ชนิดของการไทเทรชันที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเคมีอาจแบ่งได้ดังนี้
ก. การไทเทรตระหว่างกรดกับด่าง (acid-base titration) ใช้สำหรับวิเคราะห์หาปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้ (total titratable acidity)
ในอาหารบางชนิด เช่น น้ำผลไม้ น้ำนม หรืออาหารอื่นๆ โดยการไทเทรตด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์มาตรฐาน และใช้สารละลายฟีนอล์ฟทาลีนเป็นอินดิเคเตอร์เพื่อชี้บ่งจุดยุติ หรืออาจไทเทรตจนได้ค่าพีเอช 8.1 ซึ่งเป็นช่วงค่าพีเอชที่อินดิเคเตอร์ฟีนอฟทาลีนเปลี่ยนสี
ข. การไทเทรตระหว่างสารออกซิไดส์กับสารรีดิวซ์ (redox titration) เป็นปฏิกิริยาที่ประกอบด้วย ปฏิกิริยารีดักชัน (reduction) และปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ร่วมกัน เช่น การไทเทรตหาปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหารด้วยสารละลายไอโอดีนมาตรฐาน โดยใช้น้ำแป้งเป็นอินดิเคเตอร์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถูกออกซิไดส์ได้เป็นซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ และไอโอดีนถูกรีดิวซ์เป็นไอโอไดด์ เมื่อซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถูกออกซิไดส์หมด ไอโอดีนจะทำปฏิกิริยากับน้ำแป้งให้สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นจุดยุติของปฏิกิริยา เป็นต้น
ค. การไทเทรตเพื่อให้เกิดตะกอน (precipitation titration) วิธีนี้ดูจุดยุติค่อนข้างยาก ตัวอย่างของปฏิกิริยา เช่น การวิเคราะห์หาเกลือแกง (NaCl) ในเนย โดยการไทเทรตด้วยสารละลายเงินไนเทรต และใช้โพแทสเซียมโครเมตเป็นอินดิเคเตอร์ จุดยุติคือเมื่อเกิดตะกอนสีส้มแดงของเงินโครเมตภายหลังจากที่เกลือแกงถูกทำปฏิกิริยากับเงินไนเทรตหมดแล้ว
หน่วยที่ใช้วัดปริมาตร คือ ลิตร มิลลิลิตร ลูกบาศก์เซนติเมตรหรือซีซี (cubic centimetre, cc) เป็นต้น
หน่วย 1 ลิตร คือ ปริมาตรของน้ำที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ณ อุณหภูมิที่น้ำมีความหนาแน่นมากที่สุด คือที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และ
ความดัน 1 บรรยากาศ
1 มิลลิลิตร = 1 / 1,000 ลิตร
1 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) คือปริมาตรของน้ำที่บรรจุอยู่ในลูกบาศก์ที่มีขนาด กว้าง x ยาว x สูง = 1 x 1 x 1 เซนติเมตร
1,000 มิลลิลิตร = 1000.028 ซีซี