บทที่ 3
ศึกษาเวลาที่ใช้ในการทอดกล้วยแขกก่อนการแช่แข็ง
นิสรา พนิกรณ์ และ จิรันดา พันธปัญญาวงศ์
สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
3.1 บทนำ
3.2 ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ
3.3 วิธีดำเนินการ
3.4 การวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์
3.5 ผลและวิจารณ์ผล
3.6 สรุปผลการทดลอง
3.1 บทนำ
ขั้นตอนการ Pre-frying หรือการทอดเบื้องต้นก่อนการแช่เยือกแข็ง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการสร้างการยึดเกาะของแป้งก่อนที่จะเข้าสู่การแช่เยือกแข็ง โดยอุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการทอด เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพื่อการผลิตที่มีคุณภาพที่ต้องการทั้งในเรื่อง สี กลิ่น รสชาติและความกรอบ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทอดแช่เยือกแข็งกึ่งสำเร็จรูป
การศึกษาเวลาที่ใช้ในการทอดกล้วยแขกก่อนการแช่เยือกแข็ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาเวลาที่เหมะสมในการทอดเบื้องต้นก่อนการแช่เยือกแข็ง โดยขอบเขตการศึกษาใน กล้วยน้ำว้าห่ามหั่นเป็นชิ้นบางตามยาว ความหนา 5-7 มิลลิเมตร ชุบด้วยแป้งชุบทอด ทอดในน้ำมันปาล์ม อุณหภูมิ 175-185 องศาเซลเซียส
3.2 ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ
3.2.1 ตัวอย่างกล้วย
ใช้กล้วยน้ำว้าห่าม ความชื้นเฉลี่ย 65.23 %Wb นำมาปอกเปลือกและหั่นตามความหนาประมาณ 5 - 7 มิลลิเมตร นำไปแช่ในน้ำปูนใส 15 นาที พักทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ 10 นาที
3.2.2 การเตรียมน้ำปูนใส
นำปูนแดง 4 กรัม มาผสมกับน้ำ 2000 กรัม หรือคิดเป็นอัตราส่วนปูนแดงต่อน้ำ คือ 1 : 500 และกวนให้ตกตะกอนปล่อยทิ้งไว้ 30 นาที รินเอาน้ำส่วนที่ใส
(ก) (ข)
รูปภาพ (ก) น้ำปูนใสเริ่มต้น
รูปภาพ (ข) น้ำปูนใสหลังจากปล่อยให้ตกตะกอน 30 นาที
3.3.3 การเตรียมแป้ง
ผสมแป้งชุบทอดกล้วยแขกตามสูตรในบทที่ 3 ตอนที่ 1 1235.7 กรัม ผสมน้ำ 494.29 กรัมหรือคิดเป็นอัตราส่วนแป้งผสมต่อน้ำ คือ 1 : 0.4 คนจนเป็นเนื้อเดียวกัน
3.3 วิธีดำเนินการ
3.3.1การทอดเบื้องต้นก่อนการแช่แข็งทอดกล้วยแขกแบบน้ำมันท่วมในน้ำมันปาล์มอุณหภูมิ 175 - 185 องศาเซลเซียส โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 5 ตัวอย่าง คือที่เวลาในการทอดต่างๆกัน คือ ทอดที่ เวลา 1 นาที 2 นาที 3 นาที 4 นาที และ 5 นาที ศึกษาลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์กล้วยแขกที่ได้ คือ วัดค่าสี ด้วยเครื่องวัดค่าสี ยี่ห้อ Tri-stimulus colori-meter วัดลักษณะเนื้อสัมผัส ด้วยเครื่องทดสอบเนื้อสัมผัสรุ่น TA-XT.Plus.Stable Micro system Co.,Ltd UK
3.3.2 การแช่เยือกแข็งนำกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นทั้ง 5 ตัวอย่าง มาบรรจุในถุงพลาสติก พับปากถุงและปิดผนึกด้วยเทปกาว เพื่อป้องกันการถ่ายเทความชื้นระหว่าง ตัวอย่างและตู้แช่ แช่เยือกแข็งโดยใช้ตู้แช่เยือกแข็ง (Chest freezer) อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จนกระทั่งอุณหภูมิตัวอย่างเท่ากับ -18 องศาเซลเซียสซึ่งอัตราการแช่เยือกแข็งของกล้วยแขกดังแสดงในรูปที่ 2 ซึ่ง อุณหภูมิอากาศภายนอก 27 องศาเซลเซียส ได้จากการทดลองโดยใช้ 3 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ด้วยเครื่อง Data logger (Type K) โดยใช้สายเสียบเข้าไปตรงกลางของชิ้นกล้วยแขกตั้งแต่อุณหภูมิเริ่มต้นจนถึงอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส
