Food Wiki

ค้นหา 6,333 คำศัพท์

Level measurement / การวัดระดับ

การวัดระดับ (level measurement) แบ่งออกเป็นการวัดระดับทางตรงและทางอ้อมซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะการใช้งาน เช่น การใช้งานภายใต้อุณหภูมิ (temperature) หรือความดัน (pressure) สูง ควรเลือกใช้วิธีการวัดโดยอ้อมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้และเครื่องมือวัด (instrument) ที่เกี่ยวข้อง หรือหากต้องการวัดระดับแบบในกระบวนการ (in-line process) ควรเลือกใช้วิธีการวัดทางอ้อมโดยใช้เซนเซอร์ (sensor) วัดระดับ ซึ่งจะให้สัญญาณทางด้านเอาต์พุตเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า และส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์แสดงผลและควบคุม สำหรับการวัดทางตรงเหมาะกับการวัดอย่างง่าย ผู้ใช้งานสามารถอ่านค่าได้โดยตรงจากเครื่องมือวัด เช่น กระจกมองระดับ (glass gauge) เป็นต้น

เครื่องมือวัดระดับมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีหลักการทำงาน และวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน และเพื่อให้ค่าระดับที่วัดได้ถูกต้องแม่นยำ (accuracy) และมีความน่าเชื่อถือ ผู้วัดควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะและสมบัติของสิ่งที่ต้องการวัด วัตถุประสงค์ของการวัด รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมโดยรอบ

เครื่องมือวัดระดับสามารถแบ่งกลุ่มตามหลักการทำงานได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

  • หลักการทางกล ตัวอย่างอุปกรณ์วัดระดับ ได้แก่ ลูกลอย (float) เซนเซอร์วัดระดับชนิดความดัน (pressure level sensor)
  • หลักการทางแสง ตัวอย่างอุปกรณ์วัดระดับ ได้แก่ เซนเซอร์วัดระดับชนิดเลเซอร์ (laser level sensor) เซนเซอร์วัดระดับชนิดการแผ่รังสีอินฟราเรด (infrared level sorsor) เซนเซอร์วัดระดับชนิดใยแก้วนำแสง (fiber optic level sensor) 
  • หลักการทางไฟฟ้า ตัวอย่างอุปกรณ์วัดระดับ ได้แก่ เซนเซอร์วัดระดับชนิดวัดความต้านทานไฟฟ้า (resistive level sensor) เซนเซอร์วัดระดับชนิด LVDT (LVDT level sensor) เซนเซอร์วัดระดับชนิดวัดความจุไฟฟ้า (capacitive level sensor) เซนเซอร์วัดระดับชนิดวัดความนำไฟฟ้า (conductive level sensor) สวิตช์วัดระดับชนิด vibration (vibration level switch)
  • หลักการแผ่รังสีและอื่น ๆ นอกเหนือคลื่นแสง ตัวอย่างอุปกรณ์วัดระดับ ได้แก่ เซนเซอร์วัดระดับชนิดอัลตราโซนิก (ultrasonic level sensor) เซนเซอร์วัดระดับชนิดแผ่รังสีแกมมา (Gamma Ray level sensor) เกจวัดระดับแบบ TDR (TDR gauge)

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งกลุ่มเครื่องมือวัดระดับตามลักษณะของสัญญาณทางด้านเอาต์พุตได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เครื่องมือวัดที่ให้สัญญาณทางด้านเอาต์พุตแบบจุดและแบบต่อเนื่อง

  • ตัวอย่างเครื่องมือวัดระดับแบบจุด ได้แก่ ลูกลอย (float) เซนเซอร์วัดระดับชนิดวัดความนำไฟฟ้า (conductive level sensor) สวิตช์วัดระดับชนิด vibration (vibration level switch) และเซนเซอร์วัดระดับชนิดอัลตราโซนิก (ultrasonic level sensor) เป็นต้น
  • ตัวอย่างเครื่องมือวัดระดับแบบต่อเนื่อง ได้แก่ ลูกลอย (float) เซนเซอร์วัดระดับชนิดอัลตราโซนิก (ultrasonic level sensor) และเซนเซอร์วัดระดับชนิดวัดความจุไฟฟ้า (capacitive level sensor)  เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือวัดระดับบางชนิดสามารถวัดได้ทั้งแบบจุดและแบบต่อเนื่องขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบเครื่องมือวัด และตำแหน่งการติดตั้ง เช่น ชนิดลูกลอย และอัลตราโซนิก เป็นต้น

 

 

                          

 

(ก)                                      (ข)                                                (ค)

 

ตัวอย่างเครื่องมือวัดระดับชนิดต่างๆ

ก) ชนิดอัลตราโซนิก

ข) ชนิดลูกลอย

        ค) ชนิดวัดค่าความจุไฟฟ้า

 

(ที่มา: www.indiamart.com  www.fine-tek.com เเละ  http://spanish.alibaba.com

 

  

ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล , 2555)

       : http://www.indiamart.com/vickhardthautomation/electronic-sensor.html

       : http://www.fine-tek.com/main/pinfo_in.aspx?mnuid=1284&modid=4&pcid=10&pscid=9&pid=80&flag=1 

       : http://spanish.alibaba.com/product-gs/rf-capacitance-level-switch-377667464.html  



(เข้าชม 0 ครั้ง)

สมัครสมาชิก