Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

ผักแพว / Vietnamese coriander

ผักแพว (Vietnamese coriander) หรืออาจเรียก ชื่ออื่นว่า ผักไผ่ ผักแพว จันทร์โฉม พริกม้า หอมจันทร์ ผักแจว จันทร์แดง พริกบ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Polygonum odoratum Lour. อยู่ในวงศ์ POLYGONACEAE เป็นพืชล้มลุกที่พบ แหล่งที่พบ พบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย พบได้ตลอดทั้งปีเกิดเองตามธรรมชาติ ตามที่ชื้นพื้นราบ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ตามแอ่งน้ำต่างๆ ใช้รับประทานเป็น ผักสดพื้นบ้านของไทย และเป็นพืชสมุนไพร ส่วนที่นำมารับประทานคือ ยอดอ่อน ใบอ่อน จากผลการวิจัยของกรมอนามัย ปี พ.ศ. 2554 พบว่า ผักแพวเป็นผักพื้นบ้านไทยที่มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก ใยอาหาร และวิตามินซี (vitamin C) สูง มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ผักแพวเป็นพืชล้มลุก เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะ ลำต้น สูง 30-35 เซนติเมตร. ลำต้นตั้งตรง บนลำต้นมีข้อเป็นระยะๆ บริเวณข้อมักมีรากงอกออกมา หรือลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน และมีรากงอกออกมาตามส่วนที่สัมผัสกับดินใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบสลับ รูปร่างของใบเป็นรูปหอกหรือรูปหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียวปลายใบแหลม ฐานใบรูปลิ่ม ใบกว้าง 2.5-3 เซนติเมตร. ยาว 5.5-8 เซนติเมตร. ก้านใบสั้นมีหูใบลักษณะเป็นปลอกหุ้มรอบลำต้น บริเวณเหนือข้อ ดอก เป็นช่อ ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กสีขาวนวลหรือสีชมพูม่วง ผล ขนาดเล็กมาก

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการในส่วนที่รับประทานได้ของผักแพว 100 กรัม ประกอบด้วยพลังงาน 54 CalUnit ความชื้น83.4%โปรตีน 4.7 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 7.7 กรัม ใยอาหาร 1.9 กรัม เถ้า 1.8 กรัม แคลเซียม 79 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 272 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 2.9 มิลลิกรัม Vitamin A  8,112 I.U Vitamin B1 0.05 มิลลิกรัม Vitamin B2 0.59 มิลลิกรัม Niacin 1.7 มิลลิกรัม Vitamin C 77 มิลลิกรัม

 

การใช้ประโยชน์

ยอดอ่อน ใบอ่อน ของผักแพว มีกลิ่นหอม รสชาติเฉพาะตัว มีรสเผ็ดร้อน รับประทานมากๆ จะรู้สึกว่ามีรสปร่าในปาก ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร

ยอดอ่อน ใบอ่อน ของผักแพว ใช้เพื่อ การปรุงอาหาร หรือ รับประทานสด เป็น ผักแกล้มอาหารรสจัด เป็นเครื่องเคียงของอาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารเวียดนาม หรือหั่นฝอยคลุกเป็นเครื่องปรุงสด อาหารประเภทลาบ ก้อยกุ้งสด (กุ้งฝอย กุ้งน้ำจืด) ข้าวยำ นอกจากนี้ยังใส่แกงประเภทปลา เพื่อตัดกลิ่นคาวปลาอีกด้วย นำมาใส่ปรุงรสอาหารจากหอยขม

 

เอกสารอ้างอิง

1. กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. 48 หน้า.

2. เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) . กรมป่าไม้ 379 หน้า.

3. ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา. 2539. ผักไทย - ยาไทย คู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย. 77 หน้า.

4. วัชรี ประชาศรัยสรเดช. 2542. ผักพื้นเมือง เหนือ อีสาน ใต้. 81 หน้า.

5. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคอีสาน 302 หน้า.

6. สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ. ผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการผักพื้นบ้านอาหารธรรมชาติอีสาน ครั้งที่2. 177 หน้า.

7. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2538. ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย 261 หน้า

 



(เข้าชม 5,455 ครั้ง)

สมัครสมาชิก