Food Wiki

ค้นหา 6,332 คำศัพท์

ผักหวาน

ผักหวานเป็น ผัก ที่ใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด และยังเป็นพืชสมุนไพร มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินซี (vitamin C) บีตา-แคโรทีนซึ่งช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา และมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงและ มีเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่าย

ประเภทของผักหวาน

ผักหวานมี 2่ประเภท ดังนี้

1. ผักหวานบ้าน (EUPHORBIACEAE:Sauropus abicans) ลักษณะเป็นไม้พุ่มต้นเล็ก ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบคล้ายใบมะยม แต่มีนวลขาว บนหน้าใบ ดอกเล็กเป็น ช่อสีแดง ขาว ผลขนาดเล็ก มีสีเขียวอ่อน จานรองผลมีสีแดงเข้มติดห้อยย้อยตามกิ่งใต้ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ปลูกง่ายนิยมใช้ต้นอ่อนมาปลูกในสวน ตามพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมรั้วบ้านหรือที่ใกล้แหล่งน้ำ

2. ผักหวานป่า (OPILLACEAE :Melientha suavis) เป็นผักพื้นบ้านของไทยที่ขึ้นเองตามป่าราบ มีทุกภาคในประเทศไทย ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลางใบใหญ่ยาวคล้ายใบมะตูมผิวขาวนวล ผลกลม ขนาดเล็ก สีแดง ใบอ่อน ใช้รับประทานได้ เช่น ใบผักหวานบ้าน แต่รสหวานดี และมีราคาแพงกว่าผักหวานบ้าน การบริโภคผักหวานป่าควรปรุงให้สุกเสียก่อน เนื่องจากการบริโภคสดๆ ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการเบื่อเมา เป็นไข้ และอาเจียนได้

การเก็บใบผักหวานป่าไปรับประทาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีต้นไม้ อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "ต้นเสน" เป็นไม้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับต้นผักหวานมาก ลำต้นออกมีสีหม่นๆ และใบหนากว่ากันเล็กน้อย ใบต้นเสนถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้อาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย หมดสติ ถ้ากำลังน้อย อาจตายได้

คุณค่าทางโภชนาการของผักหวาน

          ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการของผักหวานทั้ง 2 ชนิดคล้ายคลึงกัน จัดเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินซี บีตา-แคโรทีนซึ่งช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง และมีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย

ยอดและใบสดที่รับประทานได้ 100 กรัม ให้พลังงาน 300 กิโลจูล (KJ) ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญคือ

น้ำ 76.6 กรัม

โปรตีน 8.2 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม

ใยอาหาร 3.4 กรัม

เถ้า 1.8 กรัม

บีตา-แคโรทีน 1.6 มิลลิกรัม

วิตามินซี (vitamin C) 115 มิลลิกรัม

สรรพคุณของผักหวานป่า

ผักหวานป่าเป็นเครื่องยาไทยจำพวกผัก จะใช้ส่วนรากมาทำยา รากมีรสเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ดีพิการ แก้เชื่อมมัว แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย พบว่าผักหวานป่าจัดเป็นทั้งอาหารและยาประจำฤดูร้อน แก้อาการของธาตุไฟได้ตามแพทย์แผนไทย ส่วนยอดนิยมนำมาปรุงอาหาร มีรสหวานกรอบ ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ และระบายความร้อนหรือใช้ปรุงเป็นยาเขียวเพื่อลดไข้ ลดความร้อน ปัจจุบันพบว่ามีการนำมาพัฒนาแปรรูปด้วยการทำแห้ง (dehydration) เป็นชาผักหวานป่า เป็นเครื่องดื่มชาสมุนไพร

การใช้เป็นอาหาร

ส่วนยอด และใบอ่อน และช่อผลอ่อน ของผักหวานทั้งสองชนิด มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อยนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มจิ้มน้ำพริกหรือแจ่ว ผัด อ่อม แกงใส่หน่อไม้ หรือแกงเปรอะ แกงเห็ด แกงเลียง แกงจืด ผัดผัก ยำผัก โดยเฉพาะแถวทางภาคอีสานและภาคเหนือนั้น จะนิยมแกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง แกงใส่ปลาแห้ง

ผลแก่ของผักหวานอาจลอกเนื้อทิ้ง นำเมล็ดไปต้มรับประทานได้เช่นเดียวกับเมล็ดขนุน มีรสหวานมัน

 

 

 

 



(เข้าชม 1,554 ครั้ง)

สมัครสมาชิก