Food Wiki

ค้นหา 6,332 คำศัพท์

Flat worm / หนอนตัวแบน

หนอนตัวแบน (Flat worm : Phylum Platyhelminthes) หมายถึงหนอนพยาธิ ที่จำแนกไว้ในไฟลัมแพลทีเฮลมินทีส (Phylum Platyhelminthes) ชั้นทรีมาโทดา (Class Trematoda) สมาชิกที่อยู่ใกล้เคียงคือ พลานาเรีย พยาธิตืด และพยาธิใบไม้ สัตว์กลุ่มนี้เป็นปรสิตของสัตว์มีกระดูกสันหลัง อาจเกาะอยู่นอกตัวให้อาศัยเช่น ปลาน้ำจืด ปลาทะเลหรืออยู่ภายในตัวให้อาศัยเช่นคน

ลักษณะเฉพาะ

เป็นสัตว์ที่ยังไม่มีโพรงลำตัว (Acoelomate) มีแต่เซลล์พาเรงคิมา (Parenchyma) เรียงอยู่โดยรอบ ที่รู้จักกันดีคือ พยาธิใบไม้ตับ พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว มีลักษณะเด่นคือ ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด ระบบประสาท มีสมองเป็นวงแหวนและมีเส้นประสาทตามยาว 1-3 คู่ ไม่มีข้อหรือปล้องที่แท้จริง ไม่มีปากช่องว่างในลำตัว มีระบบทางเดินอาหาร ไม่สมบูรณ์ มีแต่ปาก ไม่มีทวารหนัก มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เป็นสัตว์ที่มีสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน (Monoecious) การผสมพันธุ์อาจเกิดขึ้นภายในตัวเดียวกันหรือผสมข้ามตัวก็ได้ และการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นภายในร่างกาย ไข่เมื่อได้รับการผสมแล้ว จะถูกปล่อยออกมานอกตัวเพื่อเจริญเป็นตัวอ่อนต่อไป แต่ตัวอ่อนบางชนิดอาจจะเจริญอยู่ในตัวให้อาศัย

ประเภทของหนอนพยาธิตัวแบน

การจัดจำแนกหมู่ของหนอนตัวแบน สามารถจำแนกหนอนตัวแบน ออกได้ 3 ชนิด ดังนี้

1 . ชั้นเทอร์เบลลาเรีย (Class Trubllarai) เป็นหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ อาศัยอยู่ในน้ำจืดที่ใสสะอาด พบบริเวณโขดหิน ท่อนไม้ใบไม้ และโคลนตม ไม่ชอบแสงสว่าง ลำตัวแบนไม่แบ่งเป็นลำปล้อง ผิวหนังบาง ไม่มิวทีเคิล แต่มีต่อมเมือกและมีขนเซลล์เล็กๆ สำหรับใช้ในการเคลื่อนที่ มีการสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ โดยการผสมพันธุ์ข้ามตัว ถึงแม้ว่าจะมี 2 เพศภายในตัวเดียวก็ตาม ตัวอย่าง ได้แก่ พลานาเรีย (Planaria)

 

2 . ชั้นทรีมาโทดา (Class Trematoda) เป็นหนอนตัวแบนที่มีรูปร่างคล้ายไม้ จึงมีชื่อเรียกว่าพยาธิใบไม้หรือทรีมาโทด (Trematoda) มีสมาชิกประมาณ 11,000 ชนิด ดำรงชีวิตเป็นปรสิต ร่างกายมีโครงสร้างเฉพาะเหมาะที่จะดำรงชีวิตแบบปรสิต มีอวัยวะยึดเกาะกับตัวให้อาศัย เรียกว่าปุ่มดูดเกาะ มี 2 อันคือ ปุ่มดูดรอบปาก (oral sucker) ซึ่งอยู่ตอนปลายล้อมรอบช่องปากที่มีลักษณะเรียวเล็กอยู่ด้านหน้าของพยาธิใบไม้ ส่วนอีกปุ่มจะเรียกด้านท้องเรียกว่า ปุ่มดุดด้านท้อง (ventral sucker) หรือเรียกว่า แอซีทาบูลัม (acetabulum) ใช้ยึดเกาะกับตัวให้อาศัย เหนือปุ่มดูดด้านท้องขึ้นไปจะไม่มีช่องสืบพันธุ์ (genital pore) มีอวัยวะย่อยอาหาร อวัยวะสืบพันธุ์ และอวัยวะขับถ่าย โดยของเสียจะขับถ่ายออกทางช่องขับถ่าย (excretory pore) ซึ่งอยู่ส่วนท้ายของหัว ในวัฏจักรชีวิตของพยาธิต้องการแหล่งให้อาศัยมากกว่า 1 ชนิด คือ ในระยะตัวอ่อน จะอาศัยอยู่ในหอยน้ำจืด กุ้ง หรือปลา ซึ่งจัดเป็นตัวให้อาศัยมัธยันตร์ (intermediate host) ส่วนตัวเต็มวัยจะอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งจัดเป็นตัวให้อาศัยกำหนดแน่ (definitive host) โดยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และอวัยวะส่วนอื่นๆ พยาธิใบไม้เป็นสัตว์ที่มีสองเพศภายในตัวเดียวกัน ยกเว้นพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma) ทีแยกเพศ การปฏิสนธิอาจเกิดภายในตัวเดียวกันหรือผสมข้ามตัวก็ได้

ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะมีเปลือกไข่หุ้ม แล้วหลุดจากมดลูก ออกสู่ภายนอกร่างกายของช่องสืบพันธุ์ โดยปนออกมากับอุจจาระของตัวให้อาศัยเมื่อพบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ไข่ตกลงสู่น้ำจะฟักตัวเป็นตัวอ่อนในระยะไมราซิเดียม (Miracidium) ซึ่งมีขนเซลล์รอบตัว ว่ายน้ำได้ เมื่อพบตัวให้อาศัย เช่น หอยน้ำจืดจะเจาะเข้าไปอยู่อาศัยในตัวหอยแล้วพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะสปอโรซีส (Sporocyst) เรเดีย (Radia) และเซอร์คาเรีย (Cercaria) ตามลำดับ หลังจากนั้นเซอร์คาเรียซึ่งมีหางงอกออกจากตัวหอย ใช้หางว่ายน้ำไปหาปลาและเจาะไชเข้าไปอยู่ในเนื้อปลา โดยสลัดหางทิ้ง แล้วเจริญเป็นตัวอ่อนในเกราะ (Cyst) เรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า เมทาเซอร์คาเรีย (Metacercaria) ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อมีคนบริโภคเนื้อปลาที่มีตัวอ่อนระยะนี้เข้าไปในลักษณะปรุงอาหารไม่สุก ตัวอ่อนจะออกมาเกาะอยู่ในลำไส้เล็กแล้วเคลื่อนที่ไปยังอวัยวะต่างๆ เจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป ดังนั้นการป้องกันโรคพยาธิไม่ควรบริโภคปลาดิบๆ สุกๆ ตัวพยาธิใบไม้ ได้แก่ พยาธิใบไม้ในตับคน (Opisthorchis viverrini) พยาธิใบไม้ในตับแกะ (Fasciola hepatica) พยาธิใบไม้ในลำไส้คน (Fasiolopsis buski) พยาธิใบไม้ในเลือดคน (Chistosoma japonicum) และพยาธิใบไม้ในปอด (Paragonimus westermani)

3. ชั้นเซสโทดา (Class Cestoda) สัตว์ในชั้นนี้มีชื่อเรียกว่าทั่วไปว่าพยาธิตัวตืด มีสมาชิกประมาณ 4,000 ชนิด ดำรงชีวิตแบบปรสิต มีลำตัวแบนยาวคล้ายริบบิ้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว (scolex) ถัดลงมาเป็นส่วนคอ (neck) และส่วนยาวต่อจากคอ คือ ส่วนที่เป็นปล้องเรียกว่าสโตรบิลา (strobila) ปล้องในสโตรบิลาจัดเป็นปล้องที่ไม่แท้จริง เรียกว่า โพรกลอตทิส (Proglottis) ซึ่งมีจำนวนปล้องมากมายแบ่งออกได้ 3 ชนิดคือปล้องที่อยู่ใกล้กับคอเป็นปล้องอ่อน ( young proglottids) ถัดมาเป็นปล้องแก่ (mature proglottids) ซึ่งภายในปล้องจะมีอวัยวะเพศทั้งสองเพศที่สมบูรณ์พร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้ และส่วนสุดท้าย คือ ปล้องสุก ( gravid proglottids) เป็นปล้องที่มีไข่ซึ่งได้รับการปฏิสนธิแล้วเป็นส่วนที่จะหลุดไปพร้อมอุจจาระ พยาธิตัวตืดแต่ละชนิดมีความยาวแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 3 มิลลิเมตรถึง 25 เมตร มีจำนวนปล้องตั้งแต่ 2-3 ปล้อง ถึง 4,000 ปล้อง ส่วนหัวของพยาธิตัวตืดจะประกอบด้วยปุ่มดูดเกาะ (sucker) 4 อัน และมีขอหนาม (hook) อยู่บริเวณปลายสุด เพื่อทำหน้าที่ยึดเกาะตัวให้อาศัย ไม่มีระบบทางเดินอาหาร พยาธิตัวตืดดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วของโฮสต์ผ่านทางผนังลำตัว วัฏจักรของพยาธิตัวตืดต้องอาศัยในตัวอาศัยหลายชนิด ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะอยู่ในสัตว์คนละชนิดกัน โดยตัวอ่อนจะอยู่ในกล้ามเนื้อของสัตว์มีกระดูกสันหลังพวกหมู วัว หรือปลามีลักษณะเป็นถุง ภายในเป็นตัวอ่อนที่มีส่วนหัว เรียกระยะนี้ว่า พยาธิเม็ดสาคู (Cysticercus cellulosae) ส่วนตัวเต็มวัยจะอยู่ภายในลำไส้ของคนที่บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีพยาธิเม็ดสาคูนี้เข้าไป โดยบริโภคอาหารดิบๆ สุกๆ ถุงที่หุ้มพยาธิเม็ดสาคูจะถูกย่อย ส่วนหัวของพยาธิตัวตืดจะใช้ขอหนามเกาะติดกับผนังลำไส้ แล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป ตัวอย่างของพยาธิตัวตืด ได้แก่ พยาธิตืดหมู (Taenia solium) พยาธิตืดวัว (Taenia saginata) และพยาธิตัวตืดปลา ( Dibolthriocephalus latus)

 



(เข้าชม 998 ครั้ง)

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
สมัครสมาชิก