4. การวัดตะเข็บที่จำเป็นและที่เลือกใช้
ระบบการวัดโดยใช้เครื่องส่องหรือฉายตะเข็บ (seam scope)
ในเวลาที่ทำการผลิตจริง ควรจะมีการสุ่มตัวอย่างทุกๆ ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อทดสอบหารอยรั่วของกระป๋องเหมือนกับการทดสอบกระป๋องเปล่า นอกจากนี้ยังควรที่จะเก็บอาหารกระป๋องไว้อีกประมาณ 30 วัน เพื่อตรวจสอบรอยรั่วอีกครั้งหนึ่ง
มีวิธีการในห้องปฏิบัติการที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการทดสอบอาหารกระป๋องเพื่อให้ตรงตามมาตรฐาน มีดังนี้
- สุญญากาศ (Vacuum) วัดสุญญากาศของอาหารกระป๋องด้วยมาตรวัดความดัน (Pressure Gauge) วิธีการวัดควรเจาะฝาใกล้ๆ ขอบกระป๋อง เพื่อลดการทำให้ฝาเสียรูปจากการออกแรงกด การอ่านค่าควรอ่านค่าที่อุณหภูมิห้อง เพราะกระป๋องที่อุ่นกว่าจะมีสุญญากาศต่ำและกระป๋องที่เย็นจะมีสุญญากาศสูง กระป๋องที่บรรจุเต็มหรือมีช่องว่างเหนืออาหารน้อยจะอ่านค่าไม่ได้แน่นอน เพราะปลายแหลมของมาตรวัดความดันจะแทงทะลุผลิตภัณฑ์หรืออากาศในเครื่องวัดเอง จะทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนโดยค่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
เมื่อใช้เครื่องวัดสุญญากาศด้วยไฟฟ้าสำหรับตรวจสอบภาชนะบรรจุแบบกระป๋องและขวดแก้ว โดยวัดความถี่คลื่นทำให้สามารถอ่านค่าของสุญญากาศหรือความกดดันในภาชนะบรรจุได้
- ช่องว่างเหนืออาหาร (Headspace) วัดระยะจากส่วนบนของตะเข็บขอคู่ของกระป๋องหรือขอบบนของขวดแก้วถึงระดับผิวของผลิตภัณฑ์ในภาชนะบรรจุ วัดในแนวดิ่งประมาณตรงกลางกระป๋องจุ่มลงจนถึงผิวของของเหลว แล้วอ่านค่าปกติจะอ่านเป็น 1/32 นิ้ว
บางครั้งส่วนที่เป็นของแข็งจะโผล่ขึ้นมาจากผิวของของเหลวจึงต้องกดลงไปใต้ของเหลวก่อนวัด อาจใช้ตัวถ่วงให้ของแข็งจมลง ดังนั้นการวัดระยะทางที่ได้ต้องลดด้วยระดับการแทนที่น้ำของตัวถ่วง
- ช่องว่างเหนืออาหารสุทธิของภาชนะบรรจุที่มีตะเข็บขอคู่ เช่น กระป๋องจะวัดจากระดับของของเหลวถึงฝาด้านใน อาจประเมินได้โดยหักด้วยความสูงเฉลี่ยของตะเข็บขอคู่ (ประมาณ 6/32 นิ้ว)
- น้ำหนักเนื้อ (Drained Weight) ของอาหารที่บรรจุในกระป๋อง ในห้องปฏิบัติการสามารถหาได้โดยเทอาหารในกระป๋องลงบนตะแกรง ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยกเว้นมะเขือเทศจะใช้ตะแกรงขนาด 8 mesh screen (0.097 in.sq. opening) และสำหรับมะเขือเทศจะใช้ตะแกรงขนาด 2 mesh (0.446 นิ้ว ใช้ลวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.054 นิ้ว) กระป๋องขนาดต่ำกว่า 48 ออนซ์ใช้ตะแกรงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว ผลิตภัณฑ์ที่หาน้ำหนักเนื้อจะต้องทำให้กระจายได้ทั่วบนตะแกรง ผลไม้ที่เป็นชิ้นอาจคว่ำบนฝ่ามือเพื่อถ่ายน้ำออกซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 นาทีหลังจากผลิตภัณฑ์ถูกเทบนตะแกรง จากนั้นจึงชั่งของแข็งที่เหลือ (Drain Solid) โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
- อาหารถูกชั่งพร้อมตะแกรง แล้วจึงหักด้วยน้ำหนักตะแกรง บางครั้งมีของเหลวขังอยู่ในช่องตะแกรงซึ่งไม่สามารถล้างออก (จึงต้องรวมลงในน้ำหนักตะแกรงปกติหนักประมาณ 0.05 - 0.10 ออนซ์)
