News and Articles

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5


หมวดหมู่: หนังสือบรรจุภัณฑ์อาหาร [บรรจุภัณฑ์อาหาร]
วันที่: 13 มกราคม พ.ศ. 2555

(2) เครื่องพิมพ์แบบแบนราบ

เครื่องพิมพ์ที่ทำงานในแนวแบนราบนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ลิโกราฟฟี (Lithography) ความหมายของแบนราบ คือ บริเวณที่ถูกพิมพ์และไม่ได้พิมพ์ต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน ตัวแม่พิมพ์หรือเพลทมีลักษณะแบนราบและแวววับจะส่งผ่านหมึกไปสู่โมยาง ก่อนพิมพ์ลงไปบนสิ่งพิมพ์ วิธีส่งหมึกผ่านโมยางจะช่วยยืดอายุของแม่พิมพ์ ถ้าปล่อยให้พิมพ์สัมผัสกับสิ่งที่พิมพ์ทุกครั้งที่พิมพ์

หัวใจสำคัญของการพิมพ์แบบแบนราบ คือ การทำงานของเพลทแม่พิมพ์และตัวหมึกที่มีน้ำมันเป็นฐาน เพลทแม่พิมพ์จะถ่ายหมึกพิมพ์ตรงบริเวณที่จะพิมพ์ ส่วนบริเวณที่ไม่พิมพ์นั้นจะเป็นเยื่อบางๆ ของน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีลูกกลิ้งที่ให้ความชื้นบนผิวของลูกกลิ้งแม่พิมพ์ ตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 8.39 ส่วนปริมาณหมึกที่จะพิมพ์นี้ถูกควบคุมด้วยปริมาณของลูกกลิ้งที่ส่งถ่ายหมึกเป็นชุด

การพิมพ์แบบลิโธกราฟฟีนี้มักใช้กับการพิมพ์กระดาษ เช่น กล่องกระดาษแข็งฉลากสีสอดสีหลายๆ สี เป็นต้น เครื่องพิมพ์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะป้อนกระดาษเป็นแผ่น ถ้ากระดาษยิ่งเรียบและมันวาวจะยิ่งพิมพ์สอดสีได้สวยงาม จะได้รูปภาพที่คมชัดดังแสดงไว้ในรูปที่ 8.40

รูปที่ 8.40 การแยกประเภทของการพิมพ์จากงานที่พิมพ์

สำหรับกระป๋องที่ต้องการสอดสีสวยงาม จะใช้ระบบออฟเซ็ตลิโธกราฟีนี้พิมพ์ลงไปบนแผ่นโลหะก่อนจะนำไปขึ้นเป็นรูปกระป๋อง แล้วทำการอบแห้ง พร้อมทั้งเคลือบด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน

(3) เครื่องพิมพ์กราวัวร์หรือโรโต้กราวัวร์

เครื่องพิมพ์กราวัวร์จะส่งหมึกผ่านโดยแม่พิมพ์ที่กัดเป็นรูเล็กๆ ตามขนาดและความลึกแตกต่างกัน โดยใช้ปฏิกิริยาทางเคมีและการเจียรผิวของของโมแม่พิมพ์ให้เรียบ ในยุคสมัยใหม่จะใช้การเจาะรูด้วยแสงเลเซอร์หรือหัวเข็มทำด้วยเพชร ตัวลูกกลิ้งแม่พิมพ์นี้ทำจากเหล็กชุบด้วยทองแดงพร้อมทั้งเคลือบโครเมียมในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สามารถใช้แม่พิมพ์ได้ทนทาน โมที่พาหมึกพิมพ์นี้จะมีใบมีดที่เรียกว่า Doctor Blade ทำการปาดสีบริเวณปากรูให้เรียบดังแสดงไว้ใน รูปที่ 8.41 สิ่งที่พิมพ์จะผ่านระหว่างโมแม่พิมพ์และโมกดแม่พิมพ์

รูปที่ 8.41 หน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์กราวัวร์

สิ่งที่พิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์ควรมีผิวเรียบที่สามารถรับถ่ายหมึกที่เป็นจุดๆ นี้อย่างรวดเร็วนับได้ว่าเป็นระบบพิมพ์ทำให้คุณภาพการพิมพ์ที่ดีและแม่พิมพ์สามารถใช้งานได้ทนนานกว่าระบบพิมพ์อื่นๆ ดังนั้นจึงเหมาะกับงานพิมพ์ที่มีปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่อง

(4) เครื่องพิมพ์ไร้สัมผัสแบบอิงค์เจ็ท (Ink - Jet Printer)

Ink - Jet เป็นระบบการพิมพ์แบบไร้สัมผัสที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเนื่องจากความรวดเร็วในการพิมพ์และการพิมพ์ลงบนวัสดุใดๆ ก็ๆ ได้ เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะทำงานโดยใช้วิธีพ่นหยดหมึกขนาดเล็กในปริมาณที่เหมาะสมลงบนสิ่งที่ต้องการจะพิมพ์ จึงให้ประสิทธิภาพในการพิมพ์ที่ดีกว่าแบบอื่นๆ เนื่องจากตัวอักษรคมชัดและสะอาด ระบบอิงค์เจ็ทสามารถพิมพ์ได้เร็วถึง 300 เมตรต่อวินาทีต่อแถว หรือเกือบ 2000 ตัวอักษรต่อนาที ส่วนหมึกที่ใช้กับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเป็นหมึกผสมสารเคมีแบบฐานน้ำ (Water - based Inks) ซึ่งแห้งเร็วและตัวหมึกเองโดยส่วนใหญ่สามารถละลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถขจัดปัญหาการทำความสะอาดของเครื่องพิมพ์

เนื่องจากหมึกที่ใช้กับเครื่องอิงค์เจ็ทเป็นหมึกแบบเชื้อน้ำจึงไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ระบบนี้จึงเป็นที่นิยมกับการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์อาหารในบางโรงงาน ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 200 รายการของการผลิตสามารถใช้ระบบนี้ในการพิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท โดยมีการพิมพ์มากกว่า 1.2 ล้านครั้งต่อวัน และประมาณ 320 วันต่อปี นอกเหนือจากนี้บรรจุภัณฑ์ที่ต้องฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสามารถใช้หมึกพิเศษที่ทนความร้อนได้สูงกว่า 120 องศาเซลเซียส โดยที่สีไม่หลุดลอก

รูปที่ 8.42 หน่วยการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท

คุณสมบัติพิเศษของเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท คือ ให้การพิมพ์ที่ละเอียดมากจึงสามารถพิมพ์ลงบนพื้นที่ขนาดเล็กๆ ได้โดยหมึกไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนออกมา โดยเฉพาะการพิมพ์บาร์โค้ดซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็กๆเรียงกัน นอกจาดนี้ยังเหมาะสมกับการพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์หรือฉลากในขณะที่บรรจุโดยการเติมวันที่หมดอายุ น้ำหนัก ราคา และวันที่บรรจุในช่องว่างขนาดเล็กที่กำหนดไว้

8.4 วิธีการจัดหา

การจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์มีทั้งเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศและเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องจักรที่นำเข้านั้นอาจจะมีอยู่ในสต๊อกที่สามารถดูสภาพการใช้งานและหลักการทำงานของเครื่องได้ ส่วนเครื่องจักรที่มีระดับราคาเป็นล้านบาทขึ้นไปนั้น มักจะต้องนำเข้าและสั่งทำเป็นรายๆ ไป

8.4.1 เกณฑ์การเลือกซื้อเลือกใช้

การจัดซื้อจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นจากผู้จัดซื้อต้องรู้ถึงความต้องการใช้งานขนาดและความเร็วของเครื่องจักรที่ต้องการซึ่งมีรายละเอียดที่จำต้องรวบรวม ดังต่อไปนี้

1. สินค้าที่จะบรรจุ เราจะต้องทราบคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น ความสามารถการไหลตกด้วยตนเอง ความหนาแน่น เป็นต้น คุณสมบัติทางเคมีชีวภาพ เช่น การกัดกร่อน ความเป็นกรด - ด่างของสินค้า ถ้ามีตัวอย่างอาหารอยู่แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งให้ผู้ขายเครื่องจักรตรวจสอบและทดลองกับเครื่องจักรจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องทราบถึงหน้าที่เฉพาะของเครื่องจักร เช่น เป็นเครื่องปิดกล่อง เครื่องบรรจุ เครื่องปิดฝา หรือเป็นเครื่อง Form - Fill Seal เป็นต้น

2. สภาวะของการใช้งาน เริ่มตั้งแต่ความดันไฟฟ้า ความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้า ความถี่ของไฟฟ้า น้ำที่จะใช้ สภาวะความเป็นกรด - ด่างของน้ำ ความร้อน และความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณที่จะติดตั้งเครื่อง วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่จะสามารถหาได้ และเหมาะสมกับการใช้งานของเครื่อง

3. วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานเครื่องจักร เช่น ความหนา พร้อมทั้งค่าเบี่ยงเบนที่เครื่องจักรจะยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ความหนา 40 ไมครอน +/- 10% เป็นต้น ในกรณีที่มีตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้อยู่แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะส่งตัวอย่างไปลองทดสอบกับเครื่องจักรพร้อมกับตัวอย่างอาหาร ในกรณีที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่และยังไม่มีตัวอย่าง ควรปรึกษากับผู้ผลิตเครื่องจักรเกี่ยวกับข้อจำกัดของวัสดุที่จะใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วย

4. ปริมาณหรือปริมาตรที่จะบรรจุต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ จะประเมินจากกำลังการผลิตต่อปี ขนาดบรรจุที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งสามารถประเมินปริมาณที่ต้องบรรจุของแต่ละขนาดบรรจุ

5. ความแน่นอนในการบรรจุ โดยการวัดเป็นน้ำหนักหรือปริมาตร

6. บรรจุภัณฑ์ขนส่ง ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุแล้วพร้อมทั้งวิธีการจัดส่ง

7. ความต้องการพิเศษต่างๆ เช่น วิธีการป้อนสินค้ามายังเครื่องบรรจุเครื่องต่อท้ายจากการบรรจุ เช่น เครื่องปิดฉลาก เป็นต้น

8. ราคาของอะไหล่ที่จำเป็นใช้ ที่จะส่งมาพร้อมกับการส่งมอบเครื่องจักร

9. วิธีการและระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักร

10. เวลาที่ใช้ในการส่งสินค้า

11. การฝึกอบรมบุคลากรในการใช้เครื่องจักร เช่น ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ระยะเวลาในการฝึก และผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกดังกล่าว เป็นต้น

