Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

Hemolytic uremic syndrome / อาการฮีโมไลติกยูรีมิก

 

อาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic uremic syndrome )

โรคนี้เกิดจากเชื้อ Escherichia coli หรือเรียกสั้นๆ ว่า อี. โคไล (E. coli) เชื้อ อี. โคไล นี้ ตามปกติจะไม่มีพิษ แต่มีหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคได้ เช่น ถ้าไปอยู่ที่แผลจะทำให้เป็นหนอง ซึ่งจะไปทำให้ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบได้ บางสายพันธุ์จะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะในเด็กๆ มีอยู่สายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า
อี. โคไล ๐๑๕๗ :
H7 เป็นตัวการที่สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ในอเมริกาเหนือ ซึ่งมีรายงานการระบาดครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ การติดต่อและการแพร่ระบาดเกิดจากการบริโภคอาหารจานด่วนอย่างชาติตะวันตก หรือที่เรียกกันว่า "ฟาสต์ฟูด" นั่นเอง โดยเนื้อบดที่อยู่ในแฮมเบอร์เกอร์ก้อนโตๆ นั้น ยังสุกๆ ดิบๆ เชื้อตัวนี้จึงยังไม่ตาย และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ระยะฟักตัว ประมาณ ๒๔ -๔๘ ชั่วโมง ถ้าเชื้อสายพันธุ์นี้ไปก่อโรคในเด็ก นอกจากจะทำให้มีลำไส้อักเสบคือ จะมีอาการอุจจาระร่วง และตกเลือดแล้ว ยังทำให้ไตวายได้ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดคำว่า "กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก"

 

อาการของโรค

เริ่มด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และท้องเดิน ในระยะแรกๆ อุจจาระ จะไม่มีเลือดปน พอผ่านไป ๒-๓ วัน อุจจาระจะมีเลือดสดๆ ปนออกมาด้วย ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนด้วย กลุ่มอาการนี้จะมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้ ทำให้แพทย์ที่ทำการรักษาเข้าใจผิดว่าเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบธรรมดาๆ หรืออาจจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) ได้ บางครั้งอาจวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ในรายที่มีเลือดปนอยู่ในอุจจาระนั้น บางครั้งแทบจะไม่มีอุจจาระปนออกมา มีแต่เลือดสดๆ เมื่อได้ทำการเพาะเชื้อจากอุจจาระจึงจะทำให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง

 

นอกจากจะมีอาการท้องเดิน และมีเลือดออกแล้ว ยังมีเม็ดเลือดแดงแตกสลายภายในเส้นเลือด และมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีจ้ำห้อเลือด หรือพรวยย้ำ เกิดขึ้นตามตัว ปัสสาวะน้อยลง ซึ่งจะเป็นลักษณะอาการของไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางคือ ซึม ชัก และหมดสติ เป็นอัมพาตครึ่งซึก หรืออัมพฤกษ์ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักเป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

 

ทางด้านการรักษานั้น จะต้องวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องก่อน จึงจะสามารถวางแผนการรักษาได้ หากไตวายจะต้องเข้าเครื่องไตเทียม เพื่อฟอกเลือดที่มีสารยูเรีย ซึ่งเป็นของเสียจากโปรตีนในอัตราสูง โดยต้องให้เลือดทดแทน เพราะเม็ดเลือดแดงแตกสลายไปมาก ส่วนการรักษาเพื่อประคับประคองด้านอื่นๆ จะต้องพิจารณาแก้ไขกันเป็นรายๆไป อัตราการตายจากโรคนี้จะสูง เพราะการวินิจฉัยค่อนข้างจะยุ่งยาก

 

Reference: http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=24&chap=8&page=t24-8-infodetail03.html

 



(เข้าชม 718 ครั้ง)

สมัครสมาชิก