- ถ่ายชิ้นอาหารลงบนภาชนะหรือจาน แล้วชั่งด้วยตาชั่งที่มีความละเอียดในการอ่าน วิธีนี้ของเหลวที่ขังในตะแกรงจะไม่ถูกชั่ง และค่าน้ำหนักเนื้อจะต่ำกว่าแบบแรกเล็กน้อย
นอกเหนือจากการทดสอบประเภทต่างๆ ดังกล่าวแล้ว การทดสอบกระป๋องที่สมควรทำเพิ่ม คือ การทดสอบการขึ้นสนิมโดยการเก็บอาหารกระป๋องภายใต้สภาวะของน้ำเกลือหรือกรด เพื่อเป็นการเร่งโอกาสการเกิดสนิม
(2) การทดสอบบรรจุภัณฑ์แก้ว
ปัญหาส่วนใหญ่ที่จะเกิดกับบรรจุภัณฑ์แก้วมักจะอยู่ตรงบริเวณฝาปิด นอกจากนั้นก็จะเป็นการร้าวของบรรจุภัณฑ์แก้วระหว่างการบรรจุ การล้าง และการขนส่ง
การบรรจุขวดแก้ว (Fill of Container-Glass jars) เนื่องจากเส้นผ่าศูนย์กลางของขวดแก้วมักไม่เท่ากันตลอดจากบนถึงล่าง คำนวณโดยใช้หลักการเติมน้ำลงในขวดแก้วให้ได้ระดับสูงสุด (Over-flow Capacity) เพราะต้องวัดน้ำหนักของน้ำที่เติมลงไปจนถึงระดับของช่องว่างบริเวณส่วนบนของขวด (Headspace) ที่แท้จริง สูตรในการคำนวณหาระดับการบรรจุมีดังนี้
การตรวจสอบบรรจุภัณฑ์แก้วอันดับแรก คือ การวัดมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปากขวดและความสูงของขวดไม่ต้องแปรเปลี่ยนมากนัก อันดับต่อมา คือ การวัดปริมาตรและน้ำหนักของตัวบรรจุภัณฑ์ อันดับสุดท้ายคือ การทดสอบความสนิทแน่นของการปิดฝากับตัวบรรจุภัณฑ์แก้ว การวัดความสนิทแน่นจะวัดค่าโมเมนต์ของแรงบิดที่ต้องใช้ในการปิดและเปิดขวด การวัดค่าโมเมนต์ในการปิดจะใช้ในการตั้งเครื่องปิดขวดเพื่อให้แน่นพอที่สินค้าไม่รั่วออกบริเวณฝา แต่ต้องไม่แน่นมากจนผู้บริโภคไม่สามารถเปิดได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการวัดค่าโมเมนต์ของการเปิดด้วย
(3) การเชื่อมด้วยความร้อนของบริเวณปิดผนึกซอง
การทดสอบของบริเวณปิดผนึกซอง ความดันและเวลาที่ใช้ในการเชื่อมติดความร้อนเพื่อให้ได้ความแข็งแรงของบริเวณปิดผนึกตามต้องการ เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบจึงต้องสามารถแปรเปลี่ยนองค์ประกอบใดขององค์ประกอบทั้งสามได้โดยอาจจะเริ่มต้นจากกำหนดค่าความดันและเวลาคงที่แล้วค่อยๆ เพิ่มหรือลดอุณหภูมิ จนกระทั่งวัสดุเชื่อมติดกัน ความแข็งแรงในการเชื่อมติดนี้ วัดได้จากค่าความต้านทานต่อแรงดึงดังที่กล่าวมาแล้ว จนกระทั่งอุณหภูมิในการเชื่อมติดของบริเวณที่ปิดผนึกให้ความแข็งแรงใกล้เคียงกับตัววัสดุบรรจุภัณฑ์แล้วค่อยแปรความดันและเวลาแต่ละองค์ประกอบต่อไป
ส่วนการทดสอบหารอยรั่วของบริเวณปิดผนึก จะทำการทดสอบภายใต้น้ำเพื่อสังเกตฟองอากาศที่จะออกจากรอยรั่ว คล้ายคลึงกับการทดสอบรอยรั่วของกระป๋อง
5.4.2 การทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง
การทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งต้องใช้อุปกรณ์ในการทดสอบที่มีราคาสูงกว่าเครื่องมือทดสอบต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว การทดสอบที่มีความสำคัญมากได้แก่ การทดสอบการสั่นกระแทกและความต้านทานแรงกดในแนวดิ่ง เพื่อเป็นการจำลองการขนย้ายผลิตภัณฑ์ดังแสดงในรูปที่ 5.12
รูปที่ 5.12 ตัวอย่างช่องทางการขนส่งสินค้า
แหล่งที่มา : Paine,F.A. "Fundamental of Packaging" p.74
