พร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำ (inductive proximity sensor) เป็นเซนเซอร์ (sensor) ที่ใช้ตรวจจับวัตถุที่เป็นโลหะเท่านั้น เช่น เหล็ก สแตนเลส โครงสร้างประกอบด้วย สนามแม่เหล็กไฟฟ้า ขดลวดออสซิลเลเตอร์ ตัวเรือน และแกนเฟอร์ไรท์ ทำงานโดยอาศัยหลักการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่กำเนิดขึ้นจากวงจรออสซิลเลเตอร์ โดยกำเนิดสัญญาณส่งให้ขดลวดซึ่งพันอยู่บนแกนเฟอร์ไรท์ ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณด้านหน้าของอุปกรณ์ เรียกบริเวณนี้ว่า "ส่วนตรวจจับ" เมื่อมีวัตถุเป้าหมายซึ่งต้องเป็นโลหะเท่านั้นเคลื่อนที่เข้ามาบริเวณส่วนตรวจจับ สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะเหนี่ยวนำในวัตถุที่ต้องการตรวจจับ ทำให้เกิดมีกระแสไหลวน (eddy current) ขึ้นภายในวัตถุ หรือวัตถุเป้าหมายทำการดูดซับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จนเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่วัตถุเป้าหมายได้ดูดซับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจนหมด หรือเกิดการเหนี่ยวนำมากที่สุด วงจรออสซิลเลเตอร์จะหยุดทำงาน จากนั้นวงจรทริกเกอร์จะทำงานและให้สัญญาณทางด้านเอาต์พุตออกมา ส่วนประกอบของพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำแสดงดังรูป
ส่วนประกอบและลักษณะการกระจายสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำ
(ที่มา: นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)
การทำงานของพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำ
(ที่มา: นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)
โดยทั่วไประยะการตรวจจับของพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำขึ้นอยู่กับขนาดของตัวพร็อกซิมิตี้ ขนาดของวัตถุ และชนิดของวัตถุที่ต้องการตรวจจับ พร็อกซิมิตี้ที่มีขนาดใหญ่มีระยะการตรวจจับวัตถุได้ไกลกว่าขนาดเล็ก เนื่องจากมีขดลวดออสซิลเลเตอร์ขนาดใหญ่กว่าจึงสามารถสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้มากกว่าพร็อกซิมิตี้ขนาดเล็ก ในทางเดียวกันวัตถุเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่จะมีระยะการตรวจจับที่ไกลกว่าวัตถุเป้าหมายขนาดเล็ก เนื่องจากวัตถุขนาดใหญ่ง่ายต่อการเหนี่ยวนำมากกว่าวัตถุขนาดเล็ก นอกจากนี้ ระยะการตรวจจับของพร็อกซิมิตี้ยังขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุ หรือชนิดของโลหะที่พร็อกซิมิตี้ตรวจจับด้วย โดยสามารถตรวจจับโลหะที่มีคาร์บอนน้อย (mild steel) ได้ดี
รูปแบบของพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำ
(ที่มา: http://www.omron-ap.com/product_info/E2EZ/index.asp)
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำ ได้แก่
การประยุกต์ใช้งานพร็อกซิมิตี้เซนเซอร์ชนิดเหนี่ยวนำ
(ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=wY7UIvzoZ58)
ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล , 2555)