยะต่อมาทำได้ยาก การปรับลูกกลิ้งลูกแรกไม่ควรแน่นหรือหลวมเกินไป มิฉะนั้นจะทำให้ตะเข็บไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแสดงถึงข้อบกพร่องและการปรับลูกกลิ้งลูกแรกในลักษณะต่างๆ กันเมื่อการทำงานของลูกกลิ้งลูกแรกสิ้นสุดลงแล้ว ลูกกลิ้งลูกที่สองจะเข้าทำงานแทนที่โดยกดตะเข็บให้แน่นแนบชิดกับตัวกระป๋อง ความแน่นของตะเข็บจะขึ้นอยู่กับการปรับลูกกลิ้งลูกที่สองนี้ ลูกกลิ้งที่มีร่องและลักษณะไม่ถูกแบบ หรือกร่อนมากจะทำให้ตะเข็บไม่แน่นเท่าที่ควร ระหว่างการปิดฝาต้องใช้แรงมาก ยางกันรั่วควรจะอยู่ในตะเข็บทั้งหมด อุดช่องว่างในตะเข็บป้องกันไม่ให้กระป๋องรั่ว การใช้ยางกันรั่วจะช่วยให้กระป๋องปิดสนิท ตำแหน่งและปริมาณของยางต้องพอเหมาะ ถ้ามีความบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะทำให้กระป๋องรั่วได้ ตัวกระป๋องและฝาอาจจะทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ ขึ้นกับสิ่งที่นำไปใช้ กระป๋องที่ใช้ความดันสูงจะมีรูปร่างแตกต่างจากกระป๋องที่ใช้บรรจุภายใต้สุญญากาศ ฝากระป๋องอาจทำด้วยอะลูมิเนียม แผ่นเคลือบดีบุก หรือแผ่นเหล็กธรรมดา อาจเป็นแบบที่เปิดง่ายหรือทำเป็นหน้าต่างเพื่อให้เห็นอาหารภายในก็ได้ แต่เมื่อทำตะเข็บต้องเป็นตะเข็บคู่เสมอ เมื่อปิดฝาเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการทดสอบรูรั่ว แต่ก่อนที่จะมีการทดสอบจะต้องตรวจสอบคุณภาพอื่นๆ เสียก่อน เช่น ตัวกระป๋อง และตะเข็บ การควบคุมคุณภาพที่ดีจะทำให้ได้กระป๋องที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ (2) ปัจจัยที่มีผลต่อตะเข็บคู่ ตะเข็บของกระป๋องแต่ละขนาด ซึ่งต้องใช้แผ่นโลหะที่มีความหนาและความแข็งแตกต่างกัน จะมีโครงสร้างแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัย 4 ประการ 1. รูปร่างและขนาดของฝา ความยาวของส่วนโค้งของฝา ความหนาของสันตะเข็บมีผลต่อขนาดตะเข็บมาก ความเรียวป้านของแท่นกดฝาก็มีผลต่อตะเข็บเช่นเดียวกัน โดยปกติแท่นกดฝาจะมีความเรียวประมาณ 3 - 6 องศาจากแนวตั้ง 2. รูปร่างและขนาดของตัวกระป๋อง ส่วนของกระป๋องที่บานออกไปเป็นมุม 3 - 6 องศากับตัวกระป๋อง เป็นมุมรับกับฝากระป๋องและแท่นกดพอดี ส่วนของตัวกระป๋องที่จะเป็นตัวขอขึ้นอยู่กับส่วนที่เป็นปีกและแรงกดของแท่นรองกระป๋อง ถ้าแรงดันของแท่นรองกระป๋องมากเกินไป ตัวกระป๋องจะยาวมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าแท่นแรงดันของกระป๋องน้อยเกินไป ตัวขอจะสั้น โดยปกติความยาวของปีกกระป๋อง ความหนาของตะเข็บ และส่วนงอของฝาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ถึงแม้ขนาดของกระป๋องเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมากถ้าใช้แผ่นโลหะที่มีความหนาแตกต่างไป 3. รูปร่างและขนาดของลูกกลิ้งและแท่นกดฝา รูปร่างของตะเข็บขึ้นอยู่กับร่องของลูกกลิ้ง และความเรียวของแท่นกดฝา ลักษณะของแท่นกดฝาได้แสดงไว้ในรูปที่ 8.25 ขนาดของร่องลูกกลิ้งจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของกระป๋องและความหนาของแผ่นโลหะเป็นผลให้ขนาดของตะเข็บเปลี่ยนแปลงไปด้วย 4. การปรับลูกกลิ้ง การปรับแรงกดของลูกกลิ้งและแรงกดของแท่นรองกระป๋องจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ส่วนต่างของตะเข็บเปลี่ยนแปลงไป การตัดขวางของตะเข็บจะสามารถตรวจสอบว่าตะเข็บจะเกี่ยวกันได้ตามต้องการเพราะตะเข็บเหล่านี้ถ้าดูจากภายนอกจะเป็นปกติดีถึงแม้ตะเข็บภายในจะไม่เกี่ยวกันเลย <<ย้อนกลับ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2 อ่านต่อ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4 >> <<กลับสู่หน้าหลัก
สมัครสมาชิก

สนับสนุนโดย / Supported By

  • บริษ้ท มาเรล ฟู้ดส์ ซิสเท็ม จำกัด จัดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์การแปรรูปอาหาร เช่น ระบบการชั่งน้ำหนัก, การคัดขนาด, การแบ่ง, การตรวจสอบกระดูก และการประยุกต์ใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับบริการ ออกแบบ ติดตั้ง กรรมวิธีการแปรรูปทั้งกระบวนการ สำหรับ ผลิตภัณฑ์ ปลา เนื้อ และ สัตว์ปีก โดยมีวิศวกรบริการและ สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพ มาเรล เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกของอุปกรณ์การแปรรูปอาหารที่ทันสมัย​​ครบวงจรทั้งระบบ สำหรับอุตสาหกรรม ปลา กุ้ง เนื้อ และสัตว์ปีก ต่างๆ เครื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก Stork และ Townsend จาก Marel อยู่ในกลุ่มเครื่องที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ สามารถบริการครบวงจรตั้งแต่ต้นสายการผลิตจนเสร็จเป็นสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกความต้องการของลูกค้า ด้วยสำนักงานและบริษัทสาขามากกว่า 30 ประเทศ และ 100 เครือข่ายตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก ที่พร้อมทำงานเคียงข้างลูกค้าเพื่อขยายขอบเขตผลการแปรรูปอาหาร Marel Food Systems Limited. We are supply weighing, grading, portioning, bone detection and software applications as well as complete turn-key processing solutions for fish, meat and poultry. We have service engineer and office in Bangkok. Marel is the leading global provider of advanced food processing equipment, systems and services to the fish, meat, and poultry industries. Our brands - Marel, Stork Poultry Processing and Townsend Further Processing - are among the most respected in the industry. Together, we offer the convenience of a single source to meet our customers' every need. With offices and subsidiaries in over 30 countries and a global network of 100 agents and distributors, we work side-by-side with our customers to extend the boundaries of food processing performance.
