การละลายน้ำแข็ง (ในระบบทำความเย็น, air conditioning)
การละลายน้ำแข็งในระบบปรับอากาศหรือทำความเย็นมีความสำคัญมากในระบบที่คอยล์เย็นมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ เนื่องจากเมื่อระบบทำความเย็นทำงานไปได้ระยะเวลาหนึ่ง จะมีไอน้ำกลั่นตัวที่คอยล์เย็น (evaporator) และจะค่อยๆ เกิดน้ำแข็งสะสมตัวอยู่บนผิวคอยล์เย็น เมื่อน้ำแข็งมีจำนวนมากจะทำให้การแลกเปลี่ยนความร้อนมีประสิทธิภาพต่ำลง ดังนั้นจึงต้องมีการละลายน้ำแข็งที่เกาะอยู่ออก
การละลายน้ำแข็งที่นิยมใช้มีอยู่ 3 วิธีคือ
1. การละลายน้ำแข็งด้วยไฟฟ้า (electric defrost) เป็นวิธีที่ติดตั้งขดลวดความร้อนที่ผิวของคอยล์เย็น (evaporator) เพื่อใช้ละลายน้ำแข็งที่เกาะที่ผิวคอลย์ดังกล่าว วิธีนี้นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกในการติดตั้ง แต่มีต้นทุนในการดำเนินงานสูงกว่าวิธีอื่นๆ
2. การละลายน้ำแข็งด้วยแก๊ซร้อน (hot gas defrost) เป็นวิธีที่นำไอสารทำความเย็นร้อนเข้ามาละลายน้ำแข็งที่คอยล์เย็น เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ แต่ผู้ติดตั้งระบบบางส่วนไม่นิยมใช้วิธีนี้ เนื่องจากต้องมีการต่อเติมระบบควบคุมสารทำความเย็นเพื่อส่งไอสารทำความร้อนเข้าไปที่คอยล์เย็น
3. การละลายน้ำแข็งด้วยน้ำ (water defrost) เป็นวิธีที่ไม่นิยมใช้ทั่วไป แต่อาจนำไปใช้ในการละลายน้ำแข็งในระบบที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำเกินไป โดยน้ำต้องมีอุณหภูมิอย่างน้อย 10 องศาเซลเซียส พ่นผ่านคอยล์เย็นในอัตราการไหลประมาณ 3 แกลอนต่อนาทีต่อพื้่นที่ผิวคอยล์ 1 ตารางฟุต ทุกๆ 15 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำแข็งที่เกาะ
ในระบบทำความเย็นที่อุณหภูิมิด้านดูด (suction temperature) สูงกว่า 30 องศาฟาเรนไฮท์ ( -1.1 องศาเซลเซียส) ไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้งระบบละลายน้ำแข็ง และจะออกแบบให้มีเวลาทำงานของเครื่องอัดสารทำความเย็น (compressor) อยู่ระหว่าง 20-22 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิด้านดูด ต่ำกว่า 30 องศาฟาเรนไฮท์ ( -1.1 องศาเซลเซียส) และอุณหภูมิห้อง (room temperature) มากกว่า 35 องศาฟาเรนไฮท์ ( -1.67 องศาเซลเซียส) นิยมใช้การละลายน้ำแข็งด้วยอากาศ (air defort) โดยจะการหยุดการทำงานของระบบทำความเย็นแต่ยังมีการเป่าอากาศผ่านคอยล์เย็นตลอดเวลาเพื่อให้อากาศถ่ายเทความร้อนให้น้ำแข็งเกิดการละลาย การปิด-เปิดการทำงานของระบบใช้การตั้งเวลาการทำงานของเครื่องอัดไอสารทำความเย็น โดยทุกๆ 2 ชั่วโมงของการทำงานเครื่องปรับอากาศจะหยุดการทำงานเป็นพักๆ รวมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เวลาการทำงานของเครื่องอัดสารทำความเย็นประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิด้านดูด ต่ำกว่า 30 องศาฟาเรนไฮท์ ( -1.1 องศาเซลเซียส) และอุณหภูมิห้อง (room temperature) ต่ำกว่า 35 องศาฟาเรนไฮท์ ( -1.67 องศาเซลเซียส) อาจใช้ไฟฟ้า (ขดลวดความร้อน) ก๊าซร้อนหรือน้ำ เพื่อละลายน้ำแข็ง
ในอุตสาหกรรมอาหารมักติดตั้งระบบดังกล่าว เพื่อควบคุมปริมาณน้ำแข็ง เพราะการผลิตหรือเก็บรักษาอาหารหรือผลผลิตทางการเกษตรบางประเภทจะควบคุมให้มีความชื้นในอากาศสูงเพื่อรักษาให้อาหารหรือผักผลไม้มีความสด ไม่เหี่ยวเฉา ทำให้เกิดน้ำแข็งจำนวนมากที่ผิวคอยล์เย็น