เก็บตัวอย่างไว้ในตู้แช่เยือกแข็ง อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนนำกลับมาทอดหลังการแช่เยือกแข็งเพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งต่อไป
3.3.3 การทอดกล้วยแขกแช่เยือกแข็งนำกล้วยแขกที่ผ่านการแช่เยือกแข็งที่ -18 องศาเซลเซียสนาน 24 ชั่วโมง ทั้ง 5 ตัวอย่าง มาทอดแบบน้ำมันท่วมในน้ำมันปาล์ม อุณหภูมิ 175 - 185 องศาเซลเซียส โดยจุดยุติของการทอดกล้วยแขกแช่เยือกแข็งทั้ง 5 ตัวอย่าง สังเกตจากสีระหว่างการทอดเทียบกับสีของกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งที่เวลาในการทอด 6 นาทีดังแสดงในรูปที่ 3และศึกษาลักษณะของผลิตภัณฑ์กล้วยแขกแช่เยือกแข็งทั้ง 5 ตัวอย่างโดยวัดคุณลักษณะทางกายภาพด้านสี ด้วยเครื่องวัดค่าสี ยี่ห้อ Tri-stimulus colori-meter และลักษณะด้านเนื้อสัมผัส ด้วยเครื่องทดสอบเนื้อสัมผัสรุ่น TA-XT.Plus.Stable Micro system Co.,Ltd UK พร้อมทั้งชิมโดยผู้ทำการทดลองและบุคคลทั่วไป เปรียบเทียบกับกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งที่เวลาในการทอด 6 นาที เพื่อเลือกตัวอย่างที่เหมาะสมที่สุด จากทั้ง 5 ตัวอย่าง เพื่อกำหนดเป็นเวลาที่ใช้ในการทอดเบื้องต้นก่อนการแช่เยือกแข็ง ในกระบวนการผลิตกล้วยแขกแช่เยือกแข็งกึ่งสำเร็จรูป และทำการทดสอบการยอมรับจากผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามประเภท 9 point hedonic scaling เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งที่เวลาในการทอด 6 นาที และกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่เลือกแล้วจากทั้ง 5 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
รูปที่ 2 อัตราการแช่เยือกแข็งกล้วยแขก
รูปที่ 3 ลักษณะของสีกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็ง ทอดที่เวลา 6 นาที
3.4 การวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์
3.4.1 วัดค่าสี
วัดค่าสี ด้วยเครื่องวัดสีรุ่น MiniScan XE plus และรุ่น Color Flex
จากลักษณะของกล้วยแขกที่มีความเรียบของแป้งที่ผิวหน้าไม่สม่ำเสมอจึงมีวิธีการวัดค่าสดังนี้คือ สุ่มตัวอย่างกล้วยแขกจาก 1 ตัวอย่างการทดลองมา 2 ชิ้นโดยกล้วยแขก 1 ชิ้น ทำการวัดค่าสี 10 จุด คือ ด้านละ 5 จุด ในตำแหน่งขอบบน ล่าง ด้านซ้าย ด้านขวา และตรงกลาง ของชิ้นกล้วยแขก โดยวัดค่าดังนี้
ค่า L เป็นค่าความสว่าง มีค่าตั้งแต่ 0-100 ค่า L เทากับ 0 เป็นสีที่มืดที่สุด ค่า L เท่ากับ 100 เป็นสีที่สว่างมากที่สุด
ค่า a* เป็นค่าที่แสดงความเป็นสีแดงหรือความเป็นสีเขียว โดยที่ค่า a* เป็นบวกแสดงความเป็นสีแดง ค่า a* เป็นลบแสดงความเป็นสีเขียว
และค่า b* เป็นค่าที่แสดงความเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน โดยที่ค่า b* เป็นบวกแสดงความเป็นสีเหลือง ค่า b* เป็นลบแสดงควมเป็นสีน้ำเงิน
3.4.2 การวิเคราะห์ลักษณะเนื้อสัมผัส
วิเคราะห์ลักษณะเนื้อสัมผัส ด้วยเครื่อง Texture Analyzer (TA-XT.Plus.Stable Micro system Co.,Ltd UK) วัดความแข็ง (Hardness) และ Count peak ของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งและกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นก่อนแช่เยือกแข็งที่เวลาต่างกัน ด้วย หัววัดแบบ Warner-Blade Plate จัดค่าความเร็วหัววัดเริ่มต้น 1 มิลลิเมตรต่อวินาที ความเร็วกดเป็น 2 มิลลิเมตรต่อวินาที แรงกดเริ่มต้น 10 กรัม หาค่าเฉลี่ยทำการวิเคราะห์ 10 ซ้ำ
3.4.3 การประเมินคุณลักษณะทางประสาทสัมผัส
ทำการประเมินคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งโดยทำการทดสอบการยอมรับโดยการให้คะแนนความชอบแบบ 9-point hedonic scaling แก่ตัวอย่างในด้านความชอบรวม โดยนำเสนอตัวอย่างแก่ผู้ทดสอบครั้งละ 1 ชิ้นต่อ 1 ตัวอย่างโดยผู้ทดสอบที่ไม่ได้รับการฝึกฝนจำนวน 50 คน อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 50 ปี (เพศหญิง 58% และเพศชาย 42%) ผู้บริโภคมีการประเมิณการยอมรับความชอบรวม 9 สเกลความชอบดังนี้ 9 - ชอบมากที่สุด, 8 - ชอบมาก, 7- ชอบปานกลาง, 6 - ชอบเล็กน้อย, 5 - เฉยๆ, 4 - ไม่ชอบเล็กน้อย, 3 - ไม่ชอบปานกลาง, 2 - ไม่ชอบมาก และ 1 - ไม่ชอบมากที่สุด โดยผู้ทดสอบมีการดื่มน้ำสะอาดเพื่อความสะอาดช่องปากระหว่างตัวอย่างด้วย
สรุปผล โดยวิเคราะห์ผลเปรียบเทียบระหว่างกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งทอดที่เวลา 6 นาที และกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดให้สุกตามกระบวนการ ว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
3.4.4การวิเคราะห์ผลทางสถิติ
วิเคราะห์ผลทางสถิติโดยใช้วิธี Paired samplet-test พิจารณาค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับ P< 0.05 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS
3.5 ผลและวิจารณ์ผล
3.5.1 ค่าสี
จากการวิเคราะห์ค่าสีของการศึกษาหาเวลาที่ใช้ในการทอดเบื้องต้นก่อนการแช่เยือกแข็งที่เหมาะสมโดยการศึกษาเวลาที่ใช้ในการทอดเบื้องต้น 5 ระดับโดยวัดเปรียบเทียบกับกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดที่เวลา 6 นาทีซึ่งทำการวัดค่าความสว่าง (L*) ค่าความเป็นสีแดง (a*) และ ค่าความเป็นสีเหลือง (b*) เพื่อทดสอบว่าเวลาที่ใช้ในการทอดเบื้องต้นทั้ง 5 ระดับ ให้ค่าสีในแต่ละระดับการทอดที่เปลี่ยนไปอย่างไร ผลการวิเคราะห์ดังแสดงในตารางที่ 2 และ ตารางที่ 3 พบว่า ค่าความสว่าง (L*) ของกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นก่อนแช่เยือกแข็งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P≤0.05) ยกเว้นที่เวลาในการทอด 4 นาที และ 5 นาที ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับค่าความเป็นสีแดง (a*) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) ยกเว้นที่เวลาในการทอด 1 นาทีและ 2 นาที ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสำหรับค่าความเป็นสีเหลือง (b*) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำหรับค่าที่เวลาในการทอด 1นาทีกับ 2 นาที ที่เวลาในการทอด 3นาที กับ 4นาที และที่เวลาในการทอด 4 นาที กับ 5 นาที แต่ค่าที่เวลาในการทอด 6 นาที แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) กับค่าที่เวลาอื่นๆ และจากค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตฐานสามารถสรุปได้ว่า ค่าความสว่าง (L*) มีแนวโน้มลดลงเมื่อเวลาในการทอดเพิ่มขึ้น ส่วนค่าความเป็นสีแดง (a*) และค่าความเป็นสีเหลือง (b*) มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาในทอดเพิ่มขึ้น กล่าวได้ว่าอาหารมีสีเข้มขึ้นเมื่อเวลาที่ใช้ในการทอดนานขึ้น ซึ่งอาจเกิดจาก ปฎิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลหรือการเกิดปฏิกิริยาคาราเมไลเซชั่นที่เกิดจากโครงสร้างทางเคมีของกล้วยแขกที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาล ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองของ Jayendra (2006) ที่ได้ศึกษาถึง Gulabjamun ball ซึ่งเตรียมจากแป้งสาลีและน้ำตาล พบว่าในส่วนของคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาคาราเมไลเซชั่น โดยเป็นการใช้ความร้อนสูงสลายโมเลกุลของน้ำตาลให้แยกออกและเกิดพอลิเมอไรเซชั่นของสารประกอบคาร์บอนได้เป็นสารสีน้ำตาล
