Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

brandy / บรั่นดี

บรั่นดี (brandy) หมายถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (alcoholic beverage) ชนิด distilled beverage ที่ผ่านการกลั่น (distillation) มีวัตถุดิบหลัก คือ องุ่นโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก คือ ยีสต์ Saccharomyces cerevisiae เป็นเหล้าที่ได้จากการกลั่นไวน์หรือของเหลวที่ได้จากการหมักน้ำผลไม้แล้วเก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก ไวน์ที่ใช้ในการทำบรั่นดีที่ใช้ดื่มจะเป็นไวน์ที่ค่อนข้างเป็นกรด มีรสชาติไม่นุ่มนวล การกลั่นจะทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการกลั่นเพื่อแยกเอาน้ำออก บรั่นดีที่ได้จากกลั่นครั้งแรกจะมีแอลกอฮอล์ประมาณ 30 ดีกรี หลังจากนั้นจึงกลั่นซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองให้มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นเป็น 70-80 ดีกรี จึงนำไปเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กอังไฟ โดยจะนำเพียงบรั่นดีที่ได้ในช่วงกลางๆ ไปเก็บบ่มเท่านั้น ส่วนบรั่นดีที่กลั่นได้ในช่วงแรกและช่วงท้ายจะตัดออกไป เมื่อบ่มได้ที่แล้ว นำมาเติมน้ำกลั่นเพื่อลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงให้เหลือเพียงไม่เกิน 40 ดีกรี เติมคาราเมลให้ได้สีตามต้องการ แล้วจึงกรองเพื่อกำจัดสารแขวนลอยและบรรจุขวด จะได้บรั่นดีที่มีสีเหลืองทอง บรั่นดีที่ได้ 1 แกลอนจะใช้ไวน์ถึง 10 แกลอนในการผลิต ดังนั้นจึงมีราคาค่อนข้างแพง

บรั่นดีมีการผลิตกันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี เปรูและสเปน แต่บรั่นดีที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากทีสุด คือ คอนยัก (cognac) ซึ่งบรั่นดีที่ผลิตจากองุ่นที่ปลูกในเขตคอนยักของประเทศฝรั่งเศส และตามกฎหมายจะต้องใช้องุ่นพันธุ์แซงต์เอมีลิออง (St. Emilion) พันธุ์โฟลบลอง (Folle Blanche) และพันธุ์โคลัมบาร์ค (Columbard) เป็นพันธุ์หลักในการผลิตด้วย การผลิตคอนยักจะมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้ การหมักและกลั่น หลังจากคั้นน้ำองุ่นและหมักเป็นไวน์แล้วจะนำมาใส่ในหม้อต้มกลั่นที่ทำด้วยทองแดงและค่อยๆให้ความร้อนโดยใช้แก๊สหรือถ่านหิน การกลั่นครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ของเหลวที่กลั้นได้จะมีแอลกอฮอร์ประมาณ 25-30 ดีกรี นำมากลั่นอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 12 ชั่วโมง การกลั่นในขั้นตอนนี้จะต้องใช้ประสบการณ์ในการควบคุมอุณหภูมิ อากาศ และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ของเหลวที่ได้จากการกลั่นครั้งที่สองจะไม่มีสี มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 36 ดีกรี หากมีแอลกอฮอร์สูงกว่านี้จะไม่เรียกว่าคอนยัก การบ่มคอนยักที่ได้จากการกลั่นครั้งที่สองจะนำไปเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กซึ่งจะให้กลิ่นรสของสารที่ละลายได้ในน้ำ เช่น แอลดีไฮด์ ลิกนิน กัม พอลิฟีนอล เกลือ และน้ำตาลก่อนที่จะนำคอนยักไปเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กจะมีแอลกอฮอล์ประมาณ 35 ดีกรี และใส ไม่มีสี แต่ในระหว่างการเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กจะมีส่วนทำให้เกิดสี กลิ่น และรสชาติ ทำให้คอนยักที่ได้หลังจากการบ่มมีสีเหลืองทอง การเก็บบ่มเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตที่จะทำให้ได้คอนยักที่มีคุณภาพดี ยิ่งเก็บไว้นานจะยิ่งทำให้มีกลิ่นรสที่นุ่มนวลขึ้น มีกลิ่นหอมขึ้นและมีราคาแพงขึ้นด้วย การเก็บบ่มคอนยักต้องเก็บในห้องที่มีการหมุนเวียนอากาศดี ระหว่างการเก็บบ่มนี้จะมีการระเหยของแอลกอฮอล์ออกไปประมาณ 40 ดีกรี คอนยักจะเก็บบ่มและมีการพัฒนากลิ่นรสได้เฉพาะในถังไม้โอ๊กเท่านั้นไม่เหมือนเก็บไวน ซึ่งจะสามารถพัฒนากลิ่นรสให้ดีขึ้นได้หลังบรรจุขวด ดังนั้นจึงมีการเก็บบ่มคอนยักในห้อง เป็นเวลาตั้งแต่ 3 ปี จนอาจถึง 100 ปี การปรุงผสมเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะมีผงต่อคุณภาพของคอนยักที่ได้ ในขั้นตอนนี้จะมีผู้ที่ทำหน้าที่ชิม ซึ่งสามารถบอกรสชาติและกลิ่นรสของคอนยักแต่ละตราที่ผลิตได้ ผู้ชิมเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดส่วนผสมที่ใช้ในการปรุงผสม โดยพิจารณาจากการดูสี ดมกลิ่น และชิมรสชาติ เพื่อให้มีสี กลิ่น และรสชาติที่เป็นมาตรฐานทุกครั้งที่ผลิตซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ



(เข้าชม 1,576 ครั้ง)

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
สมัครสมาชิก