1.4.2 ประเภทของบรรจุภัณฑ์จำแนกตามวัสดุ
บรรจุภัณฑ์แยกตามวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตได้ 4 ประเภท คือ
เยื่อและกระดาษ นับได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้มากที่สุดและมีแนวโน้มใช้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการรีไซเคิลได้ง่าย อันเป็นผลจากการรณรงค์สิ่งแวดล้อม กระดาษนับเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ประเภทเดียวที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จากการปลูกป่าทดแทน กระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีหลายประเภท และสามารถพิมพ์ตกแต่งได้ง่ายและสวยงาม นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการขนส่งจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้เนื่องจากสามารถพับได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
พลาสติก เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่อัตราการเจริญเติบโตสูงมาก คุณประโยชน์ของพลาสติกคือ มีน้ำหนักเบา ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและก๊าซได้ระดับหนึ่ง สามารถต่อต้านการทำลายของแบคทีเรียและเชื้อรา มีคุณสมบัติหลายอย่างที่สามารถเลือกใช้ในงานที่เหมาะสม พลาสติกบางชนิดยังเป็นฉนวนกันความร้อนอีกด้วย พลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีอยู่หลากหลายประเภท การศึกษาคุณสมบัติของพลาสติกแต่ละประเภทมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เลือกใช้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
แก้ว นับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยากับสารเคมีชีวภาพต่างๆ เมื่อเทียบกับวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และรักษาคุณภาพสินค้าได้ดีมาก ข้อดีของแก้วคือมีความใสและทำเป็นสีต่างๆ ได้ สามารถทนต่อแรงกดได้สูงแต่เปราะแตกง่าย ในด้านสิ่งแวดล้อม แก้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่พึงระวังในเรื่องการบรรจุ คือ ฝาขวดแก้วจะต้องเลือกใช้ฝาที่ได้ขนาด และต้องสามารถปิดได้สนิทแน่น เพื่อช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุของสินค้า
โลหะ ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร วัสดุโลหะที่ใช้มี 2 ชนิด คือ
- เหล็กเคลือบดีบุก เป็นบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ การลงทุนในการผลิตไม่สูงนักและไม่สลับซับซ้อน สามารถใช้บรรจุอาหารได้ดี เนื่องจากสามารถปิดผนึกได้สนิทและฆ่าเชื้อได้ด้วยความร้อน ในแง่ของสิ่งแวดล้อมสามารถแยกออกจากขยะได้ง่ายด้วยการใช้แม่เหล็ก
- อะลูมิเนียม มักจะใช้ในรูปเปลวอะลูมิเนียมหรือกระป๋อง มีน้ำหนักเบา อีกทั้งมีความแข็งแรงทนต่อการซึมผ่านของอากาศ ก๊าซ แสง และกลิ่นรสได้ดี ในรูปของเปลวอะลูมิเนียมมักใช้เคลือบกับวัสดุอื่นซึ่งให้ภาพลักษณ์ที่ดีเนื่องจากความเงาวับของอะลูมิเนียมและเป็นตัวเหนี่ยวนำความเย็นได้ดี
1.5 วิทยาการบรรจุภัณฑ์
ในอดีตกาลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารมักจะคิดว่าบรรจุภัณฑ์เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าจะเสีย ดังนั้นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จึงมักจะเลือกราคาต่ำเป็นเกณฑ์ตราบจนกระทั่งช่องทางการจัดจำหน่ายในบ้านเราค่อยๆ เปลี่ยนโฉมมาเป็นร้านค้าแบบช่วยเหลือตนเอง เริ่มจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกลายเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงห่อหุ้มสินค้าไว้เท่านั้น แต่ต้องช่วยตะโกนบอกด้วยคำบรรยายบนบรรจุภัณฑ์ ณ จุดขาย ผู้ประกอบการจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ กอปรกับการเริ่มมีหลักสูตรทางด้านบรรจุภัณฑ์ในระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา ทำให้บรรจุภัณฑ์ศาสตร์เริ่มจะได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ
เทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ในหลายๆ สาขา เริ่มจากวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม วัสดุศาสตร์ การตลาด จิตวิทยา และการออกแบบ ความรู้ต่างๆ ในหลากหลายสาขาเหล่านี้เปรียบเสมือนยาหม้อปรุงขึ้นมาเพื่อพัฒนาวิทยาการบรรจุภัณฑ์อันประกอบด้วย การบรรจุใส่ การเก็บคงคลัง การจัดส่ง การจัดจำหน่ายด้วยบรรจุภัณฑ์หลายประเภทและหลายขนาด ด้วยจุดประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างความประทับใจให้กลับมาซื้อใหม่
จากการที่วิทยาการบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยหลายๆ สาขาดังกล่าวมานี้ บุคลากรที่เข้ามารับผิดชอบงานทางด้านบรรจุภัณฑ์จึงอาจมีความรู้พื้นฐานต่างสาขาขึ้นอยู่กับขอบเขตของงานบรรจุภัณฑ์ที่รับผิดชอบ สำหรับนักศึกษาตามระบบทางด้านวิทยาการบรรจุภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 2 สาขา คือ
สาขาทางด้านเทคโนโลยี พื้นฐานความรู้ควรจะครอบคลุมถึงวิชาความรู้ทางด้านเคมี ฟิสิกส์ จุลชีววิทยา คณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และอิเล็คทรอนิคส์ ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการแก้ปัญหาทางด้านบรรจุภัณฑ์
สาขาทางศิลปะ จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านออกแบบกราฟฟิกในเชิงพาณิชย์ (พาณิชย์ศิลป์) การตลาด จิตวิทยา และการโฆษณา ความรู้พื้นฐานนี้มีบทบาทต่อการส่งเสริมการขายของบรรจุภัณฑ์
ในประเทศไทยเริ่มมีการเปิดหลักสูตรความรู้ระดับปริญญาตรีทางด้านนี้มาประมาณ 10 ปี โดยภาควิชาเริ่มแรกคือ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ อยู่ภายใต้คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ ที่มีการเปิดสอนวิทยาการบรรจุภัณฑ์ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในอนาคตอันใกล้นี้คงเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีโครงการขยายระดับการศึกษาสูงถึงขั้นปริญญาโทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
สถาบันการศึกษาดังกล่าวเหล่านี้ มักจะเน้นทางด้านเทคโนโลยี ส่วนทางด้านศิลปะนั้นยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดๆ เปิดสอนวิชาทางด้านการออกแบบกราฟฟิกโดยเฉพาะ การสอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทางกราฟฟิกมักจะสอนเพียงแต่ระดับวิชา (Course) เช่น วิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
นอกเหนือจากการศึกษาตามระบบแล้ว ยังมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง การสัมมนาและการฝึกอบรม ซึ่งมีการจัดอยู่ตลอดปีโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีการจัดการโดยองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ศูนย์บรรจุหีบห่อไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก รายละเอียดได้รวบรวมไว้ในบทที่ 9
สำหรับการศึกษาต่อเนื่องทางไปรษณีย์ สถาบันที่มีชื่อเสียงและมีมานานที่สุด ได้แก่ Pira International ของประเทศอังกฤษ (e-mail : [email protected]) และยังมีของสถาบันบรรจุภัณฑ์ Institute of Packaging (e-mail : [email protected]) สำหรับในทวีปเอเชีย ได้แก่ Asian Packaging Federation ที่มอบให้ทาง Indian Institute of Packaging (e-mail : [email protected]) เป็นผู้จัดการศึกษาต่อเนื่องทางไปรษณีย์สำหรับชาวเอเชีย
สำหรับผู้ที่สนใจวิทยาการทางด้านนี้ และต้องการทราบถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ สามารถติดตามได้จากงานแสดงสินค้าทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่ 2 งานในประเทศไทย คือ Pro-Pak Asia ซึ่งเน้นหนักไปทางด้านกระบวนการผลิตอาหาร (Process) และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะจัดประมาณกลางปีของทุกปี ส่วนงานแสดงสินค้าอีกงานหนึ่ง คือ Thai Pack Print ที่จัดประมาณปลายปีของทุกปี โดยเน้นในทางด้านการแปรรูปบรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์