และสำหรับผลการวัดค่าสี ค่าความสว่าง (L*) ค่าความเป็นสีแดง (a*) และค่าความเป็นสีเหลือง (b*) ของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดแล้ว พบว่า ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P≤0.05) ซึ่งมีค่าค่าความสว่าง (L*) เท่ากับ 46.51ค่าความเป็นสีแดง (a*) เท่ากับ 21.00และค่าความเป็นสีเหลือง (b*) เท่ากับ 29.31
เนื่องจากขั้นตอนการทอดกล้วยแขกแช่แข็งจุดยุติของการทอดเทียบจากสีของกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการทอดที่เวลา 6 นาที
ตารางที่ 2 ค่าสีของกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นก่อนแช่เยือกแข็งที่เวลาต่างๆกัน
ตารางที่ 3 ค่าสีของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดแล้ว
หมายเหตุ a b c d e ตัวอักษรที่ต่างกันในแนวนอนแสดงถึงค่าเฉลี่ยของค่าเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยวิธี Duncan's New Multiple Rang Test และกล้วยแขกที่ทอดที่เวลา 6 นาทีเป็นกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งทั้งในตารางที่2 และตารางที่3 ซึ่งใช้เป็นตัวอย่างกล้วยแขกควบคุม
3.5.2 ลักษณะเนื้อสัมผัส
เมื่อนำกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นก่อนการแช่เยือกแข็งที่เวลาต่างๆกันและกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดแล้ว มาวัดลักษณะเนื้อสัมผัสด้วยเครื่อง Texture Analyzer ในด้านความแข็ง (Hardness) และ Countpeak ซึ่งแสดงถึงค่าความกรอบ ดังแสดงผลในตารางที่4 และ ตารางที่5สำหรับผลการวิเคราะห์ค่าความแข็ง (Hardness) ของกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นก่อนแช่เยือกแข็งที่เวลาในการทอด 2 3 และ 4 นาที ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) แต่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) กับเวลาที่ใช้ในการทอด 1 5 และ 6 นาที และเมื่อพิจารณา ส่วน Count peak ที่เวลาในการทอดเบื้อต้นก่อนแช่แข็ง 4 5 และ 6 นาทีไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) แต่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) กับเวลาที่ใช้ในการทอด1 2 และ3 นาที และเมื่อพิจารณาที่ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ทั้งในด้านความแข็ง (Hardness) และ Count peak พบว่าที่เวลาในการทอดที่นานขึ้นส่งผลให้ ค่าความแข็ง (Hardness) และ Count peak เพิ่มขึ้นตาม เนื่องจาก เกิดการระเหยของน้ำออกจากชิ้นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดชั้นขอบแข็งขึ้นที่ผิวของอาหาร (Crust) และทำให้ความหนาแน่นเนื้อลดลงซึ่งส่งผลให้เกิดรูพรุนในชิ้นอาหารมากขึ้น และเมื่อใช้เวลาในการทอดนานขึ้นน้ำในอาหารก็จะระเหยออกได้มากขึ้นส่งผลให้ความหนาของของแข็งเพ่มมากขึ้นด้วย (Jayendra,2006)
และสำหรับผลการวิเคราะห์Count peak ที่แสดงถึงค่าความกรอบของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดแล้ว ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) ที่เวลาในการทอดเบื้องต้นก่อนแช่แข็งต่างๆกัน และให้ผลเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับกล้วยแขกปกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งทอดที่เวลา 6 นาที ซึ่ง Count peak เฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 74.82