12. วิธีการจัดส่งเครื่องจักร

13. ข้อจำกัดอื่นๆ ในการจักซื้อและวิธีการจ่ายเงิน

รายละเอียดต่างๆ ที่เตรียมไว้ดังกล่าวข้างต้นนี้ มีจุดหมายเพื่อให้ผู้ผลิต/ขายเครื่องสามารถเตรียมใบเสนอราคาให้ได้ตรงตามความต้องการใช้งานจริงๆ การติดต่อผู้ผลิต/ผู้ขายเครื่องจักรนั้นสมควรพิจารณาจากผู้ผลิที่มีเครื่องจักรมาตรฐานที่ผลิตตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน รายละเอียดเหล่านี้อาจจะได้จากรายชื่อของผู้ได้ซื้อเครื่องและใช้เครื่องอยู่

เมื่อได้รับการเสนอราคาจากผู้ผลิต/ผู้ขายใดๆ แล้ว มาตรการที่จะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักร คือ สมรรถนะในการใช้งานของเครื่องและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต สิ่งเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ไปถึงความสามารถในการจัดหาอะไหล่หลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง พิจารณาโดยรวมแล้วมูลค่าเครื่องจักรที่จ่ายไปนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าโสหุ้ย ค่าบำรุงรักษา เวลาที่เสียไปในการเปลี่ยนขนาด และเวลาที่ต้องหยุดเครื่องโดยไม่มีผลผลิตออกมา

หลังจากการรวบรวมราคาและพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว จะเป็นการคัดเลือกเครื่องจักรที่เหมาะสมการใช้งานรอบแรก และปรับปรุงความต้องการในการใช้งานของเครื่องจักรใหม่แปรตามมาตรฐานของผู้ผลิต/ผู้ขายแต่ละราย ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เครื่องทราบถึงรายละเอียดทางเทคนิคของเครื่องจักรแต่ละรายมากขึ้น

ก่อนการตัดสินใจในการสั่งซื้อสิ่งที่จำเป็นประการสุท้าย คือ การหาโอกาสได้ชมเครื่องจักรที่ต้องการซื้อนั้นในสภาพการใช้งานอย่างแท้จริง พร้อมทั้งหาโอกาสพูดคุยกับผู้ใช้เครื่องจักรนั้นๆ ด้วย

8.4.2 การเตรียมข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักร (Order Specification)

ข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักรเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ใดๆนั้น จะต้องมีรายละเอียดทางเทคนิคมากกว่าข้อกำหนดของตัวบรรจุภัณฑ์ สำหรับข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจำเตรียมจากข้อกำหนดเบื้องต้นที่สอบถาม (Inquiry Specification) และได้รับการตอบแทนด้วยใบเสนอราคาจากผู้ผลิตเครื่องแล้ว

ข้อมูลที่จะระบุไว้ในข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักร จะประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

- แบบและรุ่นของเครื่องจักร

- มิติที่ยอมรับได้ของเครื่อง เช่น มีข้อจำกัดเรื่องความสูงของเครื่อง เป็นต้น

- แบบ/ขนาด/มิติของบรรจุภัณฑ์และความแปรปรวนที่ยอมรับได้ เป็นต้น

- ปริมาณ/ปริมาตร/น้ำหนักที่บรรจุ พร้อมกับความแปรปรวนที่ยอมรับได้

- ความเร็ว ขีดความสามารถในการบรรจุของเครื่องจักร

- ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์อาหารที่จะทำการบรรจุ

- ข้อกำหนดของคุณสมบัติของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น มิติ รวมทั้งภาพประกอบ

- องค์ประกอบสำคัญในการทำงานของเครื่องจักร ถ้าเป็นไปได้ควรมีรูปภาพประกอบ

- อุปกรณ์พิเศษต่างๆ และอุปกรณ์เสริมที่ต้องการ เช่น

o การเคลือบผิวของเครื่องจักร

o ระบบควบคุมอัตโนมัติ

o สายพานลำเลียงเพื่อนำส่งเข้าและออกเครื่องจักร

- คู่มือการใช้เครื่องจักรที่พิมพ์เป็นภาษาไทย หรืออาจเป็นแผ่นดิสก์ หรือถ่ายทำเป็นม้วนวีดีทัศน์ พร้อมทั้งการฝึกอบรมที่ต้องการ

- จำนวนเครื่องจักรที่สั่งซื้อ

- ระบบไฟฟ้าของเครื่องจักร เช่น ความดันไฟฟ้า (โวลท์) กำลังไฟฟ้าที่ใช้ เป็นต้น

- ระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด

- ระบบการบำรุงรักษาของเครื่องจักร

- กำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเครื่องจักรเกินจากเวลาที่กำหนดไว้อาจยอมรับให้ส่งล่าช้าได้ แต่อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการสั่งจ่ายเงินตาม Letter of Credit (L/C Amendment) รายละเอียดเหล่านี้ต้องการตกลงล่วงหน้าว่าใครจะเป็นผู้ชดใช้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าในการส่งมอบดังกล่าว

- วิธีการส่ง โดยรถยนต์ ทางเรือ ทางอากาศและค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง ในกรณีที่เป็นการสั่งซื้อจากต่างประเทศจำเป็นต้องแจ้งสภาวะดิน ฟ้า อากาศ เช่นอุณหภูมิและความชื้นให้ผู้ผลิตทราบ เพื่อว่าผู้ผลิตเครื่องจักรจะได้เตรียมการจัดส่งอย่างเหมาะสม เช่น การเคลือบกันสนิม เป็นต้น

- ราคาที่ได้ตกลงกันไว้แล้วและกำหนดการชำระเงิน ถ้าเป็นการซื้อเครื่องจักรภายในประเทศด้วยเงินบาท ปัญหาก็จะไม่ยุ่งยากนัก แต่ถ้าเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศอาจจะต้องมีการกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนที่แน่นอน โดยมอบความรับผิดชอบให้ธนาคารหรือผู้ขาย แล้วแต่จะตกลงกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่เครื่องจักรส่งมอบใช้ระยะเวลาผลิตนานเป็นปี อาจต้องมีการยืนยันราคาอีกครั้งเมื่อถึงกำหนดส่งมอบเครื่อง

- วิธีการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร (รายละเอียดจะได้กล่าวต่อในหัวข้อ 8.4.3)

- การรับประกันคุณภาพการใช้งานของเครื่อง โดยปกติจะมีการรับประกันคุณภาพ 1 ปี หลังการส่งมอบ ด้วยการเดินเครื่องจักรตามสภาวะที่ได้ตกลงไว้ก่อน เช่น การเดินเครื่องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและด้วยความเร็วไม่เกิน 100 ขวดต่อนาที เป็นต้น ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สภาวะการเดินเครื่องจักรตามที่ได้ตกลงไว้นี้ มักจะได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจจ่ายเฉพาะค่าแรงเป็นต้น

- การบริการหลังการขายและการติดตั้งเครื่องจักร เช่น มีการตรวจเครื่องทุกช่วงเวลาที่กำหนดด้วยค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน

- รายชื่อและราคาของอะไหล่ที่ผู้ขายแนะนำให้มี

ข้อมูลที่กำหนดในข้อกำหนดการสั่งซื้อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรมีการประยุกต์ใช้และเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นในแต่ละกรณีไป

8.4.3 การตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร

ก่อนการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักรมักจะมีการทดสอบการเดินเครื่อง โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้เครื่องมักจะมีความรู้เกี่ยวกับการเดินเครื่องน้อยกว่าผู้ผลิตเครื่องจักร ยกเว้นเคยมีประสบการณ์ในการใช้เครื่องจักรประเภทที่จะซื้อมาก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้การทดสอบการเดินเครื่องก่อนการส่งมอบผู้ซื้อมักจะประสบปัญหา 2 ประการ คือ

1. ขีดความสามารถในการทำงานของเครื่องจักรที่จะยอมรับได้ของผู้ซื้อ เช่น ปริมาณสินค้าที่จะบรรจุ/ผลิตได้จากเครื่อง และปริมาณความสูญเสียในการเดินเครื่องที่จะยอมรับได้ เป็นต้น

2. มาตรการที่จะใช้ในการทดสอบการเดินเครื่อง วิธีการทดสอบเครื่องและมาตรการที่จะยอมรับเครื่องจักร

ปัญหา 2 ข้อดังกล่าวควรจะมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าหรืออาจจะมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหน่วยงานกลางมาตัดสินหรือให้คำแนะนำในกรณีที่เป็นเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงๆ

ในการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักรมีหลักเกณฑ์การยอมรับเครื่องจักรดังนี้

1. การทดลองเดินเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ขาย

2. การทดลองเดินเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ซื้อ

3. จำนวนเล่มของคู่มือเครื่องจักร คู่มือบำรุงรักษาและคู่มืออะไหล่

วิธีการทดสอบตรวจรับเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์จะแปรตามประเภทของเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อจะต้องทำการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่จะใช้ในการทดลองเดินเครื่องด้วยปริมาณที่เพียงพอต่อการทดลองเดินเครื่อง

นอกจากความเร็วในการบรรจุด้วยวัสดุตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร คือ

- สีและรูปลักษณะของตัวเครื่อง

- ขนาดและปริมาตรของการบรรจุที่ยอมรับได้

- รายละเอียดของคู่มือการใช้เครื่อง การบำรุงรักษาเครื่อง และความสมบูรณ์ของคู่มือ (คู่มือดังกล่าวอาจจะใช้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการติดสินใจก่อนซื้อเครื่อง ด้วยการศึกษาคู่มือดังกล่าวเปรียบเทียบกับผู้ผลิตเครื่องจักรแต่ละราย)

- ความเร็วสูงสุดเมื่อวิ่งด้วยเครื่องเปล่าไม่มีการบรรจุ และความเร็วที่ยอมรับได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนในสัญญาซื้อขาย

- ความแปรเปลี่ยนของตัวสินค้าหลังจากการบรรจุ การใช้งานของเครื่องจักร

- การตรวจสอบเครื่องจักรก่อนการส่งมอบ ณ โรงงานผลิตเครื่องจักร เพื่อว่าถ้าต้องการมีการแก้ไขใดๆ ก็จะสามารถกระทำได้ที่โรงงานผลิตเครื่องจักรนั้นซึ่งมีสมรรถนะที่ดีกว่าจะมาแก้ไข ณ จุดที่ใช้งานเครื่องจักรหรือมีการตรวจทั้ง 2 แห่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อน

ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ควรระบุอยู่ในข้อกำหนดการสั่งซื้อซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละกรณี และความต้องการของผู้ซื้อเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบและการบริหารงานของผู้ผลิตเครื่องจักรเป็นหัวใจสำคัญที่จะให้รายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้ในข้อกำหนดการสั่งซื้อสัมฤทธิผลได้ เช่น การควบคุมคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ การใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย การจัดการภายในโรงงานผลิตเครื่อง อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากแหล่งต่างๆ เป็นต้น

บทสรุป

การจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์มักจะตัดสินใจโดยใช้ความเร็วในการผลิตหรือการบรรจุเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ เนื่องจากเครื่องจักรเป็นสินทรัพย์ ความมั่นใจในชื่อเสียงของบริษัทที่ผลิตเครื่องจักรและบริษัทที่จำหน่ายก็มีบทบาทต่อการตัดสินใจ ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเลือกเครื่องจักรนั้น นอกเหนือจากความเร็วของเครื่องแล้วปัจจัยอื่นที่จำเป็นต้องพิจารณา ได้แก่ ตำแหน่งที่ตั้งเครื่อง การควบคุมการทำงานของเครื่อง การบำรุงรักษา พร้อมทั้งการบริการหลังการขาย และสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่ายรวมของเครื่องจักร ซึ่งรายละเอียดปัจจัยและวิธีการเลือกเครื่องจักรทั้งหมดได้รวบรวมไว้ในตารางที่ 8.1

ประเภทของเครื่องจักรอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทตามประเภทของอาหาร คือ อาหารเหลว และอาหารแห้ง ส่วนเครื่องจักรพิเศษประเภทอื่นๆ ได้แก่ เครื่องบรรจุสุญญากาศ เครื่องห่อที่มีการทำงานด้วยเชิงกลและการใช้ฟิล์มหดรัดรูปและฟิล์มยืด ในกรณีของบรรจุภัณฑ์แก้ว ฝาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นต้องพิจารณาเครื่องปิดฝาด้วย

สำหรับถุงพลาสติกที่มีใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมขนาดย่อม เครื่องปิดปากถุงโดยใช้ความร้อนจะเป็นเครื่องจักรที่พบได้โดยทั่วไป ส่วนกระป๋องนับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันมากในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องจักที่ใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ คือ เครื่องปิดฝาตะเข็บคู่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้กระป๋องมีการปิดสนิทที่มิดชิด (Hermetic Seal) ส่วนเครื่องจักรอื่นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้แก่ เครื่องปิดฉลาก เครื่องบรรจุกล่อง เครื่องปิดกล่อง และเครื่องรัดกล่อง

การพิมพ์ที่นิยมใช้กับบรรจุภัณฑ์มี 4 ประการ คือ

1. แบบถ่ายผ่าน (Relief)

2. แบบแบนราบ (Plano Graphic)

3. แบบกราวัวร์ (Gravure)

4. แบบไร้สัมผัส (Non - Contact)

สุดท้ายคือ การตรวจสอบและการรับมอบเครื่องจักร ซึ่งมีความจำเป็นมากในการกำหนดคุณลักษณะจำเพาะหรือที่เรียกว่า Specification ของเครื่องจักรในสัญญาการซื้อขาย รายละเอียดในการกำหนดสเป็คจะรวบรวมเอาปัจจัยที่สำคัญตามที่กล่าวไว้แล้วในตารางที่ 8.1 เป็นเกณฑ์ในการตรวจรับมอบเครื่องจักร