ในงานระดับสากล งานแสดงสินค้าเครื่องจักรทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด คือ Interpack ของประเทศเยอรมันโดยจัดที่เมือง Dusseldorf ทุกปีเว้นปี โดยจะมีในปี พ.ศ. 2542 ช่วงเดือนพฤษภาคม ในแถบเอเชียการแสดงเครื่องจักรและวัสดุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ Tokyo Pack จัดโดยสถาบันบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่น (Japan Packaging Institute) โดยจัดสลับปีเว้นปีกับ Japan Pack ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่น โดยงานทั้งสองจะจัดในช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีสลับกันคนละปี
บทสรุป
บรรจุภัณฑ์ได้กำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ ตอนเริ่มต้นบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่เฉพาะเป็นภาชนะรองรับอาหารและน้ำดื่ม และค่อยๆ วิวัฒนาการขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์เต็มรูปแบบ ด้วยเหตุนี้บรรจุภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์กับประเพณีนิยมของแต่ละชนชาติอย่างใกล้ชิด บรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากความคิดริเริ่มของมนุษย์ได้มีการพัฒนาสอดคล้องกับบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ไข่ ถั่ว และกล้วย เป็นต้น
คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วย การรวบรวมปริมาณของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทำการปกป้องรักษาคุณภาพของอาหารพร้อมทั้งเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง ณ จุดขาย บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่พนักงานขายใบ้ (Silent Salesman) ด้วยการสื่อความหมายต่างๆ ที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ให้แก่เป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นผู้ซื้อและหรือผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะสัมฤทธิผลได้ต่อเมื่อมีต้นทุนเหมาะสมกับราคาของสินค้าซึ่งแปรตามปริมาณการขายและตลาดที่จำหน่ายสินค้านั้นๆ
ประเภทของบรรจุภัณฑ์อาจแบ่งตามเหตุผลในการออกแบบหรือแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิต เมื่อแบ่งตามเหตุผลในการออกแบบ ซึ่งแยกเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นใน บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง และบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สามนั้น เป็นการแยกตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบที่แตกต่างกัน ส่วนการแยกตามวัสดุแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เยื่อและกระดาษ พลาสติก แก้ว และโลหะ
วิทยาการบรรจุภัณฑ์นับเป็นวิทยาการใหม่ในเมืองไทย ซึ่งประกอบความรู้ทางหลายด้านผสมกัน บรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนบ้านที่คนเราอยู่ เมื่อวิศวโยธาร่วมกับสถาปนิกช่วยการออกแบบบ้านให้คนเราอาศัย ผลิตภัณฑ์อาหารก็จำต้องอาศัยวิศวกรรมบรรจุภัณฑ์และนักออกแบบกราฟฟิกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผลิตภัณฑ์อาหารอาศัยอยู่ การสร้างบ้านมีตั้งแต่การสร้างบ้านไม้มุงหลังคาจาก ห้องแถว คฤหาสน์ คอนโดมิเนียมให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารก็คล้ายคลึงกันมีทั้งซอง ถุง กล่อง กระป๋อง ขวด ให้เลือกตามความเหมาะสมของอาหารแต่ละประเภท สิ่งที่แตกต่างกัน คือ บรรจุภัณฑ์อาหารมีอายุขัยโดยปกติไม่เกิน 2 ปี และไม่มีโอกาสทำการซ่อมแซมระหว่างการใช้งานเหมือนกับบ้านที่คนเราอยู่