กานพลู (clove) เป็นเครื่องเทศ (spice) ที่ได้จากต้นกานพลู Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ดอกสีแดงอมชมพู
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์
ส่วนที่นำมาใช้คือ ดอกตูม (flower bud) ในช่วงที่เปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีแดง นำมาทำแห้ง (dehydration) เพื่อลดความชื้น (moisture content) คัดขนาด บดเป็นผงละเอียด และบรรจุ
การเก็บเกี่ยวต้นกานพลูสามารถให้ผลผลิตเมื่ออายุได้ประมาณ 4-5 ปี จะให้ดอกประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน และจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม ดอกที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยว มีลักษณะเป็นสีเหลืองและสีชมพูอ่อนๆ ซึ่งเป็นช่วงดอกตูม ก่อนดอกบานจะมีคุณภาพและสรรพคุณดีที่สุด เก็บเกี่ยวโดยใช้มือเก็บ หรือใช้กรรไกรตัดทั้งช่อดอก เพื่อไม่ให้กิ่งกานพลูได้รับความกระทบกระเทือนมาก หากกิ่งได้รับความบอบช้ำจะทำให้ออกดอกน้อย สำหรับต้นที่สูงให้ใช้พะองหรือบันไดพาด เพื่อหลีกเลี่ยงการโน้มกิ่งแรงๆ
การแปรรูป นำผลผลิตที่ได้ (ดอกสด) หักก้านออกให้เหลือแต่ดอก ทำให้แห้ง (dehydration) ซึ่งมักใช้การตากแดด (sun drying) ประมาณ 4-5 วัน ควรระวังไม่ให้ดอกแห้งเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ดอกมีลักษณะเหี่ยวย่นและเปราะหักง่าย
การใช้ประโยชน์ในอาหาร
การใช้ประโยชน์ การพลูเป็นเครื่องเทศ ใช้เพื่อให้กลิ่น (flavoring agent) อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ในซอส ไส้กรอก ซุป เครื่องแกง ผักดอง เป็นส่วนผสมของเครื่องยาจีน และผงพะโล้
สรรพคุณทางยา
กานพลูประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (essential oil) สูงถึง16-18% มีส่วนประกอบหลักคือ ยูจีนอล (eugenol) และแคริโอฟิลลีน (caryophyllene) ดอกตูมแห้งของกานพลูใช้แก้ท้องเสีย ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ น้ำมันกานพลู (clove oil ) มีสีเหลืองอ่อน สกัดได้จากดอกตูม ใบ และกิ่งก้าน ด้วยการกลั่นด้วยน้ำหรือไอน้ำ ใช้ผสมในยาสีฟัน ยาอมบ้วนปาก ดับกลิ่นปาก น้ำหอม ยาแก้ไอ และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารวานิลลิน (vanillin) ซึ่งเป็นสารให้กลิ่นวานิลลา มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค (pathogen) ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา (mold) และเป็นสารกันเสีย (preservative)
Reference