  • We are well known for reliable, easy-to-use coding and marking solutions which have a low total cost of ownership, as well as for our strong customer service ethos. Developing new products and a continuous programme of improving existing coding and marking solutions also remain central to Linx's strategy. Coding and marking machines from Linx Printing Technologies Ltd provide a comprehensive solution for date and batch coding of products and packaging across manufacturing industries via a global network of distributors. In the industrial inkjet printer arena, our reputation is second to none. Our continuous ink jet printers, laser coders, outer case coders and thermal transfer overprinters are used on production lines in many manufacturing sectors, including the food, beverage, pharmaceutical, cosmetics, automotive and electronic industries, where product identification codes, batch numbers, use by dates and barcodes are needed. PTasia, THAILAND With more than 3,700 coding, marking, barcode, label applicator, filling, packing and sealing systems installed in THAILAND market. Our range is includes systems across a wide range of technologies. To select the most appropriate technology to suit our customers. An excellent customer service reputation, together with a reputation for reliability that sets standards in the industry, rounds off the PTAsia offering and provides customers with efficient and economical solutions of the high quality. Satisfyingcustomers inTHAILAND for 10 years Our 1,313 customers benefit from our many years of experience in the field, with our successful business model of continuous improvement. Our technical and service associates specialise in providing individual advice and finding the most efficient and practical solution to every requirment. PTAsia extends its expertise to customers in the food, beverage, chemical, personal care, pharmaceutical, medical device, electronics, aerospace, military, automotive, and other industrial markets.
  • วิสัยทัศน์ของบริษัท คือ การอยู่ในระดับแนวหน้า "ฟอร์ฟร้อนท์" ของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ และนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตในประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า บริษัท ฟอร์ฟร้อนท์ ฟู้ดเทค จำกัด เชื่อมั่นและยึดมั่นในอุดมการณ์การดำเนินธุรกิจ กล่าวคือ จำหน่าย สินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ด้วยความซื่อสัตย์และความตรงต่อเวลา เพื่อการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จร่วมกันระยะยาว Our vision is to be in the "forefront" of technology in its field and suitably apply the technology to industries and production in Thailand for customers' utmost benefits. Forefront Foodtech Co., Ltd. strongly believes in and is committed to our own business philosophy which is to supply high quality products and service appropriately to each customer's requirements with honesty and punctuality in order to maintain long term win-win business relationship. Forefront Foodtech Co., Ltd. is the agent company that supplies machinery and system, install and provide after sales service as well as spare parts. Our products are: Nock, made in Germany: manufacturer of skinning machines, membrane skinning machine, slicers and scale ice makers. Frey, made in Germany: manufacturer of vacuum stuffers and chain linking system. Kronen, made in Germany: manufacturer of washing, centrifuges and cutting machinery for vegetable and fruits. Bandall, made in Netherlands: manufacturer of banding machine. Emerson, made in Romania: smoke chamber. G.Mondini, made in Italy: manufacturer of top seal, skin pack, paper seal, slimfresh and slicefresh for ready meal, meat, petfood and etc. Dorit, made in Germany: manufacturer of tumblers and injectors. Cliptechnik, made in Germany: manufacturer of single and double clippers for table top use and standalone clipping machines. Firex, made in Italy: manufacturer of food-processing equipment for kitchen and commercial equipment. Orved, made in Italy: manufacturer of vacuum packing machine. Carsoe, made in Denmark: designs and produces products for the seafood and food processing industry Gernal, made in Belgium: manufacturer of food-processing equipment for industrial Mado, made in Germany: manufacturer of meat-processing industry