News and Articles

กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2

กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2


หมวดหมู่: หนังสือบรรจุภัณฑ์อาหาร [บรรจุภัณฑ์อาหาร]
วันที่: 13 มกราคม พ.ศ. 2555

9.1.5 องค์กรที่รับผิดชอบพระราชบัญญัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์รับผิดชอบโดยองค์กรต่อไปนี้

1) สำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์

78/13 ถนนพระราม 6 (สี่แยกประดิพัทธ์) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400

โทรศัพท์ 271 - 1526 , 279 - 0247 โทรสาร 271 - 1536

2) คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ 590 - 7000 โทรสาร 591 - 8463

3) คณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี

ถ.ราชดำเนินนอก เขตดุสิต กทม 10300

โทรศัพท์ 281 - 0580 , 281 - 3229 , 282 - 4579

4) สำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม. 10400

โทรศัพท์ 202 - 3428 - 9 , 248 0-7981 โทรสาร 248 - 7981

9.2 หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

นอกเหนือจากองค์กรที่รับผิดชอบต่อพระราชบัญญัติทั้ง 4 ดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีองค์กรทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่กิจกรรมเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้

9.2.1 องค์กรของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์

องค์กรทั้งทางส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์มีดังนี้คือ

1) ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตร สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ซอยตรีมิตร ถ.พระราม 4 กรุงเทพมหานคร 10110

โทรศัพท์ 381 - 0025 - 32 โทรสาร 381 - 0757

มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์และวิจัยข้อมูลทางเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรมการเกษตรเน้นแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืช เพื่อกำหนดและพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตามภาวะการตลาด ประสานงานจัดหาผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเพื่อฝึกอบรมสัมมนา และให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงเทคนิคการผลิตตลอดจนการให้บริการข้อมูลข่าวสารอุตสาหกรรม และข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่สถานประกอบการ ผลิตบุคลากรในระดับต่างๆ ในสถานประกอบการ

2) ส่วนบรรจุภัณฑ์ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสิรมอุตสาหกรรม

ซอยตรีมิตร ถ.พระราม 4 กรุงเทพมหานคร 10110

โทรศัพท์ 392 - 2512 , 381 - 0025 - 32 โทรสาร 381 - 0757

มีหน้าที่ให้บริการ แนะนำ ส่งเสริมและพัฒนาบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้บริโภคและบุคคลทั่วไปที่ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ทั้งทางด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยีการออกแบบและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยวิธีการต่างๆ ทั้งการฝึกอบรม สัมมนา นิทรรศการ และการจัดประกวด

3) ศูนย์บริการการออกแบบ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออก

22/77 ถนนรัชดาภิเษก จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โทรศัพท์ 511 - 5066 - 77 ต่อ 451 โทรสาร 512 - 2236

ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันทางด้านการค้าอย่างต่อเนื่อง ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางด้านการค้าในทันต่อเหตุการณ์และสภาพการแข่งขัน ประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวสินค้า เนื่องจากคุณภาพและค่าแรงต่ำไม่ใช่สิ่งจูงใจและข้อได้เปรียบอีกต่อไปสำหรับกระแสโลกานุวัตร ดังนั้นจึงสมควรนำการออกแบบมาเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าสำหรับการส่งออก รัฐบาลไทยได้เห็นความสำคัญข้อนี้จึงได้จัดตั้งศูนย์กลางบริการการออกแบบเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 เพื่อมุ่งพัฒนาการออกแบบสินค้าส่งออกสำคัญ 4 ชนิด คือ เครื่องหนัง อัญมณี ผลิตภัณฑ์พลาสติก และของเด็กเล่น

4) ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

196 ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โทรศัพท์ 579 - 5515 , 579 - 0160 โทรสาร 561 - 4771

นโยบายหลักของศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย มีดังนี้คือ

1. สนับสนุนนโยบายการบรรจุภัณฑ์ของประเทศ

2. เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กร เพื่อสนองความต้องการของผู้ประกอบการ

3. รวบรวม แลกเปลี่ยน และบริการข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์

4. ประสานงานระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศ

5) สถาบันค้นคว้าและวิจัยผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตู้ ป.ณ. 1043 ปท.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10903

โทรศัพท์ 579 - 5551 โทรสาร 579 - 0572

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (Institute of Food Research and Product Development หรือ IFRPD) จัดตั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2511 โดยการแบ่งการบริหารงาน 7 ฝ่าย และ 1 ศูนย์ ได้แก่ ฝ่ายบริหารและธุรการทั่วไป ฝ่ายค้นคว้าและวิจัย ฝ่ายควบคุมคุณภาพ

ฝ่ายผลิตทดลอง ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ฝ่ายศึกษาสาธิต ฝ่ายวิศวกรรม และศูนย์บริการประกันคุณภาพทางด้านอาหารโดยมีขอบเขตการทำงานดังนี้

1. วิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจของโรงงานอาหารและการเกษตรในประเทศไทย

2. บริการวิชาการเกี่ยวกับคุณภาพวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต ระบบการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก

3. ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีทางอาหารและบริการความรู้ทางด้านนี้แก่ผู้สนใจ

4. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐเอกชนในการวิจัย การศึกษา ค้นคว้า และฝึกอบรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร

5. เป็นแหล่งข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร

นอกจากองค์กรของรัฐทั้ง 5 ดังกล่าวแล้ว ตามมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีการเปิดสอนวิชาทางด้านบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการอาหาร มีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถให้คำปรึกษา ทดสอบ พร้อมทั้งให้คำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์อาหารได้

9.3 องค์กรเอกชนที่ให้การส่งเสริมการบรรจุภัณฑ์อาหาร

(1) สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

ชั้น 4 อาคารกองบริการอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถนนพระราม 4 กทม. 10110

โทรศัพท์ 712 - 1995 โทรสาร 392 - 9584

วัตถุประสงค์ของสมาคม มีดังนี้คือ

1. การส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

2. ส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกประเภท

3. เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ

4. ติดต่อประสานงานกับสมาชิกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้ก้าวหน้า

(2) สถาบันอาหาร

ชั้น 18 อาคารมหานครยิบซั่ม 539/2 ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์ 248 - 7541 - 8 โทรสาร 642 - 5200

สถาบันอาหารได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในรูปแบบองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมแต่การบริหารงานไม่ผูกพันกับกฎระเบียบการปฏิบัติของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีหน้าที่สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารใน 3 ด้าน คือ

1. การบริการวิชาการ

2. การเผยแพร่บริการข้อมูลข่าวสาร

3. การบริการทดสอบวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหาร

(3) สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน C ชั้น 4 60 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ คลองเตย กทม. 10110

โทรศัพท์ 229 - 4255 โทรสาร 229 - 4933 E-mail [email protected]

สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย (EAN THAILAND) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เนื่องจากตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบธุรกิจแบบโลกานุวัตรที่เกิดขึ้นจึงได้พยายามนำระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ทันสมัยซึ่งเรียกว่าระบบสัญลักษณ์รหัสแท่ง (Bar Code) มาช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ให้ความสะดวกในการใช้งานที่รวดเร็วถูกต้องและสอดคล้องกับระบบธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะนี้ประเทศไทยมีรหัสประจำตัวหมายเลข 885 ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ โดยผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือนักธุรกิจ จะสามารถตรวจสอบได้ว่า 885 เป็นสินค้าของประเทศใด หรือถ้าสินค้าตัวนี้ขายดีขึ้นมาก็จะรู้ว่าสินค้าชิ้นนี้มาจากเมืองไทย (Made in Thailand) และค้นหาบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้แทนจัดจำหน่ายได้จึงทำให้สะดวกในการขยายช่องทางการตลาดได้โดยง่าย

9.4 รหัสแท่งหรือบาร์โค้ด (Bar Code)

รหัสแท่งหรือบาร์โค้ดเป็นเลขหมายประจำตัวสินค้า ผู้ประกอบการใดที่ได้ลงทะเบียนกับสถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทยจะได้หมายเลขประจำขององค์กรนั้น และเมื่อองค์กรนั้นกำหนดหมายเลขจำนวน 5 หน่วยให้แก่สินค้าแล้ว หมายเลขประจำสินค้านั้นๆ จะเป็นหมายเลขเฉพาะของสินค้านั้นๆ โดยไม่มีสินค้าใดๆ ในโลกนี้จะมีหมายเลขซ้ำกันอีก เนื่องจากมีการจัดระบบการให้หมายเลขเป็นระบบเดียวกันทั้งโลก แม้ว่าในปัจจุบันนี้มีระบบ UPC ของสหรัฐ และ EAN ของยุโรป แต่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะรวม 2 ระบบใหญ่นี้ให้เป็นระบบเดียวกันในอนาคตอันใกล้

9.4.1 ระบบรหัสแท่งที่ใช้กัน

(1) UPC (Universal Product Code) เริ่มใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 โดยตั้งมาตรฐานรหัสแท่งระบบ UPC ขึ้นสำหรับพิมพ์บนสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ฉลากและหีบห่อในปัจจุบันใช้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น

(2) EAN (European Article Numbering) กลุ่มประเทศทางยุโรปจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสร้างระบบบาร์โค้ดขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ระบบ EAN ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ยกเว้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ปัจจุบันใช้ชื่อสมาคม EAN International มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซล ประเบลเยี่ยม สำหรับประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สัญลักษณ์รหัสแท่งตามระบบมาตรฐานของ EAN โดยมีสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดหมายเลขประจำตัวให้แก่สินค้าอุปโภคบริโภคแต่ละบริษัทระบบ EAN ยังแบ่งเป็น 2 ระบบย่อย คือ

