Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

สารอาหารที่จำเป็นสำหรับหญิงมีครรภ์

สารอาหารที่จำเป็นสำหรับหญิงมีครรภ์

หญิงมีครรภ์ต้องการสารอาหารเพิ่มมากกว่าปกติ

  1. เพื่อใช้บำรุงสุขภาพของมารดาให้สมบูรณ์แข็งแรง
  2. เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกายทารกในครรภ์
  3. เพื่อสะสมไว้สำหรับใช้พลังงานในการคลอดบุตรและการให้นมบุตรในระยะต่อไป

หญิงมีครรภ์ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะเกิดผลเสียต่อตนเอง เพราะทารกในครรภ์จะใช้สารอาหารจากเลือดเนื้อของ
มารดานำไปสร้างร่างกายทดแทนอาหารที่ได้รับไม่เพียงพอ สารอาหารที่หญิงมีครรภ์ต้องการ ได้แก่ สารอาหารที่ให้พลังงาน
โปรตีน เหล็ก แคลเซียม กรดโฟลิก วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี เป็นต้น สารอาหารเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับสร้าง
กล้ามเนื้อ สร้างโครงกระดูกให้ทารก และสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง

สารอาหารต่างๆ ที่หญิงมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

1. อาหารที่ให้พลังงาน ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ความต้องการพลังงานยังคงเท่าเดิม น้ำหนักตัวยังคงปกติ
หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป ควรลดอาหารที่ให้พลังงานคือ กินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต
(แป้งและน้ำตาล) และไขมันให้น้อยลง

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4-6 เดือน น้ำหนักของทารกในครรภ์จะเริ่มเพิ่มขึ้น และทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ในช่วงเดือนที่ 7-9 โดยเฉพาะในเดือนที่ 9 ดังนั้นในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ต้องได้รับสารอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากร่างกายมีเมแทบอลิซึมเพิ่มมากขึ้น มี BMR เพิ่มขึ้น ประมาณ 25% และยังต้องใช้พลังงานส่วนหนึ่งในการอุ้มท้อง
ดังนั้นหญิงมีครรภ์ควรรับสารอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ประมาณวันละ 300 กิโลแคลอรี (หรือ 80,000 กิโลแคลอรี
ต่อ 250 วันที่ตั้งครรภ์)

 2. โปรตีน หญิงมีครรภ์ต้องการโปรตีนมากขึ้นสำหรับใช้ในการขยายตัวของรก มดลูก เต้านม ปริมาณเลือด และมีโปรตีน
บางส่วนสะสมไว้ในเนื้อเยื่อของร่างกายทารก เพื่อให้ทารกเจริญเติบโต และสำหรับให้ทารกใช้ในกรณีที่ต้องการโปรตีน
ฉุกเฉิน และมารดาต้องสะสมโปรตีนไว้ใช้ในช่วงระยะการให้นมบุตรด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงเมแทบอลิซึม และมีการเปลี่ยนแปลง
ชนิดและระดับของฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น มีการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต (growth hormone) และ
ฮอร์โมนเพศ คืออีสโทรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มมากขึ้น ทำให้แคทาบอลิซึมของโปรตีนลดลง มีการประหยัดการใช้โปรตีน
เพื่อให้เกิดภาวะสมดุลของโปรตีนเป็นบวก (positive nitrogen balance) เพื่อให้โปรตีนเพียงพอสำหรับสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ
ทำให้ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์เจริญเติบโต

นอกจากนั้นหญิงมีครรภ์ต้องการสารอาหารโปรตีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนหลังของการตั้งครรภ์ เพราะทารก
ในครรภ์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต้องการโปรตีนมากที่สุด จะมีการสะสมโปรตีนในร่างกายของหญิงมีครรภ์เฉลี่ยวันละ
1.5 กรัม ในช่วงระยะ 3 เดือนก่อนคลอดมีการสะสมเฉลี่ยวันละ 3.6 กรัม และในเดือนสุดท้ายจะมีการสะสมโปรตีนเฉลี่ย
วันละ 6.5 กรัม และยังมีความต้องการกรดแอมิโนบางชนิดเพิ่มขึ้นด้วย กรดแอมิโนที่ต้องการเพิ่มมากที่สุดคือ ทรีโอนีน
รองลงมา คือทริพโตเฟน และไลซีน 

