เห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห (Dictyophora indusiata) รู้จักกันในนามของ เยื่อไผ่ คือ เห็ดซึ่งเป็นฟังไจ (fungi) ชนิดหนึ่ง เห็ดเยื่อไฝ่มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหลากหลายมาก ได้แก่ Bamboo mushroom, Bamboo fungus, Veiled lady, Long net stinkhorn หรือ Basket stinkhorn ชื่อเหล่านี้ตั้งตามลักษณะเด่นที่เห็นทั่วไปของเห็ด เช่น Bamboo mushroom เพราะต้องเพาะเห็ดบนเยื่อไม้ไผ่ โดยนำเอาไม้ไผ่มาทำให้เปื่อยยุ่ย แล้วนำมากองเพื่อใช้เพาะเห็ด หรือพบเห็ดชนิดนี้ในป่าไผ่ ส่วนชื่อเรียก Veiled lady หรือ Long net stinkhorn หรือ Basket stinkhorn เนื่องจากส่วนของหมวกเห็ดมีรูปร่างเหมือนกระโปรงหรือตะกร้าหรือสุ่ม ที่สานกันเป็นร่างแห สำหรับประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดในการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ มีชื่อเรียกหลากหลายเช่นกัน ได้แก่ เห็ดดางแห เห็ดวิญญาณถือร่ม เห็ดราชา เห็ดราชินี เห็ดราชาแห่งยา หรือเห็ดดอกไม้
คำว่า "Stinkhorn" ที่ใช้ต่อชื่อข้างท้ายของเห็ดสายพันธุ์นี้ เป็นการบ่งชี้คุณลักษณะของเห็ดเหล่านี้ว่ามีกลิ่นเหม็น เนื่องจากส่วนบนสุดของดอกทำหน้าที่ผลิตสปอร์ที่เปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ของเห็ด ส่วนบนสุดนอกจากจะผลิตสปอร์แล้วยังผลิตกลิ่นรุนแรงออกมาเรียกแมลงอีกด้วย ซึ่งแมลงเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการกระจายพันธุ์ของเห็ดในธรรมชาติ
ประโยชน์ด้านอาหาร
เห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีโปรตีน (Nx6.25) 15-18% มี กรดcอมิโนถึง 16 ชนิด จาก กรดcอมิโนที่มีทั้งหมด 20 ชนิดที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ และกรดแอมิโน 16 ชนิดนี้ยังเป็นกรดแอมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (essential amino acid) ถึง 7 ชนิด และมีไรโบฟลาวิน (riboflavin) หรือวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง จากการสกัดสารจากเห็ดร่างแหพบสารที่สำคัญ 2 ชนิด คือ พอลิแซ็กคาร์ไรด์ และ ไดโอไทโอโฟริน เอและบี ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ได้มีการทดสอบสมบัติของสารไดโอไทโอโฟริน เอและบี ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารกลุ่มนี้เป็นตัวช่วยในการปกป้องระบบประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากสารพิษ นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดจากเห็ดดางแห มีผลต่อการต้านการอักเสบ และต่อต้านการเกิดเนื้องอก และยังพบน้ำตาลที่สำคัญ เช่น mannitol นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ทำให้เห็ดเยื่อไผ่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
ในอดีตเป็นหนึ่งในเจ็ดของยาอายุวัฒนะที่จัดเป็นเมนูเสวยให้กับฮ่องเต้ในราชวงศ์ชิง โดยเห็ดเยื่อไผ่จะถูกส่งมาจากมณฑลยูนนาน และนำมาถวายในราชสำนัก ชาวจีนนิยมนำมาเป็นอาหารบำรุ่งร่างกาย ในตำรายาจีนกล่าวไว้ว่า ส่วนบนสุดของเห็ดเยื่อไผ่ สามารถนำไปผลิตเป็นยาบำรุงเพศของม้าได้ ช่วยให้ม้าผสมพันธุ์ได้ดีขึ้น สำหรับตำรับยาที่ใช้ในคน ตามตำรายาจีนมีการใช้เห็ดชนิดนี้เป็นยาบำรุงร่างกายเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากท้องเดิน รักษาโรคความดันโลหิตสูง และปัญหาเนื้อเยื่อมีไขมันมาก ตับอักเสบ โรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตา ปอด และเป็นหวัดนอกจากนี้ยังใช้ เป็นตัวป้องการการบูดเสียของอาหารจากจุลินทรีย์ (microbial spoilage) ได้
การผลิต
ประเทศจีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะเลี้ยงเห็ด " เยื่อไผ่ " ออกจำหน่ายไปทั่วโลก จากรายงานของประเทศจีนพบ เห็ดในสกุลนี้ทั้งสิ้น 9 ชนิด จากรายงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าเฉพาะในภาคอีสาน พบเห็ดเยื่อไผ่ถึง 5 ชนิด คือ เห็ดที่มีกระโปรงยาวสีขาว ( Dictyophora indusiata Fisch.) กระโปรงสั้นสีขาว ( Dictyophora duplicata Fisch.) กระโปรงสีส้ม ( Dictyophora multicolor (Berk) Broome var. lacticolor Reid.) กระโปรงสีแดง ( Dictyophora rubrovolvata Zang ) และกระโปรงสีเหลือง ( Dictyophora multicolor Fisch.)
แต่เห็ดเยื่อไผ่ทั้ง 9 ชนิดที่พบในจีน มีรายงานการศึกษาแล้วว่านำมารับประทานได้เพียง 4 ชนิด คือ เห็ดดางแหชนิด Dictyophora indusiata Fisch, Dictyophora duplicata Fisch , Dictyophora echinovolvata Zang และ Dictyophora merulina Berk ซึ่งตรงกับที่พบในอีสาน 2 ชนิด คือเห็ดที่มีกระโปรงยาวสีขาว และเห็ดกระโปรงสั้นสีขาว
แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่ชาวจีนสามารถทำการเพาะเลี้ยงเป็นการค้าส่งขายทั่วโลก คือพันธุ์ Dictyophora indusiata Fisch และ Dictyophora echinovolvata Zang สำหรับสายพันธุ์ที่มีการเพาะเลี้ยงประเทศจีนได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์มาเป็นเวลานานมากกว่า 50 ปี และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงที่ก้าวหน้ามาก ขณะนี้มีหลายประเทศที่พยายามจะพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ เนื่องจากมีราคาสูงมาก ราคาในท้องตลาดขาย กิโลกรัมละ 3,000 - 5,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของเห็ด
Reference