โครงการพัฒนาการผลิตชาสมุนไพรคุณภาพสูงระดับ SME
บทที่ 2
ตรวจเอกสารและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
2.1 ข้อมูลทั่วไปของสมุนไพร
2.1.1 ขมิ้นชันลักษณะทั่วไป
ขมิ้น (Turmeric) หรือ ขมิ้นชัน ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Curcuma longa L. เป็นพืชวงศ์ขิง ที่ใช้เพื่อเป็นทั้งเครื่องเทศ และพืชสมุนไพร ที่คนไทยรู้จักกันมาแต่โบราณ จัดเป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์ขิงข่า มีอายุหลายปี ลำต้นเหนือดินเป็นลำต้นที่เกิดจากการอัดตัวกันของกาบใบ ลำต้นจริงอยู่ใต้ดินเรียกเหง้าขมิ้น ประกอบด้วย เหง้าหลักใต้ดินที่เราเรียกกว่าหัวแม่ ซึ่งมีรูปไข่และแตกแขนงทรงประกอบออกด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เรียกว่า แง่ง เนื้อในเหง้ามีสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนที่ใช้บริโภคคือลำต้นใต้ดินที่ใช้สะสมอาหาร ขมิ้นมีสารที่เป็นองค์ประกอบหลักทางเคมีคือ Curcumin มีสีเหลือง ส้ม (orange-yellow)
รูปที่ 2.1 ต้นขมิ้นชัน รูปที่ 2.2 เหง้าขมิ้นชัน
ใช้รับประทานสด เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง (curry) โดยนำมาใช้แต่งสี แต่งกลิ่น และรสของอาหาร เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา อาจนำมาแปรรูปด้วยการทำแห้ง (dehydration) แล้วบดเป็นผง ใช้เป็นเครื่องเทศ (spice) และใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) เพื่อเป็นสารให้สี (coloring agent) และวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร (flavoring agent) ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งให้ความปลอดภัยมากกว่าสีสังเคราะห์ เป็นวัตถุดิบเพื่อการสกัด (extraction) เป็น curcumin, oleoresin
สารสำคัญและโภชนเภสัช
รากและเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย (essential oil) ได้แก่ ทูมีโรน (tumerone) , zingerene bissboline, zingiberence, (+) - sabinene, alpha-phellandrene, curcumone, สารประกอบ เคอร์คูมิน (curcumin) ที่มีคุณสมบัติเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ (antioxidant) ใช้เป็นยาภายใน คือแก้ท้องอืด บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียดโดยกระตุ้นการหลั่ง mucin มาเคลือบกระเพาะ และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยชนิดต่างๆ มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบโดยสาร curcumin ที่มีคุณสมบัติเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ (Cousin et.al., 2007) ขมิ้นขันจะไปออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ในการลดการบีบตัวของลำไส้ ฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบ โดยออกฤทธิ์ต้าน acetylcholine, barium chloride และ serotonin ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งในผู้ป่วยโรคกระเพาะ ส่วนที่เป็นยาภายนอกได้แก่ ทาแก้ผื่นคัน โรคผิวหนังพุพอง ยารักษาชันนะตุและหนังศรีษะเป็นเม็ดผื่นคัน เหง้าของขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สามารถยับยั้งสาเหตุการเกิดกรดเนื่องจาก Lactobacillus cidophilus และ L. planturum มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี โดยสาร curcumin และ p-tolymethycarbinol สามารถขับน้ำดีและกระตุ้นการสร้างน้ำดี นอกจากนี้ยังสามารถ ออกฤทธิ์แก้ปวดกระดูก ป้องกันกระดูกผุ แก้ตาลาย อาการหน้ามืด ป้องกันโรค เบาหวาน ลดคอเลสเตอรอล และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับ (Gilani A.H. et.al., 2004)
2.1.2 ตะไคร้ลักษณะทั่วไป
ตะไคร้ เป็นพืชสมุนไพร และเป็นเครื่องเทศ มีชื่อสามัญคือ Lemon Grass, Lapine, Sweet Rush, Ginger Grass, Takhrai มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cymbopogon citrates (DC.) Stapf เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE อายุหลายปี สูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นตั้งตรงมีข้อ และปล้องสั้นค่อนข้างแข็ง มีใบเรียงซ้อนสลับกันแน่นมาก กาบใบสีขาวนวลหรือม่วงอ่อนแผ่เป็นกาบ เป็นแผ่นยาวโอบซ้อนกันจนดูแข็ง ใบเป็นเดี่ยว รูปเรียวยาว ปลายใบเรียวแหลม กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 70-120 เซนติเมตร ผิวใบสากมือทั้งสองด้าน ขอบใบมีขนอยู่เล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ ชื่อเรียกในท้องถิ่น เช่น ตะไคร้แกง (กลาง) คาหอม (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ไคร (ใต้) จะไคร (เหนือ) เชิดเกรย เหลอะเกรย (สุรินทร์) ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หัวสิงไค (ปราจีนบุรี)