นอกจากนั้นตัวมารดาเองยังต้องการโปรตีนเพื่อเตรียมไว้ใช้ผลิตน้ำนม และเพื่อการเสียเลือดขณะคลอดลูกด้วย ถ้ามารดา
ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะเกิดความผิดปกติกับตัวมารดาก่อนคือ มีการบวม โลหิตเป็นพิษ โลหิตจาง กล้ามเนื้อมดลูก
ไม่แข็งแรง แท้งง่าย ภูมิต้านทานโรคต่ำ และมีน้ำนมน้อย การขาดสารอาหารโปรตีน ยังมีผลทำให้เกิดการขาดสารอาหารอื่นๆ
ร่วมด้วย เช่น ขาดแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ และวิตามินต่างๆ เป็นต้น สำหรับผลเสียที่เกิดกับทารก คือ ทารก
มีการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ เกิดภาวะโลหิตจาง น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ น้ำหนักสมองน้อย จำนวนเซลล์และขนาดของ
เซลล์สมองลดน้อยลง เป็นต้น

 ความต้องการสารอาหารโปรตีนระหว่างตั้งครรภ์จะเพิ่มมากกว่าคนปกติ ซึ่งได้รับสารอาหารโปรตีนวันละประมาณ 0.8 กรัม
ต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว หญิงมีครรภ์ในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด ควรเพิ่มโปรตีนเป็นวันละประมาณ 1.3 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว
หรือควรได้รับโปรตีนวันละประมาณ 70 กรัม ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากคนปกติวันละประมาณ 30 กรัม (ในประเทศสหรัฐอเมริกากำหนด
ว่าควรได้รับโปรตีนวันละประมาณ 75-110 กรัม)

3. แคลเซียม หญิงมีครรภ์มีเมแทบอลิซึมของแคลเซียมเปลี่ยนไปจากปกติ มีการดูดซึมเพิ่มขึ้น และมีปริมาณแคลเซียม
ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น แต่ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนไม่เปลี่ยนแปลง แคลเซียมจำเป็นสำหรับการขยายตัวของกระดูก
เชิงกราน และเคลื่อนย้ายผ่านรกโดยกลไกการใช้พลังงาน เพื่อใช้ในการสร้างโครงกระดูกของทารกให้เจริญเติบโตและ
แข็งแรง และแม่จะต้องมีแคลเซียมสะสมไว้เพียงพอสำหรับใช้สร้างน้ำนมระหว่างการให้นมบุตรด้วย เมื่อมีครรภ์ได้ 3 เดือน
อัตราการสะสมแคลเซียมเฉลี่ยวันละ 50 มิลลิกรัม และสูงขึ้นเป็นวันละ 70 มิลลิกรัม เมื่อมารดาตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน และ
สูงสุดประมาณวันละ 120 มิลลิกรัม ในเดือนสุดท้ายก่อนคลอด ทารกแรกคลอดจะมีแคลเซียมสะสมอยู่ในร่างกาย
ประมาณ 30 กรัม

หากหญิงมีครรภ์ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ แต่ทารกจำเป็นต้องใช้แคลเซียมในการสร้างโครงกระดูก ทารกจะถูกดึง
แคลเซียมออกมาจากมารดา มีผลทำให้หญิงมีครรภ์เป็นโรคฟันผุ ฟันเสีย ฟันโยก หรืออาจหลุดได้ และถ้าทารกได้รับ
แคลเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้ทารกเป็นโรคกระดูกอ่อน กระดูกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีลักษณะโค้งงอ และทำให้แขนขา
โก่งเห็นได้ชัดเจน

ความต้องการปริมาณแคลเซียมของหญิงมีครรภ์ ควรเพิ่มมากขึ้นจากคนปกติ ซึ่งได้รับวันละ 400 มิลลิกรัม หรือได้รับ
วันละ 1.2 กรัม การดื่มน้ำนมเป็นประจำจะช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียมได้

 4. เหล็ก เนื่องจากเหล็กจำเป็นสำหรับสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในเม็ดเลือดแดง หญิงมีครรภ์จึงต้องการ
ธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้น และทารกต้องการเหล็กเพื่อสะสมไว้ใช้ในระยะ 2-3 เดือนภายหลังการคลอด โดยสะสมไว้ที่เนื้อเยื่อ

นอกจากนี้หญิงมีครรภ์จะเสียเลือดมากระหว่างคลอด จึงต้องสะสมเหล็กไว้อีกด้วย หากได้รับเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิด
ภาวะโลหิตจางทั้งมารดาและทารก โดยเฉพาะในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ จะมีน้ำถูกสะสมไว้ในร่างกายมากขึ้น อาจทำให้
เลือดเจือจางลง พลาสมามีปริมาตรเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10-15% ทำให้ความเข้มข้นของฮีโมโกลบินลดลง เมื่อเปรียบเทียบ
กับปริมาตรของเลือดทั้งหมด