<<ย้อนกลับ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4

<<กลับสู่หน้าหลัก



ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4
8.3.8 เครื่องปิดฉลาก (Labeling Machine) การปิดฉลากบนบรรจุภัณฑ์จะแปรตามรูปทรงของบรรจุภัณฑ์และบริเวณที่จะติดบนบรรจุภัณฑ์ดังแสดงในรูปขวดรูปที่ 8.26 นอกจากนี้ยังแปรตามกาวที่ใช้และวัสดุของตัวแผ่นฉลาก เครื่องปิดฉลากแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ดังต่อไปนี้ รูปที่ 8.26 ตำแหน่งต่างๆ ของฉลากบนขวด (1) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวแล้วกลิ้งติด ในกรณีบรรจุภัณฑ์เป็นทรงกลม เช่น กระป๋อง จะใช้ความเป็นทรงกลมให้เป็นประโยชน์ โดยให้กระป๋องกลิ้งไปตามรางแล้วทากาวลงบนตัวกระป๋อง เมื่อกลิ้งต่อไปกาวบนกระป๋องจะติดเอาฉลากขึ้นมาด้วย เมื่อกลิ้งไปก่อนจะครบรอบของฉลากที่ติดมานั้นจะมีการทากาวบนปลายฉลากอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้บริเวณปลายอีกข้างของฉลากสามารถติดแน่นสนิท เครื่องปิดฉลากประเภทนี้สามารถหาซื้อได้ภายในประเทศด้วยราคาพอสมควร รูปที่ 8.27 การปิดฉลากแบบทากาวแล้วกลิ้งติด (2) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวที่ฉลากแล้วส่งผ่านไปติด เครื่องปิดฉลากบนส่วนหน้าหรือส่วนหลังของบรรจุภัณฑ์ จำพวกขวดแก้วหรือพลาสติก มีหลักการทำงาน คือ ฉลากจะถูกทากาวด้วยลูกกลิ้งก่อน แล้วจึงนำฉลากมาติดบนภาชนะในตำแหน่งที่ต้องการ เครื่องปิดฉลากแบบนี้มีหลักการทำงานแบ่งเป็น 3 แบบดังแสดงดังรูปที่ 8.28 โดยในรูป ก ลูกกลิ้งกาวจะนำฉลากที่ทากาวแล้ว ส่งต่อไปติดบนบรรจุภัณฑ์ ในรูป ข ยังคงใช้หลักการเดียวกัน แต่ตัวลูกกลิ้งจะมี 4 สถานีทากาวที่ฉลากได้ถึง 4 แผ่นต่อการหมุนของลูกกลิ้ง 1 รอบ แบบสุดท้ายรูป ค จะเป็นแบบที่เร็วที่สุด โดยมีสถานีทากาวผ่านฉลากตามจำนวนที่ต้องการในการหมุนลูกกลิ้ง 1 รอบ รูปที่ 8.28 การทำงานระบบทากาวที่ใช้ลูกกลิ้งหรือสถานีทากาวโดยติดกาวที่ฉลากก่อน แล้วส่งผ่านไปติดบนบรรจุภัณฑ์ (3) เครื่องปิดฉลากสติกเกอร์ เครื่องปิดฉลากอีกประเภทหนึ่งที่สมควรจะกล่าวถึงคือ เครื่องปิดฉลากประเภทใช้ฉลากแบบสติกเกอร์หรือกาวในตัว แม้ว่าตัวฉลากจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่มีความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะติดด้วยเครื่องมือหรือใช้เครื่องจักร ในกรณีใช้เครื่องจักร ฉลากจะพิมพ์มาเป็นม้วนเว้นช่วงระยะเท่าๆ กัน สืบเนื่องจากความหนาแน่นและความเหนียวของตัวฉลากกับตัวแผ่นกระดาษที่ปะอยู่ข้างหลัง เมื่อแผ่นกระดาษหมุนกลับ 180 องศา จะปล่อยให้ฉลากเผยอออกมา แล้วไปติดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยลูกกลิ้งติดกาว เครื่องจักรติดฉลากประเภทนี้มีราคาไม่สูงนักและสามารถทำงานได้อย่างสะอาด นอกจากนี้ความเร็วในการติดฉลากยังสามารถทำได้สูงถึงหลายร้อยขวดต่อนาที จากตัวอย่างของเครื่องปิดฉลากทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานี้จะพบว่าข้อพิจารณาในการเลือกเครื่องจักรนั้นจะแปรผันตามบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ประเภทของฉลากที่เหมาะแก่การใช้งาน ตำแหน่งและบริเวณของการติดฉลาก รูปที่ 8.29 การปิดฉลากสติกเกอร์ 8.3.9 เครื่องบรรจุกล่อง (1) เครื่องบรรจุใส่กล่องกระดาษแข็ง เครื่องจะเริ่มต้นการทำงานจากการนำเอากล่องออกจากแม็กกาซีนกล่อง (Carton Magazine) แต่การขึ้นรูปกล่องจะลำบากกว่าถุง เนื่องจากเส้นรอยพับของสันข้างกล่อง ถ้าเก็บไว้นานหรือถูกกดทับไว้นาน ความเป็นสปริงของกล่องจะลดน้อยลงทำให้ขึ้นรูปกล่องได้ลำบาก เมื่อกล่องออกจากแม็กกาซีนกล่องและขึ้นรูปกล่องแล้วเครื่องจะทำการบรรจุสินค้าลงในกล่องและปิดกล่อง รูปแบบของเครื่องจักรจะเริ่มจากแบบง่ายๆที่ใช้มือบรรจุหรือใส่เป็นแบบที่ทำงานอย่างอัตโนมัติทั้งหมด การปิดกล่องโดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัตินี้มักใช้กาว ซึ่งทำงานได้เร็วและสะดวกกว่า รูปแบบของกล่องที่เลือกก็มีผลต่อการหาเครื่องจักรได้ยากหรือง่าย การจัดแนวเกรนและประเภทของกระดาษที่มีความเหนียวและสภาพการเป็นสปริงที่ดี จะสามารถทำให้การปิดกล่องทำได้สะดวก บ่อยครั้งที่พบว่า การที่ใช้ปิดด้วยมือแล้วหันมาใช้เครื่องทดแทนนั้น จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของกล่องเพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องจักรได้ ในรูปที่ 8.30 เป็นเครื่องจักรบรรจุใส่กล่องในแนวราบแบบอัตโนมัติ ส่วนรูปถัดมารูปที่ 8.31 แสดงการบรรจุพร้อมกระดาษแจ้งสรรพคุณสอดเข้าไปในกล่อง รูปที่ 8.32 แสดงการบรรจุใส่กล่องกระดาษลูกฟูกในแนวราบทำหน้าที่การรวมห่อสินค้า รูปที่ 8.30 เครื่องบรรจุและปิดกล่องแบบอัตโนมัติทำงานในแนวราบ การบรรจุกล่องกระดาษลูกฟูกคล้ายคลึงกับกล่องกระดาษแข็ง คือ บรรจุสินค้าตามแบบแนวราบและตามแนวดิ่ง ดังแสดงในรูปที่ 8,32 และ 8.33 จะสังเกตได้ว่า การเลือกใช้การบรรจุใส่ในแนวไหนนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและความสะดวกในการบรรจุใส่ รูปที่ 8.31 การบรรจุกล่องพร้อมกระดาษแจ้งสรรพคุณ รูปที่ 8.32 การปล่อยให้ลงสู่กล่องลูกฟูกในแนวดิ่ง (2) เครื่องปิดกล่อง (Case Sealer) สิ่งที่จะกล่าวในรายละเอียด ต่อไปนี้คือ วิธีการปิดกล่องกระดาษลูกฟูกซึ่งนิยมใช้กันอยู่ 4 วิธีคือ 1. การทากาวด้วยมือและเครื่อง กาวที่ใช้อาจจะใช้ตั้งแต่แป้งเปียก กาวลาเทกซ์ หรือกาวที่ใช้ความร้อน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่า เวลาที่ใช้กาวในการผนึกติด การแข็งตัวภายหลงการทา และเวลาที่ใช้ในการแห้งตัว กาวฮอตเมลท์จะเป็นกาวที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ในทุกๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว 2. การปิดเทปด้วยมือและเครื่อง เทปที่ใช้มีหลายประเภท อาจแบ่งตามวัสดุ เช่น กระดาษ พลาสติกเสริมความ แข็งแรงด้วยเส้นใย เป็กนต้น ส่วนสารเชื่อมติดที่อยู่บนเทป อาจเป็นกาวที่ต้องทาน้ำก่อน เทปที่มีกาวในตัวเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดเทปดังแสดงในรูปที่ 8.34 รูปที่ 8.34 อุปกรณ์และเครื่องจักรในการปิดกล่องด้วยเทป การปิดเทปด้วยมือต้องอาศัยความชำนาญกะประมาณความแม่นยำว่า จะดึงออกมาใช้มากน้อยแค่ไหน ดังรูปซ้ายบนสุด ส่วนรูปล่างถัดมานั้นเป็นแบบประมาณด้วยความยาวได้ล่วงหน้า โดยการโยกคันโยก เทปจะเคลื่อนที่ออกมาตามความยาวที่ตั้งไว้ล่วงหน้า ส่วนรูปทางขวามือเป็นการปิดเทปด้วยเครื่องปิดเทปอัตโนมัติ ซึ่งสามารถติดเทปทั้งข้างบนและข้างล่างพร้อมกันได้ และสามารถใช้ปิดเทปบนกล่องได้หลายขนาดโดยไม่ต้องปรับเครื่องทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขนาดกล่อง 3. การเย็บลวดด้วยเครื่องเย็บลวด ลวดที่ใช้มี 2 อย่างคือ แถบลวดที่ขึ้นรูปแล้ว (ลักษณะเหมือนแถบลวดเย้บกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน) และขดลวดเป็นม้วน ส่วนเครื่องเย็บลวดมีทั้งแบบจับมือโยกหรือยิง และแบบเท้าเหยียบซึ่งเหมาะกับการเย็บก้นกล่อง รูปที่ 8.35 การทำงานของลวดเย็บตะเข็บและกดตะเข็บ รูปที่ 8.36 อุปกรณ์รัดกล่อง 4. การรัดด้วยเครื่องสายรัดและคีมหนีบคลิปเหล็ก สายรัดที่ใช้ส่วนมากจะทำมาจากพลาสติก PP (โพลิโพพิลีน) ซึ่งทนต่อแรงดึงสูง หากรัดกล่องด้วยมือและคลิปโลหะ ต้องใช้ที่รัดสายให้ตึงตามรูป ก. แล้วรัดด้วยคีมหนีบคลิปตามรูป ข. ส่วนรูป ค.และ ง. เป็นเครื่องรัดแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ อาศัยความร้อนเชื่อมให้สายรัดติดเข้าด้วยกัน 8.3.10 เครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์ทำหน้าที่ถ่ายหมึกเหลวลงไปสิ่งพิมพ์ (Substrate) ตามตำแหน่ง (image Area) และแบบ (Pattern) ที่ต้องการ ระบบการพิมพ์อาจมีอยู่หลายประเภท แต่ทว่าระบบการพิมพ์กว่า 80% ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์จะประกอบด้วย 4 ประเภทดังนี้ 1. แบบถ่ายผ่าน (Relief) ระบบพิมพ์ประเภทนี้อาจเรียกว่า ระบบการพิมพ์พื้นนูน ได้แก่ แบบเฟลกโซกราฟี (Flexo Graphy) แบบแลตเตอร์เพรส ซึ่งเป็นการพิมพ์โดยตรง (Direct Printing) 2. แบบแบนราบ (Plano Graphic) ที่นิยมใช้ได้แก่ ระบบลิโธกราฟี (Lithography) หรือแบบออฟเซ็ตลิโธกราฟี (Offset Lithography) 3. แบบโรตากราวัวร์ (Rotagravure) หรือเรียกแบบย่อว่า กราวัวร์ 4. แบบไร้สัมผัส (Non - contact) หรือ แบบไม่ใช้ระบบการกดพิมพ์ เป็นระบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ระบบการพิมพ์แต่ละแบบดังกล่าวนี้จะแตกต่างกันในแง่ของคุณลักษณะหมึกการส่งผ่านหมึกและการทำให้ติดบนสิ่งตีพิมพ์ อย่างไรก็ตามระบบการพิมพ์ทั้งหมดยกเว้นแบบไร้สัมผัสจะต้องใช้ตัวกลางในการส่งผ่านหมึกที่เรียกว่าโมแม่พิมพ์ซึ่งมีเพลทติดอยู่ นอกจากการแบ่งด้วยระบบการพิมพ์ดังกล่าวนี้ เครื่องพิมพ์ยังสามารถแบ่งตามวิธีการป้อนแบบเป็นแผ่น ป้อนเป็นม้วน โดยปกติเครื่องพิมพ์ที่ป้อนเป็นม้วนจะใช้กับกระดาษที่ยืดตัวได้ง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ในกรณีที่แปรรูปวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องบรรจุ Form - Fill - Seal มักจะใช้วัสดุที่เป็นม้วน เพราะตัวเครื่องจะทำการขึ้นรูปเอง ดังนั้นวัสดุจึงต้องพิมพ์ส่งเป็นม้วนและมีจุดหรือเส้นดำหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร ไว้ให้ตาแมว (Photoelectric cell) ของเครื่องคอยจับจุดรวมฉาก (Registration Mark) เพื่อให้ขึ้นรูปได้ขนาดแต่ละถุงตามต้องการ การเลือกระบบการพิมพ์ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญมีดังนี้ 1. ปริมารของงานพิมพ์ จำนวนสีที่พิมพ์ต่อหน่วยพื้นที่ (Impression Work) และความละเอียดของงานพิมพ์ 2. งานที่ออกแบบ กราฟฟิกที่ออกแบบบนบรรจุภัณฑ์อาจจะเป็นลายเส้น (Line Work) งานพิมพ์หลายสี (Full Color) ความแวววับของงานพิมพ์เป็นต้น จะเลือกใช้ระบบที่แตกต่างกัน 3. สิ่งพิมพ์ (Substrate) วัสดุที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์และใช้พิมพ์งานได้แก่ กระดาษ พลาสติก โลหะ และแก้ว การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันจะได้คุณภาพการพิมพ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการดูดซับสีที่ไม่เหมือนกัน ความนิ่มและความแข็งแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์ให้เหมาะสมกับวัสดุแต่ละประเภท 4. รูปทรงสิ่งที่พิมพ์ ซึ่งอาจจะเป็นม้วนหรือแผ่นได้ตามที่กล่าวมาแล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ที่จะพิมพ์อาจจะเป็นรูปทรงกลมหรือไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตใดๆ เลย 5. ความต้องการคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เช่น ป้องกันน้ำ ป้องกันสารเคมี หรือเป็นฉนวนความร้อน เป็นต้น (1) เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่าน (Relief) เครื่องพิมพ์แบบนี้ใช้ส่วนที่นูนออกมาเป็นที่ถ่ายผ่านหมึก วิธีการพิมพ์แบบนี้นับเป็นวิธีการแรกเริ่มที่ใช้ในการพิมพ์ เช่น ปั๊มตรายางซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในสำนักงาน เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิมพ์แบบนี้ เครื่องพิมพ์แบบนี้ตัวแม่พิมพ์อาจจะทำจากโลหะยางโพลิเมอร์หรือสารผสม ขึ้นอยู่กับงานพิมพ์ ตัวแม่พิมพ์อาจจะอยู่ในรูปแผ่นแบบราบหรือติดรอบโมหรือไซลินเดอร์ (Cylinder) ที่หมุนในขณะพิมพ์ งานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์ที่เป็นม้วนบนไซลินเดอร์หรือเรียกว่าโมแม่พิมพ์ เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่านที่นิยมได้แก่ เลตเตอร์เพรส และเฟลกโซกราฟี เครื่องพิมพเลตเตอร์เพรสที่ใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากโลหะ เครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสมักใช้หมึกที่ผสมน้ำมันและมักใช้กับการพิมพ์ฉลากและวัสดุเคลือบหลายชั้น แม่พิมพ์ที่ใช้กับเลตเตอร์เพรสจะใช้ได้นานกว่า ทนทานกว่า และพิมพ์ได้คมชัดกว่าแม่พิมพ์ที่ใช้กับเฟลกโซกราฟีที่ทำจากโพลิเมอร์ 1. เครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟี แม่พิมพ์หรือตัวเพลทที่ใช้ในการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟีจะเป็นแบบยืดหยุ่นละกดอัดได้ ด้วยเหตุนี้การพิมพ์ด้วยเฟลกโซกราฟีต้องระมัดระวังในแรงกด ถ้าแรงกดมีมากเกินไปจะทำให้หมึกที่พิมพ์ปลิ้นออกมาอยู่ข้างๆ สิ่งพิมพ์ ที่เรียกตามวิชาการว่า Gain นอกจากนี้ยังมีผลต่อความเข้มของสีพิมพ์อีกด้วย ความละเอียดในการพิมพ์แบบเฟลกโซกราฟีจะค่อนข้างหยาบ คือ ได้เพียง 60 - 120 จุดต่อนิ้ว ขณะที่พิมพ์หมึกพิมพ์เฟลกโซจะถูกกดให้ขอบของบริเวณที่พิมพ์เป็นเส้นขาดๆ ที่เรียกว่า "Halo Effect" หรือขอบมีรอยแสดงดังในรูปที่ 8.40 ซึ่งเป็นรอยปรากฎการณ์ปกติของการพิมพ์ระบบนี้ ด้วยเหตุนี้ ในการใช้เครื่องพิมพ์เฟลกโซจึงควรหลีกเลี่ยงงานที่ละเอียดมากๆ หรือสีที่เต็มพื้นที่ (Solid color) การพิมพ์ระบบนี้จึงเหมาะกับสิ่งพิมพ์ที่มีผิวค่อนข้างหยาบ และใช้ในวงการบรรจุภัณฑ์ในการพิมพ์กล่องกระดาษลูกฟูก ถุงกระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม และฉลาก รูปที่ 8.37 หน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟี วิธีการพิมพ์ระบบเฟลกโซกราฟีแสดงอยู่ในรูปที่ 8.37 หมึกพิมพ์จะถูกนำขึ้นจากเบ้าหมึกด้วยโมถ่ายทอดหมึกที่ควบคุมปริมาณหมึกที่จะพิมพ์ โดยการปาดของมีด (Doctor Blade) เพื่อพาหมึกไปสู่ไซลินเดอร์แม่พิมพ์ วัสดุของสิ่งที่พิมพ์จะเคลื่อนที่ผ่านแม่พิมพ์และไซลินเดอร์กดที่เรียกว่า โมกดแม่พิมพ์ (Impression Roll) 2. เครื่องพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสหรือออฟเซ็ตแบบแห้ง บรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรงกลม เช่น กระป๋องโลหะไม่มีจุดรวมฉาก (Registration Mark) บนเส้นรอบวงเหมือนกับวัสดุสิ่งพิมพ์แบบเรียบ ด้วยเหตุนี้เวลาพิมพ์กระป๋องจึงใช้วิธีถ่ายผ่านหมึกที่จะพิมพ์ลงบนโมยางที่เรียกว่า Blanket Cylinder แล้วถ่ายผ่านสีทั้งหมดจากโมยางนี้ลงสู่กระป๋อง ดังแสดงในรูปที่ 8.38 โมยางนี้จะหมุนผ่านพื้นผิวบนกระป๋องและถ่ายผ่านสีจากหน่วยพิมพ์แต่ละหน่วยลงไปบนกระป๋องจากการหมุนครบรอบ 1 รอบ หมึกที่ใช้พิมพ์จะยังเปียกชื้นอยู่ ดังนั้น หลังการพิมพ์จึงจำต้องอบให้แห้งด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน รูปที่ 8.38 หน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ตแบบแห้ง เครื่องพิมพ์ระบบนี้รู้จักกันในนามของออฟเซ็ตแบบแห้ง สีพิมพ์ในแต่ละจุดไม่ทับกัน ดังนั้น เมื่อมองผ่านแว่นขยายจะเห็นช่องว่างระหว่างจะแต่ละจุดที่พิมพ์บนผิวของสิ่งที่พิมพ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยนิยมพิมพ์สีหลากสีมากนัก (Full - color) ตัวอย่างเช่น กระป๋องน้ำอัดลมต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นรอยเส้นทับบนกระป๋อง ตามแนวความสูงของกระป๋องซึ่งเป็นรอยเส้นที่เกิดจากสีที่เกยกัน <<ย้อนกลับ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 3 อ่านต่อ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5>> <<กลับสู่หน้าหลัก
ฉลากโภชนาการ (nutrition label)
อาหารประเภทใดบ้างที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ข้อมูลบังคับ ปริมาณพลังงานทั้งหมด ปริมาณพลังงานที่ได้จากไขมัน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน โปรตีน (protein) วิตามินเอ (vitamin A) บี1 (vitamin B1) บี2 แคลเซียม เหล็ก โคเลสเตอรอล (cholesterol) โซเดียม ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล (ไม่มากเกิน) ใยอาหาร สารอาหารที่มีการเติมลงในอาหาร สารอาหารที่กล่าวอ้าง ข้อมูลที่ไม่บังคับ นอกจากที่กำหนดในข้อมูลบังคับก็สามารถใส่ในฉลากได้ เช่น วิตามิน เกลือแร่ แต่ต้องระบุต่อท้ายจากเหล็ก และเรียงจากมากไปหาน้อย 1. "หนึ่งหน่วยบริโภค" หมายถึง ปริมาณอาหารที่ผู้ผลิต แนะนำให้ผู้บริโภครับประทานต่อครั้ง หรือ หมายถึง กินครั้งละเท่าไรนั่นเอง ซึ่งได้มาจากค่าเฉลี่ยที่รับประทานของคนไทย เมื่อรับประทานในปริมาณเท่านี้แล้ว จะได้รับสารอาหารตามที่ระบุไว้บนฉลาก หนึ่งหน่วยบริโภค จะแสดงให้เห็นทั้งปริมาณที่เป็นหน่วยครัวเรือน เช่น กระป๋อง ชิ้น ถ้วย แก้ว เป็นต้น ตามด้วยน้ำหนัก ...กรัม หรือปริมาตร...มิลลิลิตร ในระบบเมตริก ตัวอย่างเช่น อาหารที่มีการกล่าวอ้างหรือใช้คุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขายต้องแสดงฉลากโภชนาการ ดังต่อไปนี้ 1. อาหารที่มีการแสดงข้อมูลชนิดสารอาหาร ปริมาณสารอาหาร หน้าที่ของสารอาหาร เช่น มีไขมัน 0% มีแคลเซียมสูงเป็นต้น 2. อาหารที่มีการใช้คุณค่าทางอาหารหรือทางโภชนาการในการส่งเสริมการขาย เช่น เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อบำรุงสุขภาพ สดใส แข็งแรง แต่ห้ามแสดงสรรพคุณในลักษณะป้องกันหรือรักษาโรค เช่น ลดความอ้วน ป้องกันมะเร็ง เป็นต้น 3. อาหารที่มุ่งจะใช้ในกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มเพื่อการส่งเสริมการขาย เช่น กลุ่มวัยเรียน กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น 4. อาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนดให้ต้องแสดงฉลาก โภชนาการ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านคุณค่า คุณประโยชน์ทางโภชนาการอย่างแพร่หลาย ดังนั้น อาหารในท้องตลาดที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือส่งเสริมการขายในลักษณะดังกล่าว ไม่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ลิ้นจี่ในน้ำเชื่อมเข้มข้น บรรจุกระป๋อง จะต้องระบุปริมาณ ที่เห็นง่าย และน้ำหนัก หรือปริมาตร ดังนี้ "หนึ่งหน่วยบริโภค : 4 ลูก (140 กรัม รวมน้ำเชื่อม) " เครื่องดื่มอัดลม จะต้องระบุปริมาณที่เห็นง่าย และ น้ำหนัก หรือปริมาตร ดังนี้ "หนึ่งหน่วยบริโภค : 1 กระป๋อง (325 มิลลิลิตร) " ประโยชน์ของฉลากโภชนาการ 1. เลือกซื้ออาหารและเลือกบริโภคให้เหมาะสมกับความต้องการ หรือภาวะทางโภชนาการของตนได้ เช่น ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลสูง ก็เลือกอาหาร ที่ระบุว่ามีโคเลสเตอรอลต่ำ หรือ ผู้ที่เป็นโรคไตก็เลือกอาหารมีโซเดียมต่ำ 2. เปรียบเทียบเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน โดยเลือก ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้ 3. ในอนาคต เมื่อผู้บริโภคสนใจข้อมูลโภชนาการของอาหาร ผู้ผลิตก็จะแข่งขันกันผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า แทนการแข่งขัน กันในเรื่องหีบห่อ สี หรือสิ่งจูงใจภายนอกอื่น ๆ ฉลากโภชนาการ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทำให้สามารถเลือกบริโภคอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณคุณค่าสารอาหารตรงตามความต้องการของร่างกายได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่ควรละเลยหรือมองข้ามฉลากโภชนาการ การอ่านข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ จะทำให้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารตามที่ต้องการได้
บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่ 6
7.6 เทคนิคการประเมินผลกระทบบรรจุภัณฑ์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Assessment หรือ LCA) ในวิทยาการประเมินผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเครื่องมือที่ได้การกล่าวขวัญมากที่สุด คือ LCA การวิเคราะห์หรือการประเมินวงจรชีวิต (Life Cycle Analysis or Assessment) หลักการพื้นฐานในการวิเคราะห์แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1: Analysis เป็นการวิเคราะห์วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ด้วยการรวบรวมตัวเลขการเข้าสู่และการออกจากคลังของวงจรชีวิตในรูปของพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบตลอดทั้งวงจรของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ขั้นตอนที่ 2: Assessment เป็นการศึกษาและการประเมินผลกระทบของคลังวงจรชีวิตที่มีต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม จากวิธีการศึกษาทั้ง 2 ขั้นตอนดังกล่าวจึงเรียกชื่อตัวย่อ A ใน LCA บางครั้งว่า Analysis การวิเคราะห์ หรือ Assessment การประเมิน ตามรูปที่ 7.11 อธิบายแนวทางและขั้นตอนการวิเคราะห์วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ รูปที่ 7.11 วงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ 7.6.1 การวิเคราะห์วงจรชีวิต ก่อนที่จะมีการประยุกต์การวิเคราะห์วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมักจะคำนึงเฉพาะสถานะซากบรรจุภัณฑ์ที่ได้บริโภคแล้ว เช่น ความสามารถในการนำกลับมาผลิตและใช้ใหม่ ซากที่เหลือจากการทำลายด้วยวิธีการเผาไหม้ ปริมาตรของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ฝังดิน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้แนวความคิดที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นการวิเคราะห์วงจรชีวิตทั้งระบบ โดยเริ่มจากการออกแบบ การคัดเลือกประเภทของวัสดุที่จะนำมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ วิธีการบริโภคและการทิ้ง พร้อมวิธีการทำลายบรรจุภัณฑ์ เทคนิคการวิเคราะห์วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์กับผู้ผลิต นักวิชาการทางด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ที่สนใจอื่นๆ ในการศึกษาสถานะของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากหลักการวิเคราะห์ LCA นี้จึงเกิดมีอีกชื่อหนึ่งว่า การวิเคราะห์ความสมดุลทางนิเวศน์วิทยา (Eco-Balance Analysis) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "Cradle To Grave Analysis" สาเหตุเนื่องมาจากเป็นการวิเคราะห์ตั้งแต่เกิด คือผลิตวัตถุดิบจนกระทั่งจบสิ้นวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ด้วยการฟังดินเสียส่วนใหญ่ ในการประเมินวงจรชีวิต จะประเมินปริมาณวัตถุดิบ พลังงานและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ทั้งหมด เช่น น้ำ อากาศ และผลกระทบที่ทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด การวิเคราะห์วงจรชีวิตจำต้องสรุปผลดีและผลเสียที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประเพณีและเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ด้วย 7.6.2 องค์ประกอบของวงจรชีวิต จากการสัมมนาของสมาคมเคมีและมลพิษทางนิเวศวิทยา หรือ SETAC (Society of Environmental Toxicology and Chemistry) ในปีพ.