พริกอยู่ในสกุล Capsicum ซึ่งเป็นพืชในวงศ์ Solanaceae เป็นเครื่องเทศ (spice) ชนิดหนึ่ง
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
พริกเป็นพืชล้มลุก มี ผล เป็นผลเดี่ยว (simple fruit) เป็นผลสด ประเภทเบอร์รี่ (berry) ลักษณะเป็นกระเปาะ มีเพอริคาร์พ (pericarp) นุ่มประกอบเอกโซคาร์พเป็นผิวบางมัน เนื้อพริก คือ มีโซคาร์พ มีตั้งแต่บางจนถึงหนา ขึ้นอยู่กับพันธุ์ สีของผลอ่อน มีทั้งสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม และสีม่วง เมื่อผลสุก อาจเปลี่ยนเป็นสีแดง ส้ม เหลือง น้ำตาล ขาวนวล หรือ สีม่วง
เมล็ดจะเกิดเกาะรวมกันอยู่ที่รก (placenta) ซึ่งมีตั้งแต่โคนจนถึงปลายผล เมล็ดพริกมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมล็ดมะเขือเทศ แต่มีรูปร่างคล้ายกัน คือ มีลักษณะรูปกลมแบน
ประเภทของพริก
1 กลุ่ม Capsicum furtescens เป็นพริก กลุ่มที่มีความเผ็ดมาก ได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูไทย และพริกเหลือง
2 กลุ่ม Capsicum annuum เป็นพริกกลุ่มที่มีความเผ็ดน้อย ได้แก่ พริกหยวก พริกชี้ฟ้า และพริกหวาน
ความเผ็ดของพริก
คุณลักษณะเด่นของพริก คือ ความเผ็ด ซึ่งเกิดจากสารที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในพริก ที่มีชื่อว่า แคพไซซิน (capsaicin) ที่ พบอยู่ในบริเวณรก (placenta) ของผล หน่วยวัดความเผ็ดของพริก วัดระดับได้ด้วย Scoville Heat Unit
ผลิตภัณฑ์จากพริก
พริกเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูป (food processing) เพื่อการถนอมอาหาร และเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ได้แก่ พริกแห้ง พริกป่น ซอสพริก พริกดอง (pickle) น้ำจิ้มไก่ น้ำพริกแกง ปาปริกา (paprika) โอลีโอเรซิน (oleoresin)
สรรพคุณของพริก
สารแคพไซซินในพริกทำให้เจริญอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น แก้หวัด ขับลม ช่วยสูบฉีดโลหิต ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ บำรุงธาตุ ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น พริก ยังมีสารที่เปลี่ยนเป็นวิตามินเอ (pro-vitamin A) และวิตามินซี (vitamin C) สูงซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
References
ผศ.นัฏฐา แก้วนพรัตน์ การนำพริกและสารสกัดจากพริกมาใช้ทางยา ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์