โบทูลิซึม มาจากคำว่า botulus ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า sausage เพราะพบครั้งแรกมีไส้กรอกเป็นสาเหตุ เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับสารพิษ (toxin) จากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum
อาการ
สารพิษนี้มีผลต่อระบบประสาท โดยจะไปยับยั้งเซลล์ประสาทไม่ให้มีการปล่อยสารสื่อประสาทออกมา ยับยั้งปลายประสาท (neuromuscular junctive) เป็นผลให้ไม่มีการกระตุ้นเส้นใยกล้ามเนื้อ จึงไม่มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นสารพิษนี้ยังก่อให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น โดยผู้ป่วยมักมีอาการหลังได้รับสารพิษเฉลี่ย 18-36 ชั่วโมง อาการของผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน หนังตาตก กลืนลำบาก ปวดท้อง ตามด้วยอาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต มักเริ่มจากกล้ามเนื้อบนใบหน้า ตามด้วยแขนขาทั้งสองข้าง และกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้ โดยผู้ป่วยมักไม่มีไข้และความรู้สึกตอบสนองยังดีอยู่
ถ้าได้รับสารพิษในปริมาณมากอาจจะทำให้ถึงตายได้ ภายใน 12-36 ชั่วโมง สารพิษนี้ถูกทำลายได้ด้วยการต้มให้เดือดนานมากกว่า 10 นาที
ประเภทของสารพิษ
โรคโบทูลิซึม ที่รู้จักมีอยู่ 7 ชนิด (A, B, C, D, E, F และ G) แบ่งตามที่มาของประเภทสารพิษที่ Clostridium botulinum สร้างขึ้น
ชนิด A, B, E และ F เป็นสาเหตุของโรคโบทูลิซึมที่พบในคน (human botulism)
ชนิด C และ D เป็นสาเหตุของโรคโบทูลิซึมที่พบในสัตว์ สัตว์ที่พบเป็นโรคนี้ มีทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ม้า วัว ควาย สัตว์ปีก รวมทั้งในปลาบางชนิด และสัตว์ป่าก็พบเช่นกัน
ชนิด G เคยแยกได้จากดินของประเทศอาเยนจิน่า แต่ยังไม่พบเป็นสาเหตุการเกิดโรค