ศ. 2533 ประกอบด้วยวิศวกรรมและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 44 คน เห็นพ้องกันว่าการวิเคราะห์วงจรชีวิตจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ (1) คลังของวงจรชีวิต (Life Cycle Inventory) เป็นฐานข้อมูล เปรียบเสมือนคลังเก็บข้อมูลของปริมาณพลังงาน ปริมาณวัตถุดิบ อากาศที่ใช้และปล่อยออกมา น้ำที่ปล่อยจากการผลิต ขยะที่ทิ้งและสิ่งที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตของสินค้า (2) ผลกระทบที่มีต่อวงจรชีวิต (Life Cycle Impact Analysis) เป็นการวิเคราะห์ทาเทคนิคเพื่อแยกแยะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของคลังวงจรชีวิตในองค์ประกอบที่ 1 (3) การพัฒนาวงจรชีวิต (Life Cycle Improvement Analysis) เป็นการวิเคราะห์ถึงความต้องการและความเป็นไปได้ในการลดมลภาวะต่างๆ อย่างมีระบบโดยครอบคลุมถึงพลังงาน วัตถุดิบในคลังวงจรชีวิตทั้งหมด สรุปจากองค์ประกอบทั้ง 3 การวิเคราะห์วงจรชีวิตต้องพิจารณาผลกระทบที่มีต่อสังคมที่อยู่พร้อมทั้งสภาพความเป็นอยู่ทั้งหมดของมนุษยชาติในสังคมนั้น เพื่อว่าสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์นั้นๆ จะได้รับการยอมรับจากสังคม ผลจากการศึกษาอาจจะไม่มีคำตอบอย่างเด่นชัด แต่ข้อมูลและบทสรุปจะสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และวางมาตรการการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ 7.6.3 การจัดการวงจรชีวิต ผู้ผลิตสินค้า และผู้จัดจำหน่ายสามารถใช้การประเมินวงจรชีวิตเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งโดยการศึกษาผลกระทบของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในแต่ละช่วงวงจรชีวิต ผลการศึกษาจะสามารถสร้างสภาวะการแข่งขันเหนือคู่แข่งขันได้ เช่น การได้รับการยอมรับจากสาธารณะชนเพิ่มมากขึ้นเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลกำไร และแน่นอนที่สุดส่งผลกระทบต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่าเดิม วิธีการประยุกต์ใช้สามารถทำได้ดังนี้คือ (1) การออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ สินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์สามารถออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตสินค้าน้ำยาซักล้างแบบเข้มข้น ย่อมเป็นการลดปริมาณบนบรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยปริมาตรสินค้า หรือการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับไปผลิต หรือใช้ใหม่ได้ง่าย และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เช่น การแปรรูปบรรจุภัณฑ์โดยที่ไม่ได้ใช้ส่วนประกอบใดๆ ที่จะเกิดผลเสียเมื่อมีการทำลายซากบรรจุภัณฑ์จากการฝังดิน หรือการเผาสลายด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารที่ประกอบด้วยโลหะหนักเป็นต้น (2) การคัดเลือกวัตถุดิบ การเลือกวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และความสะดวกในการแยกวัตถุดิบจากขยะ เช่น การนำขวด PET กลับมาย่อยสลายแล้วนำมาผลิตเป็นพรม เป็นต้น ย่อมเป็นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการนำไปทำลายทิ้งเสียเปล่าๆ (3) การผลิต จำหน่าย และจัดส่ง การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิผลการจัดระบบมาตรการลดมลภาวะ และการลดปริมาณขยะ ย่อมเป็นการลดต้นทุนรวม พร้อมทั้งไม่เพิ่มภาวะต่อสิ่งแวดล้อม (4) การใช้สินค้า ความได้เปรียบในเชิงการค้าในปัจจุบันนี้มักจะได้จากการวางตำแหน่งสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การโฆษณาของสินค้ามักจะอ้างถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการใช้สินค้า เพราะว่าผู้บริโภคมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างแรงจูงใจต่อการเลือกซื้อสินค้านั้นๆ (5) การทำลาย ในชุมชนที่มีระบบการเก็บคัดแยกขยะและมีสถานที่ที่สามารถนำกลับมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง พร้อมทั้งมีอุตสาหกรรมรองรับวัสดุที่นำกลับมาผลิตใหม่ ผู้ผลิตสินค้าหรือวัสดุนั้นๆ ย่อมมีความได้เปรียบต่อการแข่งขันทางการค้า ในสหรัฐอเมริกา สถานที่ที่สามารถนำพลาสติกจำพวก PET และ HDPE กลับมาผลิตใหม่นั้นมีมากอยู่พอสมควร ย่อมส่งผลให้ผู้แปรรูปบรรจุภัณฑ์ของวัสดุทั้ง 2 ประเภทมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้ามีโอกาสเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้วัสดุดังกล่าวมากขึ้น การวิเคราะห์วงจรชีวิตนี้เป็นเพียงเทคนิคอย่างหนึ่งในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาอาจจะมีความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การผลิตสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ ความเป็นได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาความเป็นไปได้อย่างอื่นๆ ด้วย การศึกษาต้นทุนการตลาด เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการวิเคราะห์วงจรชีวิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้การวิเคราะห์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น 7.6.4 การวิเคราะห์ การวิเคราะห์วงจรชีวิตไม่ใช่เป็นกระบวนทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ แต่ประกอบด้วยศิลปะในการประเมิน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการประเมิน 4 ประการด้วยกันคือ (1) ขอบเขตการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบการใช้ผ้าอ้อมแบบทำจากผ้าและผ้าอ้อมที่ใช้แล้วทิ้ง ขอบเขตการวิเคราะห์จะรวมความไปถึงการใช้งานของเครื่องซักผ้าที่ซักผ้าอ้อมแบบผ้า และแบบที่ไม่ใช่ผ้าเป็นต้น ขอบเขตการวิเคราะห์นี้จะทำให้การศึกษาในเรื่องเดียวกันแต่ต่างองค์กรที่ทำการศึกษาได้ผลมาไม่เหมือนกัน จุดเริ่มต้นของขอบเขตการวิเคราะห์เริ่มจากการให้คำนิยามของระบบที่ศึกษา (Define the System) พร้อมจุดมุ่งหมายของการศึกษาให้เด่นชัด จากจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้จึงทำการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า Boundaries of the System เพื่อศึกษาสิ่งที่เข้าและออกจากขอบเขตที่กำหนดไว้นี้ เช่น เริ่มจากการนำวัตถุดิบเข้ามายังขอบเขตที่ศึกษาและจบลงด้วยการฝังดินของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ถ้าจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้เป็นการเปรียบเทียบขอบเขตที่ตั้งไว้ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เปรียบเทียบควรจะเหมือนกับการสร้างแบบจำลอง แบบจำลองนี้คล้ายคลึงกับรูปแบบทางบัญชีที่เก็บตัวเลขของสิ่งที่เข้าสู่และสิ่งที่ออกจากขอบเขตการวิเคราะห์ เมื่อเก็บตัวเลขเหล่านี้แล้ว จะขั้นตอนคล้ายคลึงกับบัญชีแยกประเภท โดยการแยกประเภทการเข้าออกของพลังงาน วัตถุดิบ อากาศ และน้ำ เป็นต้น จากคลังวงจรของชีวิตแต่ละอย่าง เช่น การเข้าและออกของพลังงานดังแสดงในรูปที่ 7.12 แสดงการใช้พลังของกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ และปล่อยออกมาในรูปของขยะ น้ำเสีย อากาศ เป็นต้น รูปที่ 7.12 แบบจำลองการเข้าออกของพลังงานจากวงจรชีวิต (2) ฐานข้อมูลที่ใช้ ถ้าฐานข้อมูลมีความเหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษา ผลการศึกษาจะจำกัดเฉพาะขอบเขตที่ใช้ฐานข้อมูลที่นำมาศึกษาเท่านั้น แต่ถ้าใช้ฐานข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ผลที่ได้ย่อมจะมีการเบี่ยงเบน นอกจากฐานข้อมูลที่ใช้แล้ว ยังต้องศึกษาถึงข้อสมมติฐานและวิธีการวิเคราะห์ที่ใช้อีกด้วย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฐานข้อมูลดังกล่าวอาจจะสามารถจัดซื้อจัดหาเองได้จากส่วนราชการ สมาคมการค้า หรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีผลงานในเรื่องนี้ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มีการใช้วัตถุดิบจำกัดเพียง 4 ประเภทดังที่กล่าวมาแล้ว คือ เยื่อและกระดาษ แก้ว พลาสติก และโลหะ และมีวิธีการผลิตไม่หลากหลายนัก ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสที่นำเอาฐานข้อมูลที่เคยศึกษาแล้วจากแหล่งต่างๆ มาใช้ได้ เช่น ข้อมูลทางด้านพลังงาน วัตถุดิบ มลภาวะที่เกิดขึ้น และขยะเป็นต้น (3) ระดับความละเอียด การเจาะลึกของข้อมูลนี้ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการศึกษา ตัวอย่างเช่น การศึกษาสภาวะสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ถ้าจะครอบคลุมถึงปริมาณอากาศที่หายใจของคนทำงานเพื่อทราบถึงปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่จำเป็นต่อการหายใจ ข้อมูลนี้อาจจะละเอียดเกินไปในสภาวะทั่วๆ ไป แต่ในกรณีที่มีการวิเคราะห์คุณภาพอากาศในที่ทำงานข้อมูลนี้ย่อมมีความจำเป็นต่อการวิเคราะห์ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าความละเอียดของข้อมูลจะแปรตามขอบเขตและจุดมุ่งมั่นของการศึกษา (4) วิธีการเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น สินค้า (ก) ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศมากกว่าสินค้า (ข) แต่สินค้า (ข) ก็ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำมากกว่าสินค้า (ก) สินค้าตัวใดจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน เป็นต้น การศึกษาจำต้องเจาะข้อมูลในหลายแง่มุมมาเปรียบเทียบกัน และตั้งเป็นดรรชนีมาตรฐานในการเปรียบเทียบมลภาวะที่เกิดดังกล่าวของสินค้า (ก) และสินค้า (ข) การวิเคราะห์ที่ได้ผลนี้จะต้องลดข้อจำกัดต่างๆ กันทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาแล้วให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ตัวอย่างเช่น พัฒนาฐานข้อมูลที่เหมาะสมและใช้งานได้ถูกต้อง มีการทบทวนวิธีการวิเคราะห์ และการใช้การวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน บทสรุป ในสังคมที่เกือบจะทุกวันได้ยินหรือได้อ่านคำว่ารีไซเคิลหรือฉลากสีเขียวเบอร์อะไรต่อมิอะไรในสื่อต่างๆ ย่อมเป็นการแสดงว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่อนุชนรุ่นหลังมีบทบาทเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกวัน วงการอุตสาหกรรมอาหารหลีกหนีกระแสจากสังคมในด้านนี้ไม่พ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ที่จำต้องใช้ในการทำหน้าที่เป็นพาหะให้แก่อาหารที่จำหน่ายได้รับการเพ่งเล็งจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้ตามกฎเกณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศที่นำเข้า บทนี้ได้เริ่มบรรยายถึงความจำเป็นของบรรจุภัณฑ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาจากพลังงานที่ใช้ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ ปริมาณของขยะมูลฝอยที่ทิ้งตามบ้านมีบรรจุภัณฑ์อยู่ประมาณหนึ่งในสามของน้ำหนัก และผลกระทบของการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีมลภาวะเป็นหลัก อาวุธที่สำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ การศึกษาวงจรของบรรจุภัณฑ์พร้อมทั้งแนวทางในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยวิธีการลดการทิ้งบรรจุภัณฑ์หลังบริโภค วิธีการเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาผลิตและใช้ใหม่ คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ การศึกษาแนวทางทั้ง 3 นี้ ย่อมมีส่วนช่วยผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์สามารถเลือกประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด การศึกษาสถานะของการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วย่อมมีส่วนช่วยการตัดสินใจในการเลือกประเภทของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์เริ่มจากการออกแบบด้วยการลดปริมาณวัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยน้ำหนัก/ปริมาตร การเพิ่มความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์อาหาร การเลือกใช้วัสดุที่ได้จากธรรมชาติ การรวมกลุ่มของสินค้า การใช้สัญลักษณ์เพื่อช่วยในการแยกประเภทของพลาสติก และการลดจำนวนสีที่ใช้พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ตัวอย่างในการออกแบบที่เสนอมานี้ พิจารณาสิ่งแวดล้อมในแง่ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตและการขนส่ง การลดพื้นที่ผิวของบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้บรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิผล และลดความเสียหายที่จะเกิดกับอาหารในบรรจุภัณฑ์ระหว่างการเรียงซ้อนโดยมีการเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์แต่ละระบบที่ออกแบบ หัวข้อสุดท้ายได้อธิบายถึงความเป็นมาของฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญกับประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปที่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง บทนี้จบลงด้วยการอธิบายเทคนิคการประเมินผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า LCA เทคนิคการประเมินนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้เมื่อมีการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์อย่างเด่นชัด พร้อมทั้งการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งยังเป็นที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในประเทศไทย <<ย้อนกลับบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนที่5 <<กลับสู่หน้าหลัก
พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2
1.3 หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูปมีความสอดคล้องกับวิทยาการ 2 ด้าน คือ ด้านเทคนิคและด้านการตลาด จำแนกได้ดังนี้ ด้านเทคนิค ด้านการตลาด การบรรจุใส่ การส่งเสริมการขาย การปกป้องคุ้มครอง การแสดงข้อมูลอาหาร การรักษาคุณภาพอาหาร การตั้งราคาขายได้สูงขึ้น การขนส่ง การเพิ่มปริมาณขาย การวางจำหน่าย ให้ความถูกต้องรวดเร็ว การรักษาสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์สามารถให้คำอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้ - การทำหน้าที่บรรจุใส่ ได้แก่ ใส่-ห่อสินค้า ด้วยการชั่ง ตวง วัด นับ - การทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ได้แก่ ป้องกันไม่ให้สินค้าเสียรูป แตกหัก ไหลซึม - การทำหน้าที่รักษาคุณภาพอาหาร ได้แก่ การใช้วัสดุที่ป้องกันอากาศซึมผ่าน ป้องกันแสง ป้องกันก๊าซเฉื่อยที่ฉีดเข้าไปชะลอปฏิกิริยาชีวภาพ ป้องกันความชื้นจากภายนอก - การทำหน้าที่ขนส่ง ได้แก่ กล่องลูกฟูก ลังพลาสติก ซึ่งบรรจุสินค้าหลายห่อหรือหน่วย เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและขนส่งสินค้าไปยังแหล่งผลิตหรือแหล่งขาย - การวางจำหน่าย คือ การนำบรรจุภัณฑ์ที่มีสินค้าอาหารแปรรูปอยู่ภายในวางจำหน่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องเห็นสินค้าเลย สามารถวางนอนหรือวางตั้งได้โดยสินค้าไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งควรคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสมกับชั้นวางสินค้าด้วย - การรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ให้ปริมาณขยะน้อย เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย ในกระบวนการผลิตจะไม่ใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นต้น 2. นำบรรจุภัณฑ์เวียนใช้ใหม่หรือใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น ขวดเหล้า แก้วใส่แยม เป็นต้น 3. หมุนเวียนนำกลับมาผลิตใหม่ คือ นำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปหลอมหรือย่อยสลายเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าอื่นได้ - ทำหน้าที่ส่งเสริมการขายเพราะบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบสวยงามสามารถใช้เป็นสื่อโฆษณาได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้เฉพาะกาล เช่น มีการแนบของแถมไปกับบรรจุภัณฑ์ การนำรูปภาพดารา เครื่องหมายกีฬาที่ได้รับความนิยมมาพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ จะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกความนิยมของสินค้า - ทำหน้าที่เป็นฉลากแสดงข้อมูลของอาหารแปรรูป ได้แก่ ข้อมูลทางด้านโภชนาการ ส่วนประกอบของอาหาร วันที่ผลิต วันที่หมดอายุ คำแนะนำ และเครื่องหมายเลขทะเบียนหรือเลขอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) - ทำให้ตั้งราคาขายได้สูงขึ้นเนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สร้างความนิยมในสินค้า จากตราและเครื่องหมายการค้าทำให้เกิดความภักดี (Loyalty) ในตัวสินค้าส่งผลให้ขายราคาที่สูงขึ้นได้ หรือ ที่เรียกว่าสินค้าแบรนด์เนม (Brandname) - การเพิ่มปริมาณขาย ด้วยการรวมหน่วยขายปลีกในบรรจุภัณฑ์อีกชั้นหนึ่ง เช่น นมกล่อง 1 โหลในกล่องกระดาษลูกฟูกที่มีหูหิ้ว หรือการขายขวดน้ำยาทำความสะอาดพร้อมกับซองน้ำยาทำความสะอาดเพื่อใช้เติมใส่ในขวดเมื่อใช้น้ำยาในขวดหมดแล้ว เป็นต้น - ให้ความถูกต้องรวดเร็วในการขาย โดยการพิมพ์บาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ทำให้คนคิดเงินไม่จำเป็นต้องอ่านป้ายราคาบนบรรจุภัณฑ์แล้วกดเงินที่ต้องจ่าย แต่ให้เครื่องอ่านบาร์โค้ดทำหน้าที่แทน ทำให้รวดเร็วขึ้นและถูกต้อง - ร่วมมีบทบาทในการรณรงค์เรื่องต่างๆ เช่น สัญลักษณ์รีไซเคิล ฉลากเขียว กีฬา ท่องเที่ยว กินของไทยใช้ของไทย เป็นต้น 1.4 ประเภทของบรรจุภัณฑ์ ตามนิยามที่กล่าวมาแล้ว บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นพาหะนำผลผลิตจากกระบวนการผลิตผ่านการขนย้าย เก็บในคลังสินค้า ระบบการขนส่ง ระบบการจัดจำหน่าย เปิดโอกาสให้เลือกซื้อ เอื้ออำนวยความสะดวกในการบริโภคพร้อมทั้งกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย จากขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ การแยกประเภทของบรรจุภัณฑ์อาจแยกได้หลายลักษณะแล้วแต่จุดมุ่งหมายการแยกประเภท ดังแสดงในตารางที่ 1.2 ตารางที่ 1.2 : การแยกประเภทของบรรจุภัณฑ์ วิธีการ จุดมุ่งหมาย ประเภทของบรรจุภัณฑ์ 1 การออกแบบ 1.1 บรรจุภัณฑ์ชั้นในหรือปฐมภูมิ (Primary Packaging) 1.2 บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) 1.3 บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามหรือตติยภูมิ (Tertiary Packaging) 2 วัสดุที่ใช้ผลิต 2.1 เยื่อและกระดาษ 2.2 พลาสติก 2.3 แก้ว 2.4 โลหะ 1.4.1 บรรจุภัณฑ์แบ่งตามการออกแบบ ด้วยหลักการในการออกแบบ สามารถจำแนกประเภทของบรรจุภัณฑ์ได้ 3 จำพวก คือ (1) บรรจุภัณฑ์ชั้นในหรือปฐมภูมิ (Primary Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ซื้อจะได้สัมผัสเวลาที่จะบริโภค บรรจุภัณฑ์นี้จะได้รับการโยนทิ้งเมื่อมีการเปิดและบริโภคสินค้าภายในจนหมด เช่น ซองบรรจุน้ำตาล เป็นต้น บรรจุภัณฑ์นี้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ชั้นในสุดติดกับตัวสินค้า ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นในมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา 2 ประการคือ อันดับแรกจะต้องมีการทดสอบจนมั่นใจว่าอาหารที่ผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้จำต้องเข้ากันได้ (Compatibility) หมายความว่าตัวอาหารจะไม่ทำปฏิกิริยาต่อผลิตภัณฑ์ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเกิดจากการแยกตัวของเนื้อวัสดุบรรจุภัณฑ์เข้าสู่อาหาร (Migration) หรือการทำให้บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนแปลงรูปทรงไปเช่นในกรณีการบรรจุอาหารใส่เข้าไปในบรรจุภัณฑ์ขณะที่อาหารยังร้อนอยู่ (Hot Filling) เมื่อเย็นตัวลงในสภาวะบรรยากาศห้อง จะทำให้รูปทรงของบรรจุภัณฑ์บูดเบี้ยวได้ เหตุการณ์นี้จะพบบ่อยมากในขวดพลาสติกทรงกระบอก ซึ่งแก้ไขได้โดยการเพิ่มร่องบนผิวทรงกระบอกหรือเปลี่ยนรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมมุมมน CPET บรรจุภัณฑ์ชั้นในสำหรับ บรรจุอาหารแช่เยือกแข็ง (freezing) และเข้าไมโครเวฟได้ นอกเหนือจากความเข้ากันได้ของอาหารและบรรจุภัณฑ์แล้ว ปัจจัยอันดับต่อมาที่ต้องพิจารณา คือ บรรจุภัณฑ์ชั้นในจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่วางขายบนหิ้งหรือไม่ ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์ชั้นในจำต้องวางขายแสดงตัวบนหิ้ง การออกแบบความสวยงาม การสื่อความหมายและภาพพจน์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ชั้นในที่ทำหน้าที่วางขายบนหิ้ง (2) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นแรกเข้าด้วยกัน เพื่อเหตุผลในการป้องกันหรือจัดจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น หรือด้วยเหตุผลในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองที่เห็นได้ทั่วไป เช่น กล่องกระดาษแข็งของหลอดยาสีฟัน ถุงพลาสติกใส่ซองน้ำตาล 50 ซอง เป็นต้น ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองนี้มักจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องวางแสดงบนหิ้ง ณ จุดขาย ดังนั้น การเน้นความสวยงามและภาพพจน์ของบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น กล่องยาสีฟัน การออกแบบของหลอดยาสีฟันที่อยู่ภายในก็ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้สอดสีหลายสี ในทางกลับกันถ้าบรรจุภัณฑ์ชั้นในได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองนี้อาจจะทำการเปิดเป็นหน้าต่างเพื่อให้เห็นถึงความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ชั้นในที่ออกแบบมาอย่างดีแล้ว ในกรณีของตัวอย่างถุงพลาสติกใส่ซองน้ำตาล 50 ซองนั้น ถุงพลาสติกที่เลือกใช้ไม่จำเป็นต้องช่วยรักษาคุณภาพของน้ำตาลมากเท่าซองชั้นใน เนื่องจากทำหน้าที่รวมซองน้ำตาล 50 ซองเข้าด้วยกันเพื่อการจัดจำหน่ายแต่ตัวถุงเองต้องพิมพ์สอดสีอย่างสวยงามเพราะเป็นถุงที่วางขายบนหิ้ง ณ จุดขาย บรรจุภัณฑ์ชั้นในหรือปฐมภูมิ (Primary Packaging) และบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายปลีก (Commercial Packaging) (3) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามหรือตติยภูมิ (Tertiary Packaging) หน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์นี้คือการป้องกันระหว่างการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ขนส่งนี้ อาจแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภท คือ - บรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากแหล่งผลิตถึงแหล่งขายปลีกเมื่อสินค้าได้รับการจัดเรียงวางบนหิ้งหรือคลังสินค้าของแหล่งขายปลีกแล้ว บรรจุภัณฑ์ขนส่งก็หมดหน้าที่การใช้งาน บรรจุภัณฑ์เหล่านี้เช่น แคร่และกะบะ (Pallet) เป็นต้น - บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ระหว่างโรงงาน เป็นบรรจุภัณฑ์ที่จัดส่งสินค้าระหว่างโรงงาน ตัวอย่างเช่น ลังใส่ซองพริกป่น ถุงน้ำจิ้ม เป็นผลผลิตจากโรงงานหนึ่งส่งไปยังโรงงานอาหารสำเร็จรูปเพื่อทำการบรรจุไปพร้อมกับอาหารหลัก เป็นต้น - บรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากแหล่งขายปลีกไปยังมือผู้อุปโภคบริโภค เช่น ถุงต่างๆ ที่ร้านค้าใส่สินค้าให้ผู้ซื้อ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนี้ จึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการป้องกันสินค้าระหว่างการขนส่ง ส่วนข้อมูลรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ขนส่งจะช่วยในการจัดส่งเป็นไปอย่างสะดวกและถูกต้อง บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Distribution Packaging) <<ย้อนกลับ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่1อ่านต่อ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่3 >> <<กลับสู่หน้าหลัก
สมัครสมาชิก

