ทรานสดิวเซอร์ทางไฟฟ้า (electrical transducer) เป็นทรานสดิวเซอร์ (transducer) ที่ตอบสนองพลังงานในหลายรูปแบบ เช่น ทางกล ทางไฟฟ้า แสง สี เสียง แม่เหล็ก ความร้อน นิวเคลียร์ เคมี หรือการรวมกันของพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ และให้เอาต์พุตออกมาในรูปแบบของสัญญาณทางไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องมือวัดและระบบควบคุมได้ ทรานสดิวเซอร์ทางไฟฟ้าเป็นทรานสดิวเซอร์ที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
แบ่งประเภทของทรานสดิวเซอร์ทางไฟฟ้าตามลักษณะโครงสร้างทางกายภาพได้ 2 ประเภท คือ ทรานดิวเซอร์ประเภทแอกทีฟ (active transducer) ซึ่งเป็นกลุ่มของทรานสดิวเซอร์ที่สามารถกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งภายนอกเข้ามากระตุ้น และ ทรานสดิวเซอร์ประเภทพาสซีฟ (passive transducer) ซึ่งเป็นกลุ่มของทรานสดิวเซอร์ที่ไม่สามารถกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งภายนอกเข้ามากระตุ้นเพื่อให้เกิดสัญญาณทางด้านเอาต์พุตในรูปของสัญญาณไฟฟ้า
ตัวอย่างทรานสดิวเซอร์ทางไฟฟ้า ได้แก่ เทอร์โมคัปเปิล (thermocouple) อาร์ทีดี (RTD) เทอร์มิสเตอร์ (thermistor) สเตรนเกจ (strain gauge) และโพเทนทิโอมิเตอร์ (potentiometer) เป็นต้น โดยการทำงานของทรานสดิวเซอร์แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของตัวแปรทางฟิสิกส์ที่ต้องการวัด ลักษณะการติดตั้ง และสภาวะแวดล้อม
ในระบบการวัดอาจประกอบด้วยทรานสดิวเซอร์มากกว่าหนึ่งตัว ซึ่งโดยทั่วไปอุปกรณ์ตรวจจับ (Sensing element) หรือทรานสดิวเซอร์กลุ่มที่ให้สัญญาณทางด้านเอาต์พุตเป็นสัญญาณทางไฟฟ้าจะทำหน้าที่เป็นทรานสดิวเซอร์หลักหรือทรานสดิวเซอร์ปฐมภูมิ (Primary transducer) แต่ในบางกรณีทรานสดิวเซอร์ทางไฟฟ้าได้ทำหน้าที่เป็นทรานสดิวเซอร์รองหรือทรานสดิวเซอร์ทุติยภูมิ (Secondary transducer) ตัวอย่างเช่น เครื่องมือวัดความดันชนิดหนึ่งประกอบด้วยทรานสดิวเซอร์ปฐมภูมิที่ทำหน้าที่เป็นวัดความดัน (pressure measurement) แล้วแปลงเป็นระยะขจัด และทรานสดิวเซอร์ทุติยภูมิทำหน้าที่แปลงระยะขจัดให้อยู่ในรูปของสัญญาณทางไฟฟ้า ซึ่งในตัวอย่างนี้ทรานสดิวเซอร์วัดระยะขจัด (displacement measurement) ทำหน้าที่เป็นทรานสดิวเซอร์ทุติยภูมิ
ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)