ไพโรมิเตอร์ชนิดเทียบความสว่างของไส้หลอด (optical pyrometer) เป็นไพโรมิเตอร์ (pyrometer) ชนิดหนึ่ง ทำงานโดยอาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงเชิงแสง โดยวัตถุต้องมีอุณหภูมิ (temperature) สูงเพียงพอสำหรับการแผ่รังสีความร้อน (thermal radiation) ในย่านที่สามารถมองเห็นได้ โดยทั่วไปนิยมใช้วัดอุณหภูมิตั้งแต่ 700 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงของอุณหภูมิที่ทำให้วัตถุร้อนจนเกิดการเปล่งแสงออกมาจากผิวของวัตถุ และมนุษย์สามารถมองเห็นแสงนั้นได้ อย่างไรก็ตาม IPTS 68 ได้กำหนดไว้ว่าเครื่องมือวัด (instrument) ชนิดนี้เหมาะสำหรับการวัดอุณหภูมิในย่าน 1,060 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
เครื่องมือวัดอุณหภูมิชนิดนี้ทำงานโดยอาศัยการเปรียบเทียบระหว่างความสว่างของแสงที่เกิดขึ้นบนผิวของวัตถุที่มีความร้อน (อุณหภูมิ) สูงกับความสว่างของไส้หลอดที่ทำจากโลหะทังสเตน ซึ่งความสว่างที่ได้จากไส้หลอดทังสเตนให้แสงที่มีความสม่ำเสมอ ผู้ผลิตจะทำการสอบเทียบระหว่างกระแสที่ไหลผ่านไส้หลอด ความสว่างที่เกิดขึ้น และอุณหภูมิที่ได้ ในการใช้งานผู้วัดต้องมองวัตถุผ่านเลนส์ของเครื่องมือวัด ปรับระยะ และความคมชัดของภาพให้ชัดเจน จากนั้นปรับขนาดของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านไส้หลอด จนความสว่างที่ไส้หลอดและความสว่างจากผิววัตถุกลมกลืนกัน จากนั้นนำค่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านไส้หลอดที่ได้เปรียบเทียบกับค่าที่เครื่องมือวัดนั้นสอบเทียบไว้ จะได้ค่าอุณหภูมิที่วัดออกมา โดยทั่วไปเครื่องมือวัดชนิดนี้ติดตั้งแผ่นกระจกกรองแสงสีแดง (red filter) ซึ่งยอมให้ความยาวคลื่นในย่านแคบๆ ประมาณ 0.65 µm ผ่านสู่สายตาผู้วัดเท่านั้น เพื่อช่วยลดความสว่างของวัตถุลง ซึ่งอาจก่อให้ เกิดอันตรายกับสายตาของผู้วัดได้ ลักษณะการทำงานของไพโรมิเตอร์ชนิดเทียบความสว่างของไส้หลอดแสดงดังรูป
ลักษณะการทำงานของไพโรมิเตอร์ชนิดวัดแสงบนผิววัตถุ
(ที่มา: นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)
โดยรูป (ก) แสดงไส้หลอดเย็นที่เกินไปหรือมีความสว่างน้อยกว่าความสว่างที่เกิดจากความร้อนที่ผิวของวัตถุ รูป (ข) แสดงไส้หลอดที่ร้อนเกินไปหรือมีความสว่างมากกว่าความสว่างที่เกิดจากความร้อนที่ผิวของวัตถุ และรูป (ค) แสดงความสว่างของไส้หลอดและความสว่างที่ผิวของวัตถุที่มีลักษณะกลมกลืนกัน ซึ่งความคลาดเคลื่อน (error) ที่เกิดขึ้นจากการวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องมือวัดชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากผู้วัด เนื่องจากต้องอาศัยการตัดสินใจในการเทียบความสว่าง ซึ่งผู้วัดแต่ละคนอาจตัดสินใจไม่เหมือนกัน ทำให้ค่าอุณหภูมิที่อ่านได้แตกต่างกัน
ไพโรมิเตอร์ชนิดเทียบความสว่างของไส้หลอด
(ที่มา: http://www.pyrometer.com/Pyro_Optical.html)
ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล , 2555)
: http://www.pyrometer.com/Pyro_Optical.html