สนับสนุนโดย / Supported By

  • บริษ้ท มาเรล ฟู้ดส์ ซิสเท็ม จำกัด จัดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์การแปรรูปอาหาร เช่น ระบบการชั่งน้ำหนัก, การคัดขนาด, การแบ่ง, การตรวจสอบกระดูก และการประยุกต์ใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับบริการ ออกแบบ ติดตั้ง กรรมวิธีการแปรรูปทั้งกระบวนการ สำหรับ ผลิตภัณฑ์ ปลา เนื้อ และ สัตว์ปีก โดยมีวิศวกรบริการและ สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพ มาเรล เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกของอุปกรณ์การแปรรูปอาหารที่ทันสมัย​​ครบวงจรทั้งระบบ สำหรับอุตสาหกรรม ปลา กุ้ง เนื้อ และสัตว์ปีก ต่างๆ เครื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก Stork และ Townsend จาก Marel อยู่ในกลุ่มเครื่องที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ สามารถบริการครบวงจรตั้งแต่ต้นสายการผลิตจนเสร็จเป็นสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกความต้องการของลูกค้า ด้วยสำนักงานและบริษัทสาขามากกว่า 30 ประเทศ และ 100 เครือข่ายตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก ที่พร้อมทำงานเคียงข้างลูกค้าเพื่อขยายขอบเขตผลการแปรรูปอาหาร Marel Food Systems Limited. We are supply weighing, grading, portioning, bone detection and software applications as well as complete turn-key processing solutions for fish, meat and poultry. We have service engineer and office in Bangkok. Marel is the leading global provider of advanced food processing equipment, systems and services to the fish, meat, and poultry industries. Our brands - Marel, Stork Poultry Processing and Townsend Further Processing - are among the most respected in the industry. Together, we offer the convenience of a single source to meet our customers' every need. With offices and subsidiaries in over 30 countries and a global network of 100 agents and distributors, we work side-by-side with our customers to extend the boundaries of food processing performance.
  • วิสัยทัศน์ของบริษัท คือ การอยู่ในระดับแนวหน้า "ฟอร์ฟร้อนท์" ของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ และนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตในประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า บริษัท ฟอร์ฟร้อนท์ ฟู้ดเทค จำกัด เชื่อมั่นและยึดมั่นในอุดมการณ์การดำเนินธุรกิจ กล่าวคือ จำหน่าย สินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ด้วยความซื่อสัตย์และความตรงต่อเวลา เพื่อการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จร่วมกันระยะยาว Our vision is to be in the "forefront" of technology in its field and suitably apply the technology to industries and production in Thailand for customers' utmost benefits. Forefront Foodtech Co., Ltd. strongly believes in and is committed to our own business philosophy which is to supply high quality products and service appropriately to each customer's requirements with honesty and punctuality in order to maintain long term win-win business relationship. Forefront Foodtech Co., Ltd. is the agent company that supplies machinery and system, install and provide after sales service as well as spare parts. Our products are: Nock, made in Germany: manufacturer of skinning machines, membrane skinning machine, slicers and scale ice makers. Frey, made in Germany: manufacturer of vacuum stuffers and chain linking system. Kronen, made in Germany: manufacturer of washing, centrifuges and cutting machinery for vegetable and fruits. Bandall, made in Netherlands: manufacturer of banding machine. Emerson, made in Romania: smoke chamber. G.Mondini, made in Italy: manufacturer of top seal, skin pack, paper seal, slimfresh and slicefresh for ready meal, meat, petfood and etc. Dorit, made in Germany: manufacturer of tumblers and injectors. Cliptechnik, made in Germany: manufacturer of single and double clippers for table top use and standalone clipping machines. Firex, made in Italy: manufacturer of food-processing equipment for kitchen and commercial equipment. Orved, made in Italy: manufacturer of vacuum packing machine. Carsoe, made in Denmark: designs and produces products for the seafood and food processing industry Gernal, made in Belgium: manufacturer of food-processing equipment for industrial Mado, made in Germany: manufacturer of meat-processing industry
  • We are well known for reliable, easy-to-use coding and marking solutions which have a low total cost of ownership, as well as for our strong customer service ethos. Developing new products and a continuous programme of improving existing coding and marking solutions also remain central to Linx's strategy. Coding and marking machines from Linx Printing Technologies Ltd provide a comprehensive solution for date and batch coding of products and packaging across manufacturing industries via a global network of distributors. In the industrial inkjet printer arena, our reputation is second to none. Our continuous ink jet printers, laser coders, outer case coders and thermal transfer overprinters are used on production lines in many manufacturing sectors, including the food, beverage, pharmaceutical, cosmetics, automotive and electronic industries, where product identification codes, batch numbers, use by dates and barcodes are needed. PTasia, THAILAND With more than 3,700 coding, marking, barcode, label applicator, filling, packing and sealing systems installed in THAILAND market. Our range is includes systems across a wide range of technologies. To select the most appropriate technology to suit our customers. An excellent customer service reputation, together with a reputation for reliability that sets standards in the industry, rounds off the PTAsia offering and provides customers with efficient and economical solutions of the high quality. Satisfyingcustomers inTHAILAND for 10 years Our 1,313 customers benefit from our many years of experience in the field, with our successful business model of continuous improvement. Our technical and service associates specialise in providing individual advice and finding the most efficient and practical solution to every requirment. PTAsia extends its expertise to customers in the food, beverage, chemical, personal care, pharmaceutical, medical device, electronics, aerospace, military, automotive, and other industrial markets.