การดูดซึมและการขนย้ายทองแดงในร่างกาย
ทองแดงที่ร่างกายได้รับจากอาหาร ประมาณวันละ 7.5 มิลลิกรัม จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งที่กระเพาะอาหาร
และลำไส้เล็กส่วนต้นประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของที่ได้รับจากอาหาร หากร่างกายได้รับลดลงเหลือเพียงวันละ 1 มิลลิกรัม
จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เพิ่มขึ้นเป็น 50-75 เปอร์เซ็นต์ การดูดซึมทองแดงยังขึ้นอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ ด้วย เช่น การได้รับเหล็ก
และสังกะสีมากเกินไปจะลดการดูดซึมทองแดง
ทองแดงที่ถูกดูดซึมจะส่งเข้าสู่กระแสเลือดและขนย้ายโดยรวมกับโปรตีน 2 ชนิด คือแอลบูมินและแทรนส์คิวพริน (transcuprin)
ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อกันของทองแดงและโปรตีน (copper-albumin interaction) และมีครึ่งชีวิตเพียง 10 นาที เท่านั้น ทองแดง
จะถูกขนส่งไปยังตับ และกลับเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยรวมกับโปรตีนแอลฟา-แม็กโครโกลบูลินเป็น
ซีรูโลพลาสมิน (ceruloplasmin) ประมาณ 60-90 เปอร์เซ็นต์ ของทองแดงในพลาสมา
ทองแดงที่เหลือจะรวมกับโปรตีนแอลบูมินในพลาสมาอย่างหลวมๆ ระดับของทองแดงในพลาสมา ประมาณ 90 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
และมีซีรูโลพลาสมิน ประมาณ 15-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพื่อทำหน้าที่พาทองแดงไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย เนื้อเยื่อที่มี
ทองแดงมาก ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต และม้าม
สารประกอบที่มีทองแดงเป็นองค์ประกอบเมื่อถูกเมแทบอไลซ์แล้ว ร่างกายสามารถนำทองแดงกลับมาใช้ได้อีก ตับเป็นแหล่งสะสม
ทองแดงในร่างกาย นอกจากนั้นยังมีโปรตีนที่จับกับทองแดงจำเพาะ (specific copper protein) ในเม็ดเลือดแดง คืออีริโทรคิวพรีน (erythrocupreine) ซึ่งมีทองแดงอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของทองแดงที่มีอยู่ในเม็ดเลือดแดง
ทองแดงจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี เข้ามาในระบบย่อยอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ
ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่ถูกดูดซึม หรือประมาณวันละ 2 มิลลิกรัม จะถูกขับออกทางน้ำดีอีกประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์
โดยกระจายอยู่ในระบบย่อยอาหาร และจะถูกขับออกทางปัสสาวะอีก 4 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 10-50 ไมโครกรัมต่อวัน
มีการสูญเสียทองแดงอีกเล็กน้อยทางเส้นผมและผิวหนัง