ตารางที่4 ค่าเนื้อสัมผัสของกล้วยแขกที่ผ่านการทอดเบื้องต้นก่อนแช่เยือกแข็งที่เวลาต่างๆกัน
ตารางที่5 ค่าเนื้อสัมผัสของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดแล้ว
หมายเหตุ a b c d ตัวอักษรที่ต่างกันในแนวนอนแสดงถึงค่าเฉลี่ยของค่าเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ 0.05) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยวิธี Duncan's New Multiple Rang Test และกล้วยแขกที่ทอดที่เวลา 6 นาทีเป็นกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งทั้งในตารางที่ 4และตารางที่ 5ซึ่งใช้เป็นตัวอย่างกล้วยแขกควบคุม
3.5.3 การประเมิณคุณลักษณะทางประสาทสัมผัส
จากการทดสอบประสาทสัมผัส วิเคราะห์การยอมรับคะแนนความชอบโดยรวมจากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคด้วยแบบสอบถาม 9-Point Hedonic scale โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 50 คนทดลองชิมตัวอย่างกล้วยแขกแช่เยือกแข็ง (A) และกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็ง (B) และวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธี Paired sample T-test ด้วยการใช้โปรแกรม SPSS เพื่อต้องการทดสอบว่า คะแนนความชอบรวมของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งและกล้วยแขกที่ไมผ่านการแช่เยือกแข็ง มีความแตกต่างกันหรือไม่
โดยสมมุติฐานในการทดลอง
ผลการวิเคราะห์ดังแสดงในตาราง
จากผลการทดสอบค่า t 0.221 และค่า Sig. 0.826 ซึ่งมากกว่า 0.05 แสดงว่า ปฎิเสธ H1 นั่นคือ ยอมรับ H0 จึงกล่าวได้ว่า คะแนนความชอบรวมของกล้วยแขกแช่เยือกแข็ง (A) ไม่แตกต่างจาก กล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็ง (B) ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 โดยที่กล้วยแขกแช่เยือกแข็งมีคะแนนเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 7.08± 0.944 และกล้วยแขกที่ไม่ผ่านการแช่เยือกแข็งมีคะแนนเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 7.12 ± 1.010
3.6 สรุปผลการทดลอง
จากการศึกษาเพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการทอดกล้วยแขกก่อนการแช่แข็ง โดยศึกษาผลของเวลาที่ใช้ในการทอดเบื้องต้นก่อนการแช่แข็งต่อค่า สี ความแข็ง (Hardness) Count peak ที่แสดงถึงความกรอบ และการยอมรับทางประสาทสัมผัส ของกล้วยแขกแช่เยือกแข็ง พบว่าเวลาที่เหมาะสมในการทอดก่อนการแช่แข็งคือ 3 นาที
เนื่องจากการศึกษาผลของเวลาที่ใช้ในการทอดก่อนการแช่แข็งต่อ ค่าสี และ Count peak ของกล้วยแขกแช่เยือกแข็งที่ผ่านการทอดแล้ว ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P≤ 0.05) จึงพิจารณาการเลือกเวลาที่เหมาะสมจากคุณสมบัติที่ต้องการ คือ การนำกลับไปทอดก่อนรับประทานกล้วยแขกจะต้อง น้ำแข็งละลาย กรอบดี สีสวย ไม่ไหม้ และใช้เวลาน้อยที่สุดเพื่อความสะดวกแก่ผู้บริโภค ดังนั้นจากการทดลองจึงสรุปได้ว่าเวลาที่เหมาะสมในการทอดก่อนการแช่แข็งที่ 3 นาทีเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับกรรมวิธีกาผลิตกล้วยแขกแช่แข็งกึ่งสำเร็จรูป และจากการทดสอบการยอมรับทางประสาทสัมผัสของกล้วยแขกแช่แข็งกึ่งสำเร็จรูปเปรียบเทียบกับกล้วยแขกปกติ พบว่าไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ≤0.05) และคะแนนการยอมรับ เฉลี่ยเท่ากับ 7.08 ± 0.94 ซึ่งอธิบายได้ว่าผู้บริโภคมีการยอมรับในระดับชอบปานกลาง