ความกรอบ (Crispness) บางครั้งใช้คำว่า Brittleness เป็นคุณสมบัติด้านเนื้อสัมผัส (texture properties) ที่เกิดขึ้นเมื่อทำให้ตัวอย่างแตกออกจากกันพร้อมกับการเกิดเสียง เป็นเนื้อสัมผัสของอาหาร เช่น อาหารขบเคี้ยว อาหารทอด ผักผลไม้ สด เต่ง ก็จะมีเนื้อสัมผัสกรอบ และฉ่ำน้ำ (juiciness)
ความกรอบของอาหารแห้ง มีความสัมพันธ์กับความชื้นของอาหาร ซึ่งมีผลกับการยอมรับของผู้บริโภคและอายุการเก็บรักษาอาหาร
การทดสอบเนื้อสัมผัส (texture analysis) ด้านความกรอบของอาหาร อาจทำได้ด้วยการทดสอบทางประสาทสัมผัส (sensory evaluation) หรือการทดสอบทางวัตถุวิสัย (objective method) เช่น การทดสอบแบบการโก่งตัว (bending test) การทดสอบแบบกดทะลุ (penetration test)
การวิเคราะห์ผลการทดสอบความกรอบพิจารณาจากกราฟแรงและเวลา (force-time curve) โดยดูจาก เวลา ที่ทำให้ชิ้นวัสดุแตก วัสดุที่ใช้เวลาน้อยจะกรอบมาก
วัสดุที่มีโพรง เช่น ขนมปังกรอบ อาจนับ จำนวนยอดของกราฟที่เกิดขึ้นขณะทดสอบตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงแรงสูงสุด กราฟที่มีจำนวนยอดมากกว่าจะมีความกรอบมากกว่า เพราะมีการแตกหักหลายครั้ง