- ระบบ EAN - 13 (Standard Version) ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดกลางและใหญ่

- ระบบ EAN - 8 (Short Version) ใช้กับผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก

(3) ITF (Interleaved 2 of 5) เป็นรหัสแท่งที่ดัดแปลงจากระบบ EAN ส่วนใหญ่ใช้พิมพ์ด้านนอกกล่องลูกฟูกหรือหน่วยขนส่ง

(4) Code 39 เป็นรหัสที่นิยมใช้กันในวงการอุตสาหกรรมทั่วไป สามารถเข้ารหัสได้ทั้งตัวเลขและตัวอักษร (0 - 9 , A - Z , $ , % , / . + และ - ) และมีความยืดหยุ่นของจำนวนหลักที่ใช้ในการเข้ารหัส

9.4.2 รายละเอียดของรหัสแท่ง

รหัสแท่งที่ทางสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรมอนุมัติให้ใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภค ในประเทศไทยเป็นระบบทางยุโรป (EAN) ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ

(1) ส่วนที่สำหรับให้คอมพิวเตอร์อ่าน ด้วยเครื่องสแกนเนอร์ ประกอบด้วยเส้นสีเข้มและสีอ่อนที่มีความกว้างแตกต่างกัน

(2) ส่วนที่เป็นเลขอารบิค เป็นตัวเลขที่มีไว้อ่าน พิมพ์อยู่ตรงส่วนล่าง ประกอบด้วย 13 ตัวเลขมีความหมายดังนี้

1.ตัวเลข 3 ตัวแรก เป็นเลขหมายของแต่ละประเทศหรือสินค้าพิเศษ เช่น 885 เป็นหมายเลขประจำประเทศไทยหรือ 978 - 979 เป็นหมายเลขที่ใช้กับหนังสือที่รู้จักกันในนาม ISBN โดยหนังสือในเมืองไทยได้กำหนดเป็นหมายเลข 974 เช่นหนังสือเล่มนี้มีหมายเลข ISBN 974 86523 1 9

2.ตัวเลข 4 ตัวถัดมา เป็นเลขรหัสประจำองค์กรที่สมัครกับสถาบันฯ การกำหนดมีระบบที่แน่นอนเพื่อป้องกันรหัสสมาชิกซ้ำกัน

(3) ตัวเลข 5 ตัวหลังถัดจากตรงเส้นคั่นกลาง คือ หมายเลขประจำตัวสินค้าที่ตั้งขึ้นเอง

(4) ตัวเลขสุดท้าย เป็นตัวตรวจสอบของคอมพิวเตอร์ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเลขที่อยู่ข้างหน้านั้นถูกต้องหรือไม่

รูปที่ 9.4 ระบบรหัสแท่งไทย

9.4.3 การทำงานของระบบรหัสแท่ง

เริ่มจากผู้ผลิตกำหนดหมายเลขประจำตัวของสินค้าแต่ละชนิดแล้วนำเลขหมายนั้นแปลงเป็นรหัสแท่งที่มีสัญลักษณ์แท่งสีเข้มสลับกับสีอ่อนและมีขนาดความกว้างแตกต่างกัน แล้วนำมาพิมพ์บนฉลากหรือตัวบรรจุภัณฑ์ การอ่านรหัสกระทำโดยการนำไปผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า "สแกนเนอร์ (Scanner) " ซึ่งใช้ระบบแสงส่องไปยังรหัสแท่งแล้ววัดแสงที่สะท้อนกลับ จากความกว้างที่ไม่เท่ากันของแถบสีเข้มสลับกับสีอ่อน แสงที่สะท้อนกลับนี้จะส่งไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลที่อ่านได้ จะทำให้ทราบว่าเป็นสินค้าประเภทใด ระบบคอมพิวเตอร์ที่วางโปรแกรมไว้แล้วจะสั่งการให้ทำงานตามต้องการ เช่น สั่งพิมพ์ราคาบนใบเสร็จรับเงินของสินค้าชนิดนั้นๆ หรือตัดสต๊อกของสินค้าที่จำหน่ายไป เป็นต้น

9.4.4 ข้อควรปฏิบัติในการออกแบบบรรจุภัณฑ์พร้อมรหัสแท่ง

(1) ขนาดความกว้างของรหัสแท่ง ควรจะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด การขยายหรือย่อส่วนควรปรึกษาที่สถาบันฯก่อน อย่างไรก็ตามความสูงของแท่งไม่ควรน้อยกว่า 15 มิลลิเมตร

(2) พื้นที่ว่างก่อนและหลังของตัวสัญลักษณ์รหัสแท่ง ควรจะมากกว่า 3.6 มิลลิเมตรทั้ง 2 ข้าง พื้นที่ว่างทั้งสองข้างนี้มักจะได้รับการละเลยทำให้การอ่านไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร

(3) การพิมพ์สัญลักษณ์บาร์โค้ดบนหีบห่อที่เป็นวัสดุโปร่งใส เช่น การใช้พลาสติกใสเป็นพื้นที่ว่างด้านหลังของสัญลักษณ์บาร์โค้ด แสงที่ออกมาจากเครื่องสแกนเนอร์มองผ่านจะมองผ่านทะลุวัสดุได้ทำให้เกิดปัญหาในการอ่าน เช่น พลาสติกที่มีสีนวลเมื่อไม่มีการพิมพ์พื้นว่างด้านหลังแท่งบาร์ เวลาอ่านเครื่องสแกนเนอร์จะมองเห็นวัสดุนั้นโปร่งใส จึงไม่เหมาะสมที่ใช้พลาสติกนั้นเป็นพื้น ด้านหลังของแท่งบาร์โค้ดของพลาสติกใสจึงควรใช้สีพิมพ์เป็นพื้นหลังแท่งบาร์ อาทิเช่น สีขาว สีเหลือง สีส้ม ฯลฯ

(4) สีน้ำตาลเข้มเป็นสีมืดจึงใช้เป็นสีของแท่งบาร์โค้ดได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเนื่องจากสีน้ำตาลมีส่วนของสีแดงอยู่ด้วย ถ้ามีส่วนผสมของสีแดงมากเกินไปเครื่องสแกนเนอร์อาจประสบปัญหาในการแยกสีระหว่างแท่งบาร์และพื้นที่ด้านหลัง ทำให้ไม่สามารถอ่านบาร์โค้ดได้

(5) ความหนาของสีที่พิมพ์แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นสีเดียวกันก็ตามก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการอ่าน

(6) ควรหลีกเลี่ยงการใช้สีสะท้อนแสงสำหรับแท่งบาร์ และพื้นที่ว่างด้านหลังของแท่งบาร์เพราะสีสะท้อนแสงทำให้เครื่องสแกนเนอร์อ่านบาร์โค้ดได้ยากหรืออ่านไม่ได้เลย

(7) ผลิตภัณฑ์ที่มีหีบห่อเป็นผ้าหรือบรรจุรูปร่างไม่อยู่ตัว จะไม่สามารถพิมพ์รหัสแท่งได้ เนื่องจากเส้นใยจะทำให้เครื่องสแกนเนอร์อ่านผิดพลาดได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ การพิมพ์รหัสแท่งบนแผ่นป้ายสินค้าที่แขวนติดกับตัวสินค้านั้น

9.4.5 สีที่ควรใช้กับรหัสแท่ง

คู่สีที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการพิมพ์สัญลักษณ์บาร์โค้ดอันประกอบด้วยแท่งบาร์ (Bar) กับพื้นที่ว่างด้านหลัง (Backgroundป ดังนี้

สีแท่งบาร์

สีพื้นที่ด้นหลัง

1. ดำ

ขาว

2. เขียว

ขาว

3. ดำ

เหลือง

4. เขียว

เหลือง

5. น้ำเงิน

ขาว

6. น้ำตาลเข้ม

ขาว

7. น้ำเงิน

เหลือง

8. น้ำตาลเข้ม

เหลือง

9. ดำ

ส้ม

10. เขียว

ส้ม

11. ดำ

แดง

12. เขียว

แดง

13. น้ำเงิน

ส้ม

14. น้ำตาลเข้ม

ส้ม

15. น้ำเงิน

แดง

16. น้ำตาลเข้ม

แดง

9.4.6 การออกแบบตำแหน่งที่ติดรหัสแท่งบนบรรจุภัณฑ์

โดยทั่วไป ตำแหน่งที่ติดรหัสแท่จะอยู่บริเวณส่วนก้นหรือฐานของบรรจุภัณฑ์ โดยพิจารณาถึงความสะดวกเมื่อรูดผ่านสแกนเนอร์ ในกรณีที่สินค้าไม่สามารถคงรูปร่างได้ เช่น เสื้อผ้าหรือสินค้ามีขนาดเล็ก แนะนำให้ใช้วิธีติดรหัสแท่งบนป้ายแขวน ดังแสดงในรูปที่ 9.5

รูปที่ 9.5 การออกแบบตำแหน่งที่ติดรหัสบนแท่งบรรจุภัณฑ์

แหล่งที่มา : Erdei, William, H., "BAR CODES_Designs, Printing & Quality Control," p.97

