Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

Stevioside / สตีวิโอไซด์

สตีวิโอไซด์ (stevioside) เป็นสารที่สกัดได้จากหญ้าหวาน เป็นสารให้ความหวาน (sweetener) ใช้ทดแทนน้ำตาล (sugar substitute) ให้รสหวานจัด มีความหวานสัมพัทธ์ (relative sweetness) ประมาณ 280-300 เท่าของน้ำตาลทราย

สตีวิโอไซด์เป็นสารที่สกัดได้จากหญ้าหวาน มีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni ซึ่งเป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นพุ่ม มีกำเนิดแถบ อเมริกาใต้ ใบของต้นหญ้าหวานมีรสหวาน ใช้นำมาชงเป็นชา หรือใส่ในเครื่องดื่ม ใบแห้งของต้นหญ้าหวานมีสารสตีวิโอไซต์ประมาณ15 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก

 

สารสกัดสตีวิโอไซต์ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ดูดความชื้นได้ดี ละลายได้ดีในน้ำ ทนต่อความร้อนและกรดได้ดี

 

 

การใช้ประโยชน์

สตีวิโอไซด์ใช้เป็นสารให้ความหวานในผลิตภัณฑ์อาหาร ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างแพร่หลาย เช่น หมากฝรั่ง ลูกกวาด เครื่องดื่มน้ำอัดลม ไอศกรีม แยม เยลลี่ มาร์มาเลด มีข้อดีคือ

  • ไม่ถูกดูดซึมในระบบการย่อย ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานต่ำ ประมาณร้อยละ 0-3 แคลอรี จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสารให้ความหวานกับอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ไม่เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาล (browning reaction) ซึ่งเป็นสาเหตุให้อาหารเกิดสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูง
  • ไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ไม่เสื่อมเสียเนื่องจากจุลินทรีย์ (microbial spoilage)

ความปลอดภัย

ผลการศึกษาถึงความปลอดภัยของสตีวิโอไซด์ในอาหาร เป็นเวลานานจนถึงปัจจุบันปรากฏว่ามีแนวโน้มทางด้านความปลอดภัยที่ดี เมื่อต้นปี ค.ศ. 2009 ประเทศสหรัฐอเมริกาโดย USFDA ได้พิจารณาและประกาศว่า หญ้าหวานได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย "Generally Recognized As Safe (GRAS) " โดยอ้างอิงถึงรายงานผลงานวิจัยของตัวเองที่รายงานด้านความเป็นพิษ LD50 5.2 กรัม/น้ำหนัก กก. สำหรับแฮมสเตอร์เพศผู้ และ 6.1 กรัม/น้ำหนัก กก.สำหรับแฮมสเตอร์เพศเมีย และอ้างอิงถึงรายงานวิจัยทางบวกจากนานาชาติ

EU อนุญาติให้ใช้เติมในอาหารได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011

สำหรับในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติอาหาร พศ. 2522 กำหนดให้สตีวิโอไซด์ และอาหารที่มีส่วนผสมของสติวิโอไซด์ เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 262) พ.ศ.2545 เรื่อง สตีวิโอไซด์และอาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์ ให้มีการใช้สตีวิโอไซด์ (stevioside) สารที่ให้รสหวานจัดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากหญ้าหวาน เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

  • ข้อ 1 ให้สตีวิโอไซด์ที่สกัดจากหญ้าหวาน ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ
  • ข้อ 2 สตีวิโอไซด์ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

    (1) มีปริมาณสตีวิโอไซด์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก

    (2) ความชื้นไม่เกินร้อยละ 6 โดยน้ำหนัก

    (3) มีปริมาณโลหะหนัก (คำนวณเป็นตะกั่ว) ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

    (4) มีปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นสารช่วยในการผลิต (processing aid) ตกค้างได้

    ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

    (5) ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค

    (6) ไม่มียีสต์และเชื้อรา

    ข้อ 3 อาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์ต้องใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

    ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 121 (พ.ศ.2532) เรื่อง อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2532

    ข้อ 4 การแสดงฉลากของสตีวิโอไซด์ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง

    ฉลาก ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่อง ฉลาก ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 252) พ.ศ.2545 เรื่อง ฉลาก (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2545 ให้ปฏิบัติตามข้อ 5 และข้อ 6 ของประกาศนี้

    ข้อ 5 การแสดงฉลากของสตีวิโอไซด์ที่จำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย

    แต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้

    (1) ชื่ออาหาร "สตีวิโอไซด์" โดยมีข้อความว่า "สารสกัดจากหญ้าหวาน" กำกับไว้ กรณีที่เป็น

    ชื่อทางการค้าจะต้องแสดงข้อความว่า "สตีวิโอไซด์สารสกัดจากหญ้าหวาน" กำกับด้วย

    (2) เลขสารบบอาหาร

    (3) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุสำหรับสตีวิโอไซด์ที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของ

    ผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิตสำหรับสตีวิโอไซด์ที่นำเข้า แล้วแต่กรณี สำหรับสตีวิโอไซด์ที่ผลิตในประเทศ อาจแสดงชื่อและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตหรือของผู้แบ่งบรรจุก็ได้

    (4) น้ำหนักสุทธิของอาหารเป็นระบบเมตริก

    (5) เดือนและปีที่ผลิต หรือ วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือ วันเดือนและปีที่อาหาร

    ยังมีคุณภาพหรือมาตรฐานดี โดยมีข้อความว่า "ผลิต" หรือ "หมดอายุ" หรือ "ควรบริโภคก่อน" กำกับไว้ด้วยแล้วแต่กรณี และแสดงวันเดือนปีเรียงตามลำดับ กรณีการแสดงเดือนอาจแสดงโดยใช้ตัวอักษรแทนได้

    (6) วิธีการใช้

    (7) ข้อความว่า "ใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาล" ด้วยตัวอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า

    3 มิลลิเมตร กำกับชื่ออาหาร

    (8) ข้อความว่า "ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น"

    ข้อ 6 การแสดงฉลากของสตีวิโอไซด์ที่มิได้จำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย

    เว้นแต่สตีวิโอไซด์ที่นำเข้าอาจแสดงข้อความเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ และต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดตามข้อ 5 (1) (2) (3) (4) (5) และ (7) รวมทั้งข้อความว่า "ใช้ผสมอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักเท่านั้น" ด้วยขนาดตัวอักษรเห็นได้ชัดเจนด้วย

    ข้อ 7 การแสดงฉลากของอาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์ นอกจากจะต้องปฏิบัติตาม

    ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 121 (พ.ศ.2532) เรื่อง อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2532 แล้วจะต้องแสดงข้อความว่า "ใช้สตีวิโอไซด์ สารสกัดจากหญ้าหวาน" ด้วยขนาดตัวอักษรเห็นได้ชัดเจนด้วย

 

 

Reference

www.gpo.or.th/rdi/html/RDINewsYr18No2/3.pdf

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 262) พ.ศ.2545เรื่อง สตีวิโอไซด์และอาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/443723

 

*Commission Regulation (EU) No1129/2011 of 11November 2011 amending Annex II to Regulation (EC) No1333/2008 of the European Parliament and of the Council by establishing a Union list of food additives (1)

*Commission Regulation (EU) No1130/2011 of 11November 2011 amending Annex III to Regulation (EC) No1333/2008 of the European Parliament and of the Council on food additives by establishing a Union list of food additives approved for use in food additives, food enzymes, food flavourings and nutrients (1)

*Commission Regulation (EU) No1131/2011 of 11November 2011 amending Annex II to Regulation (EC) No1333/2008 of the European Parliament and of the Council with regard to steviol glycosides



(เข้าชม 1,537 ครั้ง)

สมัครสมาชิก