Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

โรคและอาการของโรคที่เกิดจาก Vibrio parahaemolyticus

 

Vibrio parahaemolyticus เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลปิด การตรวจพบเชื้อนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำทะเล คือ ถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส มักจะตรวจไม่พบเชื้อนี้ แม้ว่าแบคทีเรียจะยังมีชีวิตอยู่ในดินตะกอนก้นทะเลไม่ลึกมากนักก็ตาม เพราะแบคทีเรียไม่ทนต่อสภาวะที่มีความกดดันของอากาศต่ำ ซึ่งเป็นสภาวะของก้นทะเล ณ ระดับที่มีความลึกมากๆ ในน้ำทะเลจะพบว่าแบคทีเรียชอบที่จะอาศัยอยู่กับสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเชียน เช่น กุ้ง กั้ง ปู มากกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ

 

การทำให้เกิดโรค

เกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปโดยเฉพาะอาหารทะเลพวก กุ้ง ปู ปลา หอย จำนวนเชื้อต้องมีมากพอที่ตั้งแต่ 106-109 ตัวต่อกรัม จึงสามารถทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ อาการมักปรากฏหลังจากกินเชื้อเข้าไป 10 ถึง 12 ชั่วโมง บางรายแสดงอาการภายใน 4 ถึง 96 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเป็นกรดหรือด่างภายในระบบทางเดินอาหาร เชื้อนี้จะเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัวทุกๆ 10 ถึง 15 นาที ที่อุณหภูมิ 37°C  เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะทวีจำนวนขึ้นในลำไส้ เชื้อชนิดสร้างสารพิษมีทั้งสร้างในร่างกายหรือในอาหารก่อนรับประทาน ทำให้มีอาการท้องร่วงรุนแรง มีอุจจาระเหลวเป็นน้ำมีกลิ่นเหม็นเหมือนกุ้งเน่า มักมีอาการปวดเกร็งที่ท้อง ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีอาการอาเจียนร่วมด้วย มีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น คืออาจเกิดอาการในประมาณ 15-24 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารทะเลซึ่งปนเปื้อนเชื้อนี้ อาการอาจคงอยู่นานถึง 10 วัน แต่ส่วนใหญ่จะทุเลาลงภายใน 3 วัน โดยไม่ต้องรักษา บางรายคล้ายเป็นบิด อุจจาระมีมูกเลือด มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาการอาจเกิดเฉียบพลัน และอาจรุนแรงจน collapse ได้ อาการที่เป็นอาจหายเองภายใน 2 ถึง 5 วัน แต่อาจจะมีอาการอ่อนเพลียต่อไปอีกหลายวัน อัตราการตายต่ำ โรคนี้มักพบในฤดูร้อน ไม่ค่อยพบในฤดูหนาว ดังนั้นสิ่งที่ช่วยวินิจฉัยคือจะได้ประวัติในเกือบทุกรายว่าได้รับประทานอาหารทะเลมาก่อนที่จะเกิดอาการท้องร่วงไม่กี่ชั่วโมง หรือรับประทานอาหารที่มีอาหารทะเลเกี่ยงข้อง เช่น อาหารที่มีเนื้อปูโรยหน้า เป็นต้น

 

การป้องกัน

รับประทานอาหารทะเลที่ทำให้สุกและยังร้อนๆ อยู่ เพราะเชื้อมักพบได้ในอาหารทะเล ในบางรายแม้ว่าทำให้สุกแล้วอาจวางไว้ปะปนกับอาหารทะเลที่ยังไม่ได้ทำให้สุกทำให้เชื้อผ่านจากอาหารดิบไปยังอาหารสุก จึงควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน รวมทั้งแยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหารหรือทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับอาหารทะเลก่อนนำไปใช้กับอาหารชนิดอื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสของบาดแผลเปิดกับน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย

 