(1) การทดสอบการสั่นกระแทก
การทดสอบจะทำการปล่อยบรรจุภัณฑ์พร้อมสินค้าให้ตกกระแทกลงสู่พื้น (Drop Test) สิ่งสำคัญในการทดสอบคือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบนี้จะต้องสามารถควบคุมบริเวณที่ตกกระแทกของบรรจุภัณฑ์ได้ โดยในขณะที่ปล่อยตกลงมาจะไม่มีการหมุนตัวเพื่อสามารถควบคุมบริเวณที่ตกกระแทกได้ ก็จะสามารถศึกษาความแข็งแรงในทุกๆ ด้านของบรรจุภัณฑ์ วิธีการทดสอบการตกกระแทกจะสามารถแยกเป็นการปล่อยให้ตกกระแทก ณ ความสูงคงที่ ด้วยการกำหนดจำนวนครั้งที่ปล่อยให้ตก ณ ความสูงนั้นๆ หรืออาจจะทดสอบโดยการเพิ่มความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถปกป้องสินค้าต่อไปได้ วิธีการนี้เหมาะสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบบรรจุภัณฑ์ขนส่งต่างชนิดกันว่า สามารถป้องกันสินค้าได้ดีกว่ากันมากน้อยแค่ไหน
ในห้องปฏิบัติการ การทดสอบประเมินความสามารถของบรรจุภัณฑ์ที่จะป้องกันผลิตภัณฑ์อาหารจากการตกกระแทกใช้เกณฑ์การทดสอบดังต่อไปนี้
น้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ (กก.) | ความสูงที่ปล่อยตก (มม.) |
น้อยกว่า 10 10 ถึง 20 20 ถึง 30 30 ถึง 40 40 ถึง 50 50 ถึง 100 มากกว่า 100 | 800 600 500 400 300 200 100 |
การสั่นสะเทือน เริ่มจากการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความถี่และความเร่งของการสั่นสะเทือนที่มีโอกาสเกิดระหว่างการขนส่ง
การสั่นสะเทือนที่เกิดระหว่างการขนส่งค่อนข้างสลับซับซ้อนและไม่แน่นอน (Random) ด้วยเหตุนี้การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันอันตรายจากการสั่นสะเทือนจึงจำต้องทราบถึงค่าความถี่ธรรมชาติ (Natural Frequencies) ของสินค้าและชิ้นส่วนของสินค้าบริเวณที่แตกหักง่ายที่สุดละหาวิธีการป้องกันหรือหน่วงให้สินค้าพ้นจากความถี่อันตรายดังกล่าว
นักออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงจำต้องเลือกหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างความเร่งและความถี่ตามที่แสดงในรูปที่ 5.13 พร้อมทั้งใช้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบในการออกแบบเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างความเร่งและความถี่นี้ องค์ประกอบที่จะทำให้สินค้าแตกหักคือ ค่า Amplitude ของความเร่งซึ่งสูงพอที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชิ้นส่วนของสินค้า พร้อมทั้งช่วงความถี่ที่ก่อให้เกิดความเร่งนี้ โดยปกติในความถี่นี้จะพิจารณาเฉพาะช่วง 1-200 Hz ซึ่งเป็นช่วงความถี่ในสภาวะการขนส่งจริง
การสั่นสะเทือน มีโอกาสทำให้สินค้าแตกหักเสียหายได้ง่าย หรือเกิดการเสียดสีจนทำให้สินค้าขายไม่ออกหรือจำต้องขายลดราคา วิธีการป้องกัน คือ การพยายามจัดเรียงสินค้าพร้อมวัสดุป้องกันการสั่นกระแทก เช่น นำกระดาษลูกฟูกหรือเศษหนังสือพิมพ์มากรุหรือแทรกภายในบรรจุภัณฑ์ให้แน่นและไม่ยุบตัวโดยง่าย ก็จะช่วยป้องกันอันตรายจากการสั่นสะเทือนในระหว่างการขนส่งได้
รูปที่ 5.14 การทดสอบการตกกระแทกบรรจุภัณฑ์จะตกลงมาจากที่วางคล้ายบานพับตามความสูงกำหนด
