เอทานอลมีผลกระทบต่อเมแทบอลิซึมของร่างกาย ดังนี้
1. ยับยั้งวงจรเครบส์ (Krebs’ cycle) หรือวงจรกรดไตรคาร์บอกซิลิก (tricarboxylic acid cycle) เนื่องจาก
โคแฟกเตอร์ NADH จะไปยับยั้งปฏิกิริยาที่ตำแหน่งแอลฟา-คีโทกลูตาเลต
2. ยับยั้งการทำงานของไมโทคอนเดรีย เนื่องจากโคแฟกเตอร์ NADH ไม่สามารถจะถูกขนย้ายจากไซโทพลาซึม
เข้าสู่ไมโทคอนเดรียได้
3. ยับยั้งวิถีไกลโคไลซิสเนื่องจากมีอัตราส่วนของ NADH : NAD+ สูง ทำให้เอนไซม์กลีเซอรัลดีไฮด์-3-ฟอสเฟต
ดีไฮโดรจิเนส (glyceraldehyde-3-phosphate dehydrogenase) ถูกยับยั้ง เพราะมีการแย่งกันใช้โคแฟกเตอร์ NAD+
กับเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส
4. ATP มีความเข้มข้นต่ำ เนื่องจากทั้งวิถีไกลโคไลซิสและวงจรเครบส์ถูกยับยั้ง
5. มีการสร้างลิพิด (lipogenesis) เพิ่มขึ้น เนื่องจากมี ATP ต่ำ นอกจากนั้นเอทานอลยังเป็นตัวลดปฏิกิริยา
ออกซิเดชันของกรดไขมัน ถึงแม้ตับจะสร้างกรดไขมันไม่ได้ แต่ตับของคนที่ดื่มเหล้าจะออกซิไดส์ไขมันและกรดไขมันที่มี
อยู่ภายในเนื้อเยื่อตับไม่ได้ ทำให้มีการสะสมไขมันและกรดไขมันในเนื้อเยื่อตับมากขึ้น เรียกว่า fatty liver หรือ ไขมันพอกตับ
และมีลิพิดในเลือดสูง (hyperlipemia)
6. เอทานอลและแอซีทาลดีไฮด์จะกระตุ้นฮอร์โมนแอดรีนาลและอีพิเนฟริน ซึ่งช่วยสลายลิพิด (lipolysis) และ
สลายไกลโคเจน เนื่องจากไกลโคไลซิสถูกยับยั้ง จึงทำให้มี 3-ฟอสโฟกลีเซอเรตเพิ่มมากขึ้น
7. มีการสังเคราะห์คีโทนบอดีเพิ่มมากขึ้น
8. มีการสลายตัวของนิวคลิโอไทด์เพิ่มขึ้น ทำให้มีระดับของกรดยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น
9. ยับยั้งปฏิกิริยาการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคสจากสารอาหารอื่น (gluconeogenesis)
10. มีคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น
11. มีระดับของกรดไพรูวิกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกรดไพรูวิกเปลี่ยนเป็นแอซีทิลโคเอไม่ได้ เซลล์ตับจึงเปลี่ยน
กรดไพรูวิกให้เป็นกรดแล็กทิก จึงทำให้มีปริมาณกรดแล็กทิกในตับและในเลือดสูงกว่าระดับปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะความ
เป็นกรดสูง เนื่องจากกรดแล็กทิกเรื้อรัง (chronic lactic acidosis)