9.4.7 ประโยชน์ของรหัสแท่ง

การจัดระบบรหัสแท่งที่ได้กล่าวมาแล้วจะพบว่าหมายเลขของสินค้าแต่ละประเภทของแต่ละบริษัทไม่มีโอกาสซ้ำกัน ด้วยเหตุนี้ การส่งสินค้าไปยังที่ต่างๆ ไม่ว่าภายในประเทศหรือต่างประเทศย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) ช่วยให้การขาย/คิดเงินได้รวดเร็วขึ้น ในระบบซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าจำหน่ายที่มีสินค้าเป็นแสนชิ้น เมื่อมีการซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากรหัสแท่งจะช่วยให้การคิดเงิน เก็บเงินและพิมพ์ใบเสร็จรวดเร็วขึ้นและมีความถูกต้องแม่นยำกว่าการกดแป้นเครื่องคิดเงิน นอกจากนี้ไม่ต้องราคาสินค้าทุกชิ้นเพียงแต่เขียนป้ายบอกราคาบนหิ้งหรือชั้นวางสินค้าก็เพียงพอ การใช้ระบบรหัสแท่งผสมกับการใช้ระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถลดงานได้ตั้งแต่ 23%-48% ขึ้นกับจำนวนชิ้นของสินค้าที่ต้องคิด

(2) ยกระดับมาตรฐานสินค้า หมายเลขประจำตัวสินค้าก่อให้เกิดมาตรฐานสำหรับสินค้าที่ใช้กันทั่วโลก ผู้ผลิตสินค้าที่จดทะเบียนกับองค์กรกลางของแต่ละประเทศ (องค์กรของประเทศไทยคือสถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย) จะสามารถตรวจสอบรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ทำให้เพิ่มขอบข่ายของข้อมูลสินค้าที่จะเพิ่มโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น

(3) สะดวกในการควบคุมระบบสินค้าคงคลังและลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้า การตรวจสอบจำนวนสินค้าสามารถใช้สแกนเนอร์ในการอ่านรหัสแท่งจากหิ้งของคลังสินค้า โดยไม่ต้องลงมือนับทีละหน่วยช่วยทำให้ประหยัดเวลาและสามารถรู้ถึงสถานะของปริมาณสินค้าในทุกขณะที่จำหน่ายสินค้าจึงสามารถคาดการณ์และวางแผนควบคุมระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในปริมาณที่ต้องการได้

(4) การปูพื้นฐานในการทำธุรกิจแบบไร้กระดาษ หรือที่รู้จักกันในนาม Electronic Data Interchange (EDI) หมายความว่า การสั่งซื้อสินค้าจะผ่านเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (On Line) โดยไม่ต้องมีใบเสนอราคา ใบสั่งซื้อ เป็นต้น ทำให้ลดเวลาในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการทำงานคล้ายคลึงกับการฝากถอนด้วยระบบ ATM แทนที่การเขียนใบนำฝากหรือใบถอนเงินหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร

บทสรุป

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ในบ้านเรายังมีน้อยกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว กฎหมายที่ออกส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ผลิต เช่น พระราชบัญญัติมาตรชั่งตวงวัด พ.ร.บ. อาหาร พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ส่วนพ.ร.บ. มาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นกฎหมายที่พยายามยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อควบคุมผู้ประกอบการแปรรูปอาหารให้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่ได้กำหนดไว้

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์อาหารสามารถติดต่อหาข้อมูล หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนต่างๆ ที่ไม่แสวงหากำไร อันประกอบด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ส่วนอุตสาหกรรมเกษตร และส่วนบรรจุภัณฑ์) ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ศูนย์บริการออกแบบ กรมส่งเสริมการส่งออก และสถาบันการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนองค์กรเอกชน ได้แก่ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย สถาบันอาหาร และสถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย

สัญลักษณ์รหัสแท่งไทยหรือรู้จักกันในนามของบาร์โค้ด มีความจำเป็นในการใช้พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ การติดสัญลักษณ์รหัสแท่งสินค้าตัวใดก็ตามจะไม่มีสินค้าใดๆ ในโลกนี้ที่มีหมายเลขซ้ำกัน เนื่องจากการจัดการอย่างมีระบบทั่วทั้งโลก การติดบาร์โค้ดบนสินค้าอุปโภคบริโภคยังเป็นบันได้ก้าวแรกที่จะก้าวไปสู่การทำธุรกิจแบบไร้เอกสาร โดยการซื้อการขายหรือธุรกรรมต่างๆ จะผ่านสายตรงไปยังคอมพิวเตอร์หมด ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Electronic Data Interchange หรือที่รู้จักกันด้วยคำย่อว่า EDI