รูปที่ 5.15 การทดสอบการสั่นสะเทือนโดยบรรจุภัณฑ์วางบนหิ้งที่สั่นสะเทือนไปตามลูกเบี้ยวที่อยู่ข้างล่าง
การทดสอบการตกกระแทกและการสั่นสะเทือนตามที่แสดงในรูปที่ 5.14, 5.15 และ รูปซ้ายล่างในหน้า 167 เป็นวิธีการทดสอบแบบง่ายๆ ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางด้านนี้ได้รับการพัฒนามากขึ้น โดยการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาจำลองและวิเคราะห์การทดสอบดังแสดงในรูปซ้ายบนหน้า 167
กล่าวโดยสรุปแล้ว การทดสอบการสั่นกระแทกในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือ การกำหนดความสูงที่จะตกกระแทกและความสัมพันธ์ของความเร่งและความถี่ของการสั่นสะเทือนในสภาวะการขนส่ง
(2) การทดสอบความต้านทานแรงกดในแนวดิ่ง
นับเป็นการทดสอบที่นิยมมาก เนื่องจากทดสอบได้สะดวกและเข้าใจได้ง่าย ส่วนมากจะใช้ทดสอบกับกล่องกระดาษและขวดพลาสติกดังแสดงในรูปกลางหน้า 167 การทดสอบจะเป็นการเพิ่มแรงกดต่อบรรจุภัณฑ์จนกระทั่งบรรจุภัณฑ์เสียหายหรือรับแรงต่อไปไม่ได้อีก การทดสอบนี้จะจำลองการกดแรงซ้อนของบรรจุภัณฑ์จริงๆ เนื่องจากแผ่นกระดาษหรือแผ่นโลหะที่กดทับลงมาจะเคลื่อนที่ลงมาตรงๆ ส่วนในสภาวะจริง เมื่อส่วนไหนของบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวรับแรงไม่ได้ แรงกดจะกดต่อไปในจุดยุบตัวหรืออ่อนตัวนั้นเรื่อยๆ ดังนั้นความต้านทานในแนวดิ่งที่ได้จากการทดสอบ จะมีค่าน้อยกว่าค่าความเป็นจริงที่บรรจุภัณฑ์จะถูกกระทำในระหว่างการขนส่ง การประเมินค่าความเป็นจริงที่ถูกกระทำนี้อาจจะสูงถึง 5 เท่าของค่าที่ได้จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ความชื้นที่มีอยู่ในกระดาษลูกฟูกมีผลต่อการใช้งานของกล่อกระดาษลูกฟูก ความสามารถต้านทานแรงกดในแนวดิ่งจะลดน้อยลงเมื่อความชื้นในกระดาษแปรเปลี่ยนไป รูปที่ 5.16 แสดงความสามารถในการรับแรงกดในแนวดิ่งที่ลดน้อยลงเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยตั้งข้อสมมติฐานว่า ที่ปริมาณความชื้นในกระดาษที่ 5% มีความสามารถในการรับแรงกดในแนวดิ่ง 100% เต็ม เมื่อความชื้นในกระดาษเพิ่มถึง 22% ความสามารถในการรับแรงกดจะลดลงเหลือ 20% เท่านั้น
รูปที่ 5.16 ความสามารถในการรับแรงกดในแนวดิ่งแปรตามปริมาณความชื้นในกระดาษ
นอกจากความชื้นในตัวกล่องกระดาษลูกฟูกแล้ว ความสามารถในการรับแรงยังแปรผันตามเวลาที่ไดรับแรงกด ถ้ากล่องได้รับการกดซ้อนกันนานๆ จะลดความต้านทานในการรับแรง เนื่องจากมีความล้า (Fatigue) เกิดขึ้นดังแสดงในรูปที่ 5.17 จะพบว่าช่วง 1 วันแรกนั้น ความต้านทานในการรับแรงกดจะลดลงค่อนข้างมากจาก 85% เหลือ 73% หลังจาก 1 วันแรกความล้าที่เกิดขึ้นจะมีอย่างต่อเนื่องแต่ไม่มากเท่า 24 ชั่วโมงแรก
รูปที่ 5.17 ความสามารถในการรับแรงกดในแนวดิ่งแปรตามเวลา
การทดสอบความสามารถในการรับแรงกดในแนวดิ่งนั้น แม้จะเป็นที่นิยมเนื่องจากสามารถทำได้ง่าย แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ลดความสามารถในการรับแรงเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก ตั้งแต่การดูแลกล่องก่อนบรรจุ ระหว่างการบรรจุ การปิดกล่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการขนส่ง ดังนั้นบุคลากรที่รับผิดชอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จำต้องหมั่นตรวจสอบปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอ
