บทที่ 1
บทนำ
1.1 ที่มาและความสำคัญ
ชาสมุนไพร (herbal tea) เป็นเครื่องดื่มที่มีความสำคัญและดื่มกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ได้จากการนำสมุนไพร (herb) ที่มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ มาผ่านกระบวนการแปรรูป ด้วยการทำแห้ง (dehydration) แล้วบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมใช้ ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ ด้วยการคืนตัวชาสมุนไพรด้วยการแช่ในน้ำร้อนแล้วดื่มขณะร้อนหรือเย็น สรรพคุณหลักของชาสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (essential oil) คือ ทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย แก้กระหาย นอกจากนั้นสมุนไพรหลายชนิดมีสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ระบบหมุนเวียนเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ลดคลอเรสเตอรอล และยังมีสรรพคุณรักษาโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง เป็นต้น เป็นแนวทางการแพทย์ทางเลือก ที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการบำบัด
ปัจจุบันในระดับอุตสาหกรรม ได้เริ่มมีการนำสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มาผลิตเป็นชาสมุนไพร ดึงสรรพคุณเด่นทางยา ปรับสี และรสชาติให้เพื่อให้เกิดความสะดวกเหมาะแก่การบริโภคมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร ธุรกิจการผลิตชาสมุนไพรกึ่งสำเร็จรูป มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตยังขาดมาตรฐาน และกรรมวิธีการผลิตที่ชัดเจน รวมไปถึงการตรวจสอบระดับคุณภาพของชาสมุนไพร
จึงได้มีการจัดตั้งโครงการ การพัฒนากระบวนการผลิตชาสมุนไพร นี้ขึ้นมาเพื่อการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน การทำวิจัยและทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพ และการตรวจสอบในระดับคุณภาพของชาสมุนไพร รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ ของกระบวนการเพื่อตอบสนองคุณภาพในการผลิต
1.2 วัตถุประสงค์ของโครงงาน
1. เพื่อศึกษาผลของการล้างวัตถุดิบสมุนไพรต่อการลดปริมาณจุลินทรีย์
2. เพื่อศึกษาอัตราการทำแห้งชาสมุนไพรด้วยเครื่องอบแห้งแบบถาด
3. เพื่อศึกษาไอโซเทอมการดูดซับและคายความชื้นของชาสมุนไพร
4. เพื่อศึกษาการทำแห้งชาสมุนไพร ด้วยเครื่องอบแห้งแบบถาดร่วมกับการใช้สารดูดความชื้น
5. เพื่อประเมินอายุการเก็บของชาสมุนไพร
1.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ได้กระบวนการผลิตชาสมุนไพรกึ่งสำเร็จรูปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ตั้งแต่การล้าง การทำแห้ง และการเก็บรักษา เพื่อให้ได้ชาสมุนไพรที่มีคุณภาพ
คณะผู้จัดทำ
นางสาวดวงดาว โหมดวัฒนะ
นางสาวดวงมณี อัครสินวิโรจน์
นายเทพกร ยอดทอง
นางสาววราภรณ์ เหลืองละมัย