พริกไทย (pepper) อาจเรียกว่า pepper corn เป็นส่วนผลที่ใช้เป็นเครื่องเทศ (spice) ซึ่งใช้เป็นวัตถุปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร
(flavoring agent) จากธรรมชาติ พริกไทย" มีชื่อพื้นบ้านว่า พริกน้อย ( ภาคเหนือ ) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เปปเปอร์ (pepper)
เปปเปอร์คอร์น (pepper corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ปิเปอร์ไนกรัม (Piper nigrum L.) จัดอยู่ในวงศ์ ปิเปอร์ราซีอี (Piperaceae)
การเพาะปลูก
พริกไทยมีแหล่งกำเนิดอยู่ในบริเวณเทือกเขาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจของ
ประเทศที่มีอากาศร้อน เช่น บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฯลฯ พริกไทยมีลักษณะลำต้นเป็นเถาเลื้อย มีรากเล็กๆ
ออกตามข้อของลำต้น เพื่อใช้ในการยึดเกาะ ใบรูปไข่เรียวสลับกันไป ออกดอกเป็นช่อยาวตรงซอกใบ ดอกย่อยสมบูรณ์เพศสีขาว
ผลมีลักษณะกลมจัดเรียงตัวแน่นอยู่บนแกน ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลสุกมีสีแดง
การขยายพันธุ์
พริกไทยขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการปักชำ โดยตัดส่วนลำต้นที่ไม่แก่จัด ยาวประมาณ 5-7 ข้อ ปักชำไว้จนรากงอกออกมาแข็งแรง
แล้วจึงนำไปปลูก โดยต้องทำค้างไว้ให้เกาะด้วย พริกไทยสามารถขึ้นได้ในดินทั่วๆ ไปที่มีการระบายน้ำได้ดี และชอบอากาศ
ที่อบอุ่นและชื้น เช่น บริเวณจังหวัด จันทบุรี ระยอง และตราด
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
พริกไทยแบ่งตามวิธีการเก็บและเตรียมได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. พริกไทยดำ (black pepper) เตรียมได้จากการนำผลพริกไทยที่โตเต็มที่มาตากแห้ง
2. พริกไทยขาวหรือพริกไทยล่อน (white pepper) เป็นพริกไทยที่ได้จากการนำผลพริกไทยที่สุกแล้ว มาแช่ในน้ำเพื่อลอกเปลือก
ชั้นนอกออกไป จากนั้นนำไปตากแห้ง
คุณค่าทางโภชนาการ
พริกไทยประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน (11.3%) สตาร์ซ (50%) แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1
วิตานบี2 ไนอะซิน วิตามินซี
พริกไทย มีน้ำมันหอมระเหย (essential oil) เรียกว่าน้ำมันพริกไทย ในปริมาณร้อยละ 2-4 โดยพริกไทยดำมีปริมาณน้ำมันหอมระเหย
สูงกว่า และมีกลิ่นฉุนกว่าพริกไทยล่อน องค์ประกอบหลักของน้ำมันพริกไทยจะเป็นสารประกอบจำพวกมอโนเทอร์ปีน (monoterpenes)
ร้อยละ 60-80 เซสควิเทอร์ปีน (sesquiterpenes) ร้อยละ 20-40 ที่สำคัญได้แก่ ลิโมนีน (limonene) บีตา-แครีโอฟิลลีน (beta-caryophyllene) บีตา-ไพนีน (beta-pinene) และไพนีน (pinene) เป็นต้น
การศึกษาโอลิโอเรซินพริกไทย (peper oleoresin) โดยนำพริกไทยมาสกัด (extraction) ด้วยตัวทำละลาย พบว่าโอลิโอเรซิน ป
ระกอบด้วยสารจำพวกแอลคาลอยด์ที่สำคัญคือ พิเพอรีน (piperine, C17H19NO3) (ร้อยละ 5-9) พิเพอร์ลิดีน (piperidine, C5H11N)
และพิเพอร์รานีน (piperanine) ซึ่งพิเพอรีน (piperine) และพิเพอรานีน (piperanine) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุน
และรสเผ็ดร้อน
การนำมาใช้ประโยชน์
พริกไทย นอกจากจะใช้แต่งกลิ่นรส (flavoring agent) และใช้เป็นสารกันเสีย (preservative) ที่ได้จากธรรมชาติแล้ว ยังนำมาใช้
เป็นสมุนไพรด้วย โดยมีสรรพคุณตามตำรับยาไทยคือ ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ
และกระตุ้นประสาท ชาวจีนใช้พริกไทยระงับอาการปวดท้อง แก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรค มีรายงานว่า piperine สามารถใช้แก้ลมบ้าหมู (antiepileptic) ได้ และเมื่อเตรียมอนุพันธ์ของ piperine คือ antiepilepsinine พบว่าสามารถแก้อาการชักได้ผลดีและมีผลข้างเคียงน้อย
ผลงานวิจัยของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าสารพิเพอรีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สามารถป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้
Reference
http://natres.psu.ac.th/radio/radio_article/radio46-47/46-470031.htm