บทสรุป
การทดสอบวัสดุและบรรจุภัณฑ์เป็นหัวข้อที่มีเนื้อหามากพอสมควร นอกจากวัสดุหลัก 4 ประเภทแล้ว บรรจุภัณฑ์อาหารที่ได้รับการแปรรูปแล้วยิ่งมีหลากหลาย ด้วยเหตุนี้รายละเอียดการทดสอบในบทนี้จึงได้คัดเลือกมาเท่าที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการใช้งาน
ขั้นตอนในการทดสอบเริ่มจากการกำหนดจุดมุ่งหมาย ซึ่งอาจจะเป็นการศึกษาคุณสมบัติของวัสดุ การเปรียบเทียบคุณภาพหรือศึกษาการใช้งานของวัสดุหรือตัวบรรจุภัณฑ์ ขั้นตอนต่อไป คือ การใช้มาตรฐานการทดสอบ มาตรฐานอาจจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับองค์กร บริษัท ระดับสมาคมหรือกลุ่มอาชีพ ระดับชาติและระหว่างประเทศ มาตรฐานแต่ละระดับอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย ดังนั้น การเลือกใช้มาตรฐานจึงขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการทดสอบและการนำเอาผลในการทดสอบไปใช้ ขั้นตอนการทดสอบขั้นต่อไปคือ การเก็บในห้องควบคุมสภาวะ เนื่องจากแต่ละประเทศตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ดังนั้น สภาวะมาตรฐานในการเก็บหรือสภาวะมาตรฐานในการทดสอบของแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันไปด้วย
ประเภทของการทดสอบแบ่งอย่างง่ายๆ ได้เป็นการทดสอบวัสดุและการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ การทดสอบวัสดุสามารถแบ่งได้ตามประเภทของวัสดุที่นิยมใช้ ได้แก่ กระดาษและพลาสติก การทดสอบกระดาษยังสามารถแยกเป็นกระดาษธรรมดา กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก เริ่มจากน้ำหนักมาตรฐานเพื่อนำมาคำนวณหาความหนาแน่น ในแง่ทางกลมีความต้านทานต่อแรงดึง แรงดันทะลุ แรงฉีกและการทดสอบที่สำคัญที่สุดของบรรจุภัณฑ์อาหาร คือ อัตราการซึมผ่านของก๊าซและไอน้ำ สืบเนื่องจากความสับสนของหน่วยที่ใช้จากตารางที่ 5.1 ได้รวบรวมการแปลงหน่วยของการซึมผ่าน เพื่อสะดวกในการทำงาน การทดสอบพลาสติกได้เน้นไปยังการบ่งบอกประเภทของพลาสติก อันประกอบด้วย การลนไฟ การจุ่มในสารทำละลายและการหาค่าความถ่วงจำเพาะ
อาหารกระป๋องนับได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้มากในวงการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเรียกชื่อของบรรจุภัณฑ์กระป๋องอาจจะเรียกเป็นเบอร์หรือเรียกเป็นขนาด ดังนั้นจึงได้รวบรวมชื่อของกระป๋องที่นิยมใช้พร้อมขนาด ปริมาตรบรรจุและปริมาตรเปรียบเทียบกับกระป๋องขนาดเบอร์ 2 ไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของกระป๋องคือ ตะเข็บคู่ ซึ่งจะต้องหมั่นตรวจสอบทั้งที่โรงงานผลิตกระป๋องและโรงงานบรรจุ
การทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งประกอบด้วยการทดสอบแบบจลน์ (Dynamic) อันได้แก่ การทดสอบการตกกระแทก และการสั่นสะเทือน ส่วนการทดสอบแบบศักย์ (Static) ได้แก่ การทดสอบความต้านทานแรงกดในแนวดิ่ง การทดสอบแบบศักย์มักจะเข้าใจได้ง่ายกว่า ทำให้เป็นที่แพร่หลายมากกว่า