Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

diaphragm plate / แผ่นไดอะแฟรม

เรียบเรียงโดย:

แผ่นไดอะแฟรม (diaphragm plate) เป็นอุปกรณ์วัดความดัน (pressure measurement) ชนิดอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางกลด้วยหลักการยืดตัว/โก่งตัวของวัสดุที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นหรือเรียกว่า “อุปกรณ์วัดความดันแบบอิลาสติก” เช่นเดียวกับบูร์ดอง (bourdon gauge) และเบลโลว์ (bellow) นิยมใช้เป็นส่วนประกอบโครงสร้างในเครื่องวัดความดันชนิดอื่น มีลักษณะกลมบางและเรียบแบน (flat type) หรือมีลักษณะเป็นลอน (corrugated type) (รูปที่ 1) บริเวณกึ่งกลางของไดอะแฟรมมีแผ่นโลหะหรือแผ่นวัสดุแข็ง ที่มีลักษณะกลมบางติดอยู่ โดยรูปร่างของแผ่นไดอะแฟรมไม่จำเป็นต้องเป็นรูปวงกลมเสมอไป อาจมีรูปร่างยาวหรือมีรูปร่างตามเครื่องมือวัดที่ใช้ร่วมกัน สามารถออกแบบให้วัดความดันเกจ (gauge pressure) ความดันสัมบูรณ์ (absolute pressure) หรือความดันแตกต่าง (differential pressure) ได้ แผ่นไดอะแฟรมเหมาะสำหรับนำไปใช้วัดความดันในย่านต่ำ เมื่อมีความดัน (pressure) มากระทำบนแผ่นไดอะแฟรมจะเกิดการโก่งตัวไปตามทิศทางและขนาดของความดัน

อุปกรณ์วัดความดันแบบไดอะแฟรมมีขนาดเล็ก ราคาปานกลาง มีความเที่ยงตรง (precision) และความเป็นเชิงเส้น (linearity) ที่ดี สามารถทนต่อการทำงานภายใต้ความดันเกินพิกัด ความดันเปลี่ยนค่าเป็นห้วง ๆ หรือความสั่นสะเทือนได้ดี แต่มีความไว (sensitivity) ในการวัดน้อยกว่าบูร์ดอง วัสดุที่ใช้ทำไดอะแฟรมมีหลายชนิด การเลือกใช้วัสดุควรพิจารณาถึงคุณสมบัติของของไหล ย่านการวัด (range) และสภาวะการใช้งานโดยมีวิธีพิจารณาเช่นเดียวกับบูร์ดอง และเบลโลว์

 

รูปที่ 1 ไดอะแฟรม (ก) แบบแผ่นเรียบและ (ข) แบบลอน

 (ที่มา: นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)

 

แผ่นไดอะแฟรมเหมาะสำหรับการวัดความดันของของไหลประเภทสารกัดกร่อน มีความหนืดสูงหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดการแข็งตัวทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย เนื่องจากไดอะแฟรมสามารถทำหน้าที่เป็นเคมีคอลซีลได้ (เคมีคอลซีล หมายถึง การใช้สารเคมีเป็นตัวกลางหรือการใช้สารเคมีที่ไม่ทำปฏิกิริยากับของไหลในระบบฉาบลงบนหน้าไดอะแฟรม เพื่อป้องกันไม่ให้ของไหลในระบบสัมผัสกับเครื่องมือวัดความดันโดยตรง) ในอุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ไดอะแฟรมชนิดแผ่นเรียบทำหน้าที่เป็นตัวส่งผ่านแรงดันให้กับเครื่องมือวัดความดัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของอาหารหรือสารทำความสะอาด (cleaning agent) ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนข้าม (cross contamination) ไปยังผลิตภัณฑ์ได้

 

รูปที่ 3 แผ่นไดอะแฟรม

(ที่มา: http://www.quinl.com/th)

 

 ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)

       : http://www.quinl.com/th



(เข้าชม 0 ครั้ง)

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
สมัครสมาชิก