Food Wiki

ค้นหา 6,332 คำศัพท์

ขี้เหล็ก / Thai copperpod

ขี้เหล็ก (Thai copperpod, Cassod tree) อาจเรียกขี้เหล็กบ้าน หรือ มีชื่อ เรียก ต่างกันตามท้องถิ่นว่าขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ยะหา (ปัตตานี) ผักจี้ลี้ (ฉานแม่ฮ่องสอน) แมะขี้เหละพิโดร (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) ขี้เหล็กแก่น เป็นต้น

ขี้เหล็ก เป็นพืชในวงศ์ Fabaceae (Leguminosae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia siamea (Lamk.) Irwin et Barneby เป็นผักพื้นบ้านของไทยและเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ใบอ่อนและดอกอ่อน ซึ่งมีรสขม ช่วยทำให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ ใบขี้เหล็กมีคุณค่าทางโภชนาการที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ใบขี้เหล็กเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก และดอกขี้เหล็กเป็นแหล่งที่ดีของ provitamin A  vitamin C บีตา-แคโรทีน บำรุงสายตา ผิวพรรณ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง มีเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ในใบขี้เหล็กยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง แก้เครียด สงบประสาทได้ดี ช่วยให้นอนหลับสบาย และระงับอาการตื่นตัวทางประสาทได้

ลักษณะทั่วไป

ขี้เหล็กเป็น ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเขียว ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝัก แบนยาวและหนา

 

สรรพคุณทางยา

ใบ รสขม ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด จึงมีฤทธิ์เป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง แก้เครียด สงบประสาทได้ดี ช่วยให้นอนหลับสบายและระงับอาการตื่นตัวทางประสาทได้ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรงที่ทำให้นอนหลับ

ดอก รสขม แก้โรคประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้หืด แก้รังแค เป็นยาระบาย

การใช้เป็นอาหาร

ดอกอ่อนและใบอ่อนของขี้เหล็ก ใช้เป็นอาหาร ต้องต้มน้ำทิ้งก่อนนำไปแกง เช่น แกงขี้เหล็ก ที่ปรุงด้วยน้ำพริกแกงและกะทิ รสชาติกลมกล่อมหวานมันซ่อนขมเล็กน้อย



(เข้าชม 811 ครั้ง)

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
สมัครสมาชิก