Rendering (การเจียว) คือ วิธีการสกัด (extraction) โดยการใช้ความร้อนเพื่อการสกัดน้ำมันไขมันออกจากเนื้อเยื่อไขมัน
ของสัตว์ เช่น ไขมันหมู (lard) ไขมันวัว ไขมันไก่ และเนื้อเยื่อผลไม้บางชนิด ระหว่างการเจียวอาจมีการเติมน้ำ สารเคมี
หรือเอนไซม์ลงไป เพื่อช่วยสลายเนื้อเยื่อเชื่อมยึด ทำให้น้ำมันแยกตัวออกมาได้ง่ายขึ้น
การเจียวแห้ง (dry rendering) การเจียวแห้งทำได้โดยการบดเพื่อลดขนาดเนื้อเยื่อไขมัน แล้วให้ความร้อนโดยตรง
ความร้อนทำให้ผนังเซลล์ถูกทำลายและปล่อยน้ำมันออกมา ในเนื้อเยื่อไขมันมีความชื้น ดังนั้นความร้อนที่ใช้จึงช่วย
ในการไล่ความชื้นออกมาจากวัตถุดิบได้อีกด้วย น้ำมันที่ได้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจากโปรตีนที่เสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อน
นอกจากนี้ความเข้มของสีจะขึ้นกับอุณหภูมิที่ใช้ วิธีการเจียวแห้งนี้เป็นวิธีที่ใช้ทั่วไปในครัวเรือน วิธีที่ใช้ในอุตสาหกรรม
จะใช้ระบบภาชนะปิด และอาจมีการดึงอากาศออกด้วย ดังนั้นกลิ่นและสีของน้ำมันที่ได้จะอ่อนกว่าการทำในครัวเรือน
เนื่องจากการใช้สภาวะอุณหภูมิต่ำในระดับที่เพียงพอในการหลอมละลายไขมันเท่านั้น จึงไม่ทำให้โปรตีนในผนังเซลล์
เสื่อมสภาพจนเกิดกลิ่นเนื้อสัตว์ หลังจากนั้นแยกน้ำมันออกโดยการหมุนเหวี่ยงแล้วทำให้ใสโดยการหมุนเหวี่ยงซ้ำ
การเจียวเปียก (wet rendering) การเจียวเปียกทำได้โดยการให้ความร้อนแก่เนื้อเยื่อไขมันที่ลดขนาดแล้วโดยการพ่นไอน้ำ
ในภาชนะปิด จนทำให้สารประกอบโปรตีนในผนังเซลล์เสียสภาพปล่อยให้น้ำมันลอยตัวขึ้นมา แล้วสูบน้ำมันออกไป
น้ำมันที่ได้จากวิธีนี้จะมีกลิ่นเนื้อชัดเจน แต่กลิ่นจะอ่อนกว่าน้ำมันที่ได้จากการเจียวแห้ง