เห็ดตับเต่า (Bolete) หรือทางภาคเหนือเรียกว่า เห็ดห้า ภาคอีสานเรียกว่า เห็ดน้ำผึ้ง เป็นฟังไจ (fungi) มีชื่อชื่อวิทยาศาสตร์ คือThaeogyroporus porentosus (berk. ET. Broome )
เห็ดตับเต่ามีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศที่มีอากาศชื้น มีความชื้นสัมพัทธ์สูง พบในป่าทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และพบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดที่เกิดตามธรรมชาติในฤดูฝนจากป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเต็งรัง หรือป่าแดง ป่าแพะ ป่าสะแก นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็ดชนิดนี้ได้ในสวนไม้ผลไม้ยืนต้น เช่น สวนมะม่วง มะไฟ ลำไย สวนไม้ผลที่มีต้นทองหลาง กระถินเทพา โสน และสามารถเพาะได้
ลักษณะทางพฤกษศาตร์
หมวกเห็ดมีลักษณะมนเป็นรูปกะทะคว่ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 12-30 เซ็นติเมตร ผิวมัน เนื้อแข็ง สีน้ำตาลเข้ม โคนก้านใหญ่ เท่าที่พบดอกเห็ดตับเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักเกือบ 2 กิโลกรัม ดอกอ่อนมีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล เมื่อดอกบานเต็มที่ กลางหมวกเว้าเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลเข้มอมเหลืองอ่อน ปริแตกเป็นแห่งๆ ด้านล่างของหมวกมีรูกลมเล็กๆ สีเหลือง ปากรูเชื่อมติดเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อบานเต็มที่เนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียวหม่น และสีเขียวหม่นอมน้ำตาล ก้านอวบใหญ่สีน้ำตาลอมเหลือง โคนก้านโป่งเป็นกระเปาะ บางส่วนนูนและเว้าเป็นร่องลึก
การนำมาเป็นอาหาร
ดอกเห็ดนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภท มักนำมาแกง อาจใส่กะทิหรือไม่ใส่ก็ได้
ดอกเห็ดตับเต่าเมื่อตัดหรือหั่นถูกอากาศจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) เนื้อเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมเขียว
เห็ดตับเต่ามีการนำมาแปรรูปเพื่อการถนอมอาหาร ด้วยการบรรจุกระป๋อง (canning) และการทำแห้ง (dehydration)
สรรพคุณทางยา
แพทย์แผนโบราณของไทยนำเอามาปรุงเป็นยา ใช้ในการรักษาโรคโดยเห็ดตับเต่าคุณสมบัติเป็นสมุนไพรที่ใช้ในการบำรุงกำลัง บำรุงตับและบำรุงปอด กระจายโลหิต ดับพิษร้อนภายใน
References
ผัก 333 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน สำนักพิมพ์แสงแดด ธันวาคม 2548