สารอาหารที่เด็กทารกต้องการ
1. พลังงาน เด็กทารกต้องการพลังงานวันละประมาณ 120 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว เด็กทารกจะกินมาก
ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงเหลือประมาณวันละ 110 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ความต้องการ
พลังงานของเด็กทารกที่ลดลง สังเกตได้จากการที่เด็กกินนมและอาหารน้อยลง
2. โปรตีน เด็กทารกต้องการโปรตีนมาก เพื่อใช้สร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ
ในช่วงอายุ 1 ปี เด็กทารกจะมีน้ำหนักตัวเป็น 3 เท่าของน้ำหนักแรกคลอด โปรตีนที่เด็กทารกต้องการได้มาจากน้ำนมแม่
หรือนมผงที่ใช้เลี้ยงเด็กทารก ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรก ต้องการประมาณวันละ 1.5-2.5 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยเฉลี่ย
ประมาณ 2.2 กรัม และในช่วง 6 เดือนหลังต้องการประมาณ 2.0 กรัม ปัจจุบันนมผงที่ใช้เลี้ยงเด็กทารกบางชนิดมีโปรตีน
สูงถึง 3 กรัม ซึ่งอาจสูงเกินไป และอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของไตท่ีต้องขับยูเรียออกจากร่างกาย
3. ไขมัน เด็กทารกต้องการไขมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อเป็นแหล่งของกรดไขมันจำเป็น คือ กรดลิโนเลอิก ปริมาณไขมัน
ที่มีอยู่ในน้ำนมแม่ หรือนมผง เพียงพอตามที่ร่างกายทารกต้องการ ไม่ควรให้เด็กได้รับอาหารที่มีไขมันมากเกินไป
4. คาร์โบไฮเดรต ความต้องการคาร์โบไฮเดรตของเด็กทารกขึ้นอยู่กับจำนวนพลังงานที่ใช้ แต่อาหารเด็กทารกไม่ควรมี
คาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กอิ่มเร็ว และทำให้ได้รับสารอาหารชนิดอื่นน้อยลงโดยเฉพาะสารอาหารโปรตีน
5. น้ำ เด็กทารกต้องการน้ำมาก เพราะเด็กทารกสูญเสียน้ำทางไตในรูปของปัสสาวะและสูญเสียเหงื่อทางผิวหนัง เด็กจะ
อยู่ในภาวะขาดน้ำได้ง่าย ต้องให้เด็กทารกกินน้ำอยู่เสมอ สำหรับเด็กทารกที่อยู่ในอากาศอบอุ่น ควรได้รับน้ำโดยเฉลี่ย
ประมาณวันละ 150 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว หากอากาศร้อนมาก เช่น ในฤดูร้อนควรได้รับน้ำเพิ่มมากขึ้น
6. แคลเซียม เด็กทารกต้องการแคลเซียมประมาณวันละ 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว เพื่อให้เพียงพอสำหรับนำ
ไปใช้สร้างกระดูกและฟัน เด็กทารกที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่ อาจได้รับแคลเซียมน้อยกว่าเด็กทารกที่เลี้ยงด้วยนมผง ยิ่งถ้ามารดา
ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้เด็กทารกขาดแคลเซียมได้ง่ายด้วย
7. เหล็ก เด็กทารกต้องการเหล็กเพิ่มมากขึ้น ตามสัดส่วนของขนาดร่างกายที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องนำเหล็กไปใช้ในการสร้าง
ฮีโมโกลบิน เด็กทารกควรได้รับเหล็กประมาณวันละ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว
เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 2,500 กรัม จะต้องการเหล็กมากขึ้นในช่วง 6 เดือนแรก
ประมาณวันละ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในน้ำนมแม่มีเหล็กน้อย ยิ่งถ้ามารดาอยู่ในภาวะขาดเหล็ก หรือเกิดภาวะโลหิตจาง
จะทำให้เด็กทารกขาดเหล็กได้ง่าย
8. วิตามินเอ เด็กทารกต้องการวิตามินเอวันละ 1,400 หน่วยสากล ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอยู่ทั้งในน้ำนมแม่และน้ำนมวัว
แหล่งของวิตามินเอที่ดี คือ น้ำมันตับปลา
9. วิตามินดี ทั้งน้ำนมแม่และน้ำนมวัวมีวิตามินดีน้อย ต้องให้วิตามินดีเสริมวันละ 400 หน่วยสากล อาหารสำหรับ
เลี้ยงเด็กทารกส่วนใหญ่จะเสริมวิตามินดี ถ้าเด็กทารกได้รับน้ำมันตับปลาเพื่อเสริมวิตามินเอจะได้รับวิตามินดีจาก
น้ำมันตับปลาด้วย
10. วิตามินซี เด็กทารกต้องการวิตามินซีวันละ 35 มิลลิกรัม ในน้ำนมแม่และน้ำนมวัวมีวิตามินซีต่ำมาก เด็กทารก
จะต้องได้รับวิตามินซีเสริมจากน้ำส้มคั้น จึงควรให้เด็กทารกดื่มน้ำส้มคั้นทุกวัน
11. วิตามินบีหนึ่ง เด็กทารกต้องการวิตามินบีหนึ่งประมาณวันละ 0.3-0.5 มิลลิกรัม แต่ในน้ำนมแม่และน้ำนมวัว
มีวิตามินบีหนึ่งน้อยกว่าที่ร่างกายเด็กทารกต้องการ จึงต้องได้รับวิตามินบีหนึ่งเสริมด้วย
12. วิตามินบีสองและไนอะซิน ในน้ำนมแม่และน้ำนมวัวมีวิตามินบีสองเพียงพอแก่ความต้องการของเด็กทารก
ซึ่งต้องการประมาณวันละ 0.4-0.6 มิลลิกรัม แต่มีไนอะซินไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทดแทนได้ ถ้าร่างกายได้รับกรดแอมิโน
ทริพโตเฟนจากโปรตีนในน้ำนมเพียงพอ เพราะกรดแอมิโน ทริพโตเฟน 60 มิลลิกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นไนอะซิน
ได้ 1 มิลลิกรัม ในร่างกาย
13. กรดลิโนเลอิก กรดลิโนเลอิกเป็นกรดไขมันที่จำเป็นสำหรับร่างกายเด็กทารกเป็นอย่างมาก เด็กทารกควร
ได้รับกรดลิโนเลอิกไม่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมด โดยเฉลี่ยเด็กทารกช่วงอายุ 2-4 เดือน ควรได้รับ
กรดลิโนเลอิกประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานทั้งหมด