สารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีนหลายชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น แอลดริน (aldrin) คลอร์เดน (chlordane) ดีดีที (DDT) ไดเอลดริน (dieldrin) เอนโดซัลแฟน (endosulfan) เอนดริน (endrin) และลินเดน (lindane) [หรือรู้จักกันในชื่อแกมมา-เบนซีนเฮกซะคลอไรด์ (gamma-benzene hexachloride หรือ gamma-HCH] บางชนิดได้ยกเลิกการใช้งานมาหลายปีแล้ว เนื่องจากเป็นสารเคมีที่สลายตัวได้ยากในสิ่งแวดล้อมและอาจสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์ เช่น สะสมในเนื้อเยื่อที่เป็นไขมัน (adipose tissue) เช่น แอลดริน และเอนดริน เป็นต้น
สารเคมีในกลุ่มนี้บางชนิดที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ลินเดน และเอนโดซัลแฟน และอีกหลายชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์ขึ้นมาใช้ใหม่
ประโยชน์ : สารเคมีกลุ่มออร์กาโนคลอรีนถูกนำมาใช้ในด้านการเกษตรกันอย่างแพร่หลายเพื่อช่วยกำจัดแมลง และป้องกันผลิตผลทางการเกษตรมิให้เสียหาย สารเคมีกำจัดแมลงในกลุ่มนี้ ได้แก่ DDT ซึ่งถูกนำมาใช้ในการควบคุมแมลงในหลายประเทศ เช่น ควบคุมยุงก้นป่องที่เป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรีย ส่วนลินเดนใช้กำจัดหมัด เหา หอย และตัวทาก (slugs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ฉีดพ่นบนเมล็ดพืช เพื่อป้องกันแมลงกัดกินได้ด้วย
สาเหตุการเกิดพิษ : โดยทั่วไปเกิดจากการหายใจหรือสัมผัส สารพิษจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและจะมีผลต่อสุขภาพ เช่น ระบบทางเดินหายใจ และสมอง เป็นต้น สารเคมีกำจัดแมลงบางชนิดเมื่อผสมกับตัวทำละลาย (solvent) เช่น น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน อาจทำให้เกิดอาการปอดบวม หากกลืนกินสารพิษ อาการจะแสดงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับสารพิษนั้นๆ เช่น แอลดริน ไดเอลดริน เอนดริน และเอนโดซัลแฟน จะมีพิษและอันตรายมากกว่า คลอร์เดน ดีดีที และลินเดน เป็นต้น
เกษตรกรที่ได้รับพิษมักเกิดจากอุบัติเหตุโดยความประมาท เช่น ไม่ชำระล้างร่างกายหลังพ่นสารเคมีกำจัดแมลง หรือใช้มือคนสารเคมีกำจัดแมลงเป็นต้น แชมพูสระผมบางชนิดที่มีลินเดนเป็นสารออกฤทธิ์ อาจเกิดเป็นพิษขึ้นได้ในกลุ่มเด็กนักเรียน ถ้าใช้มากเกินขนาดหรือใช้บ่อยครั้ง นอกจากนี้เคยมีรายงานการเกิดพิษในเด็ก เนื่องจากกินแตงโมที่ปนเปื้อนสารดีดีทีโดยไม่ได้ล้างผลแตงโมก่อนนำมารับประทาน