<<ย้อนกลับ กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1

<<กลับสู่หน้าหลัก



ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Infrastructure Databank: STDB) อีกหนึ่งโครงการฐานข้อมูลฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนำข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ ข้อมูลนักวิจัย ผลงานวิจัย เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการ รวบรวมไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มภาคการศึกษา ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม สามารถใช้ประโยชน์ด้วยการสืบค้นข้อมูลได้แบบ One Stop Service ผ่านเว็บไซต์ www.stdb.most.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามาถใช้บริการจากฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างคุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องลงทุน รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำลังคนในการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อทดแทนและเพิ่มเติมให้เหมาะสมตามความต้องการและความจำเป็นของภาคเอกชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อขอรับบริการได้ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) อาคารวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (อาคาร 40 ปี) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์ 053-942088 ต่อ 408 โทรสาร 053-942888-91 ต่อ 413 E-mail: [email protected] Website: www.stdb.most.go.th Facebook: www.facebook.com/ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี-STDB
พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 3
1.4.2 ประเภทของบรรจุภัณฑ์จำแนกตามวัสดุ บรรจุภัณฑ์แยกตามวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตได้ 4 ประเภท คือ เยื่อและกระดาษ นับได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้มากที่สุดและมีแนวโน้มใช้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการรีไซเคิลได้ง่าย อันเป็นผลจากการรณรงค์สิ่งแวดล้อม กระดาษนับเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ประเภทเดียวที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จากการปลูกป่าทดแทน กระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีหลายประเภท และสามารถพิมพ์ตกแต่งได้ง่ายและสวยงาม นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการขนส่งจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้เนื่องจากสามารถพับได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง พลาสติก เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่อัตราการเจริญเติบโตสูงมาก คุณประโยชน์ของพลาสติกคือ มีน้ำหนักเบา ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและก๊าซได้ระดับหนึ่ง สามารถต่อต้านการทำลายของแบคทีเรียและเชื้อรา มีคุณสมบัติหลายอย่างที่สามารถเลือกใช้ในงานที่เหมาะสม พลาสติกบางชนิดยังเป็นฉนวนกันความร้อนอีกด้วย พลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีอยู่หลากหลายประเภท การศึกษาคุณสมบัติของพลาสติกแต่ละประเภทมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เลือกใช้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แก้ว นับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยากับสารเคมีชีวภาพต่างๆ เมื่อเทียบกับวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และรักษาคุณภาพสินค้าได้ดีมาก ข้อดีของแก้วคือมีความใสและทำเป็นสีต่างๆ ได้ สามารถทนต่อแรงกดได้สูงแต่เปราะแตกง่าย ในด้านสิ่งแวดล้อม แก้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่พึงระวังในเรื่องการบรรจุ คือ ฝาขวดแก้วจะต้องเลือกใช้ฝาที่ได้ขนาด และต้องสามารถปิดได้สนิทแน่น เพื่อช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุของสินค้า โลหะ ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร วัสดุโลหะที่ใช้มี 2 ชนิด คือ - เหล็กเคลือบดีบุก เป็นบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ การลงทุนในการผลิตไม่สูงนักและไม่สลับซับซ้อน สามารถใช้บรรจุอาหารได้ดี เนื่องจากสามารถปิดผนึกได้สนิทและฆ่าเชื้อได้ด้วยความร้อน ในแง่ของสิ่งแวดล้อมสามารถแยกออกจากขยะได้ง่ายด้วยการใช้แม่เหล็ก - อะลูมิเนียม มักจะใช้ในรูปเปลวอะลูมิเนียมหรือกระป๋อง มีน้ำหนักเบา อีกทั้งมีความแข็งแรงทนต่อการซึมผ่านของอากาศ ก๊าซ แสง และกลิ่นรสได้ดี ในรูปของเปลวอะลูมิเนียมมักใช้เคลือบกับวัสดุอื่นซึ่งให้ภาพลักษณ์ที่ดีเนื่องจากความเงาวับของอะลูมิเนียมและเป็นตัวเหนี่ยวนำความเย็นได้ดี 1.5 วิทยาการบรรจุภัณฑ์ ในอดีตกาลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารมักจะคิดว่าบรรจุภัณฑ์เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าจะเสีย ดังนั้นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จึงมักจะเลือกราคาต่ำเป็นเกณฑ์ตราบจนกระทั่งช่องทางการจัดจำหน่ายในบ้านเราค่อยๆ เปลี่ยนโฉมมาเป็นร้านค้าแบบช่วยเหลือตนเอง เริ่มจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกลายเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงห่อหุ้มสินค้าไว้เท่านั้น แต่ต้องช่วยตะโกนบอกด้วยคำบรรยายบนบรรจุภัณฑ์ ณ จุดขาย ผู้ประกอบการจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ กอปรกับการเริ่มมีหลักสูตรทางด้านบรรจุภัณฑ์ในระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา ทำให้บรรจุภัณฑ์ศาสตร์เริ่มจะได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ในหลายๆ สาขา เริ่มจากวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม วัสดุศาสตร์ การตลาด จิตวิทยา และการออกแบบ ความรู้ต่างๆ ในหลากหลายสาขาเหล่านี้เปรียบเสมือนยาหม้อปรุงขึ้นมาเพื่อพัฒนาวิทยาการบรรจุภัณฑ์อันประกอบด้วย การบรรจุใส่ การเก็บคงคลัง การจัดส่ง การจัดจำหน่ายด้วยบรรจุภัณฑ์หลายประเภทและหลายขนาด ด้วยจุดประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างความประทับใจให้กลับมาซื้อใหม่ จากการที่วิทยาการบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยหลายๆ สาขาดังกล่าวมานี้ บุคลากรที่เข้ามารับผิดชอบงานทางด้านบรรจุภัณฑ์จึงอาจมีความรู้พื้นฐานต่างสาขาขึ้นอยู่กับขอบเขตของงานบรรจุภัณฑ์ที่รับผิดชอบ สำหรับนักศึกษาตามระบบทางด้านวิทยาการบรรจุภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 2 สาขา คือ สาขาทางด้านเทคโนโลยี พื้นฐานความรู้ควรจะครอบคลุมถึงวิชาความรู้ทางด้านเคมี ฟิสิกส์ จุลชีววิทยา คณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และอิเล็คทรอนิคส์ ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการแก้ปัญหาทางด้านบรรจุภัณฑ์ สาขาทางศิลปะ จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านออกแบบกราฟฟิกในเชิงพาณิชย์ (พาณิชย์ศิลป์) การตลาด จิตวิทยา และการโฆษณา ความรู้พื้นฐานนี้มีบทบาทต่อการส่งเสริมการขายของบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยเริ่มมีการเปิดหลักสูตรความรู้ระดับปริญญาตรีทางด้านนี้มาประมาณ 10 ปี โดยภาควิชาเริ่มแรกคือ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ อยู่ภายใต้คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ ที่มีการเปิดสอนวิทยาการบรรจุภัณฑ์ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในอนาคตอันใกล้นี้คงเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีโครงการขยายระดับการศึกษาสูงถึงขั้นปริญญาโทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถาบันการศึกษาดังกล่าวเหล่านี้ มักจะเน้นทางด้านเทคโนโลยี ส่วนทางด้านศิลปะนั้นยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดๆ เปิดสอนวิชาทางด้านการออกแบบกราฟฟิกโดยเฉพาะ การสอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทางกราฟฟิกมักจะสอนเพียงแต่ระดับวิชา (Course) เช่น วิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น นอกเหนือจากการศึกษาตามระบบแล้ว ยังมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง การสัมมนาและการฝึกอบรม ซึ่งมีการจัดอยู่ตลอดปีโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีการจัดการโดยองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ศูนย์บรรจุหีบห่อไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก รายละเอียดได้รวบรวมไว้ในบทที่ 9 สำหรับการศึกษาต่อเนื่องทางไปรษณีย์ สถาบันที่มีชื่อเสียงและมีมานานที่สุด ได้แก่ Pira International ของประเทศอังกฤษ (e-mail : [email protected]) และยังมีของสถาบันบรรจุภัณฑ์ Institute of Packaging (e-mail : [email protected]) สำหรับในทวีปเอเชีย ได้แก่ Asian Packaging Federation ที่มอบให้ทาง Indian Institute of Packaging (e-mail : [email protected]) เป็นผู้จัดการศึกษาต่อเนื่องทางไปรษณีย์สำหรับชาวเอเชีย สำหรับผู้ที่สนใจวิทยาการทางด้านนี้ และต้องการทราบถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ สามารถติดตามได้จากงานแสดงสินค้าทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่ 2 งานในประเทศไทย คือ Pro-Pak Asia ซึ่งเน้นหนักไปทางด้านกระบวนการผลิตอาหาร (Process) และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะจัดประมาณกลางปีของทุกปี ส่วนงานแสดงสินค้าอีกงานหนึ่ง คือ Thai Pack Print ที่จัดประมาณปลายปีของทุกปี โดยเน้นในทางด้านการแปรรูปบรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ในงานระดับสากล งานแสดงสินค้าเครื่องจักรทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด คือ Interpack ของประเทศเยอรมันโดยจัดที่เมือง Dusseldorf ทุกปีเว้นปี โดยจะมีในปี พ.ศ. 2542 ช่วงเดือนพฤษภาคม ในแถบเอเชียการแสดงเครื่องจักรและวัสดุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ Tokyo Pack จัดโดยสถาบันบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่น (Japan Packaging Institute) โดยจัดสลับปีเว้นปีกับ Japan Pack ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่น โดยงานทั้งสองจะจัดในช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีสลับกันคนละปี บทสรุป บรรจุภัณฑ์ได้กำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ ตอนเริ่มต้นบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่เฉพาะเป็นภาชนะรองรับอาหารและน้ำดื่ม และค่อยๆ วิวัฒนาการขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์เต็มรูปแบบ ด้วยเหตุนี้บรรจุภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์กับประเพณีนิยมของแต่ละชนชาติอย่างใกล้ชิด บรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากความคิดริเริ่มของมนุษย์ได้มีการพัฒนาสอดคล้องกับบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ไข่ ถั่ว และกล้วย เป็นต้น คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วย การรวบรวมปริมาณของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทำการปกป้องรักษาคุณภาพของอาหารพร้อมทั้งเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง ณ จุดขาย บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่พนักงานขายใบ้ (Silent Salesman) ด้วยการสื่อความหมายต่างๆ ที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ให้แก่เป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นผู้ซื้อและหรือผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะสัมฤทธิผลได้ต่อเมื่อมีต้นทุนเหมาะสมกับราคาของสินค้าซึ่งแปรตามปริมาณการขายและตลาดที่จำหน่ายสินค้านั้นๆ ประเภทของบรรจุภัณฑ์อาจแบ่งตามเหตุผลในการออกแบบหรือแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิต เมื่อแบ่งตามเหตุผลในการออกแบบ ซึ่งแยกเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นใน บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง และบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนั้น เป็นการแยกตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบที่แตกต่างกัน ส่วนการแยกตามวัสดุแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เยื่อและกระดาษ พลาสติก แก้ว และโลหะ วิทยาการบรรจุภัณฑ์นับเป็นวิทยาการใหม่ในเมืองไทย ซึ่งประกอบความรู้ทางหลายด้านผสมกัน บรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนบ้านที่คนเราอยู่ เมื่อวิศวโยธาร่วมกับสถาปนิกช่วยการออกแบบบ้านให้คนเราอาศัย ผลิตภัณฑ์อาหารก็จำต้องอาศัยวิศวกรรมบรรจุภัณฑ์และนักออกแบบกราฟฟิกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผลิตภัณฑ์อาหารอาศัยอยู่ การสร้างบ้านมีตั้งแต่การสร้างบ้านไม้มุงหลังคาจาก ห้องแถว คฤหาสน์ คอนโดมิเนียมให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารก็คล้ายคลึงกันมีทั้งซอง ถุง กล่อง กระป๋อง ขวด ให้เลือกตามความเหมาะสมของอาหารแต่ละประเภท สิ่งที่แตกต่างกัน คือ บรรจุภัณฑ์อาหารมีอายุขัยโดยปกติไม่เกิน 2 ปี และไม่มีโอกาสทำการซ่อมแซมระหว่างการใช้งานเหมือนกับบ้านที่คนเราอยู่ <<ย้อนกลับ พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์ ตอนที่2 <<กลับสู่หน้าหลัก
การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1
การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่าแตกต่างกันมาก ตั้งแต่เนื้อวัวโคขุนชิ้นละเป็นร้อยเป็นพันบาท จนกระทั่งถึงลูกหยีเม็ดละไม่ถึงบาท การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เอื้ออำนวยระดับการป้องกันจึงแตกต่างกันในเรื่องของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของวัสดุและระบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ถึงแม้ว่าบรรจุภัณฑ์จะสามารถป้องกันอันตรายจากภายนอก เช่น แสงแดด ฝน หรือทนต่อการโยน การกระแทกกันระหว่างการขนส่งได้ แต่ถ้าบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถรักษาคุณภาพของอาหารได้โดยปล่อยให้สินค้าที่อยู่ภายในเน่าเสีย บรรจุภัณฑ์นั้นย่อมใช้งานไม่ได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงพอสรุปได้ว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ คือ การป้องกันและรักษาคุณภาพอาหารด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เมื่อบรรจุภัณฑ์สามารถทำหน้าที่เป็นพาหะนำส่งไปยังจุดขายด้วยโครงสร้างที่ออกแบบมาอย่างดี ณ สถานที่จัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ต้องแปลงกายทำอีกหน้าที่หนึ่ง คือ การช่วยส่งเสริมการขาย ณ จุดขาย ซึ่งอาจเป็นตลาดในหมู่บ้าน ในเมือง หรืออาจจะไปขายถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต ความสามารถที่จะช่วยชักชวนเชื้อเชิญอย่างเงียบอย่างเงียบๆ ให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้านี้เป็นบทบาทของการออกแบบกราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จึงแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. โครงสร้าง เป็นการออกแบบทางด้านเทคนิคและทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ โดยเน้นกระบวนการบรรจุใส่ การรักษาคุณภาพด้วยการประเมินอายุของอาหาร (Shelf Life) และการป้องกันที่เหมาะสมต่อการขนส่งและการกระจายสินค้า 2. กราฟฟิก เป็นการออกแบบรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อและสื่อความหมายให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถโน้มน้าวให้เกิดการสั่งซื้อ การออกแบบกราฟฟิกจะเน้นในเรื่องของการตกแต่งรูปลักษณ์ด้วยภาพพจน์ที่สร้างความประทับใจซึ่งจะกล่าวถึงในบทต่อไป 3.1 การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นงานที่ต้องทำอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีบรรจุภัณฑ์ใดในโลกนี้จะสามารถใช้ได้ตลอดกาล สาเหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านการตลาด และเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมของผู้บริโภค รวมทั้งระบบการจัดจำหน่ายที่พัฒนาขึ้นและเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านบรรจุภัณฑ์ จำต้องตื่นตัวอยู่เสมอและพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับต้นทุน ตลาด ภาพพจน์ กราฟฟิก การใช้งานและความต้องการในการรักษาสิ่งแวดล้อม 3.1.1 มูลเหตุที่ต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มูลเหตุที่ต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มีหลายประการ มูลเหตุหลักเกิดจากมูลเหตุทางด้านการตลาดและการผลิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ดังแสดงในรูปที่ 3.1 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นแนะนำผลิตภัณฑ์ (Introduction) 2) ขั้นตลาดเจริญเติบโต (growth) 3) ขั้นตลาดอิ่มตัว (maturity) 4) ขั้นตลาดตกต่ำ (decline) รูปที่ 3.1 ขั้นตอนวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Product_life_cycle.png สถานะของส่วนผสมทางการตลาดในแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์สามารถสรุปอย่างสั้นๆ ได้ด้วยตารางที่ 3.1 ตารางที่ 3.1 สถานะของส่วนผสมทางการตลาดในแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมทางการตลาด ขั้นตอนวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ 1. แนะนำ 2. เติบโต 3. อิ่มตัว 4. ตกต่ำ ก.ผลิตภัณฑ์ ชนิดเดียว หลายชนิด แข่งขัน เหลือน้อยราย ข. การจัดส่ง เลือกระบบ ที่เหมาะสม หลายระบบ ระบบที่จำเป็น ค. การส่งเสริม แนะนำ เร่งเร้า ทุกรูปแบบ แยกประเภท ง. ราคา เจาะตลาด สูงสุด ตัดราคา ลดสุดๆ พิจารณามูลเหตุของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (1) มูลเหตุจากภายนอกองค์กร เริ่มจากผลิตภัณฑ์อันเป็นส่วนผสมการตลาดอันดับแรก มูลเหตุภายนอกองค์กรที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มักจะเกิดจากสภาวะคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเติบโตหรือขั้นตอนการแข่งขันวัฏจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะถึงขั้นตกต่ำ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่มักจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงหรือยืดขั้นอิ่มตัวให้ยาวออกไปอีกระยะหนึ่งแม้ว่ากำไรจะเลยสูงสุดไปแล้วก็ตาม การเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น การเข้าสู่ระบบการขายจำพวกไฮเปอร์มาร์เก็ตย่อมมีความจำเป็นต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม เช่น การรวมกลุ่มสินค้าต่อหน่วยขนส่ง การเปลี่ยนระบบการจัดส่ง เช่น การขนไปยังศูนย์รวมการจัดส่งหรือที่เรียกว่า Distribution Center หรือ D.C. ของคู่ค้า บรรจุภัณฑ์ที่ใช้จำต้องได้รับการพัฒนาใหม่ให้เหมาะสมกับการทำงาน ณ D.C ของคู่ค้า มูลเหตุสำคัญภายนอกอีกประการหนึ่ง คือ กฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่มีการออกกฎข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับฉลากและบรรจุภัณฑ์ย่อมต้องมีการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการออกกฎให้แสดงคุณค่าทางโภชนาการ (nutrition label) บนบรรจุภัณฑ์อาหาร ย่อมต้องมีการออกแบบฉลากอาหารใหม่ เป็นต้น ตัวอย่างที่ยกมานี้มีเพียงบางตัวอย่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยังมีอีกมากมายขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะนำเอาบรรจุภัณฑ์มาเป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาดมากน้อยแค่ไหน (2) มูลเหตุจากภายในองค์กร จากหลักการวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ สินค้าแต่ละอย่างมีโอกาสเข้าสู่ขั้นตอนการตกต่ำและหายไปจากตลาด ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ดังนั้นปัจจัยภายในองค์กรอันดับแรกในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ คือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าใหม่ ในการออกแบบควรคำนึงถึงแต่ละขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตและควรจะมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เตรียมเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อส่วนผสมการตลาดมีการเปลี่ยนแปลง แนวทางการพัฒนามักจะเป็นการเสริมหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น การปรับปรุงพัฒนาความสวยงาม การปรับปรุงเพื่อยกระดับการป้องกันสินค้า การปรับปรุงเพื่อเพิ่มสมรรถนะการใช้งานและเอื้ออำนวยความสะดวกของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น (3) มูลเหตุจากด้านเทคโนโลยี กระแสโลกานุวัติของโลกธุรกิจ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์มีเกิดขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น การใช้สัญลักษณ์รหัสแท่ง (bar code) ที่จะนำไปสู่การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้ระบบการพิมพ์แบบไร้สัมผัส (Non-Contact) การบรรจุภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ (Aseptic packaging) เป็นต้น วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีบทบาทต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ควรจะพัฒนาให้เกิดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบในระยะสั้น คือ การส่งผลให้ยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แผลกระทบในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าและเป็นสิ่งที่พิสูจน์อย่างแท้จริงว่าการพัฒนาบรรจุภัณฑ์นั้นสำเร็จหรือไม่ คือ ความสามารถในการดึงให้ผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายมาซื้อซ้ำอยู่เรื่อยๆ 3.1.2 ปัจจัยที่ต้องพิจารณา ข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องคำนึงในการออกแบบ คือ (1) สินค้านั้นคืออะไร การออกแบบต้องเริ่มต้นด้วยมีข้อมูลทางด้านสินค้าอย่างเพียงพอ ได้แก่ ประเภทของสินค้า คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ขนาด รูปทรง ปริมาตร ส่วนประกอบหรือส่วนผสม คุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการผลิตหรือกรรมวิธีการแปรรูปอาหาร การตรวจสอบคุณภาพ ข้อแนะนำในการบริโภค และสินค้าจะเสื่อมคุณภาพจากปฏิกิริยาอะไรเพื่อจะได้นำมาออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ให้ลวดลายสีสันอย่างเหมาะสม สร้างการยอมรับจากผู้ซื้อ และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างจุดขายของสินค้า (Unique Selling Point) ด้วยเหตุนี้ คุณสมบัติของสินค้าที่ต้องพิจารณาจึงมีดังต่อไปนี้ 1. คุณสมบัติทางกายภาพ ประกอบด้วยของแข็ง ของเหลว ผู้ออกแบบต้องทราบความเหนียวข้นในกรณีที่เป็นของเหลว และต้องรู้น้ำหนัก / ปริมาตรหรือความหนาแน่นสำหรับสินค้าที่เป็นของแห้ง 2. คุณสมบัติทางเคมี คือ สาเหตุที่ทำให้สินค้าอาหารเน่าเสีย (food spoilage) หรือเสื่อมคุณภาพจนไม่เป็นที่ยอมรับได้ และปฏิกิริยาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น 3. คุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ เช่น กลิ่น การแยกตัว เป็นต้น คุณสมบัติดังกล่าวทั้ง 3 ข้อเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสินค้าที่จำเป็นต้องทราบเพื่อเริ่มต้นเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม (2) ประโยชน์และความต้องการของผู้บริโภค การกำหนดเป้าหมายของผู้บริโภคและการวิจัยตลาดย่อมสามารถประเมินว่าจุดขายของสินค้าสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องทราบถึงปริมาณการบริโภคแต่ละครั้ง การนำไปปรุงร่วมกับอาหารชนิดอื่น และโอกาสในการบริโภคหรือฤดูในการเลือกซื้อ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การบรรจุรวมห่อ การออกแบบบรรจุภัณฑ์และลวดลายให้สอดคล้องกับเทศกาล การออกแบบให้เป็นของกำนัล เป็นต้น เพื่อเป็นการสนองความต้องการของผู้ซื้อ และทำให้สินค้าของเรามีความแตกต่างหรือสร้างคุณประโยชน์มากกว่าคู่แข่งขันไม่ว่าในแง่ของคุณค่าอาหารหรือความสะดวกในการบริโภค ปัจจัยในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวหากนำมาเปรียบกับเรื่องใกล้ตัว ก็คงคล้ายคลึงกับการจ้างช่างตัดเสื้อผ้าตัดเย็บเสื้อผ้าให้ การตัดเย็บเสื้อผ้าเริ่มจากการวัดตัวซึ่งก็คือการเก็บข้อมูลของสินค้าของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การที่คนบางคนแพ้ผ้าบางอย่างก็คงเหมือนกับการทดสอบความเข้ากันได้ (Compatibility) ของผลิตภัณฑ์อาหารกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่นักออกแบบหรือช่างตัดเสื้อจำต้องทราบ เมื่อผ่านขั้นตอนการวัดตัวแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะออกแบบเสื้อผ้าใส่ในงานอะไร เช่น ชุดกลางคืนสำหรับงานราตรีสโมสร ชุดกลางวันสำหรับทำงาน เป็นต้น ขั้นตอนนี้เหมือนกับการเก็บข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการออกแบบเสื้อผ้าหรือตัวบรรจุภัณฑ์ (3) บรรจุภัณฑ์ จากปัจจัยทั้ง 2 ดังกล่าวมาแล้ว ปัจจัยที่สาม คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องพิจารณามีดังนี้ 1. พิจารณาตามหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ การป้องกัน การรักษาคุณภาพ ความสะดวกในการใช้งาน ความประหยัดในการขนส่ง การออกแบบกราฟฟิกให้สอดคล้องกับความต้องการ การใช้ฉลากและส่วนประกอบของฉลาก โดยแบ่งเป็น - บรรจุภัณฑ์ชั้นใน (primary packaging) พิจารณาความเข้ากันได้ระหว่างสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (Compatibilty) ความสามารถในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค - บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง (secondary packaging) ความจำเป็นในการรวมกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชั้นในเข้าด้วยกัน ความจำเป็นในการนำบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองวางขาย ณ จุดขาย - บรรจุภัณฑ์ขนส่ง (distribution packaging) ความสามารถในการป้องกันสินค้า ข้อมูลที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยให้ถึงจุดมุ่งหมายปลายทางด้วยความลอดภัย 2. พิจารณาถึงคุณสมบัติทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ สามารถแบ่งบรรจุภัณฑ์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ บรรจุภัณฑ์แข็งตัว (Rigid packaging) บรรจุภัณฑ์กึ่งแข็ง (Semi-rigid packaging) และบรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม (Flexible packaging) ดังมีรายละเอียดดังนี้ - บรรจุภัณฑ์แข็งตัว (Rigid Packaging) เช่น แก้ว กระป๋องโลหะ (can) และขวด พลาสติก ส่วนมากเป็นพลาสติกฉีด บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีความแข็งแรง คงรูปได้ดี ลำเลียงบนสายพาน (conveyor) ได้สะดวก จึงเหมาะสำหรับการใช้งานกับเครื่องบรรจุของเหลวด้วยระบบสุญญากาศ และระบบที่ใช้ความดันได้ - บรรจุภัณฑ์กึ่งแข็ง (Semi-Rigid Packaging) เช่น ขวดพลาสติกแบบขึ้นรูปด้วยการเป่า ถาดโฟม ถ้วยไอศกรีม ขึ้นรูปด้วยความร้อนและสุญญากาศ บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีข้อจำกัดในการรับแรงอัดและแรงดันจึงบรรจุแบบกระบอกสูบอัดใส่ในถุงบรรจุภัณฑ์ - บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม (Flexible Packaging) เช่น ซองและถุง บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ไม่สามารถรักษามิติหรือรูปทรงได้จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยในระหว่างทำการบรรจุของเหลว และมักใช้ระบบการบรรจุแบบกระบอกสูบอัดใส่ในถุงบรรจุภัณฑ์ นอกจากปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยดังกล่าวมาแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่พิจารณาประกอบได้แก่ (4) การตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สนองกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จำต้องวิเคราะห์จุดยืนของสินค้าและบรรจุภัณฑ์เทียบกับคู่แข่งขันที่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ฝ่ายการตลาดหน้าที่เป็นผู้หาข้อมูลดังกล่าวและป้อนให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลของปริมาณสินค้าที่จะบรรจุ ขนาด จำนวน บรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยขนส่ง อาณาเขตของตลาด เป็นต้น (5) ระบบขนส่งสินค้าและคลังสินค้า ศึกษาวิธีและอุปกรณ์การขนย้ายและการเก็บคงคลัง เช่น การใช้กะบะเป็นพาหนะสำหรับใช้ในระบบการขนย้าย ความจำเป็นในการใช้สัญลักษณ์รหัสแท่งบนบรรจุภัณฑ์ขนส่ง เป็นต้น (6) กฎหมาย การออกแบบกราฟฟิกของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นไปตามข้อบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับข้อบังคับของสำนักงานอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ยังต้องศึกษาการใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (7) ปัจจัยอื่นๆ สภาวะคู่แข่งขันรวมกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวของคู่แข่ง สถานะของผลิตภัณฑ์ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 3.1.3 องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรทุกแห่งจะประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกัน ในองค์กรใหญ่อาจจะมีฝ่ายบริหารเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่องค์กรเล็กอาจจะเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ 1) ฝ่ายบริหาร ตัวประธานฝ่ายบริหารหรือเจ้าของกิจการย่อมมีส่วนในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบไปขัดกับกฎหมายบ้านเมือง ตัวประธานฝ่ายบริหารอาจจะต้องรับผิดชอบ สาเหตุที่ฝ่ายบริหารต้องมาเกี่ยวข้องเพราะว่าบรรจุภัณฑ์เป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรและลูกค้า ในบริษัทใหญ่ๆ ของไทยเริ่มมีบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะมาดูแลรับผิดชอบทางด้านบรรจุภัณฑ์มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของฝ่ายบริหารและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาด 2) ฝ่ายการตลาด บทบาทของการตลาดเป็นการสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยสินค้าที่จำหน่าย โดยมีบรรจุภัณฑ์เป็นอาวุธสำคัญในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการตลาดสมัยใหม่ การส่งเสริมการจำหน่าย ณ จุดขายก็ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เป็นหัวหอกสำคัญ ฝ่ายการตลาดจะพิจารณาบรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ 3) ฝ่ายผลิต สินค้าที่บรรจุเสร็จเรียบร้อยในบรรจุภัณฑ์จะมีต้นทุนต่ำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของฝ่ายผลิต นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานที่จะควบคุมคุณภาพให้คงที่สม่ำเสมอ ในการทำงานฝ่ายผลิตมักจะมีความเห็นขัดแย้งกับฝ่ายการตลาด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดระหว่างขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ฝ่ายผลิตจะร่วมวิเคราะห์เรื่องความเข้ากันได้ระหว่างบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบกับเครื่องจักรที่จะใช้ในการบรรจุ เพื่อช่วยกำหนดคุณภาพและความเร็วของสินค้าที่จะผลิตได้ 4) ฝ่ายบัญชีและการเงิน ฝ่ายนี้ต้องคอยติดตามผลประกอบการขององค์กรพร้อมทั่งรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในสภาวะที่มั่นคง หน้าที่ของฝ่ายบัญชีและการเงินจะพยายามลดต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายการตลาดที่พยายามจะลงทุนบรรจุภัณฑ์เพื่อปกป้องให้สินค้าดีขึ้น และช่วยในการเพิ่มยอดขาย 5) ฝ่ายจัดซื้อและจัดส่ง หน้าที่หลักที่เกี่ยวกับฝ่ายจัดซื้อ คือ การจัดหาบรรจุภัณฑ์ให้ได้ตามคุณภาพ จำนวน เวลา และราคาที่กำหนดไว้ ในขณะที่ฝ่ายจัดส่งพยายามลำเลียงสินค้าที่ผลิตเสร็จไปสู่ผู้ขายด้วยจำนวนที่ถูกต้องภายในเวลาและสถานที่ที่กำหนด จะพบกิจกรรมทางด้านนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายผลิตและฝ่ายตลาดเข้าด้วยกัน และเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการแข่งขันเพื่อการลดต้นทุนพร้อมการบริการที่สะดวกมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น <<กลับสู่หน้าหลัก อ่านต่อ การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2>>
กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 1
กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์นับวันมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความตื่นตัวของผู้บริโภคและกระแสโลกานุวัตรกระตุ้นให้รัฐต้องออกกฎหมายมาควบคุม ในบทนี้จะได้บรรยายกฎหมายและข้อบังคับที่มีความสำคัญต่อวงการบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งแหล่งที่จะค้นคว้ารายละเอียดข้อมูลเหล่านี้ 9.1 กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ 9.1.1 พระราชบัญญัติ มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 พ.ร.บ. ฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคสินค้าตามปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะได้ผลดีเพียงใดอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการในการดูแลเอาใจใส่ในการบรรจุสินค้าของตัวเองให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยครอบคลุมสินค้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายภายในประเทศ และยังรวมถึงสินค้าหีบห่อที่นำเข้ามาหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใดๆ ที่ใช้ในการชั่ง ตวงวัด จะต้องได้ใบรับรอง ส่วนหน่วยที่แสดงปริมาณของสินค้าตามมาตราชั่งตวงวัด ควรใช้ระบบเมตริกและตัวเลขที่ใช้สามารถใช้ตัวเลขอารบิคหรือตัวเลขไทยได้ ขนาดของตัวเลขและตัวอักษรที่ต้องใช้ไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร นอกจากนี้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับล่าสุดคือ ฉบับที่ 13 ปี พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้สินค้าบางประเภทบรรจุตามปริมาณที่กำหนด ผลิตภัณฑ์อาหารที่กำหนดให้บรรจุตามปริมาณที่กำหนดระบุอยู่ในท้ายประกาศดังกล่าวประกอบด้วย อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มและน้ำส้มสายชู โดยมีรายละเอียดดังนี้ - น้ำปลาขนาดบรรจุเป็นมิลลิลิตร (มล.) มีขนาด 100 , 200 , 300 , 530 , 700 , 750 ส่วนขนาดบรรจุต่ำกว่า 100 มล. และสูงกว่า 750 มล. ไม่กำหนดขนาดบรรจุ - น้ำซีอิ๊วขนาดบรรจุเป็นมิลลิลิตร (มล.) มีขนาด 100 , 200 , 250 , 300 , 500 , 530 , 620 ขนาดต่ำกว่า 100 มล. และขนาดสูงกว่า 620 มล. ไม่กำหนดขนาดบรรจุ - น้ำซอส ขนาดบรรจุเป็นมิลลิลิตร (มล.) มีขนาด 100 , 150 , 200 , 300 , 600 , 700 ขนาดต่ำกว่า 100 มล. และขนาดต่ำกว่า 700 มล. ไม่กำหนดขนาดบรรจุ - น้ำส้มสายชู ขนาดบรรจุเป็นมิลลิลิตร (มล.) มีขนาด 100 , 200 , 300 , 530 , 700 , 750 ขนาดต่ำกว่า 100 มล. และขนาดสูงกว่า 750 มล. ไม่กำหนดขนาดบรรจุ 9.1.2 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 สาระสำคัญในพระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การขึ้นทะเบียนตำรับอาหารและฉลากอาหาร (1) การขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าซึ่งอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องนำอาหารนั้นมาขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารก่อน เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้วจึงผลิตหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายได้หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประเภทอาหารที่ต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. อาหารควบคุมเฉพาะ มี 39 ประเภท 2. อาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานมี 9 ประเภท 3. อาหารที่กำหนดให้เป็นอาหารที่ต้องมีฉลากมี 2 กลุ่มคือ 3.1 กลุ่มอาหารที่ต้องส่งมอบฉลากให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย) พิจารณาก่อนนำใช้ 3.2 กลุ่มอาหารที่ไม่ต้องส่งมอบให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย) พิจารณา (2) การขอขึ้นทะเบียนฉลากอาหาร อาหารควบคุมเฉพาะที่กำหนดคุณภาพและที่กำหนดให้มีฉลากต้องขึ้นทะเบียนอาหารและขออนุญาตใช้ฉลาก เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงทำการผลิต อาหารที่ต้องขออนุญาตใช้ฉลากมี 4 กลุ่มคือ 1. อาหารควบคุมเฉพาะที่ผลิตจากสถานที่ผลิตที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน คือ มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือ คนงาน 7 คนขึ้นไป ฉลากอาหารที่ใช้ของกลุ่มนี้จะเริ่มต้นด้วยตัวอักษร "ผ" ดังแสดงในรูปที่ 9.1 โดยที่ "นป" หมายถึง น้ำปลา และ "ช" หมายถึงน้ำส้มสายชูซึ่งเป็นอาหารควบคุมเฉพาะใน 39 ประเภท ในกรณีที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้อักษรย่อ "ฉผ" หมายถึงฉลากผลิต ดังนั้นบนทะเบียนฉลากอาหารจะกลายเป็น "ฉผนป" และ"ฉผช" ตามลำดับ ส่วนหมายเลขที่ตาม คือ หมายเลขที่และปีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฉลากอาหารนั้นๆ ส่วนอาหารที่นำเข้าจะใช้อักษร "ส" แทน "ผ" และ "ฉผ" ในปีพ.