การแพร่กระจายและการเจริญของเชื้อ

การแพร่กระจายของเชื้อมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิของน้ำทะเล ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิของน้ำจะต่ำลงเชื้อสามารถอาศัยในตะกอนใต้พื้นน้ำ เมื่อถึงฤดูร้อนอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเชื้อจากตะกอนใต้พื้นน้ำแพร่กระจายเข้าสู่แพลงตอนสัตว์ (zooplankton) เชื้อนี้สามารถย่อยไคทิน (เป็นส่วนประกอบในชั้นเปลือกของแพลงตอนสัตว์) เพื่อใช้ในการเจริญเพิ่มจำนวนในฤดูร้อน เชื้อนี้เจริญได้ในช่วงอุณหภูมิ 9.5-45°C, ช่วง pH 5-11 และสามารถเจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีเกลือ (NaCl) 0.5-8%

 

ความทนทานของเชื้อ

1. ถูกทำลายที่อุณหภูมิ 60°C ในเวลา 15 นาที

2. ถูกทำลายโดยกรด มีผู้ศึกษาพบว่าเชื้อนี้ถูกทำลายได้ด้วยกรดมะนาว (citric acid) pH 4.4 ในเวลาเพียง 30 นาที

3. ในฤดูหนาวเชื้อสามารถอาศัยในตะกอนใต้พื้นน้ำ

4. สามารถมีชีวิตอยู่ในอาหารหรือน้ำที่มีเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ตั้งแต่ 1-8% ถ้ามากกว่า 10% เชื้อจะตาย สามารถอยู่ได้ที่อุณหภูมิต่ำเช่น ในเนื้อปู (1-15°C) เป็นเวลา 30 วัน, กุ้งปอกเปลือก (3-18°C) เป็นเวลา 6 วัน, หอยนางรมแช่เยือกแข็ง เป็นเวลา 40-130 วัน

 

 

การเจริญของเชื้อ

V. parahaemolyticus สามารถเจริญได้ในสภาวะที่มีเกลือแกงร้อยละ 1-8 แต่เจริญได้ดีที่สุดในช่วงที่มีเกลือแกงร้อยละ 2-4 ซึ่งถ้าเชื้ออยู่ในน้ำกลั่น แบคทีเรียนี้จะตาย แบคทีเรียสามารถเจริญได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 10-44 องศาเซลเซียส โดยช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง     10-44 องศาเซลเซียส โดยช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคืออยู่ระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียส

โดย V.parahaemolyticus สามารถเจริญได้ในที่มีค่า pH เป็นด่างเล็กน้อย คือระหว่าง 7.6-8.6 แต่ตามปกติแบคทีเรียนี้จะเจริญได้อยู่ระหว่าง pH 4.8-11 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมอื่นๆ ด้วย

 

อาการของโรคอาหารเป็นพิษและอาหารที่เป็นสื่อ

V. parahaemolyticus ถูกจัดไว้ในกลุ่มของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 โดยเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1965-1974 ในประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 24 ของการระบาดทั้งหมดที่เกิดจากแบคทีเรีย การระบาดในปี ค.ศ. 1971 ในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีสาเหตุมาจากปลาซาร์ดีนที่ต้มและตากแดดเพียงเล็กน้อย มีผู้ป่วย 272 คน ตาย 20 คน ส่วนการระบาดอีกสองครั้งที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้เกิดขึ้นปี ค.ศ. 1956 และ ค.ศ. 1960 การระบาดในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1971 มีสาเหตุมาจากปูนึ่งและสลัดปู มีผู้ป่วย 425 คน จากผู้เกี่ยวข้องประมาณ 745 คน ส่วนการระบาดในประเทศไทยที่สำคัญคือการระบาดของเชื้อในอาหารเรียกน้ำย่อยที่มีเนื้อปูเป็นส่วนประกอบ ซึ่งบริการบนเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปลอนดอน เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 9 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น

 

 



(เข้าชม 253 ครั้ง)

สมัครสมาชิก