ถ้าร่างกายได้รับเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้มีฮีโมโกลบินลดต่ำลงมาก เกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย อาจคลอดก่อนกำหนด
หรือทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย และถ้าระหว่างคลอดแม่สูญเสียเลือดมาก จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้แม่เกิด
ภาวะโลหิตจางภายหลังการคลอดได้ง่ายด้วย

 หญิงมีครรภ์ควรได้รับเหล็กเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 25-30 มิลลิกรัม แต่ในอาหารส่วนใหญ่มีเหล็กน้อย และเหล็กจากอาหาร
จากพืชถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ยาก จึงนิยมกินยาเสริมเหล็ก ซึ่งอาจเป็นเฟอรัสซัลเฟต เฟอรัสกลูโคเนต หรือเฟอรัส
ฟูมาเรตชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้

5. ไอโอดีน หญิงมีครรภ์ต้องการไอโอดีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก BMR ของร่างกายเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ทำให้เมแทบอลิซึม
ของร่างกายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานของต่อมไทรอยด์และระดับของฮอร์โมนไทรอกซิน

หญิงมีครรภ์ที่ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคคอพอกซึ่งจะพบได้เสมอๆ ว่าหญิงมีครรภ์เป็นโรคคอพอก โดยเฉพาะ
ในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ และถ้าภาวะการขาดไอโอดีนรุนแรง จะทำให้ทารกเป็นโรคคอพอกด้วย ดังนั้นหญิงมีครรภ์ควรกิน
อาหารทะเลให้มากขึ้นและใช้เกลืออนามัย หรือเกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหารเป็นประจำทุกวัน

6. วิตามินต่างๆ เมื่อร่างกายของหญิงมีครรภ์ต้องการพลังงานและโปรตีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการวิตามินที่เกี่ยวข้อง
กับเมแทบอลิซึมของสารอาหารต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ต้องการวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินบีหก
วิตามินบีสิบสอง และกรดโฟลิก ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างฮีโมโกลบิน วิตามินเอจำเป็นต่อการสร้างเอมบริโอ (embryogenesis)
และการพัฒนาของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของตัวอ่อน หากแม่ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอ อาจคลอดก่อนกำหนดได้

สำหรับวิตามินดีจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียม และการสร้างกระดูกและฟัน หญิงมีครรภ์จะมีระดับ 1,25-dihydroxy
cholecalciferol ซึ่งเป็นรูปที่ทำงานของวิตามินดีเพิ่มขึ้นในกระแสเลือดระหว่างการตั้งครรภ์ และสามารถซึมผ่านทางรก
เข้าไปในกระแสเลือดของทารกได้ หญิงมีครรภ์จึงควรได้รับวิตามินดีเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 หน่วยสากล หากได้รับวิตามินดี
ไม่เพียงพอจะเกิดภาวะขาดวิตามินดีทั้งมารดาและทารก ส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมต่ำในทารก (neonatal hypocalcemia)
ทารกอาจชัก (tetany) และแม่เป็นโรคกระดูกน่วม (osteomalacia) ได้

นอกจากนั้นยังมีวิตามินเค ซึ่งหญิงมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับเพิ่มมากขึ้น เด็กทารกแรกคลอดที่มารดาขาดวิตามินเค
จะขาดวิตามินเคด้วย ทำให้ระดับโปรทรอมบินในเลือดต่ำ จะมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดในทารกด้วย

วิตามินอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับเพิ่ม เช่น วิตามินบีหก และกรดโฟลิก หากได้รับมารดาได้รับกรดโฟลิกไม่เพียงพอจะทำให้
เกิดภาวะโลหิตจางชนิดที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่และยังไม่แก่ (megaloblastic anemia) ระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนทารก
มีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย และเกิดภาวะผิดปกติในการสร้างหลอดประสาทมีผลต่อไขสันหลังและสมองไม่ปิด
(neural tube defect) ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะแรกของการพัฒนา ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงควรได้รับกรดโฟลิกวันละ
ประมาณ 400 ไมโครกรัม

7. น้ำ น้ำช่วยในการขับถ่ายของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมและมีหน้าที่นำพาสารต่างๆ
ภายในร่างกาย ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงควรดื่มน้ำที่สะอาดให้เพียงพอทุกวัน



(เข้าชม 0 ครั้ง)

สมัครสมาชิก