ศ. 2536 กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละที่ได้ ดังนั้นจึงเกิดอักษรตัวย่อของจังหวัดนำหน้าอักษรรหัส เช่น การขอขึนทะเบียนฉลากอาหารที่นครปฐม จะมีตัวย่อ นฐ. ระบุไว้ในเครื่องหมาย อย. ด้วยดังแสดงในรูปที่ 9.1 รูปที่ 9.1 ตัวอย่างฉลากพร้อมเครื่องหมาย อย. 2. อาหารที่ถูกกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน 3. อาหารที่ถูกนำเข้าประเทศเพื่อจำหน่ายซึ่งไม่ใช่อาหารควบคุมเฉพาะ 4. อาหารอื่นที่มีการจำหน่ายและรัฐมนตรีออกประกาศกำหนดให้เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก คือ อาหารประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 และบางส่วนของประเภทที่ 4 ตามที่ประกาศกำหนดต้องมีฉลากที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาซึ่งต้องมีข้อมูลดังนี้ 4.1 เครื่องหมายเลขทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหารพร้อมปีที่ให้อนุญาตซึ่งอาจเขียนเต็ม เช่น 2541 หรือเขียนย่อ เช่น 41 ก็ได้ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญการใช้ฉลากแล้วให้แสดงเลขที่อนุญาตในฉลากอาหารด้วยตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตรในกรอบพื้นที่สีขาวโดยสีของกรอบให้ตัดกับสีพื้นของฉลาก 4.2 น้ำหนักสุทธิหรือปริมาณสุทธิ ซึ่งหมายถึงน้ำหนักหรือปริมาตรของอาหารที่ไม่รวมภาชนะบรรจุ ส่วนน้ำหนักอีกประเภทหนึ่งที่ให้แสดงคือ น้ำหนักเนื้ออาหาร (Drained Weight) ซึ่งเป็นน้ำหนักของอาหารที่เป็นเนื้อหรือของแข็งโดยได้กรองส่วนที่เป็นของเหลวแยกออกแล้ว 4.3 ชื่อภาษาไทย กำหนดให้ใช้อักษรสีเดียวกัน ซึ่งอาจมีชื่อได้ 2 ส่วน คือ (ก) ชื่อตามกฎหมายที่กำหนดให้เรียกผลิตภัณฑ์ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ข) ชื่อทางการค้า (Brand Name) 4.4 ส่วนประกอบที่สำคัญโดยประมาณ การระบุส่วนประกอบนี้ต้องระบุปริมาณเป็นร้อยละของน้ำหนักและเรียงจากปริมาณมาไปหาน้อย 4.5 การระบุส่วนประกอบหรือวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ส่วนประกอบของอาหารบางประเภทที่ใช้เติมลงในอาหารอาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้บริโภคบางกลุ่ม ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งชนิดหรือปริมาณของส่วนประกอบหรือวัตถุปรุงแต่งรสอาหารต่างๆ เช่น การใช้ผงชูรส การใช้วัตถุกันเสีย การเจือสี การแต่งรสหรือกลิ่น เป็นต้น 4.6 ระบุวันที่ผลิตหรือวันที่หมดอายุ โดยปกติอาหารที่มีอายุการเก็บยาวนาน เช่น อาหารกระป๋อง มักจะระบุวันที่ผลิต ในทางตรงกันข้าม อาหารที่มีอายุการเก็บสั้น เช่น อาหารนม เป็นต้น จะระบุวันที่หมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน 4.7 ชื่อผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้นำเข้าพร้อมที่อยู่ 4.8 คำแนะนำในการเก็บรักษาและในการปรุงอาหาร หรือการเตรียมเพื่อบริโภค เช่น อาหารบางจำพวกอาจต้องเก็บในสภาพเย็น หรืออาหารที่ใช้อุ่นในไมโครเวฟจำต้องบอกวิธีการปรุง คำแนะนำสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นมากในการที่ผู้บริโภคจะสามารถบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการตามที่ได้คาดหวังไว้ 4.9 ข้อควรระวังหรือคำเตือนและวิธีการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) คำเตือนเหล่านี้พบได้จากอาหารที่ทานแล้วทำให้อยากทานอีกเช่น เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เป็นต้น 4.10 สัญลักษณ์รหัสแท่ง รายละเอียดเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อที่ 9.4 9.1.3 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ถือได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่มีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติขึ้นควบคุมผู้ที่ประกอบธุรกิจนั้นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทางอ้อม ผู้บริโภคจึงไม่อาจใช้สิทธิในการฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจต่อศาลอาญาได้ ส่วนการดำเนินทางแพ่งก็เป็นภาระและเสียค่าใช้จ่ายมากทั้งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินคดีด้วยตนเอง วิธีการดำเนินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้องค์กรของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม การดูแล และประสานการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิร้องเรียนเพื่อขอให้ได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อถูกผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิของผู้บริโภค (1) สิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคมีสิทธิจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 4 ข้อดังนี้ 1. สิทธิที่ได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ 2. สิทธิที่ตะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ โดยปราศจากการผูกขาด 3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ (2) องค์กรของรัฐตาม พ.ร.บ องค์กรคุ้มครองของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการแบ่งการคุ้มครองผู้บริโภคเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ คือ ด้านโฆษณา (มีคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา) และด้านฉลาก (มีคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องฉลาก) และต่างก็มีคณะอนุกรรมการย่อยลงไปอีกเพื่อสอดส่องดูแล รับเรื่องร้องงทุกข์พิจารณาความผิดที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ (3) การคุ้มครองผู้บริโภคด้วยฉลากสินค้า ความหมายของฉลากสินค้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีดังนี้ คือคำว่า ฉลาก ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดให้หมายถึงรูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้าซึ่งแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรกหรือรวมไว้กับสินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า และหมายความรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้าพร้อมทั้งป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหีบห่อที่บรรจุสินค้านั้น ส่วนสินค้าควบคุมฉลากจากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย ต้องทำฉลากเป็นข้อความภาษาไทยมีความหมายตรงกับข้อความในภาษาต่างประเทศ โดยระบุชื่อพร้อมสถานที่ประกอบการของผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำสินค้าเข้านั้นและต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าตามประกาศที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดไว้ในแต่ละประเภทของสินค้า สินค้าที่กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากมีดังนี้ 1. สินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการใช้สินค้าหรือโดยสภาพของสินค้านั้น เช่น ภาชนะพลาสติก เต้ารับ-เต้าเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดฟลูออเรสเซนต์ เครื่องตัดวงจรไฟฟ้า เป็นต้น 2. สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำซึ่งการกำหนดของฉลากสินค้านั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น เช่น สีผสมอาหาร สมุด ปากกาลูกลื่น ภาชนะกระดาษที่ใช้กับอาหาร กระดาษเช็ดหน้า กระดาษชำระ เป็นต้น 3. สินค้าที่ยังไม่มีกฎหมายอื่นใดมาควบคุม 9.1.4 พระราชบัญญัติมาตรฐานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือที่รู้จักกันในนามของ "สมอ" เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 จึงนับได้ว่า สมอ. เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ โดยที่หน้าที่หลัก คือ การกำหนมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม (มอก.) การรับรองระบบคุณภาพและรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วทั้งโลก เช่น องค์การค้าระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายว่า ISO องค์การโลก (World Trade Organization หรือ WTO) และองค์กรอื่นๆ การจัดหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีอยู่มากมายนั้น ทางสมอ. มีระบบการจัดหมวดหมู่เป็นไปตามที่ ISO ได้พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า International Classification for Standards หรือเรียกย่อว่า ICS และประกาศใช้ในปีแรก พ.ศ. 2535 โดยแยกหมวดหมู่สาขาวิชาออกเป็น 40 สาขาแต่หมายเลขไม่ได้เรียงกัน โดยมีสาขาการบรรจุหีบห่อและการแจกจ่ายสินค้าอยู่ที่สาขา 55 ส่วนเทคโนโลยีอาหารอยู่ในสาขาที่ 67 (1) ความหมายของมาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคือ ข้อกำหนดทิศทางวิชาการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบธุรกิจในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมแก่การใช้งานมากที่สุด เครื่องหมายมาตรฐานเหล่านี้จะเป็นหลักฐานทางราชการและเป็นเครื่องพิสูจน์หรือบ่งชี้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทำขึ้นได้ตามมาตรฐาน เครื่องหมายมาตรฐานจะช่วยเพิ่มความเชื่อถือในสินค้าและธุรกิจ ข้อสำคัญที่สุดก็คือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้นจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอได้ตลอด สำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน อันเป็นการเพิ่มความเชื่อถือในคุณภาพของสินค้าไทยทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ และเพื่อประหยัดทรัพยากร พร้อมทั้งลดต้นทุนการผลิต (2) วัตถุประสงค์ของการมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สามารถจำแนกได้ดังนี้ 1. เพื่อสร้างความเชื่อถือผลิตภัณฑ์ที่ทำในประเทศด้วยการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น 2. เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขาย ขจัดปัญหาและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ 3. เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตแลทรัพย์สินของประชาชน 4. เพื่อให้เกิดการประหยัดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการใช้งานและผลิต 5. เพื่อเป็นสื่อเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและประสานกันได้พอดี เมื่อผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่ต้องการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือเครื่องหมายรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต เมื่อสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตรวจสอบโรงงานและผลิตภัณฑ์แล้วว่าสามารถทำได้ตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ จะอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ผลิตได้ตามรูปที่ 9.2 ซึ่งมี 2 แบบดังนี้ 1. เครื่องหมายมาตรฐาน เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น 2. เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ ผลิตภัณฑ์ใดที่กำหนดไว้ว่าเป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายจะต้องผลิตนำเข้า และจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น โดยเครื่องหมายมาตรฐานบังคับแสดง เช่น ผงซักฟอก ถังก๊าซปิโตรเลียม บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เป็นต้น รูปที่ 9.2 เครื่องหมายมาตรฐานทั้ง 2 แบบ <<กลับสู่หน้าหลัก อ่านต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2>>
สมัครสมาชิก

