แหนม (naem; fermented ground pork) |
แหนม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ทำจากเนื้อหมูส่วนสะโพกที่แยกไขมันและเอ็นออกแล้ว ผสมกับหนังหมู อาจผสมหูหมูหรือจมูกหมูที่ต้มสุกและหั่นเป็นเส้น เติมเกลือ ข้าวสุก กระเทียมบด น้ำตาลทราย ผสมให้เข้ากัน อาจเติมพริกสดด้วยก็ได้ ห่อเป็นมัด หรือบรรจุในภาชนะบรรจุลักษณะอื่นๆ หมักจนมีรสเปรี้ยว แหนมเป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย การทำแหนมเป็นการถนอมอาหาร (food preservation) ด้วยการหมัก (fermentation) เพื่อให้ได้กรด แล็กทิก (lactic acid fermentation) โดยแบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria) เช่น Lactobacillus , Pediococcus |
ชนิดของแหนม |
ชนิดของแหนมมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับส่วนของหมู ที่ใช้ เช่น แหนมหูหมู ซึ่งผสมหูหมูหั่นหยาบทำให้มีเนื้อสัมผัส ซึ่งมีความกรุบแปลกออกไป แหนมซี่โครงหมู แหนมกระดูกอ่อน แหนมเนื้อปลา แหนมข้อไก่ แหนมเห็ด |
การผลิตแหนม |
วัตถุดิบและการเตรียมวัตถุดิบ ที่ใช้ในการทำแหนม ได้แก่
|
การนวดผสม |
การนวดผสมเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำแหนม ช่วยให้แหนมมีเนื้อสัมผัสตามที่ต้องการ และเกิดการหมักอย่างสมบูรณ์ โดยการนำเนื้อหมูบดแล้วผสมเครื่องปรุง คือ ข้าวสุก กระเทียมบด และส่วนผสมแห้ง ได้แก่ เกลือ รีกัลเบส โซเดียมไนเทรต ไนไทรต์ น้ำตาลทราย ตามสูตร นวดจนเหนียว เพื่อคลุกเคล้าส่วนผสมให้ทั่วถึง การนวดทำให้โปรตีนหลักในเส้นใยกล้ามเนื้อหมู คือ ไมโอไฟบริล (myofibril) ถูกสกัดออกมาโดยเกลือจะสกัดโปรตีนแอคทิน (actin) และ ไมโอซิน (myosin) ออกมา รวมตัวกัน เป็น actomyosin ทำให้แหนมรวมตัวเป็นก้อน เหนียว ยืดหยุ่น ซึ่งเป็นลักษณะเนื้อสัมผัสที่ต้องการ การนวดผสมอาจใช้มือ หรือใช้กะทะสับเนื้อ (bowl cutter) นอกจากนั้นการนวดทำให้ส่วนผสมอื่นๆ กระจายตัวอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เช่น ข้าวสุก และน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียในการหมักให้เกิดกรดแล็กทิก และ สารไนไทรต์ (nitrite) ซึ่งทำปฏิกิริยากับไมโอโกลบิน ทำให้เนื้อเกิดเป็นสีชมพู หลังจากนั้นจึงเติมหนังหมูหรือหูหมู และนวดต่อให้ผสมเข้ากัน สำหรับแหนมบางชนิดมีการเติมพริกขี้หนูเพื่อให้มีรสเผ็ด |
การบรรจุ |
แหนมเมื่อนวดได้ที่แล้วนำไปปั้นเป็นก้อน ห่อด้วยพลาสติก หรือห่อด้วยใบตองสด มัดให้แน่นด้วยยาง เชือก หรือตอก เพื่อไล่อากาศภายใน หรืออาจใช้เครื่องบรรจุไส้กรอกบรรจุแหนมที่ผสมแล้วใส่ในถุงที่ขึ้นรูปเป็นหลอด แล้วมัดหัวท้าย การบรรจุแน่น และไล่อากาศภายใน เพื่อให้เกิดสภาวะไม่มีอากาศ ซึ่งเป็นสภาวะที่ lactic acid bacteria เจริญได้ดี และสร้างกรด พลาสติกที่ใช้ห่อแหนม ควรเป็นพลาสติกที่ป้องกันการผ่านเข้าออกของน้ำ อากาศ และไขมัน ได้ดี เช่น HDPE
รูปแบบต่างๆของการบรรจุแหนม |
การหมักจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการหมักแหนม |
การหมักแหนมเป็นการหมักให้ได้กรดแล็กทิก (lactic acid fermentation) โดยใช้แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria) ชนิดของแบคทีเรีย ที่พบในแหนมมีทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแบคทีเรียแกรมลบ ในระยะแรกมักพบ พิดิโอคอกคัส ซีรีวิซิอี (Pediococcus cerevisiae) ผลิตกรด มีค่า pH ประมาณ 5.9-6.3 หลังจากนั้นจะพบแล็กโทบาซิลลัส (lactobacillus) 2 ชนิด คือ Lactobacillus plantarum และ Lactobacillus brevis) เจริญต่อจากแบคทีเรียชนิดแรกและสร้างกรดกรดแล็กทิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีค่า pH ประมาณ 4.45-4.55 ซึ่งทำให้แหนมมีรสเปรี้ยว การหมักแหนมโดย lactobacillus เป็นแบบ hetero fermentative คือ นอกจากผลิตกรดแล็กทิกเป็นหลักแล้ว ยังได้สารอื่นๆ ที่ให้กลิ่นรส ระยะที่เหมาะสมในการรับประทานคือ ประมาณวันที่ 4 ของการหมัก |
การใช้เชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์เพื่อหมักแหนม |
เพื่อลดระยะเวลาการหมักและทำให้แหนมมีคุณภาพและรสชาติสม่ำเสมอ ได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์บริสุทธิ์มาใช้เพื่อเป็นกล้าเชื้อ (starter) เพื่อการหมักแหนม โดยจุลินทรีย์ที่ใช้ ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria) เช่น Lactobacillus, Pediococcus, Streptococcus และยีสต์ (yeast) กล้าเชื้อมีสมบัติคือ มีการเจริญอย่างรวดเร็ว แข่งขันกับจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย (microbial spoilage) ซึ่งมีอยู่ในเนื้อหมู ทั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแบคทีเรียแกรมลบ รวมทั้งจุลินทีย์ก่อโรค (pathogen) เช่น Salmonella, Escherichia coli และ Clostridium botulinum ได้ จึงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยมากกว่าการใช้เชื้อธรรมชาติ สามารถทนเกลือไนไทรต์ (nitrite) ในปริมาณอย่างต่ำ 100 ppm และทนเกลือได้ในความเข้มข้นอย่างน้อย 6 เปอร์เซ็นต์ |
คุณลักษณะที่ต้องการของแหนม 1 |
ลักษณะทั่วไป ในภาชนะบรรจุเดียวกัน ต้องมีรูปทรงเดียวกัน และมีขนาดใกล้เคียงกัน มีการกระจายตัวของส่วนประกอบที่ใช้ทำผสมกันอย่างทั่วถึง ลักษณะเนื้อแน่น ไม่มีโพรงอากาศ และมีน้ำที่เกิดจากการหมักได้เล็กน้อย สี ต้องมีสีชมพูตามธรรมชาติของแหนม กลิ่นรส ต้องมีกลิ่นรสที่ดีตามธรรมชาติที่เกิดจากการหมักของส่วนประกอบที่ใช้ มีรสเปรี้ยวพอเหมาะ ปราศจากกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นเหม็น ลักษณะเนื้อสัมผัส ต้องมีเนื้อแน่น ไม่ยุ่ย สิ่งแปลกปลอม ต้องไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้ เช่น เส้นผม ขนสัตว์ ดิน ทราย กรวด ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ วัตถุเจือปนอาหาร (food additive)
ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ต้องไม่เกิน 4.6 จุลินทรีย์
|
แหนมฉายรังสี |
หลังการหมักแหนม อาจนำมาฉายรังสี (food irradiation) ด้วยรังสีแกมม่า (gamma ray) เพื่อทำลายแบคทีเรียก่อโรค (pathogen) เช่น Salmonella ปรสิต (parasite) เช่น พยาธิ ที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อหมู ปริมาณรังสีที่ได้รับเฉลี่ยสูงสุดไม่ควรเกิน 4 กิโลเกรย์ (มอก. 1219-2537) |
Reference
1 มผช. 145/2546 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแหนม
2 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แหนม
3http://www.nsru.ac.th/e-learning/meattech/lesson/less11_3.html
4 http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/occupation/45301/45301.html
5 จิรสวัสดิ์ ภูริภิรมย์. เทคโนโลยีการผลิตแหนมด้วยเชื้อบริสุทธิ์. Food focus Thailand. Vol 7 No 71.