ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (Biological Oxygen Demand, BOD) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีสารอินทรีย์หลายๆ ชนิดละลายปนอยู่ด้วย เช่น แป้ง น้ำตาล โปรตีน กรดแอมิโน ไขมันและน้ำมัน ถ้าน้ำทิ้งนั้นค่าบีโอดีสูง แสดงว่าน้ำมีคุณภาพไม่ดี มีปริมาณสารอินทรีย์ปนเปื้อนมาก
การวัดค่า BOD
ในการวัดค่า BOD จะปล่อยให้แบคทีเรียที่ต้องการอากาศ (aerobic bacteria) ซึ่งอยู่ในน้ำย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียในภาวะที่มีออกซิเจน อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปในอุตสาหกรรมใช้เวลา 5 วัน เรียกว่า ค่า BOD 5 บางกรณีอาจใช้ระยะเวลานานขึ้นถึง 20 วัน เรียกว่า ค่า BOD 20 เพื่อให้สารอินทรีย์ที่ย่อยสลายยาก เช่น โปรตีน ให้ย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์
ประโยชน์ของค่า BOD
ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (Biological Oxygen Demand, BOD) ใช้เป็นค่ามาตรฐานที่บ่งชี้ว่าคุณภาพของน้ำมีค่ามลภาวะของน้ำทิ้ง น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนำมาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณ เพื่อออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย (waste water treatment) และประเมินประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้อยู่ ค่า BOD ของน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วน (ppm)