สนับสนุนโดย / Supported By

  • บริษ้ท มาเรล ฟู้ดส์ ซิสเท็ม จำกัด จัดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์การแปรรูปอาหาร เช่น ระบบการชั่งน้ำหนัก, การคัดขนาด, การแบ่ง, การตรวจสอบกระดูก และการประยุกต์ใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับบริการ ออกแบบ ติดตั้ง กรรมวิธีการแปรรูปทั้งกระบวนการ สำหรับ ผลิตภัณฑ์ ปลา เนื้อ และ สัตว์ปีก โดยมีวิศวกรบริการและ สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพ มาเรล เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกของอุปกรณ์การแปรรูปอาหารที่ทันสมัย​​ครบวงจรทั้งระบบ สำหรับอุตสาหกรรม ปลา กุ้ง เนื้อ และสัตว์ปีก ต่างๆ เครื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก Stork และ Townsend จาก Marel อยู่ในกลุ่มเครื่องที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ สามารถบริการครบวงจรตั้งแต่ต้นสายการผลิตจนเสร็จเป็นสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกความต้องการของลูกค้า ด้วยสำนักงานและบริษัทสาขามากกว่า 30 ประเทศ และ 100 เครือข่ายตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก ที่พร้อมทำงานเคียงข้างลูกค้าเพื่อขยายขอบเขตผลการแปรรูปอาหาร Marel Food Systems Limited. We are supply weighing, grading, portioning, bone detection and software applications as well as complete turn-key processing solutions for fish, meat and poultry. We have service engineer and office in Bangkok. Marel is the leading global provider of advanced food processing equipment, systems and services to the fish, meat, and poultry industries. Our brands - Marel, Stork Poultry Processing and Townsend Further Processing - are among the most respected in the industry. Together, we offer the convenience of a single source to meet our customers' every need. With offices and subsidiaries in over 30 countries and a global network of 100 agents and distributors, we work side-by-side with our customers to extend the boundaries of food processing performance.
  • วิสัยทัศน์ของบริษัท คือ การอยู่ในระดับแนวหน้า "ฟอร์ฟร้อนท์" ของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ และนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตในประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า บริษัท ฟอร์ฟร้อนท์ ฟู้ดเทค จำกัด เชื่อมั่นและยึดมั่นในอุดมการณ์การดำเนินธุรกิจ กล่าวคือ จำหน่าย สินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ด้วยความซื่อสัตย์และความตรงต่อเวลา เพื่อการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จร่วมกันระยะยาว Our vision is to be in the "forefront" of technology in its field and suitably apply the technology to industries and production in Thailand for customers' utmost benefits. Forefront Foodtech Co., Ltd. strongly believes in and is committed to our own business philosophy which is to supply high quality products and service appropriately to each customer's requirements with honesty and punctuality in order to maintain long term win-win business relationship. Forefront Foodtech Co., Ltd. is the agent company that supplies machinery and system, install and provide after sales service as well as spare parts. Our products are: Nock, made in Germany: manufacturer of skinning machines, membrane skinning machine, slicers and scale ice makers. Frey, made in Germany: manufacturer of vacuum stuffers and chain linking system. Kronen, made in Germany: manufacturer of washing, centrifuges and cutting machinery for vegetable and fruits. Bandall, made in Netherlands: manufacturer of banding machine. Emerson, made in Romania: smoke chamber. G.Mondini, made in Italy: manufacturer of top seal, skin pack, paper seal, slimfresh and slicefresh for ready meal, meat, petfood and etc. Dorit, made in Germany: manufacturer of tumblers and injectors. Cliptechnik, made in Germany: manufacturer of single and double clippers for table top use and standalone clipping machines. Firex, made in Italy: manufacturer of food-processing equipment for kitchen and commercial equipment. Orved, made in Italy: manufacturer of vacuum packing machine. Carsoe, made in Denmark: designs and produces products for the seafood and food processing industry Gernal, made in Belgium: manufacturer of food-processing equipment for industrial Mado, made in Germany: manufacturer of meat-processing industry
  • We are well known for reliable, easy-to-use coding and marking solutions which have a low total cost of ownership, as well as for our strong customer service ethos. Developing new products and a continuous programme of improving existing coding and marking solutions also remain central to Linx's strategy. Coding and marking machines from Linx Printing Technologies Ltd provide a comprehensive solution for date and batch coding of products and packaging across manufacturing industries via a global network of distributors. In the industrial inkjet printer arena, our reputation is second to none. Our continuous ink jet printers, laser coders, outer case coders and thermal transfer overprinters are used on production lines in many manufacturing sectors, including the food, beverage, pharmaceutical, cosmetics, automotive and electronic industries, where product identification codes, batch numbers, use by dates and barcodes are needed. PTasia, THAILAND With more than 3,700 coding, marking, barcode, label applicator, filling, packing and sealing systems installed in THAILAND market. Our range is includes systems across a wide range of technologies. To select the most appropriate technology to suit our customers. An excellent customer service reputation, together with a reputation for reliability that sets standards in the industry, rounds off the PTAsia offering and provides customers with efficient and economical solutions of the high quality. Satisfyingcustomers inTHAILAND for 10 years Our 1,313 customers benefit from our many years of experience in the field, with our successful business model of continuous improvement. Our technical and service associates specialise in providing individual advice and finding the most efficient and practical solution to every requirment. PTAsia extends its expertise to customers in the food, beverage, chemical, personal care, pharmaceutical, medical device, electronics, aerospace, military, automotive, and other industrial markets.